วิธีแก้กรดไหลย้อน ตอนท้อง อะไรที่แม่ควรกิน vs ไม่ควรกิน- Amarin Baby & Kids
วิธีแก้กรดไหลย้อน

วิธีแก้กรดไหลย้อน ขณะตั้งครรภ์ อะไรที่แม่ท้องควรกิน vs ไม่ควรกิน

event
วิธีแก้กรดไหลย้อน
วิธีแก้กรดไหลย้อน

ในระหว่างตั้งครรภ์จะมีอาการคนท้องมากมายเกิดขึ้นกับร่างกายคุณแม่ “ภาวะกรดไหลย้อน” ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีแก้กรดไหลย้อน ต้องทำยังไงให้คุณแม่รู้ไว้เตรียมรับมือ เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายตัวและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

วิธีแก้กรดไหลย้อน ตอนท้อง ช่วยให้แม่ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

อาการ “กรดไหลย้อน” เป็นภาวะของการที่กระเพาะอาหารมีการผลิตน้ำย่อยออกมามากจนเกินไปเนื่องจากสิ่งเร้า ประกอบกับหูรูดรอบ ๆ กระเพาะอาหารส่วนบนที่ติดกับบริเวณหลอดอาหารนั้นมีภาวะเสื่อมจึงไม่สามารถหดปิดได้สนิท กรดจึงไหลย้อนขึ้นมาได้ง่าย โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปและเป็นอีกหนึ่งอาการยอดฮิตที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและระบบภายในของร่างกาย ที่ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง และทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารที่อยู่ติดกับกระเพาะคลายตัวบ่อยกว่าปกติ รวมทั้งอาการอาจจะมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้น เพราะช่วงเวลาที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตขึ้น มดลูกมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น จนไปกดทับและดันกระเพาะอาหารให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ประกอบกับเมื่อคุณแม่รับประทานอาหารมาก ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบของแป้ง น้ำตาล และไขมันในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ในกรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นอยู่แล้วอาจมีผลให้อาการกรดไหลย้อนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ อาการนี้มักเกิดขึ้นได้หลังประทานอาหารเสร็จและในช่วงเวลากลางคืน และมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วง 6-12 สัปดาห์และเกิดขึ้นร่วมด้วยกับอาการแพ้ท้อง รวมทั้งระหว่างตั้งครรภ์ 3-6 เดือน และช่วงใกล้คลอดด้วย

อาการกรดไหลย้อนตอนท้อง
อาการกรดไหลย้อนตอนท้อง

อาการกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณคอ บริเวณหน้าอก หรือใต้ลิ้นปี่ บางครั้งอาจแสบย้อนไปถึงกล่องเสียง และจมูกได้
  • ระคายเคืองคอ เจ็บคอ หรือเสียงแหบ
  • เรอออกมาบ่อย เรอเปรี้ยว หรือรู้สึกขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องอืด แน่นท้อง แน่นในคอ

พฤติกรรมเสี่ยงกรดไหลย้อนที่แม่ท้องต้องระวัง!

  • การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน
  • รับประทานอาหารแต่ละมื้อละมากเกินไป
  • รับประทานอาหารก่อนนอน เนื่องจากน้ำย่อยในกระเพาะยังทำงานอยู่และน้ำย่อยมีฤทธิ์เป็นกรดจะเข้าไปกัดเนื้อเยื่อของหลอดอาหารที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
  • นอนราบหลังรับประทานอาหารเสร็จ เพราะอาจทำให้น้ำย่อยไหลย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นไปตามหลอดอาหารและลำคอได้
  • ดื่มน้ำในระหว่างรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารเสร็จ หรือในช่วงระหว่างวัน

7 อาหารเสี่ยงกรดไหลย้อนที่แม่ท้องไม่ควรกิน

1.อาหารที่มีแก๊สมาก เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ โซดา อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด อาหารรสเผ็ดจัด และถั่ว เพราะอาหารเหล่านี้กระตุ้นการสร้างน้ำย่อยมากขึ้น อาจก่อให้เกิดกรดไหลย้อนขึ้นได้

2.อาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด อาหารมัน ฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น เนื่องจากไขมันจากอาหารเหล่านี้จะไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือร้อนที่กลางอกได้

3.ผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรดมาก การรับประทานผลไม้สำหรับคนท้องเป็นสิ่งที่ดี แต่ในช่วงที่คุณแม่ท้องมีอาการกรดไหลย้อนควรเลี่ยงผลไม้ที่มีกรดมากไว้ก่อน เช่น ส้ม องุ่น มะนาว สับปะรด มะเขือเทศ หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัดก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน

4.ผักที่มีกรดแก๊สมาก เช่น หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง หรือสะระแหน่ รวมทั้งผักดิบทุกชนิดก็ควรเลี่ยงนะคะ เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก

กรดไหลย้อน ป้องกัน

5.อาหารหมักดอง เช่น ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ ซูชิบางชนิดที่มีผักดอง ฯลฯ ซึ่งโดยปกติอาหารหมักดองก็เป็นอาหารประเภทที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมีอาการกรดไหลย้อนคุณแม่ควรงดรับประทานอาหารเหล่านี้เพราะจะมีส่วนเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการจุดเสียดแน่นท้องได้

6.ขนมหรือของหวาน เช่น คุกกี้เนยที่มีไขมันสูง บราวนี่ ช็อคโกแลต โดนัท ขนมที่ทำจากข้าวโพด

7.อาหารเสริม/ วิตามินเสริม อาหารเสริมและวิตามินเสริมบางชนิดที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น สารสกัดจากกระเทียม วิตามินอีหรือวิตามินซี ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มกรดในกระเพาะด้วย ซึ่งสำหรับคุณแม่ท้องการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือวิตามินเสริมควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่กินเข้าไป ล้วนส่งผ่านและมีผลกระทบต่อลูกในท้องได้ การกินอาหารเสริมเพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อประเมินว่าจำเป็นหรือไม่ หรือกินวิตามินของคนท้องตามที่คุณหมอแนะนำ

นอกจากอาหารเสี่ยงกรดไหลย้อนที่ควรหลีกเลี่ยง ยังมีอาหารอีกมากมายที่คุณแม่สามารถรับประทานได้ระหว่างตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและให้ได้สารอาหารครบ 5 หมู่

6 อาหารช่วยลดอาการกรดไหลย้อน

1.น้ำขิง เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน นอกจากจะช่วยลดอาการแพ้ท้องแล้ว การดื่มน้ำขิงสามารถช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาการกรด-แก๊สในกระเพาะเกินได้ ช่วยย่อย กระตุ้นการทำงานของลำไส้ บรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้

2.เนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา, ไก่, ไข่ขาว หรือผลิตภัณฑ์จากไข่ขาว เป็นต้น

3.ผลไม้ที่มีค่าความเป็นกรดต่ำหรือเป็นด่าง เช่น กล้วย แอปเปิ้ล แก้วมังกร อะโวคาโด แตงโม เมล่อน มะละกอสุก มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการกรดไหลย้อน เป็นต้น

4.ผักใบเขียวที่มีค่าความเป็นด่างสูง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี ผักเคล บล็อคโคลี่ แครอทและผักโขม เป็นต้น การรับประทานผักสีเขียวเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้กระเพาะอาหารมีความเป็นกลางมากขึ้น ช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้

 

เป็นกรดไหลย้อนกินโยเกิร์ตได้ไหม

5.ผลิตภัณฑ์นม เช่น นมไขมันต่ำหรือพร่องมันเนย โยเกิร์ต สูตรที่ไม่หวานและไขมันต่ำ (Low fat) เชดดาร์ชีส ครีมชีสปราศจากไขมัน เป็นต้น

6.ธัญพืช เช่น ขนมปังธัญพืช ขนมปังข้าวโพด โยเฉพาะข้าวโอ๊ต สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้เป็นอย่างดีที่ช่วยเคลือบเยื่อบุในกระเพาะอาหารได้

6 วิธีรับมือเมื่อคุณแม่เป็นกรดไหลย้อน

1.ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเปลี่ยนมารับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะมื้อเย็นควรรับประทานแต่พออิ่ม และควรกินอาหารก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมงจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้

2.ไม่เอนตัวนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จ ควรลุกเดิน นั่งหรือยืน ซัก 10 – 15 นาที เพื่อให้อาหารได้ย่อยง่ายมากขึ้นก่อนเอนตัวลงนอน

3.นอนคะแคงซ้าย ควรเลี่ยงหลีกท่านอนหงายและท่านอนตะแคงขวา เพราะกระเพาะอาหารจะอยู่เหนือหลอดอาหารทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดออกได้จนทำให้เกิดกรดไหลย้อน และควรใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนระหว่างนอนหลับให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารได้

4.ออกกำลังกาย ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เช่น โยคะคนท้อง เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตอนท้อง การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานระหว่างตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้

5.ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล เพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งออกมามากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ อาการเครียดอาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ง่าย ๆ ดังนั้นคุณแม่อาจหาวิธีคลายเครียด เช่น การฟังเพลง การดูหนัง การดูละคร เดิ้อปปิ้งหาคนพูดคุย นั่งสมาธิ ฯลฯ วิธีนี้เหล่านี้ก็จะช่วยคุณแม่ขจัดความเครียดออกไปได้ระดับหนึ่ง

6.ใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น Cimetidine, Ranitidine ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยให้มีกรดเกินไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารน้อยลง อย่างไรก็ตามแม้ยาลดกรดจะไม่พบว่ามีอันตรายต่อการตั้งครรภ์แต่อย่างใด แต่หากคุณแม่มีอาการควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อยารับประทานหรือให้คุณหมอสั่งยา เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ดีที่สุด

กรดไหลย้อนอันตรายไหม
กรดไหลย้อนอันตรายไหม

กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่?

หากคุณแม่มีภาวะกรดไหลย้อนไม่มากนักในขณะตั้งครรภ์ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์แต่อย่างใด แต่ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ได้ เพราะจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บแสบเมื่อเกิดอาการขึ้น สร้างความลำบาก รำคาญใจ ทำให้แม่ท้องหงุดหงิดได้ง่าย แต่ถ้ามีอาการของโรคมากและต่อเนื่อง อาจทำให้คุณแม่ไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารได้มากเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารก็จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และอาจมีผลต่อการพัฒนาร่างกายทารกในระยะยาวทั้งในส่วนของระบบประสาท กระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ ได้ หรือในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบได้ แต่อาการนี้จะค่อย ๆ หายไปเองหลังคลอด

ในช่วงที่คุณแม่ต้องเจอกับอาการกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองและการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางส่วนในชีวิตประจำวัน เช่น ปรับพฤติกรรมการกิน การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเป็นกรดหรือมีไขมันสูง ฯลฯ ก็จะช่วยให้คุณแม่ห่างไกลจากอาการกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีอาการไหลย้อนที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น ทำให้คุณแม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก มีอาการกลืนลำบาก ไอ น้ำหนักลด หรืออุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้นะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.comwww.paolohospital.comwww.honestdocs.co

อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

TOP 5 อาการแม่ท้อง ที่พร้อมรับมือได้

อาการคนท้อง ที่เกิดมักเกิดกับแม่ตั้งครรภ์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up