AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ตั้งครรภ์ อายุมาก แต่ท้องได้สบายใจ (ไตรมาส 2)

ในช่วงไตรมาสนี้ มี 2 เรื่องที่คุณหมอแนะนำให้แม่ท้องอายุมากควรรู้และใส่ใจตรวจค่ะ

1. การตรวจว่าลูกน้อยในท้องมีอวัยวะต่างๆ ครบถ้วนปกติหรือไม่

เรื่องสำคัญที่อยู่ในใจคุณแม่ท้องทุกคน คือ “ขอให้ลูกแม่แข็งแรง ครบสมบูรณ์” หากได้รับการตรวจในช่วงเวลาที่เหมาะสมนี้ แทนที่จะรบกวนสุขภาพใจคุณแม่ จะกลายเป็นเรื่องโล่งใจกันทีเดียวค่ะ

การตรวจนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า การตรวจความผิดปกติทางโครงสร้าง ก็ตรงตามชื่อค่ะ เป็นการตรวจหาความผิดปกติทางร่างกายของทารกในครรภ์ ตั้งแต่ความพิการเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงรุนแรง ด้วยการอัลตราซาวนด์

แล้วการตรวจในไตรมาสนี้ช้าไปหรือเปล่า คุณหมอณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า “เพราะร่างกายและอวัยวะทุกส่วนของลูกน้อยจะมีครบในช่วงไตรมาสนี้ ดังนั้นนี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมและเร็วที่สุด คุณหมอจึงให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้ทัน และความผิดปกติหลายอย่างสามารถรักษาได้เมื่อทารกคลอดแล้ว”

แน่นอนค่ะ เราก็สงสัยเหมือนคุณแม่ การตรวจหาความผิดปกติด้วยวิธีอัลตราซาวนด์หลายมิติก็น่าจะดีกว่าใช่หรือไม่ คุณหมอคลายสงสัยว่า การตรวจหาความผิดปกตินี้แค่อัลตราซาวนด์สองมิติก็เพียงพอ ส่วนการอัลตราซาวดน์สามหรือสี่มิติมีประโยชน์ในแง่วินิจฉัยน้อยมาก แต่ใช้ประกอบการอัลตราซาวนด์สองมิติได้เพื่อให้เห็นภาพลูกน้อยได้ง่ายขึ้น

“คุณหมอขอฝากคุณแม่ท้องว่า ‘ในระหว่างอัลตราซาวนด์ หากคุณแม่สงสัยตรงไหน อยากรู้ว่าหมอเจอหรือไม่เจออะไร ตรงไหนเป็นอวัยวะใด อย่าได้เกรงใจ ขอให้ถามคุณหมอจะดีกว่า อย่าได้เก็บความสงสัยไปจนกังวลต่อทั้งๆ ที่ตรวจแล้ว’”

2. การตรวจภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

“การตรวจนี้จำเป็นสำหรับแม่ท้องอายุมาก เพราะภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มีผลกระทบถึงสุขภาพของลูกน้อยและคุณแม่ในระยะยาว ขณะที่สามารถตรวจรู้ได้เร็วและป้องกันรักษาได้ไม่ยาก คุณหมออธิบาย และยังมีเหตุผลอื่นที่คุณแม่ไม่ควรพลาดการตรวจนี้กันค่ะ

นอกจากภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์จะเกิดในแม่ท้องอายุที่มากได้ง่ายแล้ว คุณแม่ที่มีน้ำหนักมากและคุณแม่ที่มีญาติสายตรงเป็นเบาหวานก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

คุณหมอจะให้คุณแม่ดื่มน้ำตาลกลูโคส หากไม่มีภาวะเบาหวาน อินซูลินในร่างกายจะช่วยลดระดับน้ำตาลไม่ให้เกินเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าค่าน้ำตาลในเลือดของคุณแม่ไม่ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ถือว่าอยู่ในภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่เลี่ยงการกินหวานพร้อมกับควบคุมอาหาร แต่ในบางรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้แม้จะคุมอาหารอย่างดีแล้วอาจต้องฉีดอินซูลินเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาล

ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ มักทำให้ทารกในครรภ์ตัวโต คลอดยากหรือคลอดติดไหล่ หรือหลังคลอดแล้วสุขภาพร่างกายของทารกมักไม่แข็งแรง นอกจากนี้ ทั้งคุณแม่และลูกน้อยมีแนวโน้มเป็นเบาหวานต่อไปด้วยค่ะ

อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 1 | ไตรมาส 3

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: shutterstock