AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รวมคำถามที่แม่ต้องตอบ! เมื่อไปฝากท้องครั้งแรก

ไชโย! ในที่สุดเบบี๋ก็จะมาอยู่กับพ่อแม่แล้ว! แล้วว่าที่คุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างเมื่อต้องไปฝากท้อง กับคุณหมอ มาติดตามกันค่ะ

ฝากท้อง ครั้งแรก ต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง?

สัญญาณอะไรที่ส่งมาบอกว่า กำลังท้อง

หากคุณแม่รู้ตัวแล้วว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญคือควรรีบไปฝากท้อง แต่ถ้ายังไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ลองสังเกตอาการเหล่านี้ดูว่าเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เพราะไม่ใช่แค่เพียงอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่สัญญาณบ่งบอกว่าท้องยังมีอีกเพียบ

⇒ Must read : 20 วิธีแก้ อาการแพ้ท้อง พร้อมเมนูแนะนำแก้อาการแพ้ท้อง

⇒ Must read : Q&A คลายสงสัย อาการแพ้ท้อง ของคุณแม่ทุกไตรมาส

ผู้หญิงบางคนพอรู้ว่าตัวเองท้อง แทนที่จะดีใจ กลับมีอาการกังวล กลัวเลี้ยงลูกไม่ดี กลัวกินอาหารไม่ถูก กลัวสามีไม่สนใจ เหล่านี้เป็นผลทั้งจากจิตใจและฮอร์โมน.. ดังนั้นคุณสามีต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดนะคะ

อ่านต่อ >> “คำถามที่แม่ต้องตอบ! เมื่อไปฝากท้องครั้งแรก” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

และหลังจากตื่นเต้นดีใจ ทีนี้ก็ถึงเวลาเตรียมตัวเป็นว่าที่คุณแม่ สิ่งแรกที่สูติแพทย์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำก็คือ ควรไปฝากท้องกับคุณหมอทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพราะนอกจากจะต้องตรวจสอบว่าเป็นภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น ท้องนอกมดลูก หรือครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่ และคุณหมอจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ และสั่งวิตามินและแร่ธาตุเสริมที่จำเป็นให้ด้วย ก่อนจะขึ้นรถไปคลีนิคหรือโรงพยาบาล คุณแม่คนใหม่อย่าลืมเตรียมข้อมูลเหล่านี้ติดตัวสำหรับการฝากท้องครั้งแรก ด้วยนะคะ

1. ประจำเดือนครั้งสุดท้าย

ในการ ฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะถามถึงวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อใช้คำนวนอายุครรภ์และกำหนดคลอด กรณีที่ประจำเดือนของคุณมาไม่ปกติก็ควรแจ้งสูติแพทย์ ถ้ามีผลการตรวจเลือดก่อนแต่งงานก็นำติดตัวไปด้วย เพราะในผลการตรวจเลือดจะมีข้อมูลที่สูติแพทย์จำเป็นต้องทราบ เช่น กรุ๊ปเลือด ABO และ Rh ของคุณแม่ ความเสี่ยงต่อโรคธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน และไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ

2. ประวัติสุขภาพ

ถ้าคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน ฯลฯ ควรขอประวัติการรักษาจากแพทย์ผู้ดูแลติดมาด้วย รวมถึงคุณแม่ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หรือหนองใน ฯลฯ หรือมีวิถีชีวิตที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็ควรแจ้งให้สูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ทราบ

3. ประวัติการตั้งครรภ์และการเจ็บป่วยทางนรีเวช

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองขึ้นไป หรือเคยตั้งครรภ์แต่เกิดภาวะผิดปกติ เช่น แท้งบุตร รกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติทำให้คลอดลำบาก ฯลฯ หรือหากคุณแม่เคยเป็นโรคทางนรีเวช เช่น ซีสต์หรือเนื้องอกในมดลูก ถึงแม้จะผ่าตัดจนหายดีแล้ว ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

4. ประวัติสุขภาพครอบครัว

กรณีที่ในครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่มีประวัติของโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด (ฮีโมฟีเลีย) หรือสมาชิกหญิงในครอบครัวของคุณแม่เคยมีภาวะการตั้งครรภ์บางอย่างที่อาจส่งต่อทางพันธุกรรม เช่น แท้งบ่อย คลอดลูกพิการโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือคลอดเร็ว ฯลฯ ควรสอบถามและจดรายละเอียดต่างๆ เช่น ใครบ้างที่เป็น  ใครบ้างที่มีภาวะเหล่านี้  ความถี่ที่อาการนี้เกิดในครอบครัว และความรุนแรงของอาการ ฯลฯ เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยว่า คุณแม่จะมีความเสี่ยงต่อภาวะเหล่านี้มากเท่าใด และควรวางแผนการดูแลอย่างไรบ้าง

อ่านต่อ >> “การดูแลลูกในครรภ์ให้ปลอดภัยครบ 32 ตลอดเวลา 9 เดือน” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การดูแลลูกในครรภ์ ตั้งแต่ไตรมาส 1 – 3

ไตรมาส 1 (1-3 เดือน)

1.ฝากครรภ์ทันที  คุณแม่ควรฝากครรภ์ทันทีหลังจากรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณหมอจะตรวจสุขภาพของคุณแม่ ถ้าพบปัญหาจะได้รักษา และดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณแม่ และลูกน้อยปลอดภัย

2.ออกกำลังกายเบาๆ คุณแม่สามารถออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ได้ ไม่หักโหม เช่น การเดิน ว่ายน้ำ แอโรบิคในน้ำ การเล่นโยคะ การเต้นรำ

3.จดบันทึก ทำสมุดบันทึกการตั้งครรภ์ บันทึกเรื่องราว และพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์แต่ละช่วงวัย เป็นการเก็บความประทับใจ แล้วอ่านให้ลูกน้อยฟังลูกจะได้ยินเสียง และพัฒนาการได้ยิน

4.ฝึกหายใจเข้าออก ให้คุณแม่นั่งสบายๆ ปล่อยแขนข้างลำตัว หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกอย่างอ่อนโยน ไม่เร่งรีบ ทำบ่อยๆ ทุกวัน วันละ 5 นาที ช่วยให้จิตใจคุณแม่สงบ ลูกน้อยสมองพัฒนา

5.ถ่ายรูปท้องเก็บไว้ ถ่ายทุกๆ สัปดาห์ พร้อมบันทึกการเปลี่ยนแปลง

ไตรมาส 2 (4-6 เดือน)

1.ฟังเพลง คุณแม่เลือกเพลงเพราะๆ ช้าๆ เบาๆ ฟังประมาณวันละ 10-15 นาที และเปิดให้ลูกฟัง ให้ลำโพงอยู่ห่างจากท้อง 1 ฟุต หรือหูฟังอันใหญ่ครอบที่ท้อง พัฒนาการได้ยิน และกระตุ้นสมองลูกน้อย

2.อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เลือกบทกลอนที่ชอบ อ่านบทกลอนที่คล้องจอง พร้อมลูบท้องไปด้วย เช่น นิทานเด็ก ร้อยกรอง วรรณกรรมเด็ก ช่วยให้ลูกจำเสียงคุณแม่ และมีพัฒนาการด้านภาษา

3.เล่นทักทายการดิ้นของลูก ทุกครั้งที่ลูกดิ้น ให้ตบหน้าท้องทักทายลูกเบาๆ เป็นจังหวะ ใช้ลูกบอลลูกเล็กๆ กลิ้งไปมา ชวนลูกพูดคุย

4.เต้นรำ ใช้ 2 มือโอบรอบท้อง แล้วเคลื่อนไหว เต้นรำไปตามจังหวะเพลง ความสุขของแม่จะส่งผลให้ลูกน้อยอารมณ์ดี พัฒนาเซลล์สมอง ระบบประสาท และกระตุ้นการเคลื่อนไหว

5.ออกกำลังกายในน้ำ เดินช้าๆ ในน้ำ ผายมือแหวกน้ำ ลอยตัวบนน้ำ บิดตัวซ้ายขวา ว่ายน้ำช้าๆ ช่วยบริหารอุ้งเชิงกราน คุณแม่สงบผ่อนคลาย ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่างๆ

6.สวดมนต์ทำสมาธิ การสวดมนต์สามารถทำได้ทุกวัน ช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยมีจิตใจที่สงบ อารมณ์ดี ลูกน้อยจะซึมซับธรรมะโดยไม่รู้ตัว และมีผลต่อการพัฒนาสมอง

7.เข้ากลุ่มเพื่อน พบปะเพื่อนฝูง พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยทำให้ลูกน้อยฉลาด และอารมณ์ดี รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การตั้งครรภ์ ทำให้คลายกังวลกับปัญหาต่างๆ

ไตรมาส 3 (7-9 เดือน)

1.ชวนคุณพ่อคุยกับลูก ความแตกต่างของเสียงจะช่วยพัฒนาสมอง และประสาทการรับฟัง เอาหน้าแนบท้อง แล้วชวนลูกคุย ทักทายลูก ลูบท้องอย่างแผ่วเบา ช่วยให้ลูกรู้สึกถึงความรักจากพ่อ วันละ 5 นาที

2.ส่องไฟที่หน้าท้อง แสงสว่างช่วยกระตุ้นการมองเห็น เปิดไฟฉายหลอดเล็กๆ ไม่จ้าจนเกินไป ส่องที่หน้าท้องเป็นรูปวงกลมรอบสะดือช้าๆ ประมาณ 5 นาที ช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง และพัฒนาการเรียนรู้หลังคลอด

3.เล่นกับหน้าท้อง การสัมผัสจะสื่อถึงความรัก ลูบท้องเบาๆ ทาโลชั่นผสมการลูบท้อง แล้วบอกว่าแม่กำลังทำอะไร หรือนำลูกบอลเสียงกรุ๋งกริ๋งมากลิ้งเบาๆ บนท้อง

4.ให้คุณพ่อนวดให้ นวดเอว สะโพก หลัง ไหล่ หัวตา โคนจมูก เท้า ทำให้แม่และลูกน้อยมีความสุข อารมณ์ดี พัฒนาสมองและอารมณ์ หรือนวดที่ท้องเบาๆ ตามเข็มนาฬิกาทราย ลูกจะรับรู้ถึงความรัก ความอบอุ่น

5.ฟังเสียงหัวใจลูก ซื้อเครื่องฟังเสียงหัวใจมาใช้ สังเกตว่าเสียงหัวใจเต้นเร็ว หรือช้า เมื่อคุณพ่อ หรือคุณแม่มีการปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยในครรภ์ อัดเสียงลูกเก็บเอาไว้ ช่วยพัฒนาทางอารมณ์ของลูก

6.นั่งเก้าอี้โยก ช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ลูกน้อยจะได้รับแรงเคลื่อนไหว ผิวสัมผัสผนังด้านใน กระตุ้นเซลล์สมองและเรียนรู้การรักษาสมดุลของร่างกาย

7.หลับตาฟังเสียงธรรมชาติ เดินเล่นเบาๆ ที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน นั่งหลับตาสบายๆ ฟังเสียงรอบข้าง ช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดี และมีความสุข

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ คลิก!


ที่มา: กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids
เครดิต: หนังสือ Best Start 1,365 Tips ทุกนาทีของลูกคือก้าวสำคัญ เริ่มต้นที่คุณแม่ตั้งแต่วันนี้