พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน เกิดอะไรกับลูกในท้อง?- Amarin Baby & Kids
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน

แม่รู้มั้ย! พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน เกิดอะไรขึ้นกับลูกในท้องบ้าง?

event
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน

หลังจากกระบวนการปฏิสนธิโดยสมบูรณ์ ไข่ผสมกับสเปิร์มและสร้างเป็นตัวอ่อน ตอนนี้คุณแม่กำลังตั้งครรภ์แล้วนะ ตั้งแต่วันแรกจนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการมากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งคลอดออกมากลายเป็นทารกน้อยที่แสนน่ารักของคุณพ่อคุณแม่ ตอนนี้คุณแม่มือใหม่อยากรู้มั้ยค่ะว่า พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน จะเป็นอย่างไร และในช่วงตั้งครรภ์เดือนแรกแม่ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง

ขนาดทารกในครรภ์ 1 เดือน
ขนาดทารกในครรภ์ 1 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน ลูกตัวเล็กจิ๋วเท่า “เมล็ดงา” แล้วนะ

หลังจากปฏิสนธิแล้ว ไข่จะเคลื่อนตัวไปยังโพรงมดลูก โดยใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมง ในขณะที่ไข่เคลื่อนตัวมานั้นจะมีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนไปเรื่อย ๆ เมื่อไข่ถึงโพรงมดลูก ไข่จะมีเซลล์ประมาณ 100 เซลล์ เมื่อไข่ฝังตัวกับผนังมดลูกอย่างมั่นคงดีแล้ว ถือว่ากระบวนการปฏิสนธิโดยสมบูรณ์และเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์อย่างแม้จริง ในช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่กำหนดเพศสภาพของลูกน้อยด้วย ซึ่งจะมีอสุจิเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่จะได้ปฏิสนธิกับไข่จนเกิดเป็นทารก ถ้าตัวอสุจิที่มีโครโมโซม X เข้าไปผสมกับไข่ที่มีโครโมโซม X ก็จะได้ผลเป็น XX คือ เพศหญิง แต่ถ้าตัวอสุจิที่มีโครโมโซม Y เข้าไปผสมกับไข่มีโครโมโซม X ก็จะได้ผลเป็น XY คือ เพศชาย โดยไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ เรียกว่า ไซโกเทต คือลูกบอลขนาด 32 เซลล์ที่มีขนาดเท่ากับ “เมล็ดงาดำ”

พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนแรก เกิดอะไรขึ้นกับลูกในท้องบ้าง?

ในช่วงระยะ 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 1 หลังจากการปฏิสนธิ ทารกในครรภ์จะยังเป็นเพียงเซลล์เล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ แบ่งตัวออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งอวัยวะภายในและผิวหนังของทารกจะเริ่มพัฒนาขึ้น คือ

  • Ectoderm หรือชั้นนอกของเซลล์ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นระบบประสาท ผิวหนัง ผม ขน ต่อมน้ำนม ต่อมเหงื่อ และฟัน
  • Mesoderm จะพัฒนาไปเป็นหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อและกระดูก และระบบขับถ่าย
  • Endoderm จะพัฒนาไปเป็นอวัยวะภายใน เช่น ปอด ทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน และต่อมไทรอยด์

อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 2 หลังจากการปฏิสนธิทารกเริ่มพัฒนาหลอดประสาท ซึ่งเป็นโครงสร้างรูปร่างคล้ายท่อที่จะเติบโตกลายเป็นสมอง ไขสันหลัง ระบบประสาท และกระดูกสันหลังของทารกต่อไป

พัฒนาการทารกในครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์

อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 3 หัวใจของลูกก็เริ่มเต้นแล้วในช่วงนี้ มีการพัฒนาเป็นรกที่จะทำหน้าที่สำคัญระหว่างทารกภายในครรภ์กับคุณแม่ไปตลอด 40 สัปดาห์จนกว่าจะคลอด แม้ว่าหน้าตาของทารกน้อยจะยังไม่พัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในช่วงตั้งครรภ์เดือนแรก แต่อวัยวะสำคัญหลายอย่าง เช่น ตา หู และปากของทารก จะเริ่มปรากฏให้เห็นลาง ๆ แล้ว ในระยะนี้หากคุณแม่ได้รับสารพิษ เช่น ยา สารเคมี เชื้อโรคบางชนิด หรือการกินเหล้า บุหรี่ ก็อาจทำให้ตัวอ่อนในครรภ์มีความพิการและแท้งออกมาได้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ

อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 4

  • ทารกในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่ถึง 1 กรัม มีลักษณะคล้ายกุ้งที่มีเอวคอดตรงกลาง มีส่วนหัว ส่วนข้าง และส่วนล่างที่ลักษณะเหมือนหางโค้งงอ
  • ภายในครรภ์จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำเกิดขึ้น ซึ่งจะมีน้ำคร่ำที่ทำหน้าที่คอยปกป้องตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม การกระทบกระเทือนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภายนอก และควบคุมอุณหภูมิให้ตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนสามารถเคลื่อนไหวได้เพื่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งยังเป็นแหล่งน้ำให้ตัวอ่อนอีกด้วย
  • ตัวอ่อนจะมีถุงเล็กติดอยู่ซึ่งเรียกว่า ถุงไข่แดง ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นเลือดเล็ก ๆ มากมาย ที่คอยทำหน้าที่ให้อาหารกับตัวอ่อนในขณะที่ตัวอ่อนยังไม่สามารถดูดซึมอาหารด้วยตัวเองได้ และเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นก็จะเปลี่ยนมาใช้รกในการดูดซึมอาหารจากแม่แทน
  • ภายในหกสัปดาห์แรก สมองของทารกกำลังพัฒนาขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง และจะเริ่มแบ่งออกเป็นซีกซ้ายและซีกขวาอย่างชัดเจน
อาการแม่ท้องเดือนแรก
อาการแม่ท้องเดือนแรก

อาการแม่ท้องเดือนแรก ที่เป็นสัญญาณว่ากำลังตั้งครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์บางคนในช่วงเดือนแรกอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าท้อง แต่ก็สงสัยได้จากการที่ประจำเดือนไม่มา ซึ่งเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถใช้ชุดทดสอบได้ว่าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังอาการอื่น ๆ อีก เช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกหงุดหงิดง่าย อารมณ์เปลี่ยน เป็นต้น

ท้อง 1 เดือนแรก ต้องเริ่มดูแลตัวเองอย่างไร

ในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ตอนนี้มีชีวิตน้อย ๆ อยู่ในท้องแล้วนะ คุณแม่ต้องเริ่มดูแลตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม และเริ่มปรับพฤติกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายทั้งแม่และลูกในท้อง เนื่องจากในช่วงการตั้งครรภ์นั้นร่างกายจะอ่อนเพลียง่าย คุณแม่ควรดูแลเรื่องอาหารการกินที่เป็นประโยชน์ ควรลดกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานเยอะ ควรได้พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเองสำหรับการอุ้มท้องตลอด 9 เดือนนับจากนี้ ที่สำคัญเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ควรไปทำการฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์และไปพบแพทย์ให้ตรงตามนัดเพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง

อาหารคนท้อง 1 เดือนแรก ควรกินอะไร

โภชนาการตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องที่คุณแม่ควรใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าคุณแม่จะรับประทานอะไรลงไปก็ล้วนมีผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะใน 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรจะรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ให้เพียงพอ

  • อาหารที่มีโฟเลต/ โฟลิค เช่น ผักโขม มันฝรั่ง กะหล่ำปลี บล็อกโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง คะน้า น้ำส้ม อะโวคาโด ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งโฟเลตเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นอย่างมากในการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยในเรื่องของพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ และยังมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงจากการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกอีกด้วย
  • อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อาทิเช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ถั่ว ธัญพืช ฯลฯ ซึ่งเป็นสารอาหารมีส่วนประกอบของฮีโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ในการลำเลียงและขนส่งออกซิเจนไปยังทารกน้อยในครรภ์ รวมทั้งไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายให้สามารถทำงานได้ปกติ อีกทั้งยังช่วยรักษาระดับความเข้มข้นของเลือดให้กับคุณแม่
  • อาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะกรดอะมิโนที่มีอยู่ในโปรตีนจะช่วยในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์
  • อาหารประเภทวิตามินบี6 เช่น ถั่วลิสง ธัญพืชต่าง ๆ และกล้วย มีส่วนช่วยในการยับยั้งอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ได้

อาหารคนท้อง 1 เดือนแรก

  • อาหารที่มีแคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จะต้องได้รับอย่างพอเพียง ซึ่งแคลเซียมจะได้ถูกนำไปให้เซลล์ในอวัยวะต่างๆ ได้ใช้ช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและรักษาความหนาแน่นของกระดูกให้คุณแม่และช่วยในการพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกน้อยด้วย ในหนึ่งวัน คุณแม่ควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม  ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานเท่านั้น อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งฝอย ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง เต้าหู้ และผักใบเขียวบางชนิด ได้แก่  ยอดแค ผักคะน้า  บร็อคโคลี และงาดำ เป็นต้น ถ้าหากคุณแม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง ลดการเกิดตะคริว ได้อีกด้วย
  • ผลไม้ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อแม่และลูกน้อยในท้อง อาทิ วิตามิน เบต้าแคโรทีน และไฟเบอร์ ที่มีอยู่ในส้ม กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอรี่ มะละกอ มะพร้าว ฝรั่ง เป็นต้น โดยคุณแม่ท้องควรรับประทานผลไม้ให้ครบ 5 ส่วนต่อวัน ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และป้องกันอาการท้องผูกที่จะเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ น้ำเปล่าถือว่าเป็นน้ำดีที่สุดสำหรับการดื่มในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องที่มักจะปัสสาวะบ่อยที่จะสูญเสียน้ำในร่างกายมากกว่าปกติซึ่งจะช่วยลดภาวะขาดน้ำลงได้ รวมทั้งช่วยป้องกันอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น อาการปวดหัว การเกิดตะคริว และท้องผูก นอกจากนี้การดื่มน้ำเปล่าในแต่ละวันจะดีต่อการลำเลียงสารอาหารส่งตรงถึงทารกในครรภ์ ช่วยให้สารอาหาร แร่ธาตุ รวมไปถึงออกซิเจนส่งถึงลูกน้อย ดังนั้นระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรค่อย ๆ จิบน้ำเปล่าตลอดทั้งวันให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอากาศในแต่ละวัน

จะเห็นได้ว่า การตั้งครรภ์ในช่วง 1 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโต การเอาใจใส่ต่อครรภ์นั้นมีผลต่อพัฒนาการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ไม่น้อย ไม่เฉพาะแต่อาหารที่แม่บริโภคด้วย ยังรวมถึงการออกกำลังกายเบา ๆ  การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการดูแลอารมณ์ที่ไม่ควรให้เกิดความเครียด เมื่อการบำรุงครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นย่อมส่งผลไปถึงทารกน้อยในครรภ์ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ตลอด 9 เดือนก่อนคลอดออกมาลืมตาดูโลกนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.kapook.comwww.honestdocs.cowww.sanook.com

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนมหัศจรรย์ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตน้อยๆ ของแม่บ้าง

10 รายชื่อหมอสูติ หมอฝากครรภ์ฝีมือดี ที่แม่ท้องบอกต่อ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up