“เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง”…คนท้องที่อยู่ในช่วงอายุครรภ์เข้าไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์ มักจะกังวลเกี่ยวกับการคลอด และส่วนใหญ่ก็จะมีความสงสัยเกี่ยวกับการสัญญาณการคลอดว่า เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง มีลักษณะสัญญาณอาการบ่งบอกแตกต่างกันอย่างไร ทีมงาน Amarin Baby and Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาฝากค่ะ
เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง…
คนท้องส่วนใหญ่มีความกังวลปนความสงสัยว่า เมื่อถึงเวลาที่ครบกำหนดคลอดลูก ร่างกายจะมีการส่งสัญญาณให้รู้ได้อย่างไร จริงๆ แล้วเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แม่ท้องจะรับรู้ถึงการเตือนจากร่างกายอย่างหนึ่งคือ “มีการเจ็บขึ้นมาที่ท้อง” ซึ่งการเจ็บท้องเป็นสัญญาณหนึ่งที่เตือนให้ทราบว่าการคลอดกำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้แล้ว ซึ่งการคลอด (Childbirth) เป็นกลไกทางธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง ที่มดลูกจะบีบตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็เพื่อให้ทารกน้อยในครรภ์ ได้ออกมาจากครรภ์ของแม่ ตามทางการแพทย์แล้ว คนท้องจะต้องมีการคลอดที่เป็นปกติ ก็เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนดคลอด
Good to know… “เจ็บท้องหลอกเกิดจากการที่มดลูกหดรัดตัว จนทำให้ปวดบริเวณท้องเท่านั้น อาการปวดจะไม่สม่ำเสมอ คือ เป็นๆ หายๆ ความถี่หรือความเจ็บปวดจะไม่รุนแรงมากขึ้น ปวดแต่ละครั้งน้อยกว่า 50 – 80 วินาที”
อายุครรภ์ที่เหมาะสมจะคลอด…
ตามหลักทางการแพทย์ อายุครรภ์ที่ปลอดภัยต่อการคลอด ที่ไม่มีอันตราย หรือภาวะแทรกซ้อนใดๆ ต่อแม่ท้อง และทารก ควรเป็นอายุครรภ์ที่ครบกำหนดอยู่ระหว่าง 37-41 สัปดาห์1
แม่ท้องที่ให้กำเนิดลูกก่อนกำหนด เด็กจะมีปัญหาปอดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ยังขาดสารที่เคลือบถุงลม ทำให้เกิดถุงลมในปอดขยายได้ไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ
คนท้องบางคนถามว่าแล้วถ้าไม่ได้คลอดก่อนหนด แต่คลอดเกินกำหนดจะมีปัญหาด้วยไหม ขอตอบเลยว่ามีอย่างแน่นอน ซึ่งการคลอดลูกในอายุครรภ์ของแม่ที่เกิดกำหนดคลอด ส่งผลให้รกมีโอกาสเสื่อม ไม่สามารถทำให้เลือดที่ส่งไปยังลูกลดลง ทารกจะเกิดปัญหาขาดออกซิเจนเรื้อรัง กระทบต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ของแม่ได้ค่ะ
อ่านต่อ >> “เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง จะรู้ได้อย่างไร ?” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง : เจ็บท้องหลอก (เจ็บลวง) จะรู้ได้อย่างไร…
การเจ็บท้องหลอก หรือเรียกว่า เจ็บท้องลวง (False Labor) คือ การเจ็บท้องที่ไม่มีการคลอดลูกตามมา ซึ่งจะมีการหดตัวของมดลูกที่ไม่สม่ำเสมอประมาณวันละ 2-3 ครั้ง ไม่มีเลือดออก และถุงน้ำคร่ำแตกไหลออกมาจากช่องคลอด แม่ท้องอาจรู้สึกว่าปวดท้อง ปวดหลังได้
สำหรับอาการเจ็บครรภ์หลวงจะเป็นได้ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ ซึ่งการเจ็บครรภ์หลอกคุณแม่ท้องจะเจ็บถี่ขึ้น 6-8 ครั้ง/วัน เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่หากเจ็บครรภ์และมีมดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอทุก 10 นาที หดรัดตัวนานครั้งละมากกว่า 30 วินาที ถือว่าเข้าข่ายเจ็บท้องจริง2
Good to know… “การเจ็บท้องจริง คุณแม่ท้องจะปวดหลัง และปวดท้องมากขึ้นเรื่อยๆ มีอาการปวดสม่ำเสมอ ในระยะเวลา 1 ชั่วโมง เจ็บท้อง 5 ครั้งขึ้นไป คือ เจ็บท้องทุก ๆ 10 – 15 นาที ปวดท้องถี่ ๆ สม่ำเสมอ มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปวดแต่ละครั้งนาน 30 – 70 วินาที”
เจ็บท้องจริง จะรู้ได้อย่างไร ?…
เมื่อถึงครรภ์ครบกำหนดคลอด การปวดท้องจะคลอดลูกเป็นเรื่องที่คนท้องใกล้คลอดเกิดความสับสนกันอยู่บ้าง จริงๆ แล้วการเจ็บท้องจริงมีสัญญาณการสังเกตง่ายๆ คือ มดลูกจะมีการหดรัดตัวเป็นพักๆ จนรู้สึกได้ว่าท้องแข็ง ในช่วงแรกมดลูกจะหดตัวห่างๆ ชั่วโมงละครั้ง และจะค่อยๆ หดรัดตัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาการปวดจะเพิ่มขึ้น และหากมดลูกมีการหดรัดตัวทุก 10 นาทีอย่างสม่ำเสมอ แบบนี้จะเรียกว่า “เจ็บท้องจริง” (True labor pain) ควรที่ต้องไปนอนรอเพื่อทำคลอดที่โรงพยาบาลอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
อาการแสดงเตือนอื่นๆ ของการเจ็บท้องจริง ก็เช่น มีมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด (น้ำคร่ำ) การที่มีน้ำคร่ำไหลออกมาถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการเจ็บท้อง ก็ควรต้องไปโรงพยาบาลนะคะ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
Good to know… “กว่า 80% ของผู้หญิงตั้งครรภ์ จะคลอดก่อนวันคาดคะเนคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ก็มีผู้หญิงตั้งครรภ์อีกจำ นวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก ที่ไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดเมื่อถึงวันนัดคลอด”
วิธีลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอด…
- การฉีดยาแก้ปวดเข้ากล้ามเนื้อที่สะโพก (เช่น ยา pethidine 50 มก.) ข้อควรระวังในการใช้ยาตัวนี้คือ ยาสามารถผ่านกระแสเลือดเข้าไปกดการหายใจของทารกได้เมื่อคลอดออกมา หากฉีดในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม
- การฉีดยาชาที่เหนือช่องไขสันหลัง (Epidural block) วิธีนี้ลดความปวดได้ดี แต่ต้องให้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้ทำหัตถการนี้ และหลังการทำ ต้องมีการเฝ้าระวังระหว่างที่รอคลอดอย่างใกล้ชิด
- การบีบนวดบริเวณหลัง สามารถช่วยลดความปวดได้บ้าง
- การจัดท่าต่างๆ ให้คุณแม่ท้องที่นอนรอคลอด ให้อยู่ในท่าที่สบาย ก็ช่วยลดความปวดได้บ้าง4การสังเกตอาการ เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง มีการดูสัญญาณเตือนที่ไม่ยากเลยค่ะ และเมื่อถึงวันกำหนดคลอด ขอให้ว่าที่คุณแม่คนใหม่ตัดความเครียด ความกลัว และความกังวลต่างๆ ออกไปให้หมดนะคะ เพื่อที่จะได้มีแรงพลังในการคลอดลูกกัน …ด้วยความห่วงใยค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจคลิก !!
ตกขาวแบบไหนอันตราย
น้ำคาวปลา หลังคลอดลูก คืออะไร ?
ฤกษ์คลอดตามช่วงเวลา คลอดลูกเวลาไหนให้นิสัยดี?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์.การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth).http://haamor.com/th/การคลอด/