AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง !!

ว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่อายุครรภ์ล่วงเข้าต้นไตรมาส 3 มักจะมีอาการแข็งๆ นูนๆ ปรากฏขึ้นมาที่หน้าท้อง ซึ่งลักษณะท้องที่แข็งขึ้นมานี้เรียกว่า “อาการท้องแข็ง” ซึ่งเกิดจากมดลูกแข็งตัวเป็นก้อนขึ้นมานั่นเองค่ะ อยากรู้กันไหมว่า อาการ ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ นั้นกำลังบอกอะไร ? แล้วจะเป็นอันตรายกับลูกหรือเปล่า ? เอ๊ะ..หรือว่าจะคลอดก่อนกำหนด !!!

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ?

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เกิดจากมดลูกหดรัดตัว จนทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกปวดท้อง หรือมีอาการท้องแข็งขึ้นมา สำหรับอาการท้องแข็ง สามารถพบว่าเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ

1. ท้องแข็ง ที่มาจากการหดรัดตัวของมดลูกตามธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 7-8 เดือน เวลาที่มดลูกหดรัดตัวคุณแม่ท้องจะรู้สึกได้ว่าท้องแข็งตึงขึ้นมา กดแล้วไม่นิ่ม ท้องแข็งในกรณีจะพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นชั่วโมงละ 1-2 ครั้ง ท้องแข็งไม่สม่ำเสมอ และไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

2. ท้องแข็ง ที่เป็นสัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด สำหรับกรณีนี้คุณแม่จะพบว่าตัวเองมีอาการท้องแข็งที่เกิดจากมดลูกหดรัดตัวถี่ คือมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นทุก 10 นาที แล้วมีอาการเจ็บท้องขณะท้องแข็งร่วมด้วย ซึ่งหากมีอาการแบบนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด จึงแนะนำว่าหากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นแบบไหน ควรไปพบคุณหมอที่ดูแลการตั้งครรภ์ของคุณแม่ทันทีค่ะ

Good to know… อาการท้องแข็ง คือการบีบตัวของมดลูก ซึ่งถ้ามดลูกบีบตัวตอนท้องครบไตรมาสถือว่าเป็นอาการปกติ แต่ถ้าหากมดลูกมีการบีบแข็งตัวก่อนเวลาที่ควรจะเกิดขึ้น ก็อาจเป็นสาเหตุให้มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดขึ้นได้  !!

สำหรับอาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์นั้น เป็นอาการที่พบได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน ไม่ว่าจะมีประสบการณ์การตั้งท้องมาก่อนแล้ว หรือจะเป็นแม่ท้องมือใหม่ท้องแรก ก็พบว่ามีอาการท้องแข็งอย่างปฏิเสธไม่ได้ค่ะ  ซึ่งอาการท้องแข็งยังไม่หมดแค่นี้ เพราะท้องแข็งก็อาจมาจากอีกหลายสาเหตุได้เหมือนกันค่ะ ฉะนั้นเราไปดูกันหน่อยค่ะว่า ท้องแข็งแบบไหนอันตราย หรือเป็นแค่อาการท้องแข็งปกติ…

อ่านต่อ >> “อาการท้องแข็ง เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง !!” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ท้องแข็ง เพราะลูกโก่งตัว

อาการท้องแข็งเพราะลูกโก่งตัว ลักษณะท้องที่แข็งจะแข็งไม่ทั่วท้อง หากคุณแม่จับดูที่ท้องจะพบว่าท้องมีลักษณะทั้งแข็งและนิ่มอยู่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งท้องแข็งแบบนี้เป็นเพราะลูกในท้องดิ้น หรือโก่งตัวขึ้น ที่คุณแม่จะเห็นว่าหน้าท้องนูนแข็งเด่นขึ้นมาเป็นจุดเล็กๆ  โดยปกติแล้วท้องแข็งลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้มีอันตรายอะไรกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ

ท้องแข็ง เพราะคุณแม่กินมากไป

ยิ่งคุณแม่อายุครรภ์มากขึ้น ลูกในท้องก็จะพัฒนาร่างกายให้เติบโตใหญ่ขึ้นจนแน่นเต็มมดลูก พื้นที่ที่ลูกเคยอยู่แบบสบายๆ ก็แคบลง ทำให้คุณแม่รู้สึกแน่นอึดอัด หายใจไม่ค่อยสะดวก มดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้นจะไปเบียดอวัยวะอื่นในช่องท้อง คุณแม่จะสังเกตตัวเองได้ว่ารู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยๆ ก็ด้วยสาเหตุนี้แหละค่ะ  เท่านี้ยังไปพบมดลูกยังไปเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้เวลาที่คุณแม่ทานอาหารอะไรเข้าไปมากๆ ก็จะทำให้รู้สึกแน่นอึดอัดไม่สบายท้อง  สำหรับอาการท้องแข็งแบบนี้ไม่ได้เกิดจากมดลูกมีการบีบตัว แต่มาจากการที่มดลูกถูกเบียดจนแข็งขึ้นมานั่นเองค่ะ ท้องแข็งแบบนี้ไม่อันตรายแต่อย่างไรค่ะ แต่เพื่อลดความอึดอัดที่เกิดจากการทานอาหารของคุณแม่ท้อง แนะนำว่าเวลาทานอาหารแต่ละมื้อควรทานน้อยๆ แค่พออิ่มก็จะช่วยให้คุณแม่สบายตัวขึ้นมากค่ะ

อ่านต่อ >> “ท้องแข็งแบบไหนอันตราย?” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

AMARIN BABY & KIDS

ท้องแข็ง แบบไหนอันตราย ?

ลักษณะอาการเวลาที่คุณแม่ท้องแข็งขึ้นมา จะเป็นลักษณะการแข็งขึ้นมาทั้งหมดจนทั่วท้อง และจะมีอาการปวดท้องเหมือนปวดประจำเดือน ซึ่งท้องแข็งลักษณะนี้อันตรายค่ะ โดยปกติแล้วอาการท้องแข็งจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์น้อยๆ ช่วงอายุครรภ์ที่พบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ช่วงนี้ลูกจะดิ้นมากที่สุด และการดิ้นของลูกก็อาจมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้น การหดรัดตัวของมดลูกจนทำให้ท้องแข็ง โดยมากแล้วไม่ควรเกินวันละ 6-10 ครั้งนะคะ

อาการ ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ ที่เป็นอันตราย ส่วนมากมักเกิดกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 5 เดือน ท้องที่แข็งขึ้นมาจากมดลูกมีการหดรัดตัวมากกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนแข็งทั่วทั้งท้อง และมีอาการเจ็บปวดมากร่วมด้วย มีเลือดออก หากคุณแม่มีอาการท้องแข็งลักษณะนี้ควรรีบไปพบคุณหมอทันที ไม่ควรปล่อยอาการทิ้งไว้ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการแท้งลูกขึ้นได้ค่ะ

ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ สามารถป้องกันได้

  1. ไม่กลั้นปัสสาวะ การที่คุณแม่กลั้นปัสสาวะนอกจากจะทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้แล้ว การกลั้นฉี่ยังจะไปกระตุ้นให้มดลูดแข็งตัวขึ้นได้ค่ะ ฉะนั้นหากปวดปัสสาวะให้ขยันเดินเข้าห้องน้ำกันสักนิด ไม่ควรกลั้นปัสสาวะไว้นะคะ
  2. ไม่ทำงานหนัก คุณแม่ไม่ควรทำงานหนักอย่างการทำงานบ้าน เช่น การล้างห้องน้ำ ถูพื้น ขัดพื้น นั่งซักผ้า หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องก้มๆ เงยๆ และไม่ยกของหนัก เพื่อลดการบีบรัดตัวมดลูกเกร็ง
  3. ไม่ทำอะไรผาดโผน เช่น เดินขึ้นลงบันไดหลายๆ ชั้น ไม่ปั่นจักรยาน ไม่เดินเร็ว เป็นต้น เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์
  4. ไม่ขับรถยนต์หรือเดินทางไกล คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากไม่ควรขับรถเอง เพราะขนาดครรภ์ที่ใหญ่ไม่เหมาะที่จะนั่งนานๆ ในรถ การขับรถอาจทำให้คุณแม่เกร็งตัว เกร็งบริเวณท้อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดมดลูกหดรัดตัวขึ้นมาได้ค่ะ
  5. ไม่กระตุ้นบริเวณเต้านม การถูนวดบริเวณเต้านม สามารถส่งผลให้มดลูกเกิดการบีบรัดตัวขึ้นได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้นะคะ
  6. ไม่มีเพศสัมพันธ์ หากคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น หรือระหว่างตั้งครรภ์มีการร่วมรักกัน เนื่องจากการมีกิจกรรมทางเพศอาจจะยิ่งไปกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัวได้ง่ายมาก หากเป็นการร่วมรักในท่าที่ไม่เหมาะสม
  7. ไม่ลูบคลำท้องบ่อยๆ มดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อต่างๆ มากมาย และไวต่อการกระตุ้นมาก ยิ่งคุณแม่ชอบเอามือไปจับลูบๆ คลำๆ ที่ท้องบ่อย ก็เหมือนยิ่งไปกระตุ้นให้ท้องแข็งได้ง่าย(ในกรณีที่แม่ท้องมีอาการท้องแข็งบ่อย)
อาการแทรกซ้อนทางสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอาการ ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรเตรียมความพร้อมของสุขภาพร่างกายทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ให้พร้อมสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อให้การตั้งครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์เป็นการตั้งครรภ์คุณภาพนั่นเองค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

เป็นเบาหวานแล้วตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน?
อาการต่าง ๆ ช่วงตั้งครรภ์ ที่เกิดมักเกิดกับแม่ตั้งครรภ์


อ้างอิงข้อมูล อาจารย์นายแพทย์ประภัทร วานิชพงษ์พันธ์. http://www.si.mahidol.ac.th/. นายแพทย์อานนท์ เรืองอุตมานันท์. https://www.facebook.com/notes/นพอานนท์-เรืองอุตมานันท์/ท้องนิ่ม-ท้องแข็ง-มดลูกแข็ง-หรือ-ลูกโก่งตัว/1041673629238655/.

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids