ฝากท้องแบบไหนดี? ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากธรรมดา - Amarin Baby & Kids
ฝากครรภ์พิเศษ

หมอสูติตอบเอง ฝากท้องแบบไหนดี? “ ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา ”

event
ฝากครรภ์พิเศษ
ฝากครรภ์พิเศษ

ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา แม่ท้องควร ฝากครรภ์แบบไหนดี แล้วการฝากครรภ์ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ตามมาดูคำตอบจากปากหมอสูติฯ แบบชัดๆ กันเลนค่ะ

ฝากท้องแบบไหนดี?
ฝากธรรมดา VS ฝากครรภ์พิเศษ

“ขอพิเศษนะ” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยเวลาสั่งอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวต่างๆ เช่น เส้นใหญ่เย็นตาโฟพิเศษ ข้าวขาหมูพิเศษ หมายถึงเราจะได้ เส้น ข้าว หมู หรือ เนื้อ มากกว่าจานปกติ ซึ่งแน่นอนว่า ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายแพงกว่าจานธรรมดา การฝากท้อง หรือ ฝากครรภ์พิเศษ ก็เช่นกัน เมื่อเรามีความต้องการการดูแลครรภ์ที่มากกว่า ดีกว่า สะดวกกว่าปกติ เราก็ต้องมีการฝากพิเศษกับแพทย์ที่เราคัดสรรแล้วว่าดี หรือเก่ง ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ การตรวจครรภ์ ไปจนถึงการทำคลอดบุตร ไม่ว่าจะคลอดเองธรรมชาติ หรือการผ่าตัดคลอดก็ตาม

ในปัจจุบัน  หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ ได้มีการค้นหาข้อมูลแพทย์ที่จะฝากครรภ์ไว้แต่เนิ่นๆอยู่แล้ว บางคนจองโรงเรียนให้ลูกแล้วตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องก็มี ยุคปัจจุบันเป็นยุคไอที ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตได้ง่ายมาก หลายๆท่าน จึงใช้วิธีเข้าไปตั้งกระทู้ถาม ในอินเตอร์เน็ต หรือดูข้อมูลที่มีคนโพสต์ หรือรีวิวไว้ก่อนหน้านี้ เอาเป็นว่าการเลือกหมอแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน บางคนชอบหมอใจดี บางคนชอบหมออธิบายละเอียดดี บางคนชอบหมอตรวจอัลตร้าซาวด์เก่ง

ฝากธรรมดา VS ฝากครรภ์พิเศษ ต่างกันอย่างไร?

สำหรับเรื่องของการฝากครรภ์ คุณหมอนิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลว่า .. อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสูตินรีแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก!!

  • หมอสูตินรีแพทย์” คือ แพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรแพทย์ทั่วไป (General Practitioner: เรียน 6 ปี ) หลังจากออกไปใช้ทุนในต่างจังหวัดแล้ว 2-3 ปี จึงกลับมาเรียนต่อหลักสูตรเฉพาะทาง (specialist) สาขาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ( เรียน 3 ปี ) หมอสูตินรีแพทย์เป็นหมอที่จบมาแล้วสามารถให้การดูแลครรภ์และทำคลอดได้หมดทุกคน แต่ปัจจุบันได้มีหลักสูตรต่อยอด (Fellowship) ของสูตินรีแพทย์ เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งหมด 3 สาขาดังนี้ ( เรียนต่อ 2 ปี )
    1. สูตินรีแพทย์ อนุสาขามะเร็งนรีเวชวิทยา มีความเชี่ยวชาญและให้การรักษาเกี่ยวกับ การป้องกัน การตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็ง และมะเร็งระยะเริ่มแรก การวินิจฉัยโรคมะเร็งนรีเวช การผ่าตัดและรักษาภาวะแทรกซ้อน การรักษาโดยยาเคมีบำบัดและรักษาภาวะแทรกซ้อน การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
    2. สูตินรีแพทย์ อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ มีความเชี่ยวชาญและให้การรักษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก ความผิดปกติทางต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัว การดูแลสตรีวัยหมดระดู และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
    3. สูตินรีแพทย์ อนุสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ มีความเชี่ยวชาญและให้การรักษาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ การตรวจคัดกรองก่อนคลอด การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์เพื่อประเมินและวินิจฉัยทารกในครรภ์ การเจาะตรวจน้ำคร่ำ การรักษาทารกในครรภ์ การประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ รวมถึงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมร่วมด้วย เช่น ความดัน เบาหวาน หรือไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการเปิดหลักสูตรอบรมต่อยอดเพิ่มเติมอีก 2 สาขา เป็นสาขาที่ 4 และ 5 คือ

    1. อนุสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ความผิดปกติของอวยัวะอุ้งเชิงกราน และการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การผ่าตัดรักษาภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน
    2. อนุสาขาการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (หลักสูตร 1ปี) มีความเชี่ยวชาญและให้การรักษาเกี่ยวกับการผ่าตัดทางนรีเวช(มดลูก รังไข่)โดยใช้กล้อง

จะเห็นว่าปัจจุบันสูตินรีแพทย์ มีการเปิดหลักสูตรของการศึกษาที่เจาะลึกเฉพาะด้านในแต่ละโรค ดังนั้นถ้าต้องการรักษาในโรคใดที่ต้องการให้ผลออกมาดีที่สุดก็ควรไปตรวจรักษากับแพทย์ในสาขาเฉพาะทางนั้นๆ

ฝากครรภ์

>> กลับมาที่หัวข้อ ฝากครรภ์พิเศษ ของเรา แน่นอนว่า สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนปรารถนา คือ ต้องการให้ผลการคลอดออกมาดีที่สุด (ลูกเกิดรอด) มีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด (แม่ปลอดภัย) และ ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดในช่วงระหว่างมาฝากครรภ์และการคลอด ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย การเดินทาง การได้พบแพทย์เมื่อเกิดปัญหา ระบบฝากครรภ์ในประเทศไทยจะมี 2 ระบบ คือ ฝากโรงพยาบาลเอกชน กับ ฝากโรงพยาบาลของรัฐ

 

การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ รวมถึงคลินิกต่างๆของเอกชนด้วย การฝากในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่จะเป็นการฝากพิเศษไปในตัวอยู่แล้ว เพราะจะได้รับการดูแล ฝากครรภ์พิเศษ โดยแพทย์ท่านเดิมตลอดระยะเวลาของการฝากครรภ์ ซึ่งแพทย์ที่ได้ดูแลท่านตั้งแต่ครั้งแรกมักจะเป็นผู้ดูแลฝากครรภ์ไปจนถึงคลอด รวมถึงการทำคลอดให้หญิงตั้งครรภ์ด้วย ทั้งการคลอดเองธรรมชาติ (Normal Labor) หรือการผ่าตัดคลอด (Cesarean Section) ซึ่งคุณแม่สามารถเดินเข้าไปในโรงพยาบาลที่ต้องการฝากครรภ์และต้องการที่จะคลอดที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แจ้งความจำนงค์กับเจ้าหน้าที่ ว่าต้องการฝากครรภ์และคลอดกับหมอท่านนั้นท่านนี้ที่ท่านได้ดูมา หรือเคยตรวจกันมาก่อน โดยแจ้งชื่อแพทย์ที่ต้องการพบได้เลย เจ้าหน้าที่ หรือ พยาบาลก็จะจัดให้ท่านได้พบกับแพทย์ท่านนั้นโดยตรง แต่กรณีที่ท่านไม่รู้จักแพทย์ท่านใดเลย ก็อาจขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ หรือพยาบาล ให้ช่วยแนะนำแพทย์ให้ได้ หรือถ้าท่านไม่ระบุใดๆ เลยพยาบาลจะนำเข้าสู่ระบบคิวของแพทย์ที่ออกตรวจในวันนั้น

จากนั้นเมื่อท่านพบแพทย์แล้วและได้ตรวจแล้ว แพทย์ท่านเดิมก็จะนัดท่านมาตรวจครรภ์ในครั้งต่อๆไปตามวันที่แพทย์ท่านนั้นออกตรวจ จึงถือว่าเป็นการฝากครรภ์แบบพิเศษไปในตัว เพราะท่านจะได้พบกับแพทย์ท่านเดิมตลอด หรือในการฝากครรภ์ที่คลินิก มักเป็นสูติแพทย์ที่มาเปิดคลินิกเอง คุณแม่ท้องสามารถเข้าไปพบแพทย์ได้ที่คลินิกโดยตรง ส่วนการคลอดลูก ขึ้นอยู่กับแพทย์ท่านนั้นทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลไหน ท่านสามารถเลือกไปคลอดโรงพยาบาลที่แพทย์ทำงานอยู่ได้ ทั้งในส่วนโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่แพทย์ท่านนั้นทำงานมากกว่า 1 โรงพยาบาล

ส่วนการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการของรัฐ อาจจะแตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ในแต่ละวันค่อนข้างมาก และแพทย์แต่ละท่าน ต้องหมุนเวียนการปฏิบัติงานไปในที่ต่างๆแต่ละวันแทบไม่ซ้ำกัน เช่น วันนี้ตรวจฝากครรภ์ อีกวันตรวจนรีเวช อีกวันเข้าห้องตรวจอัลตร้าซาวด์ อีกวันเข้าห้องผ่าตัด หมุนเวียนกันไปในแผนก ดังนั้นการที่จะได้ตรวจกับแพทย์ท่านเดิมทุกครั้งจึงเป็นไปได้ยาก และเมื่อเจ็บครรภ์มาคลอดก็จะอาจได้รับการทำคลอดโดยพยาบาลผดุงครรภ์ หรือแพทย์เวรในวันนั้นๆ ไม่สามารถเลือกคนทำคลอดให้ตัวเองได้ เพื่อหลีกเลี่ยงกับภาวะดังกล่าว จึงมีคนไปขอฝากพิเศษกับแพทย์ เพื่อให้แพทย์ท่านนั้นรับดูแลฝากครรภ์ให้กับตนเองทุกครั้ง และรวมถึงการทำคลอดให้ ไม่ว่าคนไข้จะเจ็บครรภ์มาเอง หรือนัดผ่าตัดคลอดก็ตาม

ทั้งนี้คุณแม่ท้องควรสอบถามข้อมูลกับทางแผนกของแต่ละโรงพยาบาลที่ไปฝากครรภ์ว่าแพทย์ท่านใดที่รับ ฝากครรภ์พิเศษ บ้าง เนื่องจากสูตินรีแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐไม่ได้รับ ฝากครรภ์พิเศษ ทุกคน และถึงแม้คนไข้จะฝากพิเศษ แต่การดูแลครรภ์ยังคงต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ในการดูแลและรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพทุกประการ แพทย์จะไม่ทำการรักษาตามคำร้องขอโดยไม่มีข้อบ่งชี้ หรือไม่ปลอดภัย

สรุปว่าการฝากครรภ์ ในเอกชน  ไม่จำเป็นต้องระบุว่าต้องการฝากครรภ์พิเศษ เนื่องจากแพทย์ที่ดูแลการฝากครรภ์ให้ในแต่ละครั้ง จะเป็นผู้ดูแลฝากครรภ์ต่อเนื่อง ตลอดจนถึงการทำคลอดให้กับคุณแม่ และค่าใช้จ่ายสำหรับแพทย์ทำคลอด ทางโรงพยาบาลเอกชนมักเรียกเก็บอยู่ในแพ็คเก็จคลอดอยู่แล้ว

แต่ในโรงพยาบาลรัฐ แพทย์ที่มาทำคลอดให้ ถือว่าท่านมาทำหน้าที่พิเศษไม่ใช่หน้าที่ปกติ จึงอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าคลอดปกติของโรงพยาบาล ซึ่งคนไข้สามารถสอบถามข้อมูลต่างๆจากสถานที่ที่เราไปฝากครรภ์ได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะฝากครรภ์แบบธรรมดาก็ดี หรือ ฝากครรภ์พิเศษ ก็ดี ถ้าได้มารับการฝากครรภ์ ถือว่าได้มีบุคคลากรทางการแพทย์ดูแลครรภ์ให้กับหญิงตั้งครรภ์แล้ว ความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นกับแม่และเด็ก แต่ยังมีคนไข้ส่วนหนึ่งที่ตั้งครรภ์แล้วไม่ยอมไปรับการตรวจฝากครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มีอายุน้อย ซึ่งโดยมากไม่อยากให้ใครรู้ว่าตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อแม่ตั้งครรภ์และทารกแรกคลอด เกิดเป็นปัญหาในการดูแลสุขภาพในระบบสาธารณะสุขของประเทศไทย ที่ยังพบได้บ่อยๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการฝากครรภ์แบบธรรมดา หรือ การฝากครรภ์พิเศษ ความหมายของการฝากครรภ์ที่ดีคือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ และการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอทุกครั้งตามที่แพทย์นัด อย่าลืมว่าทุกโรงพยาบาลมีมาตราฐานวิชาชีพในการดูแลความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์เป็นหลักที่คล้ายคลีงกัน อาจจะแตกต่างกันในเรื่องสถานที่ บุคคลากร และความสะดวกสบายที่ได้รับ ซึ่งความสะดวกสบายอาจหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามมาด้วยนะครับ

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่างได้เลย

ฝังเข็มคุมกำเนิด คืออะไร? ข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องรู้ก่อนทำ!

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!

ท้องไม่พร้อม ไม่สนุก!! รู้ยังวัยรุ่น ฝังยาคุม ฟรี

ครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร ประสบการณ์ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up