AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โฉมหน้า 15 โรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์

สำหรับคนที่กำลังกำลังตั้งครรภ์นั้นเวลา จำเป็นที่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิด โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแม่และลูกได้

เมื่อคุณแม่มีการตั้งครรภ์ ร้อยทั้งร้อยต่างก็ต้องการให้การตั้งครรภ์และการคลอดจบลงอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในลักษณะที่พูดง่ายๆว่า “ลูกเกิดรอด….แม่ปลอดภัย” แต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างที่ต้องการหรอกครับ มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่เมื่อมีการตั้งครรภ์กลับมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นสารพัดโรค บางโรคก็รุนแรงไม่มาก ในขณะที่บางโรคก็รุนแรงมากจนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้…

และในช่วงท้องอย่างนี้มีภาวะแทรกซ้อนอะไรที่อาจจะเกิดกับคุณแม่ได้บ้าง และจะดูแลป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อนได้หรือไม่ Amarin Baby & Kids จึงนำข้อมูลของจริงเกี่ยวกับ โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง  ต่างๆ ที่คุณแม่ควรรู้ไว้เพื่อจะได้ระวังดูแลตัวเองและลูกน้อยให้ปลอดภัย จะมีโรคได้ใดบ้างดูกันเลย

15 โรคแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์

1. อาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างมากระหว่างตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ จะพบได้ 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด มักจะเกิดระหว่างอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์ และจะหายไปเองภายหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเป็นนานกว่านั้นก็ได้

ถ้าอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นมาก และเป็น ตลอดทั้งวัน จนกระทั่งร่างกายได้รับอาหารและน้ำไม่เพียงพอ ทำให้มีผลร้ายอื่นๆ ตามมาจนอาจเป็นอันตรายได้ ถ้าได้รับการช่วยเหลือและดูแลไม่ทัน

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนกับอาการนี้ ควรกระทำโดยรีบปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าว เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกวิธี รวมทั้งป้องกันอาการแทรกซ้อนอันตรายอื่นๆ ที่จะตามมา

2. ท้องนอกมดลูก

โดยปกติแล้วคนเราเวลาตั้งครรภ์ก็จะตั้งครรภ์ในมดลูก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่ที่ท่อนำไข่ บางคนไปฝังในรังไข่เลยก็มี หรือบางคนก็ในช่องท้อง แต่กรณีที่พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ส่วนมากเด็กโตไปได้ระยะหนึ่งก็มักจะเสียชีวิต

สาเหตุ : ท้องนอกมดลูกมักพบบ่อยๆ ในคนที่มีประวัติเคยมีปีกมดลูกอักเสบ เคยทำแท้งบ่อยๆ การขูดมดลูกอาจจะมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้ท่อนำไข่หรือมดลูกไม่เรียบ ไข่เดินทางไปสู่มดลูกได้ช้า การฝังตัวเกิดได้ไม่ดี จึงเกิดฝังตัวนอกมดลูก

การรักษา : ส่วนมากต้องผ่าตัดเพื่อเอาการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติออก บางคนก็จำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ทิ้ง หรือตัดรังไข่ทิ้ง แล้วแต่กรณี

การป้องกัน : การป้องกันอันตรายจากภาวะนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อหากพบภาวะนี้สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ไม่เกิดอันตรายต่อคุณแม่ เพราะหากหล่อยไว้อาจเกิดท่อรังไข่ หรือรังไข่ฉีกขาดได้

3. ภาวะรกเกาะต่ำ

ปกติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก แต่บางรายรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูก จึงขวางทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไม่ได้ และถ้าเด็กตัวใหญ่ขึ้น รกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ ทำให้คุณแม่มีเลือดออก ถ้าเลือดออกมากๆ อาจทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้ แต่ก็มีแม่บางคนซึ่งมีรกเกาะต่ำได้โดยที่ไม่เกิดปัญหาอะไรตามมาเลยก็ได้ ในขณะที่บางคนมีเลือดออกผิดปกติ

สาเหตุ : ส่วนมากมักเจอในแม่ที่มีลูกมากๆ เคยคลอดลูกหลายๆ คน หรือว่าเคยขูดมดลูกมาก่อน

การรักษา : หมอจะรอจนเด็กโต มีอายุครรภ์ครบกำหนด ก็จะนัดมาผ่าตัดคลอด แต่ในบางรายที่ยังไม่ทันครบกำหนดแล้วมีเลือดออกเยอะ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษาชีวิตแม่เอาไว้

การป้องกัน : หากรู้ว่าตนเองมีภาวะเสี่ยง ควรจะรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าตรวจพบว่ามีรกเกาะต่ำ จะได้ระวังในเรื่องการปฏิบัติตัวไม่ให้มีการกระทบกระเทือน เนื่องจากการเกิดปัญหาเลือดออกจากรกเกาะต่ำ บางคนก็มีเลือดออกอย่างไม่มีสาเหตุ เกิดขึ้นมาเอง บางคนอาจจะเกิดจากการกระทบกระเทือนจากการทำงานหนัก นั่งรถ หรือมีเพศสัมพันธ์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4. แท้งบุตร

การแท้งบุตร คือการตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องยุติหรือสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร มักหมายถึง การตั้งครรภ์ที่ยุติก่อน 20-28 สัปดาห์ ซึ่งถ้ายุติในช่วงเวลานี้ส่วนมากเด็กจะไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะว่าตัวเล็กเกินไป

สาเหตุ : มีอยู่ 2 ประการคือ แท้งเอง กับตั้งใจทำแท้ง การแท้งเองอาจเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือว่าแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ เช่น อาจจะเกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก

การป้องกัน : การแท้งจากบางสาเหตุก็ป้องกันไม่ได้ เช่น การที่ไข่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติที่ไข่ต้องทำลายตัวเองไป แต่หากเป็นการแท้งที่เกิดในแม่ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ก่อนตั้งครรภ์ต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ถ้ามีโรคต้องรีบรักษาให้หาย หรือให้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ จึงปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์

5. ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก เมื่อเด็กคลอด รกถึงจะหลุดจากมดลูกคลอดตามออกมาด้วย แต่บางรายรกที่เกาะมดลูกอยู่หลุดออกมาก่อน โดยที่เด็กยังไม่คลอด เมื่อรกหลุดทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงเด็กที่เคยผ่านรกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้

สาเหตุ : ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกที่หน้าท้อง หกล้ม กระแทกกระเทือนจากการนั่งรถ หรืออุ้มลูกคนโต แต่บางรายก็ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน

การรักษา : ถ้าพบต้องเร่งทำคลอดทันที ซึ่งเด็กอาจจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่แล้วแต่ว่ามีอุบัติเหตุเมื่ออายุครรภ์เท่าใด

การป้องกัน : เมื่อมีการตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้กระทบกระเทือนที่บริเวณหน้าท้อง

อ่านต่อ >>   โรคแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์  ” คลิกหน้า 2

6. ตกเลือดหลังคลอด

หลังจากการคลอดลูกมดลูกจะมีการบีบตัว ทำให้มีเลือดไหลออกมา การคลอดปกติจะทำให้แม่เสียเลือดประมาณ 200-300 ซีซี. แต่มีแม่บางคนเลือดออกมากกว่านั้นจนกระทั่งช็อคหรือเสียชีวิต คำว่าตกเลือดหลังคลอดทางการแพทย์หมายความว่า ภายหลังจากคลอดเด็กแล้ว รกคลอดไปแล้ว แม่มีการเสียเลือดมากกว่าครึ่งลิตรหรือมากกว่า 500 ซีซี. สาเหตุ : ที่พบบ่อยๆ มีอยู่ 2-3 ประการคือ

สาเหตุที่ 1 มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดี เลือดจึงออกเยอะ ไหลไม่หยุด การที่มดลูกบีบรัดตัวไม่ดี ส่วนมากพบในคนที่อายุมากๆ คลอดลูกบ่อยๆ หรือเกิดจากการคลอดยาก มดลูกบีบรัดตัวอยู่นานไม่คลอดเสียที ซึ่งอาจเพราะลูกตัวโต หรือเด็กมีท่าผิดปกติ พอบีบไม่ออก บีบนานๆ มดลูกก็ล้าหดรัดตัวไม่ดี หรือบางคนอาจได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกบางอย่าง ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดีเช่นกัน

การรักษา : มียาหลายชนิดที่ช่วยให้มดลูกบีบรัดตัวได้ดี แต่ในบางรายให้ยาชนิดใดก็ไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้วิธีตัดมดลูกทิ้ง เพราะมิฉะนั้นแม่จะเสียเลือดมากจนเสียชีวิตได้ ซึ่งในกรณีอย่างนี้ก็พบได้ไม่บ่อยนัก

สาเหตุที่ 2 เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยอันดับที่สอง คือเกิดจากการที่มีการฉีกขาดของช่องทางคลอด ฝีเย็บอาจจะมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกมาก บางคนปากมดลูกมีการฉีกขาด บางคนมดลูกฉีกขาดหรือแตกจากการคลอด ซึ่งพวกนี้อาจจะเกิดจากการที่เด็กตัวใหญ่มาก การคลอดจึงมีการฉีกขาดเยอะ หรือว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้ทำคลอดตัดฝีเย็บไม่ดี แผลใหญ่มาก เป็นต้น

การรักษา : ตรวจดูว่ามีการฉีกขาดที่ไหน ก็ไปเย็บซ่อมแซม แต่ถ้ามดลูกมีการฉีกขาดหรือแตกมาก ก็อาจต้องตัดมดลูกทิ้ง

สาเหตุที่ 3 คือเด็กคลอดไปแล้ว แต่รกคลอดไม่หมด ยังค้างอยู่บางส่วน รกที่ค้างอยู่ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดได้

การรักษา : อาจต้องใช้มือเข้าไปล้วงรกที่ค้างอยู่ออกมา หรือขูดมดลูกเอาเศษรกที่ค้างอยู่ออก

การป้องกัน : แม่ทุกคนควรได้รับการดูแลที่ดีจากหมอ อย่าปล่อยให้มีการเจ็บครรภ์คลอดนานจนเกินไป ในประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากตกเลือดหลังคลอดประปราย แต่ในประเทศที่ด้อยพัฒนายังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตาย เนื่องจากอาจจะมีเลือดมารักษาไม่เพียงพอ หรือยารักษาการติดเชื้อไม่ดีพอ แต่ในบ้านเราโชคดีที่การรักษาทำได้ค่อนข้างดี โอกาสที่จะตายจากโรคนี้จึงต่ำมาก

7. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

มี 2 กลุ่มคือ ผู้หญิงบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงได้ กลุ่มหลังเราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่าครรภ์เป็นพิษ

ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก เด็กมักตายในท้อง หรือถ้าแม่มีอาการนานๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ เด็กอาจตัวเล็ก แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติ ไม่มีความพิการใดๆ

สาเหตุ :  ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบบ่อยๆ ในแม่บางกลุ่ม เช่น แม่ท้องที่อายุน้อยๆ หรืออายุมากๆ กลุ่มนี้มีปัญหาทั้งคู่ แต่ในคนวัยธรรมดา เช่น 20 กว่าๆ -30 ปี เจอน้อย และมักเจอในท้องแรก ท้องหลังไม่ค่อยเจอ เจอได้บ่อยในครรภ์แฝด คนเป็นเบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวที่แม่เคยโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน หรืออาจจะเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สร้างจากรก หรือจากตัวเด็กที่ทำให้ความดันขึ้น เพราะสังเกตว่าเมื่อมีการคลอดเสร็จแล้วส่วนใหญ่แม่ก็จะหายเป็นปกติ

การรักษา : ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่เจอได้น้อย ส่วนมากจะรักษาได้ หมอจะมียาป้องกันการชัก ยาลดความดัน สามารถประคับประคองให้เด็กโตพอ แล้วก็ผ่าตัดคลอด หรือให้ยาเร่งคลอดได้ ที่ควบคุมไม่ได้มีน้อย และสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ส่วนมากมักเกิดจากมาหาหมอตอนที่อาการเป็นมากแล้ว เช่น คนไข้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็น ไม่มาฝากครรภ์เลย มาฝากครรภ์ช้า หรือบางกรณีมาถึงมือหมอก็ชักมาเสียแล้ว

การป้องกัน : ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม รีบไปฝากครรภ์ หมอจะได้ตรวจเจอตั้งแต่แรก และให้การรักษาได้ทันท่วงที

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

8. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

มีแม่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง กับแม่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน กลุ่มหลังนี้พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ เชื่อว่าเด็กหรือรกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้แม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจชักหรือช็อก อาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้

สาเหตุ :  ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่มักพบในคนที่ท้องแรก แม่อายุมากๆ แม่ที่อ้วนมากๆ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือว่าตัวแม่เองมีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งเราเรียกพวกนี้ว่ากลุ่มเสี่ยง

การรักษา : ถ้าตรวจพบต้องรีบรักษา ไม่อย่างนั้นจะมีอาการทั้งแม่ทั้งลูก คุณหมอจะแนะนำวิธีการดูแลตนเอง เช่น คุมอาหาร ถ้าคุมอาหารก็เอาไม่อยู่ อาจต้องฉีดอินซูลินช่วย ระหว่างที่ท้องก็ต้องคอยตรวจระดับน้ำตาลแม่อย่างสม่ำเสมอ ต้องคอยเช็คว่ามีปัญหาแทรกซ้อนอื่นไหม

การป้องกัน : ถ้าแม่เป็นกลุ่มเสี่ยงเวลาท้องต้องรีบไปฝากครรภ์ ถ้าตรวจเจอจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

9. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุ : เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสาวะได้ไม่ดี มีการคั่งค้างนาน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

การรักษา : นำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ ว่าติดเชื้ออะไร แล้วก็ให้ยาฆ่าเชื้อ โดยยาที่ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์

การป้องกัน : อย่ากลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้มีการขับปัสาวะได้ดี ไม่มีการคั่งค้าง เป็นการชำระล้างทำความสะอาดระบบทางเดินปัสสาวะ

10. โรคโลหิตจาง

สาเหตุ : มี 2 ชนิด คือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย

การรักษา : โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แก้ไขได้ไม่ยาก โดยรับทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ เช่น ตับบด ผักใบเขียว หรือกินวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ลูกเป็นโรคนี้ และมีอาการมากก็อาจจะทำให้ลูกตายในท้อง หรือลูกบวมน้ำในท้องได้

การป้องกัน : ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่

อ่านต่อ >> โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์” คลิกหน้า 3

11. ภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะพิษแห่งครรภ์เป็นกลุ่มอาการผิดปกติประกอบด้วยอาการบวม ความดันเลือดสูง และมีไข่ขาวในปัสสาวะ มักเกิดในระยะท้ายของการตั้งครรภ์พบในครรภ์แรกมากกว่าในครรภ์หลัง

ภาวะนี้เป็นสาเหตุของการตายของแม่และทารก ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์ชัก หลอดเลือดในสมองแตก และหัวใจวายได้

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด เป็นภาวะที่ ไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าได้ฝากครรภ์ และได้รับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถตรวจพบและให้การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ ระยะเริ่มแรก ซึ่งสามารถลดอันตรายลงได้อย่างมาก ทั้งแก่แม่และทารกในท้อง

ในบางรายการรักษาไม่ได้และผลมีอาการรุนแรงขึ้น แพทย์อาจพิจารณาช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อป้องกันอันตราย ที่อาจจะเกิดต่อแม่ได้

12. ไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่น ใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่เข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อกเป็นอันตรายได้

การรักษา : หมอจะให้ยาที่ไปกดการทำงานของไทรอกซิน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปกติ การตั้งครรภ์ก็จะเป็นดำเนินไปตามปกติ โดยยาที่ให้ไม่มีผลกับเด็กในครรภ์

การป้องกัน : เนื่องจากโรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ เพื่อที่หมอจะได้ให้ยาคุมระดับอาการ ได้โดยไม่ทำให้การตั้งครรภ์มีปัญหา

13. ครรภ์เกินกำหนด

โดยทั่วไป หมายถึงการตั้งครรภ์เกิน ๔๒ สัปดาห์ (ต้องจำวันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้แม่นยำ และประจำเดือนต้องมาสม่ำเสมอด้วย)

สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน ภาวะนี้มีผลเสีย คือ รกทำงานเลวลง ปริมาณน้ำคร่ำลดลง ทารกจะผอมผิวหนังเหี่ยวย่น มีเล็บยาว กะโหลกศีรษะแข็งขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลให้คลอดยาก และทารกมีภาวะขาดออกซิเจนได้ง่าย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

14. ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่ครรภ์ผิดปกติชนิดนี้จะต้องแท้งออกมาเสมออันตรายที่สำคัญ คือ การตกเลือดขณะแท้ง ดังนั้น ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ ภาวะที่ส่วนของการตั้งครรภ์ เป็นเม็ดใสๆ คล้ายเม็ดสาคู หรือไข่ปลาอุกรวมกันเป็นพวงคล้ายพวงองุ่นอยู่ภายในโพรงมดลูก ทำให้มดลูกมีขนาดโตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้สัดส่วนกับระยะที่ขาดประจำเดือน มักมีอาการแพ้ท้องมากกว่าธรรมดา และอาจมีอาการของครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย เช่น บวมความดันเลือดสูง และมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการที่สำคัญ ได้แก่ เลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย หรืออาจออกครั้งละมากๆ พร้อมกับมีเม็ดคล้ายเม็ดสาคูออกมาด้วย

การรักษา-การป้องกัน ครรภ์ไข่ปลาอุกอาจเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องไปรับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาและดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดในระยะหลังแท้งอย่างน้อย 1 ปี

15. ครรภ์แฝด

ครรภ์แฝดคือการตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อแม่และทารก เช่น โลหิตจางภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนดครรภ์แฝดอาจเกิดจากการผสมของไข่ใบเดียวหรือหลายใบก็ได้

การดูแลครรภ์แฝด แพทย์สามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์แฝดได้จากการตรวจครรภ์โดยคลำ พบมดลูกมีขนาดโตกว่าอายุครรภ์จริง และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจแตกต่างกันมากกว่า 10 ครั้งต่อนาที มักวินิจฉัยจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่แน่ใจ ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด ควรพักผ่อนให้มากในระยะ 2 เดือนสุดท้ายของครรภ์เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

>>> จาก โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ข้างต้นนั้น ความจริงแล้วปัญหาเหล่านี้ไม่ได้พบบ่อยๆ เพราะการตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติของคนเรา ส่วนมากแล้วการตั้งครรภ์และการคลอดจะจบไปได้ด้วยดีถึงร้อยละ 90 แต่จะมีแม่บางกลุ่มเท่านั้นที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาบางอย่าง…

คุณแม่ท้องจึงอย่าไปตกอกตกใจอะไรมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เสี่ยง หรือไม่เสี่ยงก็ตาม ทุกเรื่องสามารถดูแลรักษาได้ เพียงแต่ว่าคุณแม่จะต้องใส่ใจดูแลตัวเอง ก่อนที่จะตั้งครรภ์ตรวจเช็คร่างกาย ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ตั้งครรภ์ได้ ถ้ามีปัญหาก็ทำการรักษาให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยมาตั้งครรภ์…อย่าปล่อยให้มีการตั้งครรภ์โดยที่มารู้ว่ามีปัญหาเมื่อหลังตั้งครรภ์ไปแล้ว เพราะจะทำให้การดูแลรักษายากขึ้นไปอีก เนื่องจากวิธีการรักษาหลายอย่างสำหรับคนท้อง มีวิธีต่างจากการรักษาในคนธรรมดาอย่างสิ้นเชิง เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกในท้องอีกชีวิตหนึ่ง      

ดังนั้นคำตอบสุดท้าย ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็คือ วางแผนก่อนตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จะทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาใหญ่ๆ ได้น้อยมากค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.si.mahidol.ac.th , www.si.mahidol.ac.th , kanchanapisek.or.th