ไขข้อสงสัยว่าทำไมแม่ท้องถึงต้อง “ฝากครรภ์”? การฝากครรภ์มีความสำคัญอย่างไรและควรฝากเมื่อไหร่? กับคุณหมอเต้ พ.ต.ต. ภาคภูมิ เตชะขะวนิชกุล
ฝากครรภ์ สำคัญอย่างไร? ควรฝากเมื่อไหร่? ทำไมต้องฝากครรภ์?
การ “ฝากครรภ์” คืออะไร?
การฝากครรภ์ คือ การไปพบแพทย์ สูตินรีแพทย์ หรือบุคคลากรทางสาธารณสุขอย่างสม่่าเสมอ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดูแลสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่ดี แข็งแรง และมารดาสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้หากตรวจพบความผิดปกติระหว่างฝากครรภ์ แพทย์ หรือบุคคลากรทางสาธารณสุขจะสามารถรักษาหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับมารดาได้ (อ่านต่อ ฝากครรภ์ช้า ไม่กินยาบำรุง อันตราย! เสี่ยงลูกพิการ)
ฝากครรภ์ สำคัญอย่างไร?
ความสำคัญของการ ฝากครรภ์ นั้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำเอาคำอธิบายที่ฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายจากคุณหมอเต้ พ.ต.ต. ภาคภูมิ เตชะขะวนิชกุล นายแพทย์ (สบ 2 )หน่วยมะเร็งนรีเวช กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ที่ได้อธิบายไว้ที่เฟสบุ๊คส่วนตัว Tae Taychawanit ดังนี้
❤️เมื่อคืนอยู่เวร คนไข้ที่นี่จะมีคำถามที่เป็นประโยชน์เยอะครับ ชอบๆ เวลาอยู่เวร จะได้รับคำถามที่บางทีไม่ทันตั้งตัว แต่เป็นคำถามที่คิดว่า เป็นประโยชน์ครับ ประมาณสองทุ่มกว่า ๆ คืนวันอาทิตย์ มีคุณแม่ท่านหนึ่งมากับสามีของเธอ เป็นทายาทตระกูลดัง ขอเล่าสิ่งที่ประทับใจก่อน ปกติเวลาพบปะคนไข้ คุณครูของผมจะสอนเสมอว่า ไม่ต้องรอให้คนไข้ไหว้นะ แต่เธอควรยกมือไหว้คนไข้ก่อนเลย🙏🏻 ก็จำมาและปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน คนไข้ท่านนี้เป็นว่าที่คุณแม่ 🤰🏻 อายุครรภ์ประมาณยี่สิบกว่าสัปดาห์ เธอและครอบครัวเพิ่งกลับจากเยอรมัน💑 จึงพลาดนัดการ ฝากครรภ์ ไปเมื่อวานนี้ เธอค่อนข้างกังวลใจ ว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เมื่อสัมผัสประเทศไทย🇹🇭 เธอจึงมุ่งหน้ามาโรงพยาบาลก่อนเป็นลำดับแรก เราจึงได้เจอกัน หลังจากตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเรียบร้อย เธอก็ถามคำถามนึงมาว่า “คุณหมอคะ ทำไมคนท้องต้องมาหาหมอคะ นี่ดิฉันป่วยหรือคะ” นั่นสิครับ เธอเป็นหญิงตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำ โรคประจำตัวก็ไม่มี แล้วเหตุใดต้องมาฝากครรภ์หรือมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ มาตอนใกล้คลอดเลยไม่ได้หรือไร ก็ตอบเธอไปแบบนี้ครับว่า “จะเรียกป่วยก็ไม่คงจะไม่ใช่สักทีเดียวครับ แต่หญิงตั้งครรภ์มีภาวะทั้งทางกายภาพ และจิตใจ ที่เปลี่ยนไปจากผลของฮอร์โมน ไม่ว่าจะฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ ที่ทำให้อาเจียนไงครับ รวมถึงอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น เราจะไม่ทราบได้เลย ว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งผิดปกติ และต้องได้รับการรักษาหรือไม่ รวมถึงปัจจัยบางอย่างต้องได้รับบำรุงเสริม เช่น การได้รับธาตุเหล็กครับ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การคลอด เป็นต้นครับ”
เมื่อทราบกันแล้วว่าคนท้องไม่ใช่คนป่วย แต่ที่ต้อง ฝากครรภ์ เพราะสภาพร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ควรอยู่ในการดูแลของคุณหมอนั่นเอง สำหรับคำถามต่อไปว่า ควรเริ่มไปฝากครรภ์เมื่อไหร่? นั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัยของการได้รับยาบำรุงเสริมด้วย ดังนั้น มาฟังคุณหมออธิบายต่อถึงยาบำรุงต่าง ๆ ที่แม่ท้องควรได้รับระหว่างตั้งครรภ์กันก่อนค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ฝากครรภ์ สำคัญอย่างไร? ควรฝากเมื่อไหร่? ทำไมต้องฝากครรภ์?
ยาบำรุงที่สำคัญ ที่แม่ท้องควรได้รับระหว่างตั้งครรภ์?
-
ยาบำรุงธาตุเหล็ก
การให้ยาบำรุงธาตุเหล็ก ก็เพื่อป้องกันหรือเป็นการให้เสริมแก่มารดาที่ยังไม่มีภาวะซีด หญิงตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับยาบำรุงธาตุเหล็ก โดยเริ่มให้เมื่อเริ่มต้นไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ แล้วไตรมาสแรกให้อะไร ก็ folic ไงครับ เพราะยังอาเจียนอยู่ โดยคุณหมอได้แนะนำวิธีการทานยาบำรุงธาตุเหล็กไว้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาบำรุงธาตุเหล็กพร้อมกับ นม น้ำชา กาแฟ หรือยาบำรุงแคลเซี่ยม เนื่องจาก Calcium Tannin ในกาแฟ และสาร Phylate ในอาหาร จะไปยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก ควรกินห่างกัน 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
- การตั้งครรภ์ปกติต้องการธาตุเหล็ก 6 – 7 mg/day หรือ 1000 mg ตลอดการตั้งครรภ์ เนื่องจากธาตุเหล็กถูกดูดซึมจากอาหารได้เพียงร้อยละ 10 และในอาหารปกติมีธาตุเหล็กเพียง 6 mg/1000 kCal ปริมาณธาตุเหล็กที่ถูกดูดซึมออกจากอาหารและจากการสะสมในร่างกาย จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของมารดาในขณะตั้งครรภ์ จึงควรได้รับยาบำรุงธาตุเหล็กเพิ่มเติม
- กรณีที่มารดาไม่ได้รับการเสริมธาตุเหล็ก ระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบินและฮีมาโทคริตจะลดลง อย่างไรก็ตามการสร้างฮีโมโกลบินของทารกในครรภ์ไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากสามารถนำธาตุเหล็กจากมารดาไปใช้ได้ ถึงแม้มารดาจะมีภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการทานยาบำรุงธาตุเหล็ก ก็คือการบำรุงร่างกายของมารดานั่นเอง
- การให้ธาตุเหล็กเสริมระหว่างตั้งครรภ์ ควรเริ่มให้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยให้ Element iron วันละ 30 mg และเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 60 – 85 mg ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป
- การให้ธาตุเหล็กเสริมไม่ได้เป็นการป้องกันหรือทำให้ภาวะฮีโมโกลบินที่ต่ำลงตามกลไกปกติจากการตั้งครรภ์ดีขึ้น แต่ป้องกันการขาดการสะสมธาตุเหล็กซึ่งเป็นระยะแรกของการเกิดภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก
สำหรับอาการข้างเคียงที่พบบ่อยสำหรับการทานยาบำรุงธาตุเหล็กของแม่ท้องคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระมีสีน้ำตาลหรือดำ แต่ถ้าให้ในปริมาณมากอาจมีอาการแสบหน้าอก หรือ Heart burn ท้องผูกหรือท้องเสีย แต่การรับประทานธาตุเหล็กหลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการลงได้ หรือให้รับประทานก่อนนอน ควรเริ่มยาในปริมาณน้อยๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มถ้ายังมีอาการมากควรปรึกษาหมอ หรือรับประทานยาก่อนนอน (อ่านต่อ อาหารและยา ที่ไม่ควรกินร่วมกัน 10 อย่าง)
2. แคลเซียม
การได้รับแคลเซียมเสริมมีแนวโน้มจะสามารถรลดภาวะผิดปกติในช่วงตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลดการเกิดความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้ อะ…งงใช่ไหมครับ เหมือนเราจะทราบกันมาว่า แคลเซี่ยมก็คือกระดูก ขนาดในละคร แม่ต้องไปถอนฟันเพราะกลัวจะแย่งแคลเซียมลูก เดี๋ยวลูกจะโตไม่ดี กระดูกไม่แข็งแรง แต่นั่นคือละครครับ ชีวิตจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้น จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์มากมาย ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ให้แนวทางการให้สารอาหาร วิตามินเสริมสำหรับสตรีตั้งครรภ์ หนึ่งในนั้นคือแคลเซียมครับ โดยพบว่า การได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ ลดอัตราการเกิดการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ภาวะทารกผิดปกติ การเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิตแรกคลอดของทารกครับ เริ่มน่าสนใจแล้วใช่ไหม
แคลเซียมสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร?
ปริมาณแคลเซียมที่ต้องการในแต่ละวันของแม่ท้องและหญิงให้นมบุตรอยู่ที่ 1200 mg/วัน แต่มีการศึกษาที่ประเทศกัวเตมาลาในปี 1980 พบว่าคนที่นั่นรับประทานข้าวโพด ซึ่งเราทราบกันว่ามีแคลเซียมสูง ก็พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประเทศนี้พบภาวะครรภ์เป็นพิษต่ำ เช่นเดียวกับ ที่เอธิโอเปีย ก็รับประทานอาหารคล้าย ๆ กัน ก็พบว่าหญิงตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษต่ำ ก็เลยมีการศึกษามากมายถึงความสัมพันธ์ของแคลเซียมกับการเกิดความดันโลหิตสูงและภาวะครรภ์เป็นพิษ จากการศึกษาพบว่า การที่มีแคลเซียมต่ำ จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้
WHO หรือองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่า ในชุมชนที่มีแนวโน้มจะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ แนะนำให้ได้รับแคลเซียมเสริม ดังนี้
- Dose: 1500-2000 mg, element calcium/day
- Frequency: daily, โดยแบ่งเป็น 3 doses (แนะนำให้รับประทานพร้อมอาหาร)
- Duration: เริ่มตอนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์และให้ไปจนคลอด
- Target: หญิงตั้งครรภ์ทุกราย
- Setting: พื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
นอกจากแคลเซียมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษแล้ว แคลเซียมยังช่วยลดภาวะตะคริวในหญิงตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
เราจำเป็นต้องได้รับแคลเซี่ยมเสริมไหม ที่กินอยู่เพียงพอหรือไม่ ?
หากคิดว่าจะได้รับแคลเซียมจากสารอาหารไม่เพียงพอ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ก็ควรได้รับ แต่ถึงแม้จะไม่มีความเสี่ยง การได้รับเสริมก็ยังเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ลดโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ และยังลดตะคริวได้อีก แถมผลข้างเคียงก็น้อย
ถ้าต้องรับประทานเสริม จะต้องปริมาณเท่าไหร่ดี?
ตามคำแนะนำก็ต้อง 1,200-1,500 mg/วัน
ต้องกินนานเท่าไหร่ แล้วกินคู่กันวิตามินหรือยาอื่นๆ ได้ไหม?
เริ่มกินตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยาวไปจนคลอดได้เลย
แล้วถ้าไม่ได้รับแคลเซียมเสริม หรือแคลเซียมไม่เพียงพอจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง?
ในประเทศไทย โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ โอกาสที่จะขาดแคลเซียมจนเกิดโรคมีน้อยมาก แต่ถ้าถามว่าถ้าขาดจริงๆ ทำให้เกิดอะไร ก็อาจจะเกิดภาวะมวลกระดูกต่ำ, อาการสั่น, ตะคริว, ถ้าขาดมากก็ชักได้ ส่วนในลูกก็อาจจะทำให้เกิด ภาวะโตช้าในครรภ์ รวมถึงการสร้างกระดูกที่ผิดปกติได้
เห็นความสำคัญของการ ฝากครรภ์ แล้วใช่ไหมล่ะคะ จะเห็นได้ยาบำรุงบางตัว ควรทานตั้งแต่โดยเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ซึ่งจริง ๆ แล้วสามารถทานได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ ดังนั้นการ ฝากครรภ์ ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้ค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เรื่องน่ารู้ โฟลิค กรดโฟลิก เริ่มกินตอนไหนถึงจะดี
15 อาหารที่มีโฟเลตสูง ที่แม่ท้องและลูกในท้องควรทาน
แจงละเอียด! ขั้นตอนการฝากครรภ์ เตรียมตัวอย่างไร? ทำอะไรบ้าง?
ฝากครรภ์ฟรี! คลอดบุตรฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณหมอเต้ พ.ต.ต. ภาคภูมิ เตชะขะวนิชกุล นายแพทย์ (สบ 2 )หน่วยมะเร็งนรีเวช กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่