สำหรับผู้หญิงแล้ว…ตั้งแต่วินาทีแรกที่รู้ตัวว่ากำลังจะได้เป็นแม่คน นั่นคือภาระอันยิ่งใหญ่ของการทำหน้าแม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องทำไปตลอดชีวิต…เพราะ “เป็นแม่ห้ามป่วย ห้ามตาย”
เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นความจริงที่หน้าที่คนเป็น “แม่” หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีลูก คุณจะรักตัวเองมากขึ้นเป็นร้อยเท่าแน่นอนค่ะ นั่นก็เพราะการอยากมีชีวิตอยู่กับลูกไปนานๆ ซึ่งกว่าจะเป็น “แม่” ได้นั้น ต้องผ่านและพบเจอกับอุปสรรคทั้งความเจ็บปวดและความยากลำบากใจ หลายๆเรื่องทีเดียว ไปดูกันค่ะว่าจะมีเรื่องใดบ้างที่ผู้เป็นแม่เต็มใจรับความเจ็บปวดนั้นเพื่อลูกกันบ้าง
1. ความลำบากขณะอุ้มท้อง
ในช่วงที่ตั้งครรภ์จะมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แทรกซ้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลัง ปวดศีรษะ ไม่สบาย หรือเวลานอนหลับช่วงกลางคืนขาก็เป็นตะคริวทำให้นอนไม่เต็มอิ่ม และถึงแม้ว่าตลอด 9 เดือนของการอุ้มท้อง จะมีอาการไม่สบายตัวเหล่านี้เกิดขึ้นตลอด แม่ก็ไม่เคยท้อ เพราะอีกหนึ่งชีวิตที่กำลังจะได้พบหน้ากันนั้นมีค่ายิ่งกว่าอะไรในชีวิต ลำบากกายแค่นี้แม่ทนได้
- สำหรับอาการตะคริวที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ให้ลองยืดขาทั้งสองข้างออกแล้วนวดเบาๆ บริเวณที่เกิดตะคริว หากเป็นมากให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบริเวณขาข้างที่เกิดตะคริวจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น อาการตะคริวที่เป็นก็จะทุเลาลง
2. ความเจ็บปวดขณะคลอดลูก
ช่วงเวลาของการคลอดลูกถือเป็นอีกหนึ่งความทรงจำอันน่าประทับใจสำหรับแม่ๆ แต่ก็มีแม่บางท่านที่กลัวการคลอดลูกไปเลย นั่นเพราะกว่าจะถึงเวลาคลอดมดลูกจะมีการบีบหดรัดตัวเป็นระยะอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงหลังจากนั้นก็จะเจ็บถี่ๆ จนคุณหายใจไม่เป็นจังหวะ ไม่รู้ว่าจะอยู่ในท่าไหนถึงดี เจ็บปวดทรมานไปทั้งร่างกาย แม่บางคนเจ็บท้องเป็นเวลากว่าครึ่งค่อนวันก็ยังไม่สามารถคลอดได้ เพราะช่องคลอดยังเปิดไม่หมด และเขาถึงพูดกันว่าการคลอดลูกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่
- ช่วงเวลาของการเจ็บท้องคลอดลูกถือเป็นช่วงที่ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งกำลังใจจากสามี และคนรอบข้างน่าจะดีสำหรับตัวคุณแม่ รวมทั้งหากมีการฝึกหายใจก่อนคลอดก็จะเป็นประโยชน์ต่อการคลอดมากขึ้น
อ่านต่อ >> “ความลำบากและความเจ็บปวดที่แม่เต็มใจทำเพื่อลูก” คลิกหน้า 2
3. ความลำบากหลังคลอดลูก
การเป็นแม่สมบูรณ์ 100% หลังจากวินาทีแรกที่ลูกน้อยคลอดออกมา ชีวิตของแม่หลังจากนี้ไปคือการต้องอยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด เพราะไม่ว่าลูกจะนอน ลูกจะกินนม ลูกจะเปลี่ยนผ้าอ้อม ลูกจะอาบน้ำ ฯลฯ ส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนทำเองทั้งหมด เพราะแม่จะมีความกังวลว่าลูกจะเป็นอะไรไหม ลูกจะกินนมอิ่มไหม ลูกร้องเพราะง่วง ลูกร้องเพราะเจ็บปวดไม่สบายตัวตรงไหนหรือเปล่า ฯลฯ และในช่วง 3 เดือนแรกแม่จะต้องให้นมลูกทุกๆ 3 ชั่วโมงรวมถึงในช่วงนอนกลางคืนด้วย นี่คือนาฬิกาชีวิตของแม่ที่ต้องเดินแบบนี้ทุกวัน
- แม่หลังคลอดในบางครั้งอาจมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากความเหนื่อยล้าในการเลี้ยงลูก ดังนั้นคนที่จะให้กำลังใจแม่หลังคลอดได้ดีที่สุดก็คือ สามี ที่ต้องอยู่ข้างๆ ภรรยา ช่วยเลี้ยงลูก ช่วยเหลือภรรยาทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อให้แม่หลังคลอดไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้รับภาระหนักอึ้งอยู่คนเดียว
4. ความเจ็บปวดเมื่อลูกไม่สบาย
เวลาที่ลูกไม่สบายความรู้สึกของคนเป็นแม่คือ อยากจะเจ็บป่วยแทนลูกเสียเอง และไม่ว่าลูกจะเจ็บป่วยด้วยอาการเล็กน้อย หรือหนักหนาแค่ไหน ความกังวลใจของแม่คืออยากทำทุกวิถีทางให้ลูกหายป่วย โรงพยาบาล หมอที่ไหนดีแม่จะต้องพาลูกไปรักษาจนหาย ไม่ว่าจะเสียเงินเสียทองไปกับการรักษาแค่ไหนแม่ก็ยอม ขอเพียงอย่างเดียวคือให้ลูกหายป่วย
5. ความลำบากใจเมื่อลูกไปโรงเรียนครั้งแรก
วันแรกที่ต้องส่งลูกเข้ารั้วโรงเรียน ถึงแม้ภายใต้ใบหน้า รอยยิ้มและดวงตาที่สว่างสดใสของคนเป็นแม่ที่ถึงแม้จะเต็มใจ ภูมิใจที่ลูกได้เวลาเข้าโรงเรียนแล้วก็ตาม แต่ด้วยหัวใจลึกๆ ของแม่คือเป็นห่วงลูกที่ต้องห่างจากอกไปหลายชั่วโมงกว่าจะได้เจอหน้าลูก และสิ่งที่แม่ทั้งลำบากใจและกังวลใจในการไปโรงเรียนของลูกคือ ลูกจะปรับตัวกับเพื่อนๆ กับคุณครูได้ไหม ? ลูกจะยอมทานข้าวที่โรงเรียน? ลูกจะร้องไห้หาแม่ไหม? ลูกจะมีความสุขที่โรงเรียนไหม? ฯลฯ
- การเตรียมพร้อมก่อนส่งลูกไปโรงเรียน คือ พาลูกให้ไปคุ้นเคยกับโรงเรียนที่จะส่งลูกไปเรียน ให้เขาดูกระเป๋า ดูชุดนักเรียน สร้างความคิดดีดีเกี่ยวกับโรงเรียนให้ลูกฟังบ่อยๆ เพื่อให้เขาคุ้นเคยและไม่ต่อต้านเมื่อต้องถึงเวลาไปโรงเรียนจริงๆ