AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอสูติตอบเอง ฝากท้องแบบไหนดี? “ ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา ”

หมอสูติตอบเอง ฝากท้องแบบไหนดี? “ ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา ”

ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา แม่ท้องควร ฝากครรภ์แบบไหนดี แล้วการฝากครรภ์ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ตามมาดูคำตอบจากปากหมอสูติฯ แบบชัดๆ กันเลนค่ะ

ฝากท้องแบบไหนดี?
ฝากธรรมดา VS ฝากครรภ์พิเศษ

“ขอพิเศษนะ” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยเวลาสั่งอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวต่างๆ เช่น เส้นใหญ่เย็นตาโฟพิเศษ ข้าวขาหมูพิเศษ หมายถึงเราจะได้ เส้น ข้าว หมู หรือ เนื้อ มากกว่าจานปกติ ซึ่งแน่นอนว่า ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายแพงกว่าจานธรรมดา การฝากท้อง หรือ ฝากครรภ์พิเศษ ก็เช่นกัน เมื่อเรามีความต้องการการดูแลครรภ์ที่มากกว่า ดีกว่า สะดวกกว่าปกติ เราก็ต้องมีการฝากพิเศษกับแพทย์ที่เราคัดสรรแล้วว่าดี หรือเก่ง ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ การตรวจครรภ์ ไปจนถึงการทำคลอดบุตร ไม่ว่าจะคลอดเองธรรมชาติ หรือการผ่าตัดคลอดก็ตาม

ในปัจจุบัน  หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ ได้มีการค้นหาข้อมูลแพทย์ที่จะฝากครรภ์ไว้แต่เนิ่นๆอยู่แล้ว บางคนจองโรงเรียนให้ลูกแล้วตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องก็มี ยุคปัจจุบันเป็นยุคไอที ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตได้ง่ายมาก หลายๆท่าน จึงใช้วิธีเข้าไปตั้งกระทู้ถาม ในอินเตอร์เน็ต หรือดูข้อมูลที่มีคนโพสต์ หรือรีวิวไว้ก่อนหน้านี้ เอาเป็นว่าการเลือกหมอแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน บางคนชอบหมอใจดี บางคนชอบหมออธิบายละเอียดดี บางคนชอบหมอตรวจอัลตร้าซาวด์เก่ง

ฝากธรรมดา VS ฝากครรภ์พิเศษ ต่างกันอย่างไร?

สำหรับเรื่องของการฝากครรภ์ คุณหมอนิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลว่า .. อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสูตินรีแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก!!

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการเปิดหลักสูตรอบรมต่อยอดเพิ่มเติมอีก 2 สาขา เป็นสาขาที่ 4 และ 5 คือ

    1. อนุสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ความผิดปกติของอวยัวะอุ้งเชิงกราน และการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การผ่าตัดรักษาภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน
    2. อนุสาขาการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (หลักสูตร 1ปี) มีความเชี่ยวชาญและให้การรักษาเกี่ยวกับการผ่าตัดทางนรีเวช(มดลูก รังไข่)โดยใช้กล้อง

จะเห็นว่าปัจจุบันสูตินรีแพทย์ มีการเปิดหลักสูตรของการศึกษาที่เจาะลึกเฉพาะด้านในแต่ละโรค ดังนั้นถ้าต้องการรักษาในโรคใดที่ต้องการให้ผลออกมาดีที่สุดก็ควรไปตรวจรักษากับแพทย์ในสาขาเฉพาะทางนั้นๆ

>> กลับมาที่หัวข้อ ฝากครรภ์พิเศษ ของเรา แน่นอนว่า สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนปรารถนา คือ ต้องการให้ผลการคลอดออกมาดีที่สุด (ลูกเกิดรอด) มีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด (แม่ปลอดภัย) และ ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดในช่วงระหว่างมาฝากครรภ์และการคลอด ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย การเดินทาง การได้พบแพทย์เมื่อเกิดปัญหา ระบบฝากครรภ์ในประเทศไทยจะมี 2 ระบบ คือ ฝากโรงพยาบาลเอกชน กับ ฝากโรงพยาบาลของรัฐ

 

การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ รวมถึงคลินิกต่างๆของเอกชนด้วย การฝากในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่จะเป็นการฝากพิเศษไปในตัวอยู่แล้ว เพราะจะได้รับการดูแล ฝากครรภ์พิเศษ โดยแพทย์ท่านเดิมตลอดระยะเวลาของการฝากครรภ์ ซึ่งแพทย์ที่ได้ดูแลท่านตั้งแต่ครั้งแรกมักจะเป็นผู้ดูแลฝากครรภ์ไปจนถึงคลอด รวมถึงการทำคลอดให้หญิงตั้งครรภ์ด้วย ทั้งการคลอดเองธรรมชาติ (Normal Labor) หรือการผ่าตัดคลอด (Cesarean Section) ซึ่งคุณแม่สามารถเดินเข้าไปในโรงพยาบาลที่ต้องการฝากครรภ์และต้องการที่จะคลอดที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แจ้งความจำนงค์กับเจ้าหน้าที่ ว่าต้องการฝากครรภ์และคลอดกับหมอท่านนั้นท่านนี้ที่ท่านได้ดูมา หรือเคยตรวจกันมาก่อน โดยแจ้งชื่อแพทย์ที่ต้องการพบได้เลย เจ้าหน้าที่ หรือ พยาบาลก็จะจัดให้ท่านได้พบกับแพทย์ท่านนั้นโดยตรง แต่กรณีที่ท่านไม่รู้จักแพทย์ท่านใดเลย ก็อาจขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ หรือพยาบาล ให้ช่วยแนะนำแพทย์ให้ได้ หรือถ้าท่านไม่ระบุใดๆ เลยพยาบาลจะนำเข้าสู่ระบบคิวของแพทย์ที่ออกตรวจในวันนั้น

จากนั้นเมื่อท่านพบแพทย์แล้วและได้ตรวจแล้ว แพทย์ท่านเดิมก็จะนัดท่านมาตรวจครรภ์ในครั้งต่อๆไปตามวันที่แพทย์ท่านนั้นออกตรวจ จึงถือว่าเป็นการฝากครรภ์แบบพิเศษไปในตัว เพราะท่านจะได้พบกับแพทย์ท่านเดิมตลอด หรือในการฝากครรภ์ที่คลินิก มักเป็นสูติแพทย์ที่มาเปิดคลินิกเอง คุณแม่ท้องสามารถเข้าไปพบแพทย์ได้ที่คลินิกโดยตรง ส่วนการคลอดลูก ขึ้นอยู่กับแพทย์ท่านนั้นทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลไหน ท่านสามารถเลือกไปคลอดโรงพยาบาลที่แพทย์ทำงานอยู่ได้ ทั้งในส่วนโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่แพทย์ท่านนั้นทำงานมากกว่า 1 โรงพยาบาล

ส่วนการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการของรัฐ อาจจะแตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ในแต่ละวันค่อนข้างมาก และแพทย์แต่ละท่าน ต้องหมุนเวียนการปฏิบัติงานไปในที่ต่างๆแต่ละวันแทบไม่ซ้ำกัน เช่น วันนี้ตรวจฝากครรภ์ อีกวันตรวจนรีเวช อีกวันเข้าห้องตรวจอัลตร้าซาวด์ อีกวันเข้าห้องผ่าตัด หมุนเวียนกันไปในแผนก ดังนั้นการที่จะได้ตรวจกับแพทย์ท่านเดิมทุกครั้งจึงเป็นไปได้ยาก และเมื่อเจ็บครรภ์มาคลอดก็จะอาจได้รับการทำคลอดโดยพยาบาลผดุงครรภ์ หรือแพทย์เวรในวันนั้นๆ ไม่สามารถเลือกคนทำคลอดให้ตัวเองได้ เพื่อหลีกเลี่ยงกับภาวะดังกล่าว จึงมีคนไปขอฝากพิเศษกับแพทย์ เพื่อให้แพทย์ท่านนั้นรับดูแลฝากครรภ์ให้กับตนเองทุกครั้ง และรวมถึงการทำคลอดให้ ไม่ว่าคนไข้จะเจ็บครรภ์มาเอง หรือนัดผ่าตัดคลอดก็ตาม

ทั้งนี้คุณแม่ท้องควรสอบถามข้อมูลกับทางแผนกของแต่ละโรงพยาบาลที่ไปฝากครรภ์ว่าแพทย์ท่านใดที่รับ ฝากครรภ์พิเศษ บ้าง เนื่องจากสูตินรีแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐไม่ได้รับ ฝากครรภ์พิเศษ ทุกคน และถึงแม้คนไข้จะฝากพิเศษ แต่การดูแลครรภ์ยังคงต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ในการดูแลและรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพทุกประการ แพทย์จะไม่ทำการรักษาตามคำร้องขอโดยไม่มีข้อบ่งชี้ หรือไม่ปลอดภัย

สรุปว่าการฝากครรภ์ ในเอกชน  ไม่จำเป็นต้องระบุว่าต้องการฝากครรภ์พิเศษ เนื่องจากแพทย์ที่ดูแลการฝากครรภ์ให้ในแต่ละครั้ง จะเป็นผู้ดูแลฝากครรภ์ต่อเนื่อง ตลอดจนถึงการทำคลอดให้กับคุณแม่ และค่าใช้จ่ายสำหรับแพทย์ทำคลอด ทางโรงพยาบาลเอกชนมักเรียกเก็บอยู่ในแพ็คเก็จคลอดอยู่แล้ว

แต่ในโรงพยาบาลรัฐ แพทย์ที่มาทำคลอดให้ ถือว่าท่านมาทำหน้าที่พิเศษไม่ใช่หน้าที่ปกติ จึงอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าคลอดปกติของโรงพยาบาล ซึ่งคนไข้สามารถสอบถามข้อมูลต่างๆจากสถานที่ที่เราไปฝากครรภ์ได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะฝากครรภ์แบบธรรมดาก็ดี หรือ ฝากครรภ์พิเศษ ก็ดี ถ้าได้มารับการฝากครรภ์ ถือว่าได้มีบุคคลากรทางการแพทย์ดูแลครรภ์ให้กับหญิงตั้งครรภ์แล้ว ความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นกับแม่และเด็ก แต่ยังมีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ตั้งครรภ์แล้วไม่ยอมไปรับการตรวจฝากครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มีอายุน้อย ซึ่งโดยมากไม่อยากให้ใครรู้ว่าตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อแม่ตั้งครรภ์และทารกแรกคลอด เกิดเป็นปัญหาในการดูแลสุขภาพในระบบสาธารณะสุขของประเทศไทย ที่ยังพบได้บ่อยๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการฝากครรภ์แบบธรรมดา หรือ การฝากครรภ์พิเศษ ความหมายของการฝากครรภ์ที่ดีคือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ และการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอทุกครั้งตามที่แพทย์นัด อย่าลืมว่าทุกโรงพยาบาลมีมาตราฐานวิชาชีพในการดูแลความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์เป็นหลักที่คล้ายคลีงกัน อาจจะแตกต่างกันในเรื่องสถานที่ บุคคลากร และความสะดวกสบายที่ได้รับ ซึ่งความสะดวกสบายอาจหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามมาด้วยนะครับ

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่างได้เลย

ฝังเข็มคุมกำเนิด คืออะไร? ข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องรู้ก่อนทำ!

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!

ท้องไม่พร้อม ไม่สนุก!! รู้ยังวัยรุ่น ฝังยาคุม ฟรี

ครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร ประสบการณ์ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์