AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รวมวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ เมื่อ แม่ท้อง ไม่สบาย

ยาม แม่ท้อง ไม่สบาย หรือเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันจากป่วยเล็กๆ ไม่ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ฉบับนี้จึงขอรวบรวมอาการต่างๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักพบเจอ พร้อมวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นแบบง่ายๆ แต่ถูกต้องมาฝากกันค่ะ

แม่ท้อง ไม่สบาย ดูแลตัวเองแบบนี้สิ!  

  

  1. แม่ท้อง เป็นไข้

เมื่อตั้งครรภ์ ภูมิต้านทานในร่างกายของคุณแม่จะลดลงเป็นปกติอยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เมื่อติดแล้วก็มักจะหายช้ากว่าปกติ ยารักษาต่างๆ ก็ต้องใช้ยาที่อ่อนลงเพราะอาจกระทบกับลูกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ การเป็นไข้สูงนานๆ หัวใจของลูกจะเต้นเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ลูกน้อยเจริญเติบโตช้าได้ด้วย

หาสาเหตุ เป็นไข้จากอะไร

โดยปกติอาการไข้มักเกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่

1. ไข้หวัด ซึ่งพบได้บ่อย มักมีอาการร่วมคือ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก

2. ไข้จากการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ อาการร่วมคือ ปัสสาวะขัดหรือผิดปกติ มีอาการหนาวสั่น

3. ไข้จากระบบทางเดินอาหาร อาการร่วมที่เจอบ่อยๆ คือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องรู้ว่าเราเป็นไข้จากสาเหตุอะไร จึงจะรักษาตามอาการได้ถูกต้อง

ลดไข้ด้วยวิธีง่ายๆ  หลักการของการลดไข้คือ การระบายความร้อนออกไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้นวิธีไม่มีอะไรมาก ง่ายๆ ก็คือการเช็ดตัว เพราะการเช็ดตัวที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างดี

วิธีเช็ดตัวที่ถูกต้อง เช็ดตัวด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติเท่านั้น เวลาเช็ดให้เช็ดย้อนรูขุมขน และเช็ดเข้าหากลางลำตัวเป็นหลัก นอกจากนี้ควรใช้ผ้าซับบริเวณจุดระบายอุณหภูมิต่างๆ ได้แก่ ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือข้อพับต่างๆ และควรเช็ดตัวบ่อยๆ จนอุณหภูมิลดลง  นอกจากเช็ดตัวแล้ว ควรดื่มน้ำมากๆ วันละ 6-8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำมาก ปัสสาวะก็จะมากตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนออกได้ดียิ่งขึ้น

รักษาตามอาการ

หากเจ็บคอ ดื่มน้ำผึ้งและน้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นได้ หากคัดจมูก ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะช่วยลดการอักเสบหรือบวมบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกได้ นอกจากนี้พยายามรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีมากขึ้นอย่างส้ม ก็จะช่วยได้ค่ะ

ยาลดไข้ที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ พาราเซตามอล รับประทานได้ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ส่วนยาแก้คัดจมูกกลุ่มคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ก็รับประทานได้เช่นกัน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Q&A

Q: หากแม่ท้องจำเป็นต้องดูแลคนเป็นไข้ ทำอย่างไรดี

A: คุณแม่ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย ไม่ควรดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ควรใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหาร และอาหารต้องร้อนและปรุงสุกเสมอ

Q: ไอมากๆ มดลูกบีบตัวได้ไหม

A: ได้ เพราะการไอมากๆ จะไปเพิ่มแรงดันในช่องท้องทำให้มดลูกบีบตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุครรภ์น้อยๆ ในช่วง 12 สัปดาห์แรก อาจแท้งได้ หรืออายุครรภ์มาก 32 สัปดาห์ขึ้นไป ก็ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน ดังนั้น หากมีอาการไอหนักมากๆ ควรไปพบแพทย์ เพราะจะมียาช่วยลดอาการไอได้ แต่หากต้องซื้อยาทานเอง ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

ติดตาม คนท้อง ไม่สบาย ควรทำอย่างไร คลิกต่อหน้า 2

 

  1. แม่ท้อง ท้องเสีย

ท้องเสียแบบไหน  อาการท้องเสีย แบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่

ท้องเสียแบบติดเชื้อ ลักษณะอุจจาระจะมีมูก เลือด หรือฟองปน ร่วมกับมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว พะอืดพะอม คลื่นไส้ ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้นและรักษาได้ด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ

ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ จะมีอาการแค่ถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย 3-4 ครั้งขึ้นไป อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย แต่จะไม่มีไข้ ซึ่งท้องเสียแบบนี้จะหายไปได้เอง โดยคุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้

วิธีการรักษา คือ เราเสียน้ำเสียเกลือแร่ไปเท่าไร ก็ให้ทดแทนให้ได้มากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำเปล่า ก็สามารถชดเชยการเสียน้ำและเกลือแร่ได้ทั้งสิ้น

หลังท้องเสีย ดูแลตัวเองอย่างไร

หลังท้องเสีย ลำไส้จะบวม ทำให้ไม่สามารถรับอาหารที่ย่อยยากๆ ได้ เช่น ข้าวเป็นเม็ด ผักใบเขียวต่างๆ เนื้อสัตว์ นม เป็นต้น หากยิ่งรับประทานจะยิ่งไม่ย่อย และท้องเสียมากขึ้น ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารที่ดูดซึมง่าย เช่น โจ๊กบดละเอียด เพื่อให้ร่างกายดูดซึมและมีแรงฟื้นตัว สรุปคือ ควรงดอาหารที่ย่อยยากนาน 24-48 ชั่วโมง หากท้องเสีย 1-2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ สำหรับยารักษาอาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ส่วนยาคาร์บอนคุณแม่ท้องสามารถรับประทานได้ค่ะ

ท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ ส่งผลต่อคุณแม่และลูกน้อย โดยร่างกายของคุณแม่จะขาดน้ำ เกลือแร่ และสารอาหารที่จำเป็น หากเป็นนานเกินไป จะทำให้ลูกน้อยขาดสารอาหารและการเติบโตก็ชะงักตามไปด้วย ยิ่งคุณแม่ได้รับพิษรุนแรงจะมีไข้ อาการไข้จะยิ่งทำให้ลูกตัวเล็กมากขึ้น ดังนั้นวิธีป้องกันคือ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ออกจากเตาใหม่ๆ งดอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารค้างคืน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

  1. ท้องผูก และริดสีดวง

เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้าลง ส่งผลให้คุณแม่ท้องอืดและผูกได้ง่าย นอกจากนี้เมื่อขนาดท้องโตขึ้นก็จะยิ่งไปกดบริเวณลำไส้ ทำให้การผ่านของอุจจาระยากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเป็นริดสีดวงมากขึ้นเช่นกัน

วิธีป้องกันและรักษาง่ายๆ คือ หนึ่ง ต้องรับประทานผักผลไม้มากๆ เคี้ยวอาการให้ละเอียด สอง ดื่มน้ำเยอะๆ แต่หากท้องผูกรุนแรง ควรมาพบแพทย์เพื่อใช้ยาช่วย

เทคนิคช่วยลดอาการท้องผูกคือ ดื่มน้ำตอนเช้าหลังตื่นนอนทันที โดยยังไม่ต้องล้างหน้าแปรงฟัน ประมาณ 2-3 แก้ว ก็จะทำให้ระบบลำไส้ตื่นตัว สามารถบีบตัวและเคลื่อนอุจจาระผ่านออกไปได้ง่าย

Q&A

Q: ซื้อยาถ่ายมารับประทานเองได้หรือไม่

A: ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ต้องดูอายุครรภ์ก่อนจึงจะกำหนดปริมาณยาที่ถูกต้องได้ เพราะยาถ่ายมีผลต่อลูกน้อย ดังนั้นหากมีอาการท้องผูกมากควรมาปรึกษาแพทย์ แต่หากมีอาการไม่รุนแรง อาจดื่มน้ำลูกพรุนหรือมะขามช่วยระบายได้ ส่วนยารักษาริดสีดวง สามารถใช้ยาแบบเหน็บได้ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

ติดตาม แม่ท้อง ก็ดูแลตัวเองได้ ยามเจ็บป่วย คลิกต่อหน้า 3

 

  1. ฮีทสโตรค

คุณแม่ท้องสามารถเป็นฮีทสโตรคได้ เพราะเมื่อตั้งครรภ์ เลือดจะถูกดึงไปเลี้ยงมดลูกหมด อวัยวะอื่นๆ จึงได้เลือดน้อยกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มเป็นลมได้ง่าย หากยิ่งวันไหนนอนน้อย กินน้อย ออกแดดช่วงเวลาร้อนจัดนาน ยิ่งทำให้เกิดภาวะนี้ได้มากขึ้น

ฮีทสโตรคแตกต่างจากการเป็นลมธรรมดา โดยสังเกตอาการง่ายๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้

  1. อุณหภูมิร่างกายสูง 40.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และมีไข้
  2. ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้
  3. ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ เช่น เป็นลม

หากคุณแม่ท้องมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นฮีทสโตรค

ปฐมพยาบาลเมื่อเป็นฮีทสโตรค

  1. เคลื่อนย้ายไปที่ที่อากาศถ่ายเท
  2. ปลดหรือคลายเสื้อผ้าให้หลวมสบายที่สุด
  3. เช็ดตัว วิธีการเช็ดเช่นเดียวกับเช็ดตัวตอนเป็นไข้
  4. ดื่มน้ำให้มากเพื่อระบายความร้อนออกทางปัสสาวะ
  5. หากไม่ดีขึ้นให้รีบส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์จะช่วยให้น้ำเกลือ เพราะน้ำเกลือคือสารน้ำที่ช่วยระบายความร้อนได้ดีและรวดเร็ว

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

  1. ตะคริว

ตะคริวคืออาการยอดฮิตของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อในการแบกน้ำหนักอย่างมากนานถึง 9 เดือน ทำให้เกิดการหดรัดเกร็งของกล้ามเนื้อกว่าปกติ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อของคนเราต้องใช้แคลเซียมในการหดเกร็ง คลายตัว แต่เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ต้องแบ่งแคลเซียมไปให้ลูกน้อยใช้ค่อนข้างมาก เมื่อแคลเซียมน้อยก็ทำให้เกิดตะคริวได้

ตะคริวป้องกันได้ บริเวณที่แม่ท้องเป็นตะคริวได้บ่อยคือ น่อง วิธีป้องกันก็คือ

เป็นตะคริวแล้ว ทำอย่างไรดี

ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ช่วยยืดขาให้ จากนั้นให้เขาจับฝ่าเท้าข้างที่เป็นตะคริวขึ้นมา มือข้างหนึ่งดันฝ่าเท้าเข้าหาตัวคุณแม่ มืออีกข้างให้รูดขึ้นลงตรงบริเวณเอ็นร้อยหวาย ไม่นานก็หายเป็นปกติ

คุณแม่ท้องควรดูแลตัวเองให้มาก หากมีอาการที่ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วน และสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น ก็ควรดูแลตัวเองก่อนไปพบแพทย์ เพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เหนืออื่นใด วิธีทีป้องกันได้ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกำลังกาย ก็จะช่วยลดอาการเจ็บป่วยลงได้มากค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ 

โรงพยาบาลพญาไท 2 และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center
บทความโดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin baby & kids

 

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

แม่ไม่สบายให้นมได้ไหม?

แม่ท้องป้องกันตะคริว และขาบวมได้

เคล็ดลับ ท้อง สุขภาพดี ลูกน้อยแข็งแรง