ภาวะตกเลือดหลังคลอด เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่โดยตรง มีรายงานว่า ภาวะตกเลือดหลังคลอดเคยเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ในประเทศไทยติดต่อกันมากว่า 10 ปี วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนให้คุณแม่เตรียมตัวรับมือกับ ภาวะตกเลือดหลังคลอด แบบสังเกตรู้ และดูแลป้องกันได้ด้วยตนเองมาฝากค่ะ
ตกเลือด คืออะไร
อาการตกเลือด คือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ การตกเลือดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด โดยแบ่งเป็นระยะ ดังนี้
- ตกเลือดก่อนคลอดที่ระยะอายุครรภ์น้อย : ส่วนใหญ่จะเกิดการแท้งโดยธรรมชาติ แต่ถ้าอายุครรภ์มากขึ้น แพทย์จำเป็นต้องขูดมดลูก เพื่อช่วยหยุดเลือดไม่ให้ไหลมากจนเป็นอันตรายกับคุณแม่
- ตกเลือดก่อนคลอดที่ระยะอายุครรภ์มาก : สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ คือ ภาวะรกเกาะต่ำ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งทำให้มีเลือดไหลออกมาก
- ตกเลือดระหว่างคลอด : ถือเป็นช่วงอันตรายทั้งกับคุณแม่และทารก เช่น มดลูกแตก ทำให้เลือดไหลไม่หยุด
- ตกเลือดหลังคลอด : เป็นการเสียเลือดหลังการคลอดมากกว่า 500 ซีซี สำหรับการคลอดธรรมชาติ และมากกว่า 1,000 ซีซี สำหรับการผ่าคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคุณแม่ที่พบบ่อยทั่วโลกและในประเทศไทยด้วย
ภาวะตกเลือดหลังคลอด เป็นอย่างไร
คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะกังวลและตกใจกับเลือดที่ไหลออกมาในระยะหลังคลอด โดยทั่วไปแล้วในช่วง 2-3 วันหลังคลอด จะมีของเหลวปนเลือดไหลออกมา หรือที่เรียกว่า “น้ำคาวปลา” ถือเป็นภาวะปกติของร่างกายในการซ่อมแซมแผลในโพรงมดลูก ซึ่งสีของเลือดจะจางลงและลดปริมาณลงจนหมดไปใน 3-4 สัปดาห์ คุณแม่จึงไม่ต้องวิตกกังวล เพียงสังเกตลักษณะ เช่น ระยะเวลาที่นานเกินไป หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อนหรือไม่ เพราะอาการผิดปกติบางอย่างอาจนำมาซึ่งภาวะตกเลือดหลังคลอดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
ภาวะตกเลือดหลังคลอด สัญญาณอันตรายถึงชีวิต
ภาวะตกเลือดหลังคลอด ที่ผิดปกตินั้น มีด้วยกันหลายสาเหตุ โดยแบ่งความรุนแรงออกเป็น 2 ระยะ คือ การตกเลือดทันทีภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งมีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และการตกเลือดในระยะ 24 ชั่วโมง จนถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด ลองมาดูสาเหตุและความรุนแรงว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ สาเหตุการตกเลือดทันทีภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
คลิกหน้า 2
สาเหตุการตกเลือดทันทีภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
-
กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกล้ามเนื้อมดลูกมีการขยายตัวมากเกินไป มักจะเกิดในกรณีครรภ์แฝดหรือตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง หรือเกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อมดลูกจากการคลอด มีเนื้องอกในมดลูก รกเกาะต่ำ มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก และได้รับยาในกลุ่มต้านการหดรัดตัวของมดลูก กลุ่มคุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อปัจจัยการตกเลือดในข้อนี้ คือ คุณแม่ครรภ์แฝด คุณแม่อายุมาก คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวาน ทารกในครรภ์ตัวใหญ่มาก คุณแม่ที่มีรกเกาะต่ำ เป็นต้น
-
เศษรกตกค้างในโพรงมดลูก
ภาวะรกค้าง คือ รกไม่หลุดหรือคลอดออกมาภายใน 30 นาทีหลังจากทารกคลอดออกมาแล้ว โดยอาจจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของรก หรือทั้งรกเลยก็ได้ ทำให้รกไปขวางการหดตัวของมดลูก และเกิดอาการตกเลือดหลังคลอดตามมา
-
รกฝังตัวแน่นผิดปกติ
รกโดยทั่วไปจะวางตัวอยู่บนกล้ามเนื้อมดลูก แต่ในกรณีรกฝังตัวลงไปในกล้ามเนื้อทะลุผนังกล้ามเนื้อ ทำให้หลังคลอดรกจึงไม่หลุดออกมาด้วยและติดอยู่ในมดลูก จึงเกิดการติดเชื้อ ในบางรายต้องทำการล้วงรก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
-
การฉีกขาดของช่องคลอด
การฉีกขาดของฝีเย็บหลังคลอดเป็นสาเหตุของการตกเลือดมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากกล้ามเนื้อตัวมดลูกหดรัดตัวไม่ดี หากแพทย์พบว่าหลังคลอดคุณแม่มีเลือดออกมากผิดปกติ จะต้องรีบสำรวจฝีเย็บ และปากมดลูกว่ามีการฉีกขาดส่วนใด เพื่อทำการเย็บซ่อมห้ามเลือดต่อไป เพราะหากปล่อยให้เลือดไหลไปเรื่อย ๆ อาจทำให้คุณแม่เสียเลือดจนเสียชีวิตได้
-
มดลูกแตก
มดลูกแตกเกิดได้ 2 ส่วน คือ เนื้อเยื่อทุกชั้นของมดลูกฉีกแยกออกจากกัน หรือเนื้อเยื่อเพียงบางส่วนแยกออกจากกัน หากรอยแยกไม่ใหญ่มากแพทย์จะใช้วิธีเย็บซ่อมเพื่อช่วยห้ามเลือดและรักษาแผล แต่ถ้ารอยแยกลึกจนไม่สามารถเย็บได้ แพทย์จำเป็นต้องตัดมดลูก เพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้
-
ก้อนเลือดคั่งในช่องคลอด
โดยทั่วไปเลือดที่ออกจากมดลูกจะถูกขับออกมาทางช่องคลอด แต่หากได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างคลอด อาจทำให้เกิดเลือดคั่งและมีก้อนเลือดดันผนังช่องคลอด แพทย์จำเป็นต้องกรีดช่องคลอดแล้วเอาก้อนเลือดนั้นออก เพื่อลดความเจ็บปวด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ สาเหตุการตกเลือดในระยะ 24 ชั่วโมง
จนถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด คลิกหน้า 2
สาเหตุการตกเลือดในระยะ 24 ชั่วโมง จนถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด
-
เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ จากเนื้อเยื่อรกตกค้าง
อาการตกเลือดระยะหลัง มักจะเกิดในช่วง 1–2 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่มักจะเกิดการติดเชื้อจากการตกค้างของเนื้อเยื่อรก จนกลายเป็นติ่งเนื้อ เมื่อติ่งเนื้อหลุดลอกออกจึงมีเลือดสดไหลออกมา หรือเรียกว่าภาวะอักเสบติดเชื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูก อาการที่แสดงว่าเกิดการอักเสบที่เยื่อบุโพรงมดลูกที่สังเกตได้ คือ น้ำคาวปลาจะมีกลิ่นเหม็น กดเจ็บบริเวณมดลูก และมีไข้ร่วมด้วย การรักษาระยะแรกจะให้ยาเพื่อหยุดเลือด ถ้าเลือดไม่หยุดแพทย์จะแนะนำให้ทำการขูดมดลูกเพื่อเอาเนื้อเยื่อออก
ตกเลือดหลังคลอด ป้องกันได้
คุณแม่สามารถป้องกันภาวะตกเลือดได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ด้วยการดูแลตนเองและเตรียมความพร้อม ดังนี้
- ฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ และปรึกษา ขอคำแนะนำจากแพทย์ ในการดูแลตนเองเพื่อให้การตั้งครรภ์สมบูรณ์มากที่สุด
- ศึกษาข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับอาการและความผิดปกติจากการตกเลือดในระยะต่าง ๆ
- สำรวจข้อมูลของตนเองและศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการตกเลือดได้ เช่น เคยมีครรภ์แฝด มีประวัติเป็นเบาหวาน มีภาวะเลือดจางหรือไม่ เป็นต้น
- เริ่มดูแลตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
- รับประทานยา หรือวิตามิน ที่เหมาะสมกับช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก
- พบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- สังเกตการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ และแจ้งแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข
แม้ว่าภาวะตกเลือดหลังคลอด จะมีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากคุณแม่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น หมั่นสังเกตสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้คุณแม่รู้เท่าทันและปลอดภัยจากการตกเลือดหลังคลอดอย่างแน่นอน
อ่านต่อ บทความน่าสนใจอื่นๆ คลิก
อยู่ไฟหลังคลอด เข้ากระโจม ทับหม้อเกลือ วิธีโบราณ ช่วยดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอดให้ดีขึ้น
เทคโนโลยีใหม่ ตรวจความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ รวดเร็ว แม่นยำ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฉมพิลาศ จงสมชัย ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ภาวะตกเลือดหลังคลอด.
รศ.พญ. ประนอม บุพศิริ.ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage).
เฟื่องลดา ทองประเสริฐ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.Postpartum Hemorrhage; ภาวะตกเลือดหลังคลอด.