AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ตั้งครรภ์ หลัง 30 ปี เสี่ยงมะเร็งทั้งแม่-ลูกจริงหรือ?

ตั้งครรภ์ หลัง 30 ปีไปแล้ว จะมีความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง และดาวน์ซินโดรม

มีหลากหลายผลการวิจัยระบุว่า ควรมีลูกช่วงอายุประมาณ 29 – 30 ปี ลูกจะแข็งแรง สุขภาพดี และฉลาด แต่หาก ตั้งครรภ์ หลัง 30 ปีไปแล้ว จะมีความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น เช่น ร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ พัฒนาการทางสมองล่าช้า หรือเสี่ยงโรคมะเร็ง จริงหรือไม่? มาหาคำตอบกันค่ะ

วิจัยชี้! ตั้งครรภ์ หลัง 30 ปี ลูกเสี่ยงมะเร็ง

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCLA ในสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยเดนมาร์ก ศึกษาข้อมูลของเด็กชาวเดนมาร์ก จำนวน 5,856 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งก่อนอายุ 16 ปี และนำไปเปรียบเทียบกับอายุพ่อแม่ของเด็กในช่วงที่ให้กำเนิดลูก แบ่งเป็นอายุต่ำกว่า 25 ปี, อายุ 25-29 ปี, อายุ 30-34 ปี, อายุ 35-39 ปี, อายุ 40-45 ปี และอายุ 45 ปีขึ้นไป พบว่า

1.เสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

คุณแม่ที่มีอายุช่วงระหว่าง 30-34 ปี มีความเชื่อมโยงในการทำให้ลูกป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นมะเร็ง หรือเนื้องอกร้ายที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนัง ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และช่องท้อง นอกจากนี้ยังอยู่ในอวัยวะภายใน เช่น สมอง โพรงจมูก ไซนัส กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และกระดูก

คุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ ช่วง 35 ปีขึ้นไป ทำให้ลูกเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

2.เสี่ยงมะเร็งเม็ดเลือดขาว

คุณแม่ที่มีลูกหลังอายุ 35 ปีขึ้นไป เสี่ยงทำให้ลูกเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute Lymphoblastic Leukemia) ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วย เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลูคีเมีย เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกแบ่งตัวเร็วผิดปกติ จนกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ สามารถแทรกซึมไปตามอวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งจัดว่าเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงสูง และพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย

จูเลีย เฮค ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย UCLA หนึ่งในทีมนักวิจัยระบุว่า เหตุที่ทำให้ลูกที่เกิดมามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งนั้น อาจเป็นเพราะเกิดการกลายพันธุ์ในระดับโครโมโซม หรือมีโครโมโซมที่ผิดปกติของพ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้น

การกลายพันธุ์ดังกล่าว สามารถเกิดได้ทั้งในอสุจิของผู้เป็นพ่อและเซลล์ไข่ของผู้เป็นแม่  ซึ่งไม่ต่างจากกรณีที่มีลูกตอนอายุที่มากขึ้น แล้วทำให้ทารกที่เกิดมาเสี่ยงต่อการเป็นดาวน์ซินโดรมนั่นเอง

อ่านต่อ “วิจัยชี้! ตั้งครรภ์หลัง 30 ปี แม่เสี่ยงมะเร็ง” คลิกหน้า 2

วิจัยชี้! ตั้งครรภ์ หลัง 30 ปี แม่เสี่ยงมะเร็ง

โรงพยาบาลเวชธานี เผยข้อมูลมะเร็งเต้านม เตือนผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ เช่น อายุที่มากขึ้น, ประจำเดือนมาเร็วหรือหมดเร็ว และการใช้ยาฮอร์โมนนานเกิน 5 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงที่มีลูกก่อนอายุ 30 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้

นอกจากนี้ จากการศึกษาผู้หญิงในอังกฤษที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม พบว่า ผู้หญิงที่มีลูกตั้งแต่ยังสาว มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุมากถึงครึ่ง

ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากมีลูกหลังอายุ 30 ปี หรือ 40 ปีขึ้นไป ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาในการตั้งครรภ์ และการแท้ง นอกจากทารกที่คลอดออกมามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคดวาน์ซินโดรม ความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆ และความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว คุณแม่ยังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วย

ศาสตราจารย์กาเร็ต อีแวนส์ จากโรงพยาบาลเซนต์ แมรีส์ แอนด์ คริสตีในแมนเชสเตอร์ ระบุว่า ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มักสูญเสียแม่เพราะโรคนี้ขณะยังเป็นเด็ก ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ควรสร้างครอบครัวตั้งแต่เนิ่นๆ เท่าที่จะเป็นไปได้

ความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งในผู้หญิง ตั้งครรภ์ ลูกคนแรกเมื่อ 30 ปีขึ้นไป

โดยทีมนักวิจัยของศาสตราจารย์อีแวนส์ ร่วมศึกษาเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยศึกษาอัตราการเป็นมะเร็งเต้านม และการมีบุตรของผู้หญิง 800 คน ในย่านนอร์ตเวสต์ และมิดแลนด์

นักวิจัยพบว่า ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งในผู้หญิงที่มีลูกคนแรกเมื่ออายุ 30 ปี ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเนื้อเยื่อเต้านมที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็ง ได้รับการป้องกันเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ระหว่างอายุ 14-30 ปี

ศาสตราจารย์อีแวนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และที่ปรึกษาด้านเวชพันธุศาสตร์ ยอมรับว่ายังไม่รู้แน่ชัดว่า เหตุใดการตั้งครรภ์ในช่วงอายุดังกล่าว จึงช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ โดยทฤษฎีหนึ่งก็คือ การตั้งครรภ์ช่วยฟื้นฟูเซลล์เต้านมให้ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง อาทิ โปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจน ที่เชื่อมโยงกับการเป็นมะเร็งเต้านม น้อยลง

อ่านต่อ “วิจัยชี้! สาวโสดเสี่ยงมะเร็งเต้านมกว่าคนมีลูก” คลิกหน้า 3

วิจัยชี้! สาวโสดเสี่ยงมะเร็งเต้านมกว่าคนมีลูก

จากข้อมูลข่าวของ ไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า พล.ต.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ผอ.ศูนย์เต้านม รพ.จุฬาภรณ์ และนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย โดยเฉลี่ยประมาณ 30 คนต่อผู้หญิงหนึ่งแสนคน

โรคนี้พบสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อ 15 ปีก่อนพบเพียง 15 คนต่อผู้หญิงหนึ่งแสนคน ส่วนปัจจัยของการเกิดโรคมีหลายอย่าง ทั้งการดำเนินชีวิต พฤติกรรม อายุ และพันธุกรรม และปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ประจำเดือนหมดช้า หมดเร็วก็มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ หลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าอายุมากแล้วคงไม่เป็นมะเร็งเต้านม แต่จริงๆ ไม่ใช่ อายุเยอะยิ่งพบได้ โดยอายุที่พบมากในต่างประเทศ จะพบเฉลี่ยอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ในไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือในแถบเอเชียจะพบในอายุเฉลี่ย 45-50 ปี

ผู้หญิง ตั้งครรภ์ และให้นมลูก ก่อนอายุ 30 ปี ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้

พญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ ศัลยแพทย์สาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งเต้านม และการค้นพบปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ดี ดังนั้น ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน และหากอายุ 40-45 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจแมมโมแกรม นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงที่ทานฮอร์โมนมากกว่า 5 ปี ก็จะมีความเสี่ยงได้ แต่ก็ถือว่าน้อย โดยพบมากกว่าคนปกติ 1.1-2 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงแต่งงานแล้วมีบุตร และให้นมบุตร จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้หญิงโสด หรือผู้หญิงแต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร เนื่องจากการให้นมบุตรช่วยลดฮอร์โมนเอสโตรเจนลงได้

ส่วนการศัลยกรรมทรวงอกยังไม่มีงานวิจัยว่า ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ เช่นเดียวกับขนาดหน้าอกไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น การมีสามี เพราะคนโสดมีความเสี่ยงกว่าคนที่มีบุตร หรือการมีลูกจะลดความเสี่ยงได้

รวมไปถึงการมีประจำเดือนที่ไม่ปกติ มาเร็ว มาตั้งแต่อายุน้อย ก็เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยที่ดูแลตัวเองได้ คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย กินอาหารให้มีประโยชน์ และหมั่นตรวจเต้านม ตรวจคัดกรองก็จะช่วยได้

ข้อมูลอ้างอิง: Sanook, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (MedThai), มะเร็งเม็ดเลือดขาว (MedThai), กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์, ผู้จัดการออนไลน์

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!

นับวันตกไข่ ให้ดีถ้าอยากมีลูกในวัย 30+

ไขข้อข้องใจ มีลูกตอนแก่ เสี่ยงหรือไม่

ข้อดี vs ข้อเสีย ของการ มีลูกเมื่ออายุมาก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids