หลายครั้งที่อาการเจ็บป่วยก็หลีกเลี่ยงกันไม่ได้ แม้กระทั่งตอนตั้งครรภ์ แต่ คนท้องไม่สบาย อาจเป็นเรื่องที่รับมือได้ยากสำหรับคุณแม่หลายคน เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกน้อยเป็นหลัก และการดูแลสุขภาพของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากความปลอดภัยของยาที่รักษา
1.โรคไข้หวัด
คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 ครั้งระหว่างตั้งครรภ์ บางครั้งอาการป่วยอาจไม่ส่งผลต่อลูกน้อย แต่ยาที่รับประทาน เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด เป็นต้น อาจส่งผลต่อลูกน้อยได้ สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อไม่สบายคือควรพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างถูกต้องปลอดภัย
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้หวัด เช่น ทำร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ เมื่อเจ็บคอให้ใช้น้ำอุ่นผสมเกลือกลั้วคอ เช็ดตัวเมื่อมีไข้ แต่หากอุณหภูมิมากกว่า 38 องศา ควรรีบพบแพทย์ทันที
2.โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
โรคกระเพาะ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ หากสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจ แต่หากนานเกินกว่านั้น หรือมีผลทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ จิบน้ำบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมัก ของดอง หรืออาหารแสลง รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ผักต้ม น้ำซุป เมื่ออาการที่ขึ้นค่อยรับประทานอาหารตามปกติ
3.การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
10% ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการติดเชื้อ 1 ครั้ง และคนที่ติดเชื้อแล้ว 1 ใน 3 คนจะติดเชื้อซ้ำอีก อาการที่พบบ่อยคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และมักจะไม่แสดงอาการ จะพบเมื่อมีการตรวจตอนฝากครรภ์ หากพบว่าติดเชื้อ ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด การเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะนำไปสู่การติดเชื้อที่กรวยไตหากไม่ได้รับการรักษา ทำให้กรวยไตอักเสบซึ่งมีอันตรายต่อตัวเองและทารกในครรภ์ หากเป็นกรวยไตอักเสบในช่วงหลังอายุครรภ์เดือนที่ 7 เป็นต้นไป จะทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
อย่าลืมดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวที่ไม่ใส่น้ำตาล งดชากาแฟ ไม่กลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น ใช้กางเกงในผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี ทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ถูกวิธี ระหว่างที่รักษาอยู่จะได้รับยาปฏิชีวนะ ควรกินโยเกิร์ตไม่ใส่น้ำตาล เพื่อช่วยให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารสมดุล และกินอาหารที่มีประโยชน์นะคะ
อ่านต่อ “คนท้องไม่สบาย กับ 11 โรคที่ต้องระวังระหว่างตั้งครรภ์” คลิกหน้า 2
4.โรคอีสุกอีใส
ส่วนมากแล้ว คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะเคยเป็นอีสุกอีใสกันมาก่อนในวัยเด็ก จึงมีภูมิคุ้มกันอยู่ แต่ก็พบว่า มี คนท้องไม่สบาย เพราะได้รับการติดเชื้ออีสุกอีใส เช่นกัน
หากมาเป็นในช่วงที่ตั้งครรภ์จะต้องได้รับแกมม่าโกลบูลินภายใน 96 ชั่วโมงหลังการสัมผัสโรค จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เนื่องจากอาการของโรคนี้ในผู้ใหญ่จะรุนแรงกว่าในเด็ก โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
5.โรคหัด
เป็นโรคที่ไม่มีใครไม่รู้จัก และคุณแม่ส่วนใหญ่ก็ระมัดระวังเป็นอย่างดีด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันหัดก่อนการตั้งครรภ์ แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในขณะตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด เนื่องจากฉีดวัคซีนเปรียบเหมือนกับร่างกายได้รับเชื้อโดยตรงเพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเชื้อที่ถูกฉีดเข้าไปอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์
อย่างไรก็ดีมักจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันหัดกันตั้งแต่เด็กดังนั้นการติดเชื้อจึงไม่รุนแรงมาก แต่หากมีการติดเชื้อช่วงใกล้คลอดอาจทำให้ทารกเกิดภาวะติดเชื้อไวรัสในเลือด แพทย์จะให้แกมม่าโกลบูลินแก่ทารกทันทีที่เกิดเพื่อลดความรุนแรงจากการติดเชื้อค่ะ
6.โรคหัดเยอรมัน
โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังอย่างมาก ควรได้รับวัคซีนป้องกัน เพราะโรคนี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ อาการของโรคใน 2-3 สัปดาห์แรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ คิดว่าเป็นไข้ธรรมดา เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว และต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย
การป้องกันหัดเยอรมัน เช่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน หากคุณแม่พบว่าตนเองเป็นโรคหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และดูแลตนเองป้องกันลูกน้อยเกิดความเสี่ยง
อ่านต่อ “คนท้องไม่สบาย กับ 11 โรคที่ต้องระวังระหว่างตั้งครรภ์” คลิกหน้า 3
7.โรคตับอักเสบ
โรคตับอักเสบ เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างบุคคล จึงไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับคนที่ติดเชื้อนี้ หากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ป่วยด้วยโรคตับอักเสบบี
การรักษาที่สำคัญคือ กินอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์ทุกชนิด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยจะฟื้นคืนสภาพมาเป็นปกติเอง ร้อยละ 5 จะกลับรุนแรงมากขึ้น ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีเชื้อตับอักเสบบี ควรได้รับการอาบน้ำให้สะอาด ระวังการปนเปื้อน และให้วัคซีนตับอักเสบบีและแกมม่าโกลบูลินภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอดและให้วัคซีนซ้ำเมื่ออายุ 1 และ 6 เดือน แล้วตรวจสอบภูมิคุ้มกันเมื่ออายุ 12 และ 15 เดือน ส่วนตับอักเสบชนิดอื่นยังไม่มีรายงานหรือความรู้ที่แน่ชัดว่าติดต่อหรือไม่ทางใดและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกหรือไม่
8.โรคท็อกโซพลาสโมซิส
โรคท็อกโซพลาสโมซิส คือ โรคที่เกิดจากการรับประทานเนื้อดิบ หรือเกิดจากการสัมผัสอุจจาระแมวที่ติดเชื้อนี้อยู่ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ และเกิดอาการรุนแรง อาจมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด เกิดความพิการทางสมอง และเสี่ยงเสียชีวิตได้ อาการของโรคจะมีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์จะมีผื่นขึ้นตามตัว
การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หากคุณแม่เลี้ยงแมว เมื่อต้องเก็บทำความสะอาดอุจจาระ ควรใส่ถุงมือป้องกันทุกครั้ง และหมั่นตรวจเลือดดูระดับภูมิต้านทานโรคทุกๆ 1-2 เดือนจนกว่าจะคลอด
9.โรคไซโดเมกาไวรัส หรือซีเอมวี (CMV)
โรคนี้เป็นโรคที่สามารถติดเชื้อได้ทางน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ส่วนใหญ่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีภูมิคุ้มกันนี้อยู่ เพราะอาจเคยได้รับเชื้อในวัยเด็ก จึงไม่มีอาการรุนแรงมากนัก แต่หากยังไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และเกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องขณะตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงทำให้ลูกน้อยในครรภ์ตัวเหลือง หูหนวก และตาพิการได้
การป้องกัน คือ ระมัดระวังไม่ให้รับเชื้อดดยการล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
อ่านต่อ “คนท้องไม่สบาย กับ 11 โรคที่ต้องระวังระหว่างตั้งครรภ์” คลิกหน้า 4
10.โรคฟิฟท์ดิซีส
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ฮิวแมน พาร์โวไวรัสบี 19 เป็นกลุ่มไวรัสที่ 5 ของโรคไข้ออกผื่น 6 ชนิดในเด็กค่ะ น้อยคนนักที่จะรู้จัก เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการไม่ค่อยชัดเจน และมักจะหายไปได้เองโดยที่คนไข้ก็ไม่รู้ตัว มีเพียงร้อยละ 15-30 เท่านั้นที่เป็นไข้ บางรายอาจจะมีผื่นคันขึ้นบริเวณโหนกแก้มใน 2-3 วันแรก โดยผื่นมีลักษณะเป็นรอยแดง ต่อมาจะเริ่มลุกลามไปทั้งตัว ก้น และขา สามารถหายไปได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ค่ะ
คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ จะต้องระวังการติดเชื้อให้ดี เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อมากกว่าคนอื่น และหากติดเชื้อขึ้นมา สามารถส่งผลให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตเอาได้
11.การติดเชื้อสเตรปกลุ่มบี
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อสเตรปกลุ่มบีในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ถือว่าเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์มาก เพราะเป็นแล้วอาจอันตรายถึงชีวิตได้ และถึงแม้ว่าจะพบได้น้อย เพราะทางการแพทย์จะให้การระมัดระวังโรคนี้เป็นพิเศษ ก็ไม่ควรที่จะประมาท
สำหรับการติดเชื้อนี้จะอยู่ในช่องคลอดโดยไม่ปรากฏอาการให้เห็น แพทย์จะนำมูกจากช่องคลอดไปตรวจหาเชื้อ หากพบเชื้อก็จะให้ยาปฏิชีวนะที่มากพอตั้งแต่ก่อนคลอด จึงทำให้ไม่มีการติดเชื้อในทารกนั่นเองค่ะ
จะเห็นว่า โรคแต่ละโรคมีความน่ากลัวไม่แพ้กันเลยใช่ไหมล่ะคะ ดังนั้น พยายามดูแลตัวเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสุขภาพ เพราะเวลาที่คุณแม่ไม่สบาย นั้น น่าเป็นห่วงไม่แพ้กับเวลาที่เด็กหรือคนแก่ไม่สบายเลยละค่ะ
ขอบคุณที่มา: Baby Trick, POBPAD, หาหมอ.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!
เป็น โรคซึมเศร้า ตั้งครรภ์ ได้ไหม?
แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ อันตรายกว่าที่คิด
โรคประจำตัว ที่ควรเฝ้าระวัง ขณะตั้งครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่