AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ท้องติดเชื้อไวรัสซิกา ยุติการตั้งครรภ์ ป้องกัน เด็กหัวลีบ

หลังจากเมื่อปลายเดือน ก.ย. ได้มีข่าวจากสธ. ยืนยันมาแล้วว่า มีแม่ท้องคนไทย 2 ราย ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจึงเป็นต้นเหตุให้เด็กทารกมีหัวเล็กลีบ จึงได้มีการจัดตั้งทีมแพทย์เพื่อหาทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดเมื่อ แม่ท้องติดเชื้อไวรัสซิกา

และเมื่อวันที่  5 ตุลาคม  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา เพื่อพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของเอเชีย

ทั้งนี้ทีมแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหาแนวทางป้องกันโรค ไวรัสซิกา จึงได้ผุดแนวทางดูแลวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อซิกา เด็กทารกหัวลีบ ครั้งแรกเอเชีย โดยกระจายแพทย์ทั่วประเทศดำเนินการ แจ้งว่า…หากจะยุติการตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่ติดเชื้อต้องอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน และเป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับแพทยสภากำหนดเท่านั้น เพราะแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วลูกหัวเล็ก ไม่ได้เป็นทุกคน

ไทยพบทารกหัวเล็กติดเชื้อไวรัสซิกา ก่อนประเทศอื่นในเอเชีย

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์  ซึ่งเป็นประธานกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ฯ ในครั้งนี้  กล่าวว่า  “ซิกาเป็นเชื้อเก่าเจอมา 60 ปี แต่หัวเล็กในเด็กเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เพิ่งเจอ  ดังนั้น หัวเล็กจึงเป็นกลุ่มอาการใหม่ แต่ตัวซิกาจริงๆ อาการไม่มาก หายได้เอง และมีเพียงร้อยละ 20 ที่แสดงอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง อีกร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ”

ซึ่งไทยมีการตรวจพบซิกามาหลายปีแล้ว มีรายงาน 5-6 ปี กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเจอเด็กศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย  ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ทางสำนักระบาดวิทยารายงานก็พบว่า มีการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อจนพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 39 ราย มี 16 รายแสดงอาการ ที่เหลืออีก 23 รายหรือประมาณร้อยละ 60 ไม่แสดงอาการ ขณะที่พบว่ามี 9 รายคลอดทารกออกมาเป็นปกติดี ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคน แต่เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันจึงได้ออกแนวปฏิบัติดังกล่าวขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นไกด์ไลน์ในการวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์

อ่านต่อ >> “แนวทางการดูแลและการยุติการตั้งครรภ์” คลิกหน้า 2

การเฝ้าระวัง แม่ท้องติดเชื้อไวรัสซิกา

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ กล่าวว่า ปกติแล้วราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางดูแลอยู่แล้ว โดยในหญิงตั้งครรภ์ปกติจะต้องมีการฝากครรภ์ และมาพบแพทย์อย่างน้อย 5 ครั้ง ทำการตรวจเลือดตรวจปัสสาวะว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และตรวจอัลตราซาวด์ 1 ครั้งตอนอายุครรภ์ 4-5 เดือนว่ามีอะไรผิดปกติ แต่พอมีการระบาดของซิกาเกิดขึ้น และอาจส่งผลต่อเด็กทารกให้พิการทางสมองได้ โดยจะพบ 1.หัวเล็กกว่าปกติมีผลต่อการพัฒนา และ 2.มีหินปูนไปจับสมอง ซึ่งอาจพบด้วยกันได้ ซึ่งเกิดจากไวรัสไปทำลายปฏิกิริยาทางสมอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหญิงตั้งครรภ์จะพบความผิดปกติจากซิกาทุกคน โดยการดำเนินการวินิจฉัยโรคในแนวทาง ซึ่งจะแบ่งหญิงตั้งครรภ์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่มีอาการจากการติดเชื้อ ไวรัสซิกา คือ มีไข้ มีผื่น ปวดข้อ ตาอักเสบ เมื่อมีอาการก็ต้องรีบตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ รวมทั้งต้องมีการทำอัลตราซาวด์ 18-20 สัปดาห์ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดทุกเดือน และหากพบความผิดปกติสมองเล็ก ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในแต่ละอายุครรภ์ ซึ่งหากพบความผิดปกติจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อไป

2.กลุ่มที่ไม่มีอาการ จะทำอัลตราซาวด์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกที่อายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ และทำครั้งที่ 2 ช่วงอายุครรภ์ 28-30 สัปดาห์ เพื่อดูภาพว่ามีความผิดปกติของศีรษะอย่างไร และดูว่ามีหินปูนจับหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าซิกาที่ติดมา หลายคนไม่มีอาการ สิ่งสำคัญจะมีคณะแพทย์ในการดูแล หารือกับครอบครัว แม่ในครรภ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

*กรณีการยุติการตั้งครรภ์จะทำได้หรือไม่ ? 

เพราะเนื่องจากคนที่ติดเชื้อไวรัสทุกคน ไม่ได้แปลว่าทารกจะมีความผิดปกติ จึงต้องพิสูจน์ด้วยการอัลตราซาวด์ดูว่าหัวเด็กมีความผิดปกติหรือไม่ แต่ข้อลำบากคือ เมื่อติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำให้ผิดปกติเลย จึงต้องติดตามการทำอัลตราซาวด์ คล้ายๆ กรณีดาวน์ซินโดรม  ซึ่งหากพบความผิดปกติทารกในครรภ์ ก็จะยุติตั้งครรภ์ได้ แต่จะต้องมีเกณฑ์ตามกฎหมาย อย่างทารกพิการมีผลต่อสุขภาพมารดา และต้องปรึกษาหารือระหว่างคณะแพทย์ว่า หากจะทำจะเป็นอันตรายต่อมารดาหรือไม่ รวมทั้งต้องปรึกษากับสามี กับครอบครัวด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า ปัจจุบันการยุติตั้งครรภ์กรณีทารกผิดปกติในครรภ์นั้น ไม่จำเพาะแค่ซิกา แต่รวมทุกกรณี โดยจะทำได้ในอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นเกณฑ์ ปัญหา คือ จะพบความผิดปกติก็ตอนอายุครรภ์มากๆ ทำให้ไม่สามารถทำได้ เพราะอันตรายต่อแม่ และอายุครรภ์มากๆ ก็เหมือนการทำคลอด เมื่อคลอดออกมาแล้วก็มีชีวิตแล้ว ดังนั้นการจะยุติการตั้งครรภ์จะต้องทำให้เร็วที่สุด

อ่านต่อบทความอื่นๆ 

คลิก! ไวรัสซิกา ทำลายสมองทั้งแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้อง
คลิก! ไข้เลือดออก และไวรัสซิการะบาดช่วงหน้าฝน
คลิก! วิธีกำจัดยุง ป้องกันไข้เลือดออก และไวรัสซิกา

อ่านข่าวเพิ่มเติม >> คลอดแล้ว! แนวทางดูแล-ยุติตั้งครรภ์ ‘หญิงท้องติดเชื้อซิกา-เด็กหัวลีบ’ ครั้งแรกเอเชีย

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.matichon.co.th