เนื้องอกกับการตั้งครรภ์

เนื้องอกกับการตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 17-21

Alternative Textaccount_circle
event

ก่อนหน้านี้เคยแท้ง เพราะถุงการตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์และพบเนื้องอกมดลูกจำนวน 3-4 ก้อน ก้อนใหญ่สุดมีขนาด 2 เซ็นติเมตร ต้องทำการขูดมดลูกโดยด่วนเพราะตอนนั้นตกเลือดมาก

           ผ่านไป 3 ปี หลังจากแท้งครั้งนั้น ตอนนี้ได้ตั้งครรภ์อีกครั้ง ซื่งคุณหมอแจ้งว่า ต้องเฝ้าระวังให้ดี เพราะอายุที่เกิน 35 ปี และมีเนื้องอกมดลูกด้วย ทำให้ 3 เดือนแรกต้องพบคุณหมอทุกอาทิตย์ ฉีดยากันแท้งทุกๆ สัปดาห์ จนผ่านพ้น 3 เดือนแรกไปได้ด้วยดี เด็กในครรภ์แข็งแรง หัวใจเต้นปกติ ดิ้นปกติ แต่เนื้องอกมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8 ก้อน ก้อนที่ใหญ่สุดมีขนาดเพิ่มขึ้น 3 เซ็นติเมตร

จนกระทั่งเข้าเดือนที่ 5 วันแรกรู้สึกปวดท้องแบบมวนๆ วันที่ 2 เริ่มเจ็บจี๊ดๆ แต่ทนได้ วันที่ 3 จี๊ดแรงขึ้น แรงขึ้น จนมาถึงวันที่ 4 ปวดแบบจี๊ดแล้วหาย จี๊ดแล้วหายทุกๆ 5 นาที จึงได้ไปพบคุณหมอ คุณหมอซักอาการปวดเสร็จ จึงบอกว่าอาการปวดแบบนี้คล้ายคนจะคลอด จึงรีบตรวจปากมดลูก แต่ปากมดลูกยังไม่เปิด หลังจากนั้นให้ไปนอนใส่เครื่องวัดการบีบตัวของมดลูก ผลการตรวจพบว่า เกิดจากการที่เลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้องอกไม่ทัน ทำให้เนื้องอกส่งผลกระทบให้มดลูกบีบตัว จนเกิดอาการปวดท้อง จึงฉีดยากันแท้ง และให้ยาเม็ดมากิน ซึ่งผ่านมา 2 วันอาการก็ดีขึ้น หมอกำชับว่า ถ้าปวดท้องแบบนี้ให้รีบมาพบโดยด่วน

 วันนี้ครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ ทุกอย่างปกติดี รอเวลาได้เจอเจ้าตัวน้อยแล้วค่ะ”

Panida  Soontornwat

………………………………….

 

Expert Says

เนื้องอกที่พบบ่อยในทางสูตินรี ได้แก่ เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก และเนื้องอกที่รังไข่

เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก จะมี 2 ลักษณะ ได้แก่ เนื้องอกที่หนาตัวเป็นก้อน เรียกว่า ไมโอมา (Myoma) คือก้อนของกล้ามเนื้อที่จับตัวเป็นก้อนกลมๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุ หากอายุ 30 ปีขึ้นไป สามารถเกิดได้ 30% แต่จะมีมากน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

หากเป็นไมโอมาในช่วงตั้งครรภ์ มีโอกาสเป็นได้ 3 แบบ คือ ขนาดเท่าเดิม โตขึ้น 1 ใน 3 และเล็กลง 1 ใน 3 จะมีผลกระทบหรือไม่ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีผลถ้ามีขนาดเล็กๆ และอยู่ตำแหน่งที่ไม่ได้รบกวนการตั้งครรภ์หรือการคลอด เช่น ด้านข้าง หรือด้านบน แต่ถ้าก้อนใหญ่และอยู่ในตำแน่งที่รบกวนอาจเสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น การคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น แต่ทั้งนี้หลังคลอดบางคนขนาดก้อนอาจเล็กลงได้

อีกลักษณะคือ เนื้องอกที่หนาตัวโดยรวมทั้งหมด เรียกว่า อะดิโนไมโอสิส (Adenomyosis) คือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก แทรกอยู่ตามกล้ามเนื้อ ทำให้หนาแต่ไม่ได้เป็นก้อนชัดเจน

สำหรับภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเกิดการฝ่อได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าไร เพราะการฝ่อจะทำให้ก้อนเนื้อกลายเป็นน้ำและแตกได้ และส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ อาจคลอดก่อนกำหนดหรือต้องผ่าตัด ขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดอาการปวด ถ้าผ่านไปได้ก็ต้องดูอีกว่าช่วงคลอดมีปัญหาหรือไม่ จะมีปัญหาในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่และอยู่ในตำแหน่งล่างๆ ซึ่งอาจขัดขวางการคลอดทางช่องคลอด ต้องเปลี่ยนไปเป็นผ่าตัดคลอดแทน หลังผ่าตัดคลอดก็อาจยังไม่จบเรื่อง เพราะตัวก้อนขัดขวางการหดรัดตัวเพื่อหยุดเลือดของกล้ามเนื้อมดลูก เกิดอาการตกเลือดหรือต้องตัดมดลูกได้ แต่โอกาสเจอค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีอาการแทรกซ้อนอะไร ก้อนเนื้อทั้งสองชนิดนี้เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็จะฝ่อไป

เนื้องอกที่รังไข่ ถ้าขนาดเล็กๆ มักจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร โดยเฉพาะถ้าเล็กกว่า 6 เซ็นติเมตร รังไข่ของผู้หญิงมักจะมีซีสต์เล็กๆ อยู่แล้ว เกิดจากการตกไข่บ้าง จากการตั้งครรภ์บ้าง ซึ่งเราจะเรียกซีสต์จากการตั้งครรภ์ว่า คอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum) เป็นถุงไข่จากการตกไข่ โดยถุงไข่นี้จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมาเพื่อช่วยประคับประคองการตั้งครรภ์ในช่วงแรก มีลักษณะเป็นถุงน้ำเล็กๆ ประมาณ 3-4 เซ็นติเมตร ไม่ได้มีอันตรายอะไร ยกเว้นว่ามันแตก ซึ่งถ้าแตกแล้วมีเลือดออกในช่องท้องก็อาจจะต้องผ่าตัดเพื่อห้ามเลือด แต่บางครั้งแตกแล้วเลือดอาจหยุดเองได้

ถ้าเป็นซีสต์ชนิดอื่นอย่างถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่ ข้างในอาจเป็นน้ำใสๆ เป็นมูก หรือเป็นช็อกโกแลตซีสต์ก็ได้ โดยช็อกโกแลตซีสต์เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือว่าซีสต์ไขมันที่เรียกว่า เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cyst) ตัวนี้จะเจอค่อนข้างบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ พบได้ประมาณ 15% ซีสต์ตัวนี้เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ในรังไข่ ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆ ได้หลายชนิดมาก หลักๆ คือเปลี่ยนเป็นไขมัน โดยข้างในก็จะเป็นก้อนไขมัน หรืออาจจะมีผม เนื้อเยื่อฟัน เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ได้ และมีโอกาสเกิดการบิดขั้ว 15%

สำหรับการบิดขั้วนั้นคือ เวลาที่มดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้น ลำไส้มีการขยับ หรือตัวคุณแม่ทำกิจกรรมต่างๆ เนื้องอกที่มีขนาดใหญ่จะทำให้รังไข่ค่อยๆ หมุนทีละนิดๆ กลายเป็นบิดขั้วไปคล้ายการหมุนของขั้วผลไม้ ทีนี้เมื่อเกิดการบิด เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก็จะตีบลง ทำให้เนื้อตรงนั้นตายและเกิดอาการปวดท้อง ถ้าตรวจเจอก่อนตั้งครรภ์ แนะนำให้ผ่าตัดไปก่อน หากตั้งครรภ์แล้ว และพบว่ามีขนาดใหญ่กว่า 6 เซ็นติเมตร ก็จะต้องผ่าตัด โดยระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับทำผ่าตัดคือ อายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์

ดูแลตัวเองอย่างไรดี

ถ้าทราบแต่แรกควรรีบรักษาก่อน แต่หากพบทีหลังต้องปรึกษาหมอว่าเนื้องอกนี้จะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ โดยเฉพาะที่รังไข่ โดยทั่วไปคุณหมอก็จะดูตามอายุครรภ์ ขนาดก้อน ลักษณะของก้อนด้วยว่าจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ หากมีความเสี่ยงสูง มีขนาดใหญ่หรือโชคร้ายเป็นมะเร็งรังไข่ ก็ต้องวางแผนที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น

 

ที่มาจาก : นพ. สกิทา ม่วงไหมทอง สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช
และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center
(จากคอลัมน์ Pregnancy Weekly นิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ มกราคม 2559)
ภาพโดย : shutterstock

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up