AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เครียดตอนท้อง ระวัง 7 ผลร้ายที่แม่ท้องต้องเจอ..หากเครียดเกิน!

เป้ย ถูกหามเข้ารพ. เพราะท้องแข็ง เนื่องจาก เครียดตอนท้อง

แม่ท้องระวัง หากคุณมีอาการ เครียดตอนท้อง อาจส่งผลร้ายต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ได้ จะมีเรื่องใดบ้าง และมีวิธีคลายเครียดยังไง ตามมาดูกันเลยค่ะ

เครียดตอนท้อง ระวัง 7 ผลร้ายที่แม่ท้องต้องเจอ

ความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเวลา แต่สำหรับคุณแม่ที่ เครียดตอนท้อง อาจต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเมื่อแม่ท้องเครียด จะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีในร่างกายของคุณแม่ ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความเครียด และทำให้สภาพภายในมดลูกง่ายต่อการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ ส่วนลูกน้อยในท้องเองก็จะพยายามปรับสภาพตัวเองอย่างถาวรเพื่อให้ทนกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียด และเมื่อคลอดออกมาก็จะมีพฤติกรรมและเกิดโรคที่เกี่ยวกับความเครียดตามมา

ซึ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่ที่เครียด มัก คลอดลูกก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักน้อย รวมไปถึงเด็กทารกกลุ่มนี้มักมีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง พัฒนาการช้า มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในอนาคต นอกจากนั้นยังมีการศึกษาถึงผลระยะยาว เมื่อทารกโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูงมากขึ้นด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับแม่ท้อง ที่ไม่ควร เครียดตอนท้อง

 

เช่นเดียวกับคุณแม่ เป้ย ปานวาด ที่ล่าสุด ท้องสองใกล้คลอดในเดือนหน้านี้แล้ว แต่ก็ต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาลด่วน เพราะมีเรื่องให้เครียด จนทำให้ ท้องแข็ง และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด โดยเรื่องนี้คุณหนิง ปณิตา ธรรมวัฒนะ เพื่อนสาวคนสนิท ก็ได้ให้กำลังใจ โดยโพสต์ภาพคุณแม่เป้ยนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว ใจความว่า…

 

อ่านต่อ “หนิง ปณิตา โพสต์ให้กำลังใจเป้ย
หลังเครียดจนท้องแข็ง ถูกหามส่งรพ.” หน้า
2

คุณหนิง-ปณิตา หรือคุณแม่สุดสวยของน้องณิริน ได้โพสต์ให้กำลังใจคุณแม่เป้ย ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว “ningpanita” โดยบรรยายภาพว่า…

“ในวันนี้ทุกสิ่งอาจจะยากนะ มันสับสน กังวล ท้อแท้ ทุกอย่างวนอยู่ในหัว แต่ขอให้เชื่อว่ามันจะผ่านไปได้ อุปสรรคมีไว้ให้ข้ามผ่านไม่ได้มีไว้ให้ล้ม และไม่ใช่เราคนแรกบนโลกใบนี้ที่เจอเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ไม่ผิดที่วันนี้จะเป็นแบบนี้ เข้าใจที่สุดว่ามันทรมาน ผ่านมาแล้วถึงพูดได้ แค่เราคิดว่าเราจะรักษาและประคองให้รอดมันก้อยอดเยี่ยมที่สุดละ ใครจะว่าอย่างไรไม่ต้องไปสน ขอแค่เราเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัวของเราก้อพอ (ใครจะพูดงัยคอมเม้นท์แย่ๆยังงัยไม่ต้องไปรับรู้ ไม่ต้องไปสนใจ มันก้อแค่ผ่านปาก หรือ ตัวหนังสือที่สำหรับบางคนเม้าท์เอาสนุกไม่แม้จะคิดไตร่ตรองว่าคนที่อ่านจะรู้สึกอย่างไร)

สัญญากันแล้วนะว่าจะเข้มแข็ง ต้องทำให้ได้ตามที่สัญญา “อย่าเครียด” พูดมันง่ายแต่ทำยาก แต่ยังงัยก้อต้องทำ …. เครียด ท้องแข็ง พี่เป็นห่วงลูกสาวในท้อง อย่าลืมนะลูกพี่เหมือนกัน ตีก้นแม่ชีเลย ❤❤❤❤ รักนะ เป็นห่วงมากด้วย เจอกันเร็วที่สุด ส่งกำลังใจมาให้  #ใจอยู่ใกล้ตลอดนะถึงตัวไม่อยู่ ใครอยากเมนต์ ถ้าไม่สร้างสรรค์ ไปเล่นที่อื่นนะ แม่ขอ คนเค้าต้องการกำลังใจไม่ใช่…… นะ @ppanward

หนิง ปณิตา โพสต์ภาพเป้ย ถูกหามเข้ารพ. เพราะท้องแข็ง เนื่องจาก เครียดตอนท้อง

ขอบคุณภาพจาก IG @ningpanita

อย่างไรก็ดีทางทีมงาน Amarin Baby & Kids ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่เป้ยผ่านมรสุมชีวิตครั้งนี้ไปได้ด้วยดีนะคะ

ทั้งนี้ที่ความเครียดของแม่เป้ย ทำให้เกิดอาการท้องแข็ง นั่นเป็นเพราะเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้น และการบีบตัวก็จะมีมากขึ้น จนทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้องหรือท้องแข็งนั่นเอง ซึ่งเกิดจากเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด คุณแม่จึงรู้สึกเจ็บๆ ตึงๆ ที่ท้อง

ซึ่งธรรมชาติมดลูกจะบีบตัวมากที่สุดตอนจะคลอดค่ะ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการท้องแข็งหรือปวดท้องมากทั้งๆที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด อาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนดได้นั่นเองค่ะ

เครียดตอนท้อง ภัยเงียบสำหรับว่าที่คุณแม่และลูกน้อย

เมื่อคุณแม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือความคิดที่ทำให้รู้สึกไม่ดี ร่างกายก็จะปรับไปอยู่ในโหมดระวังภัย ระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะตื่นตัว มีการหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมา ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียด ฮอร์โมนตัวนี้มีประโยชน์ช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบในร่างกายเมื่อเกิดความเครียดระยะสั้น แต่หากเวลาผ่านไปแล้วเรายังไม่สามารถปิดสวิทช์ความเครียดนั้นลงได้ (ความเครียดสะสม) เมื่อนั้นร่างกายก็จะเริ่มเกิดปัญหา เช่น ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ความดันและน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ปวดหัวไมเกรน เป็นสิว โรคอ้วน อารมณ์แปรปรวน ปลีกตัวออกจากสังคม ก้าวร้าว ฯลฯ

นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อคุณแม่แล้ว ลูกน้อยก็ได้รับผลเช่นกัน มีหลายๆ งานวิจัยที่เห็นพ้องต้องกันว่าความเครียดของแม่ท้องเป็นเหมือนภัยเงียบที่เราไม่ควรละเลย เพราะส่งผลให้เพิ่มอัตราการคลอดก่อนกำหนด คือก่อน 37 สัปดาห์มากขึ้น น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มโอกาสให้ทารกติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์ และมีแนวโน้มว่าเด็กจะมีปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และการเรียนรู้ตามมาด้วย อีกทั้งยังอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเครียดสูงกว่าปกติได้ในอนาคต

จากวารสาร Health Psychology ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องแม่ท้องกับความเครียดไว้ว่า “พัฒนาการของเด็กในครรภ์ในแต่ละช่วง เกิดจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในครรภ์เป็นตัวตัดสินว่าจะสร้างหรือพัฒนาตัวลูกอย่างไร โดยมีพันธุกรรมของพ่อแม่เป็นตัวกำหนด” ดังนั้นหากแม่เครียด ลูกน้อยก็จะเติบโตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความเครียดไปด้วยนั่นเอง 

>> จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากคุณแม่เครียดเกินไป คลิกอ่านต่อหน้า 3

ผลที่เกิดขึ้นเมื่อแม่ เครียดตอนท้อง

1. สมองและระบบประสาท

สมองจะส่งสัญญาณไปที่ต่อมหมวกไตให้ผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลีนและคอร์ติซอล ที่จะส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

2. หัวใจและหลอดเลือด

อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงมีการขยายของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจได้

3. กล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อตึงเครียด มีอาการปวดโดยเฉพาะบริเวณบ่า ไหล่ สะบัก ต้นคอ และส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว ไมเกรน และกล้ามเนื้ออื่นๆอีก

4. ตับ

ความเครียดจะกระตุ้นให้ตับหลั่งกลูโคสเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น

5. ระบบทางเดินอาหารและขับถ่าย

เกิดความรู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติหรือไม่รู้สึกอยากเลย หรือกินอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อน ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องเสีย

6. มดลูก

เมื่อเครียด ชีวเคมีในร่างกายของแม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้สภาพภายในมดลูกติดเชื้อได้ง่าย เมื่อสภาพภายในมดลูกมีแต่ความเครียด ลูกน้อยจึงต้องปรับตัวเพื่อให้ทนต่อความเครียดนั้น

7. ลูกของเรา

ความเครียดของแม่ทำให้เลือดและออกซิเจนส่งผ่านลูกน้อยลง เกิดความผิดปกติของพัฒนาการและพฤติกรรมของทารกหลังคลอด

 

วิธีดูแลและรักษาตัวเองเมื่อ แม่ท้องเครียด

นักจิตวิทยาแบ่งการตอบสนองความเครียดของคนเราไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ บู๊ ถอย ชะงัก แล้วคุณแม่เป็นนักตอบสนองแบบไหนลองมาสำรวจดูกันค่ะ

เมื่อฉันเครียด ฉันจะ

1. บู๊ รู้สึกโกรธ หงุดหงิด ก้าวร้าว อยากก่อกวน หรือเรียกร้องความสนใจ

2. ถอย ปลีกวิเวก ตัดขาดจากทุกสิ่ง เศร้าซึม หมกมุ่น

3. ชะงัก ทำอะไรไม่ถูก คิดอะไรไม่ออก สมองว่างเปล่า

 

เมื่อเรารู้แล้วว่าตัวเองมีการตอบสนองต่อความเครียดแบบไหน การบรรเทาหรือขจัดความเครียดนั้นก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ต่อไปนี้คือ 3 วิธี 3 สไตล์ ที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายจากความตึงเครียด สามารถเลือกปรับใช้ได้ตามใจชอบเลย

1. สไตล์ธรรมชาติ

ใช้ประสาทสัมผัสของเรานี่แหละช่วยบำบัดอาการเครียด ดังนี้ ตาดู (ดูธรรมชาติรอบตัว สีสันต่างๆ ที่ธรรมชาติแต่งแต้ม) หูฟัง (เปิดดนตรีที่เป็นเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่น เสียงนก) จมูกดม (จุดเทียนอะโรม่าหอมๆ หรือหาดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมที่ชอบ) มือสัมผัส (เล่นกับสัตว์เลี้ยง กอดตุ๊กตาที่ชอบ นวดมือหรือคอด้วยโลชั่น) ลิ้นชิมรส (ดื่มน้ำผลไม้สดชื่นๆ กินของว่างที่มีประโยชน์ หรือจะกินไอศกรีมถ้วยเล็กสักถ้วยก็ได้) วิธีนี้เหมาะกับการตอบสนองความเครียดแบบ “บู๊”

2. สไตล์ร่าเริง

เปลี่ยนวันหดหู่เศร้าซึม ไม่ว่าจะด้วยเรื่องในบ้านหรือเพราะฮอร์โมนแม่ท้องเป็นเหตุ ด้วยการหากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น เดินเล่น ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ฟังเพลง นัดสังสรรค์กับเพื่อน เสริมสวย เป็นต้น เหล่านี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกสนุกและมีความสุขมากขึ้น วิธีนี้เหมาะกับการตอบสนองความเครียดแบบ “ถอย”

3. สไตล์มาดขรึม

หากการตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่รู้สึกกังวล ลองศึกษาหาข้อมูลแหล่งน่าเชื่อถือต่างๆ หรือบุคคลผู้มีประสบการณ์ เพื่อช่วยหาคำตอบให้กับเรื่องที่กำลังกังวลอยู่ เพราะความรู้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นได้ดี วิธีนี้เหมาะกับการตอบสนองความเครียดแบบ “ชะงัก”

 

อย่างไรก็ตาม การที่ คุณแม่ เครียดตอนท้อง หรือมีความเครียดไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสียทีเดียว เพราะการมีความเครียดในระดับเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้คุณแม่มีความรอบคอบในการดูแลตัวเองและลูก มีความระมัดระวัง และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีมากขึ้น ดังนั้นอย่าลืมสำรวจตัวเองและรู้เท่าทันความเครียดนะคะ

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก: 


บทความโดย : กองนิตยสาร Amarin Baby & Kids

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids