AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

9 สัญญาณอันตราย! แม่ท้องต้องรีบไปหาหมอ

ช่วงไตรมาสสุดท้าย (28 สัปดาห์ขึ้นไป) ถือเป็นช่วงที่มีความสุข เพราะจะได้เห็นหน้าลูกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง และสังเกตอาการที่ผิดปกติเป็นพิเศษด้วย เพราะนั่น อาจจะส่งผลให้เด็กคลอดก่อนกำหนดได้ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ขี้โรค ป่วยบ่อย พัฒนาการช้า และที่สำคัญ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษา เนื่องจากลูกคลอดก่อนกำหนดต้องเข้าตู้อบ เพื่อให้ออกซิเจน หรือเครื่องช่วยหายใจ

ดังนั้นว่าที่คุณแม่ทุกคนควรรู้เท่าทันอาการผิดปกติก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งปัญหาส่วนมากมักมีอาการ และอาการแสดงหรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “สัญญาณเตือนภัย” เป็นตัวบอก โดยสัญญาณเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดของการตั้งครรภ์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับตัวปัญหาที่มี เพียงแต่ว่าคุณแม่จะเฝ้ามองและเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง

เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณเตือนอันตรายที่สำคัญที่พบมักบ่อยและอาจจะเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย โดยจะมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยอยู่ 9 อาการด้วยกัน ซึ่งแต่ละอาการที่เกิดขึ้นนั้น มีรายละเอียดตามแต่ละอาการที่จะต้องรีบไปพบแพทย์ดังต่อไปนี้

*** เลือดออกทางช่องคลอด

อาการดังกล่าวนี้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งปกติ รกจะลอกตัวออกจากผนังมดลูกหลังจากเด็กคลอดออกมาแล้ว แต่ถ้ารกลอกตัวก่อนตัวเด็กจะคลอด เนื่องจากครรภ์เป็นพิษ หรือถูกกระแทกบริเวณท้องอย่างรุนแรง จะทำให้มีเลือดไหลออกในโพรงมดลูก อาจทำให้เด็กในครรภ์ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง จนเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดหน้าท้อง หน้าท้องแข็งตึง หรือกดแล้วเจ็บ มดลูกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีเลือดขังอยู่ภายใน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง คือ รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกบางส่วน หรือทั้งหมด เกาะอยู่ที่ตอนล่างของมดลูก แทนที่จะเกาะที่ผนังตอนบนของมดลูก โดยอาการที่จะต้องรีบไปพบแพทย์นั้น คือ จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเหมือนกัน แต่จะไม่เจ็บครรภ์ ซึ่งถ้าเลือดออกมาก แพทย์จะต้องเอาเด็ก และรกออกให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เลือดหยุดไหล

*** บวม-ความดันโลหิตสูง

อาการบวม เกิดจากโรคพิษแห่งครรภ์ จะพบในคุณแม่ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง คุณแม่ที่เป็นเบาหวาน และคุณแม่ที่มีครรภ์แฝด สำหรับอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์ คุณแม่จะมีอาการบวม ตั้งแต่หลังเท้า มือบวม นิ้วบวม ปวดหัว สายตาพร่ามัว ซึ่งถ้าหากมาพบแพทย์ช้า ตัวคุณแม่เอง อาจชักหมดสติ และเสียชีวิตได้

*** ลูกในท้องดิ้นน้อยผิดปกติ

ปกติลูกในท้อง จะต้องดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง/วัน ซึ่งการดิ้นของลูก บ่งบอกว่า ลูกยังมีชีวิตอยู่ หรือมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยลูกจะดิ้นมากหลังจากที่คุณแม่กินอาหารเสร็จใหม่ๆ อย่างไรก็ดี การนับลูกดิ้นนั้น ให้นับตั้งแต่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไป ควรนับ 3 เวลา หลังอาหารเช้า-กลางวัน และเย็น แต่ละครั้งให้สังเกต 1 ชั่วโมง โดยมีวิธีการนับลูกดิ้นดังนี้ คือ ลูกดิ้นในเวลาเดียวกัน ให้นับเป็น 1 ครั้ง เช่น ตุ๊บ ตุ๊บ พัก ให้นับเป็น 1 ครั้ง หรือ ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ ก็ให้นับเป็น 1 เช่นกัน ทั้งนี้จะนับหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ถ้านับแล้วไม่ถึง 3 ครั้ง ให้นับต่อไปอีก 1 ชั่วโมง และถ้ายังไม่ถึง 3 ครั้งอีก ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ต่อไป (อ่านต่อ >> วิธีนับลูกดิ้น คลิกเลย)

*** น้ำเดินก่อนกำหนด

น้ำเดิน คือ การที่มีน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ (แต่ไม่ใช่น้ำปัสสาวะ) ไหลออกมาทางช่องคลอด นั่นแสดงว่า ถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว ซึ่งจะไม่เป็นมูก หรือว่าตกขาว ดังนั้น เมื่อมีอาการน้ำเดิน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะถ้าหากทิ้งไว้ เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าไปในโพรงมดลูกจนเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้แม่ และลูกอาจเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ดี คุณแม่บางคนเกิดข้อสงสัยว่า น้ำเดินอย่างไร จึงควรจะต้องไปพบแพทย์ สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำคร่ำไหลน้อย ออกมาตามหน้าขา ให้คุณแม่ใส่ผ้าอนามัย สังเกต 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรเดินมาก ซึ่งถ้ายังไหลอยู่ ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์ ในส่วนของคุณแม่ที่น้ำคร่ำไหลมาก ควรอยู่นิ่งๆ จนกว่าน้ำคร่ำจะหยุดไหล ใส่ผ้าอนามัย แล้วรีบให้สามี หรือญาติพาไปพบแพทย์ ไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์เช่นกัน ในภาวะนี้ คุณแม่ไม่ควรเดิน เพราะอาจเกิดสายสะดือย้อย ทำให้ทารกเสียชีวิตได้

อ่านต่อ >> อาการผิดปกติที่แม่ใกล้คลอด ต้องรีบไปพบแพทย์” คลิกหน้า 2

*** ปวดท้องน้อย – ท้องแข็งตึง

อาการปวดท้องในที่นี้ คือ การปวดบริเวณท้องน้อย มดลูก หรือหัวหน่าว ส่วนท้องแข็งตึงนั้น คือ การที่มดลูกบีบรัดตัวแข็งเป็นก้อนกลม ซึ่งหากทิ้งไว้นาน จะทำให้ปากมดลูกเปิด เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

นอกจากนี้ อาการปวดท้อง หรือท้องแข็งตึงนั้น ยังเกิดจากการร่วมเพศอย่างรุนแรง ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เป็นผลทำให้มดลูกหดรัด และอาจแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ดี ในคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติ อาจมีอาการท้องแข็งตึงได้บ้าง เช่น เวลาพลิกตัว หรือลูกดิ้น แต่หากรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยกว่าปกติ ควรนอนพักผ่อนให้มากๆ และถ้าหากนอนพักแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการท้องแข็งตึงทุกครึ่งชั่วโมงติดๆ กัน เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ควรให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้

***แพ้ท้องรุนแรง

อาการแพ้ท้อง หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นสัญญาณอันตราย เพราะใคร ๆ ที่ตั้งครรภ์ก็แพ้ท้องกันเกือบทั้งนั้น แต่ในหมายถึงอาการแพ้ท้องที่รุนแรงจนทำให้คุณแม่ทั้งหลายไม่สามารถกินอาหารได้เลย และคุณหมอจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ เพราะคลื่นไส้อาเจียนมากตลอดเวลาและบางคนอาจมีน้ำหนักลดลงเลยก็ได้

แม้ว่าเราจะสามารถพบอาการแพ้ท้องรุนแรงได้ในครรภ์ปกติ แต่ก็มีภาวะผิดปกติบางอย่างขณะตั้งครรภ์ที่พบร่วมกันได้บ่อย ๆ เช่น การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น ดังนั้นหากมีอาการแพ้ท้องรุนแรงก็แนะนำให้ไปพบคุณหมอตรวจให้แน่ใจเสียก่อนนะครับว่าการตั้งครรภ์ของคุณแม่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ

***ปวดศีรษะ ตามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่

อาการนี้เป็นอาการที่แสดงถึง “ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครรภ์เป็นพิษ” นั่นเอง ภาวะนี้ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่มีอันตรายต่อทั้งชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์ พบได้บ่อยในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่เป็นวัยรุ่น แม่อายุมาก หรือคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น โดยทั่วไปมักพบ อาการปวดศีรษะเป็นอาการเด่นมากที่สุด โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะบริเวณหน้าผากและท้ายทอย บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณใบหน้าหรือแขนขาร่วมด้วย หากคุณแม่สังเกตพบว่ามีอาการดังกล่าว แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะให้การรักษาทันท่วงทีและช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

 ***มีไข้สูง

การมีไข้ขณะตั้งครรภ์จัดว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยที่สำคัญ เพราะใช้เป็นอาการแสดงของการติดเชื้อ ซึ่งหากมีการติดเชื้อที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะอันไม่พึงประสงค์ เช่น การแท้ง หรือความพิการของทารก และการคลอดก่อนกำหนดเป็นต้น การป่วยเป็นไข้อาจมีสาเหตุ แต่ที่พบบ่อย ๆ ในขณะตั้งครรภ์ก็คือ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและโรคติดต่อต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ถ้าหากคุณแม่มีอาการไข้ขึ้นสูงก็ขอให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อให้การตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ ที่สำคัญอย่าซื้อยากินเองเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้าและยังอาจมีอันตรายจากการซื้อยากินเองอีกด้วย

***เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

ปกติคุณแม่ควรจะมีอาการเจ็บครรภ์คลอดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ถ้าคุณแม่ที่อายุครรภ์ยังไม่ถึงช่วงเวลาดังกล่าวแล้วเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมาอย่างนี้ไม่ปกติแล้วล่ะครับ เพราะมันคือการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดซึ่งเสี่ยงที่จะตามมาด้วยการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นการคลอดที่จะได้ทารกที่ไม่แข็งแรง ทารกจำนวนไม่น้อยที่คลอดก่อนกำหนดเสียชีวิตจากปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่อาจจะรู้สึกว่ามดลูกของคุณแม่มีการบีบตัวอยู่เรื่อย ๆ แต่มักจะเป็นจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ หรือบางวันไม่รู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวเลยก็มี แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณแม่สังเกตว่าท้องตึงหรือแข็ง บางคนอาจปวดหลังบริเวณกระเบนเหน็บ เป็นจังหวะสม่ำเสมออาจจะทุก ๆ 10-15 นาที ให้พึงระวังว่านี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดและควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีครับ

วิธีลดความเสี่ยง เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด

– ถ้าสูบบุหรี่ แนะนำให้งด หรือสูบให้น้อยลง

– พักผ่อนให้มากๆ ไม่ควรทำงานหนัก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยง เช่น มีโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รกเกาะต่ำ ตั้งครรภ์แฝด ภาวะแห้งคุกคาม เป็นต้น

– ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพื่อป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก่อให้เกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้

– งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุครรภ์ 20-36 สัปดาห์ขึ้นไป (ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด)

– คุณแม่ต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ

– สำหรับในรายที่ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก การรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ (เฉพาะครั้งแรกเท่านั้น ควรับประทานยาครึ่งเม็ด และนอนพักผ่อน เนื่องจากจะทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่นได้)

จะเห็นได้ว่า อาการผิดปกติดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย แต่ควรรู้เท่าทัน ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้


ขอบคุณข้อมูลจาก : baby.kapook.com , www.manager.co.th