AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

คนท้องขับรถ ขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย?

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะบอกว่า คนท้องขับรถ ระยะสั้นๆ ได้จนถึงช่วงใกล้คลอด ถ้าไม่มีภาวะผิดปกติ แต่มีเรื่องหนึ่งต้องใส่ใจคือ ความไม่ประมาท

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะบอกว่า คนท้องขับรถ ระยะสั้นๆ ได้จนถึงช่วงใกล้คลอด ถ้าไม่มีภาวะผิดปกติ แต่มีเรื่องหนึ่งต้องใส่ใจคือ ความไม่ประมาท เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น แรงกระแทกอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และเจ้าตัวเล็ก เวิร์กกิ้งมัมคนไหนต้องขับรถไปทำงานเองจนถึงไตรมาสสุดท้าย เรามีเทคนิคดีๆ มาฝากค่ะ

คนท้องขับรถ ขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย?

คนท้องขับรถ ระยะไกลหรือใช้เวลานานมากกว่า 1 ชั่วโมง อาจทำให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก (ความจริงถึงไม่ได้ขับเอง แต่ต้องนั่งรถนานๆ ก็ทำให้ปวดเมื่อยได้เหมือนกัน) หากคุณจำเป็นต้องขับรถหรือนั่งรถระยะไกล ควรปรึกษาสูติแพทย์เสียก่อน ถ้าคุณหมออนุญาต ก็มาเตรียมตัวให้พร้อม

1.ปรับเบาะที่นั่งให้ถอยไปข้างหลังเพื่อเพิ่มที่พื้นให้มากขึ้นก่อน เท้าจะได้เหยียบคันเร่งและเบรคได้สะดวก แล้วถ้าพวงมาลัยของคุณปรับความสูงได้ ก็ปรับให้พวงมาลัยสูงขึ้นไปอีกนิด จะได้ไม่กดพุงโตๆ ที่ยื่นออกมา

2.แม่ท้องจะต้องขับรถอย่างมีสติ, ไม่ขับรถเร็วเกินไป, หลีกเลี่ยงการขับรถในสภาพทัศนะวิสัยไม่ดี, และตรวจดูความพร้อมของยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นยางหรือเบรกอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อยทุกครั้งที่ขึ้นรถ

3.หาข้อมูลจุดแวะพัก คุณแม่ควรหยุดพัก ออกมาเดินยืดเส้นยืดสายทุก 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลไว้ก่อนว่า คุณจะแวะพักตรงจุดไหนได้บ้าง จุดไหนจะปลอดภัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ

4.เตรียมกระดาษชำระสำหรับเข้าห้องน้ำ ช่วงไตรมาสสุดท้ายแม่ท้องจะกลับมาปัสสาวะบ่อยอีกแล้ว คุณอาจจะต้องเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่หยุดพักรถ เตรียมกระดาษชำระหรือทิชชู่เปียกติดรถไว้ได้เลย ถึงมาตรฐานห้องน้ำตามปั้มน้ำมันเมืองไทยจะพัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าทุกที่จะมีกระดาษชำระให้เราใช้

การขับรถระยะไกลหรือใช้เวลานานมากกว่า 1 ชั่วโมง อาจทำให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก

5.ฝึกท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อ ถ้าคุณแม่คนไหนไม่ได้บริหารกล้ามเนื้ออยู่เป็นประจำ ก่อนเดินทางก็เป็นเวลาดีที่คุณจะได้ฝึกยืดกล้ามเนื้อต้นคอ, แผ่นหลัง, ต้นขา, น่อง ท่าบริหารจะช่วยแก้ปวดเมื่อยและทำให้คุณรู้สึกสบายตัวขึ้นเมื่อต้องกลับขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัย

6.ในกรณีที่มีอาการชาบริเวณขา เคลื่อนไหวลำบาก เป็นตะคริวบ่อย ๆ ก็ควรหยุดขับรถ ยิ่งถ้าคุณแม่เป็นโรคครรภ์เป็นพิษด้วยแล้วหรือมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก็ยิ่งไม่ควรขับรถเองด้วยเช่นกัน เพราะความเร่งรีบและเจ็บปวดอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

7.การขับรถประจำวันเพื่อไปจับจ่ายซื้อของหรือขับไปทำงานในระยะใกล้ ๆ คุณแม่ยังสามารถขับรถได้ตามปกติ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอดที่คุณแม่มักจะรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกหน่วงท้องบ้าง คุณแม่ก็ไม่ควรขับ

บทความจากเรื่อง “ขับรถตอนท้องแก่…ได้ไหม?” นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับที่ 86 เมษายน 255

อ่าน “คำแนะนำในการเดินทางขณะตั้งครรภ์” คลิกหน้า 2

คำแนะนำในการเดินทางขณะตั้งครรภ์

1.คุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ สามารถเดินทางไกลได้ โดยช่วงตั้งครรภ์ 16-28 สัปดาห์หรือในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์จะเป็นช่วงที่สบายและปลอดภัยที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกลในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องปรับตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ

2.เตรียมของกินและของใช้ที่จำเป็นไปด้วย เช่น ยา ยาฆ่าเชื้อโรค นมที่ดื่มอยู่ประจำ รวมถึงน้ำดื่มสะอาด เพราะบางที่น้ำดื่มอาจไม่สะอาดก็ได้ แต่หากไม่ได้พกน้ำไปด้วยก็ควรดื่มน้ำแบบบรรจุขวดแทน ส่วนของใช้ที่คุณแม่ควรนำติดตัวไปด้วยจากของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ก็คือ รองเท้าที่สวมใส่สบาย

3.ควรพกยาดม ยาหอม หรือลูกอมที่มีรสหวานหรือบ๊วยติดกระเป๋าไว้เสมอในขณะเดินทาง เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดต่ำแล้ว ยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย

4.ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรจดบันทึกย่อ ๆ เกี่ยวกับสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ยาที่คุณแม่ใช้ และปัญหาที่มีในการตั้งครรภ์ รวมถึงชื่อและเบอร์โทรติดต่อของคุณหมอที่ดูแล พร้อมทั้งตรวจสอบรายชื่อสูติแพทย์หรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่คุณแม่จะไป และควรจดชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรติดต่อไว้ด้วยเผื่อในกรณีฉุกเฉิน

จดบันทึกย่อ ๆ เกี่ยวกับสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ยาที่คุณแม่ใช้ และปัญหาที่มีในการตั้งครรภ์

5.ตรวจสอบการประกันอุบัติในการเดินทางด้วยว่าครอบคลุมถึงการตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์หรือไม่อย่างไร สำหรับกรณีที่คลอดบุตรก่อนกำหนด

6.โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าต้องเดินทางเป็นเวลานาน ๆ ควรจะมีการขยับแข้งขยับขาหรือลุกขึ้นเดินบ้างเป็นระยะ ๆ

7.คุณแม่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบและมีเชื้อโรคหลุดลอดเข้าไปในครรภ์จนเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรถ่ายปัสสาวะทุก ๆ 2 ชั่วโมง และหากเกิดปัญหาหรือมีเหตุฉุกเฉินกับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ให้รีบไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดในทันที

อ่าน “ข้อห้ามในการเดินทางขณะตั้งครรภ์” คลิกหน้า 3

ข้อห้ามในการเดินทางขณะตั้งครรภ์

1.ถ้าตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจะแท้งบุตรหรือเคยมีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน ในระยะ 3-4 เดือนแรกก็ควรจะระมัดระวังเรื่องการเดินทางให้มากขึ้น พยายามอย่าให้กระทบกระแทก ในกรณีที่มีรกเกาะต่ำ การขับรถเองหรือนั่งรถที่กระแทกแรง ๆ เหล่านี้ก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตกเลือดได้

2,ปัญหาที่เกิดจากการเดินทางในระหว่างการตั้งครรภ์คือ คนท้องต้องได้รับออกซิเจนจากอากาศแล้วถ่ายเทไปให้ลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง ๆ หรือยอดดอย เพราะจะมีปริมาณของออกซิเจนในอากาศน้อย เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

3.คุณแม่ไม่ควรเดินทางไปในแหล่งที่มีโรคระบาดมาลาเรีย โรคทางเดินอาหารและจากแมลง รวมถึงแหล่งที่ต้องฉีดวัคซีนชนิดที่ไวรัสยังมีชีวิต เพราะร่างกายของคุณแม่จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคสูงกว่าคนทั่วไป

คนท้องต้องได้รับออกซิเจนจากอากาศแล้วถ่ายเทไปให้ลูกน้อยในครรภ์

4.ในขณะใกล้คลอดไม่ควรเดินทางไกลโดยพาหนะใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมีโอกาสที่ลูกอาจจะคลอดก่อนกำหนดได้

5.สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติการแท้งบุตรหรือเคยมีภาวะแท้งคุกคามก่อน, เคยตั้งครรภ์นอกมดลูก (ควรตรวจก่อนว่าในครรภ์นี้ไม่ใช่ครรภ์นอกมดลูก), เคยคลอดก่อนกำหนด, มีประวัติตั้งครรภ์ลำบาก เป็นต้น ก็ไม่ควรจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัดถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ และไม่ควรไปทำธุระไกล ๆ ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง: MEDTHAI

อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!

จริงหรือไม่? ขับรถบ่อยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

ขับรถตอนท้องแก่ได้ไหม

ขับรถ… ช่วงเวลาดีๆระหว่างแม่ลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids