จากสถานการณ์ โรคเอดส์ ในบ้านเราทุกวันนี้ ยังมีคุณแม่ตั้งครรภ์ และเด็กทารกเกิดใหม่ ติดเชื้อ HIV อยู่ทุกปี ทั้งที่ยาและการรักษาก้าวไปถึงขั้นทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีชีวิตยืนยาวได้ตามปกติ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วคุณแม่จะรับมือได้อย่างไรเมื่อรู้ตัวว่า ติดเชื้อ HIV ขณะกำลังตั้งครรภ์ลูกน้อยอยู่ เรามีข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาฝากค่ะ
โรคเอดส์ ในแม่ตั้งครรภ์
แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ในเด็ก อธิบายว่า เมื่อมีการใช้ยาต้านไวรัส HIV ในหญิงตั้งครรภ์ หรือประมาณ 10 ปีมานี้ สถานการณ์ของโรคเอดส์ในเด็กจึงดีขึ้นมาก
อัตราการติดเชื้อลดลงด้วยประสิทธิภาพของยา การติดเชื้อ HIV ในหญิงตั้งครรภ์ลดลงจาก ประมาณ 1-2% อยู่ที่ 0.8% ส่วนเด็กเกิดใหม่ที่ติดเชื้อจากปีละประมาณ 2,000 คน ลดลงอยู่ที่ประมาณ 300-400 คน
- การปกป้องเด็กในครรภ์ได้ผลสูง
การกินยาต้านไวรัสอย่างถูกต้องครบถ้วน แม่จะปกป้องลูกจากการติดเชื้อได้ และยังรักษาตนเองให้มีชีวิตยืนยาวปกติได้ด้วย
- ยาต้านไวรัสอยู่ในสิทธิประกันสุขภาพ
ผู้ติดเชื้อสามารถรักษาตัว ด้วยยาต้านไวรัสโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และกรณีของแม่ที่ติดเชื้อ เมื่อคลอดแล้วยังมีนมผสมให้สำหรับเลี้ยงลูกไปจนถึงอายุ 1 ขวบฟรีด้วย
ด้วยสัญญาณดีของการรักษาโรคเอดส์ข้างต้น ทางการแพทย์จึงมองเห็นโอกาสที่ไม่มีเด็กเกิดใหม่ติดเชื้อ HIV ทว่ากลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอะไร?
แม่ตั้งครรภ์ไม่ฝากท้อง
“เด็กทุกรายที่ติดเชื้อ HIV ในปัจจุบัน เกิดจาก แม่ไม่ได้ฝากท้อง จึงติดเชื้อขณะคลอด เมื่อคลอดแล้ว มีการตรวจถึงมารู้ว่าตนเองติดเชื้อ แม่จึงหมดโอกาสปกป้องลูกจากการติดเชื้ออย่างน่าเสียดายมาก
“การปกป้องเด็กไม่ให้ติดเชื้อ คือ แม่ต้องกินยาต้านไวรัสตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ ดังนั้นการฝากครรภ์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ แม่ท้องจะได้รับการตรวจ รู้เร็ว ได้กินยาเร็ว โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อน้อยกว่า 1% หรือจะเรียกว่าแทบจะไม่ติดเชื้อเลยก็ได้ และตัวแม่เองก็มีชีวิตยืนยาวได้ปกติด้วย” คุณหมอกุลกัญญา ชี้ประเด็น
อ่านต่อ “โอกาสลูกติดเชื้อ HIV จากแม่ ขณะคลอด” คลิกหน้า 2
โอกาสลูกติดเชื้อ HIV จากแม่ ขณะคลอด
- แม่ที่ไม่ได้กินยาต้านไวรัสเลย ลูกมีโอกาสติดเชื้อ 1 ใน 4
- แม่ที่ได้กินยาต้านไวรัส อย่างน้อย 4 สัปดาห์ก่อนคลอด ลูกโอกาสติดเชื้อประมาณ 10%
- แม่ที่กินยาต้านไวรัส มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อนคลอด โอกาสที่ลูกจะติดเชื้อเหลือน้อยกว่า 2%
นมแม่กับการติดเชื้อ HIV
คุณหมอกุลกัญญา ได้ชี้แจงเหตุผลไว้ดังนี้
แม่ตั้งครรภ์ที่มารู้ว่าตนเองได้รับเชื้อ เมื่อช่วงหลังๆ ของการตั้งครรภ์ หรือได้รับเชื้อหลังคลอดใหม่ๆ ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดจะสูงมาก มีโอกาสสูงที่น้ำนมแม่จะมีเชื้อไวรัสออกมาได้ เราจึงไม่แนะนำให้แม่ที่ติดเชื้อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่ต้องการให้เด็กติดเชื้อจากนมแม่
หากแม่ไม่มีวินัยเคร่งครัดกับการกินยาต้านไวรัส มีโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อจากนมแม่ได้ จริงอยู่ที่ว่า หากแม่ได้กินยาต้านไวรัสอย่างดี ทั้งช่วงตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด คือช่วงให้นมแม่ โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากแม่มีน้อยมาก แต่เพียงการลืมกินยาไม่กี่มื้อ ไม่กี่วัน ทำให้เกิดปัญหาปริมาณไวรัสกลับมาชั่วคราว ซึ่งไวรัสจะมาในปริมาณน้อยไม่สร้างปัญหาให้กับสุขภาพของแม่ แต่ไวรัสเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะผ่านเข้ามาในน้ำนมและถึงลูกได้
อ่านต่อ “การติดเชื้อ HIV ของคุณแม่ตั้งครรภ์ในต่างประเทศ” คลิกหน้า 3
การติดเชื้อ HIV ของคุณแม่ตั้งครรภ์ในต่างประเทศ
“ขณะที่ประเทศไทยแม่ที่ติดเชื้อ HIV สามารถดูแลตัวเองด้วยยาต้านไวรัส และมีนมผสมสำหรับเลี้ยงลูกไปจนถึงอายุ 1 ขวบโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เราจึงไม่จำเป็นต้องให้เด็กแรกเกิดเสี่ยงต่อการติดเชื้อ”
ในต่างประเทศนั้น…
- ประเทศที่ยากจนมากๆ
พบว่า ถ้าเด็กเกิดใหม่ไม่ได้กินนมแม่ มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง เพราะสุขอนามัยของประชากรยังไม่ดี องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ในประเทศที่มีปัญหาเรื่องสุขอนามัยน้ำบริโภคไม่สะอาดเพียงพอ ให้แม่ตั้งครรภ์กินยาต้านไวรัส ป้องกันเชื้อไม่ให้ติดไปถึงลูก เพราะในขณะกินยาต้านไวรัส ปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อย ปริมาณไวรัสที่ออกมาในน้ำนมก็มีน้อย หรือไม่มีเลย เพราะฉะนั้นลูกจะกินนมแม่ได้อย่างปลอดภัย
- ประเทศที่มีความพร้อม
ทั้งเรื่องยา การให้ความรู้ การตรวจติดตาม ความเข้าใจและวินัยของประชากร เปิดโอกาสให้แม่ที่ติดเชื้อ ที่กินยาต้านไวรัสอย่างดี จนตรวจแล้วว่าไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศในแถบยุโรป
“เนื่องจากการศึกษาวิจัย มีผลออกมาชัดเจนว่า ถ้ากินยาต้านไวรัสได้ดีมาก จนไม่มีไวรัสในกระแสเลือด ลูกก็ปลอดภัย และในประเทศดังกล่าว แม่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจและเคร่งครัดในการกินยา รวมทั้งมีมาตรการการตรวจติดตามปริมาณไวรัสในกระแสเลือดบ่อยจนมั่นใจว่าไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือดของแม่แล้ว”
เครดิต: แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ สาขาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ในเด็ก
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
ป้อนอาหาร ด้วยการเคี้ยวให้ มีสิทธิ์ติดโรคเอดส์!!
พ่อแม่ติดเชื้อเอชไอวี ลูกน้อยมีสิทธิ์ติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน?
ถ้าคุณพ่อเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ลูกจะปลอดภัยไหม
Save
Save
Save
Save