AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยคนท้อง ที่ถูกต้องและปลอดภัย

วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยคนท้อง  เพราะการคาดเข็มขัดนิรภัยช่วยป้องกันภัยจากอุบัติเหตุขณะโดยสารบนรถยนต์ได้ แต่สำหรับคุณแม่ท้องหลายคน อาจจะรู้สึกอึดอัดที่ต้องคาดเข็มขัดนี้ แต่สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะท้องแก่ใกล้คลอดนั้นยิ่งสมควรคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นอย่างมาก เพราะถ้าไม่คาดเข็มขัดแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วท้องได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อลูกในท้องได้ง่าย

วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยคนท้อง ที่ถูกต้องและปลอดภัย

เชื่อได้เลยว่า มีคุณแม่ท้องหลายคน ที่ “ไม่เคยคาดเข็มขัดนิรภัย” เลย เพราะเกรงว่าเข็มขัดนิรภัย จะทำอันตรายให้กับลูกน้อยในท้อง เนื่องจากการถูกสายรัดและกดทับ รวมถึงอาจทำให้ตัวคุณแม่ท้องเองรู้สึกอึดอัดด้วย ซึ่งก็อาจเข้าใจตามนั้นได้ ไม่แปลกอะไร ยิ่งโดยเฉพาะแม่ท้องใกล้คลอดที่มีขนาดท้องใหญ่ขึ้นจนทำให้รู้สึกอึดอัด ดังนั้นการมีอะไรมารัดที่ตัวก็จะยิ่งทำให้อึดอัดเข้าไปใหญ่

…แต่ในความเป็นจริงแล้ว การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะเป็นการก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะหลายคนเข้าใจว่าเวลาเข็มขัดนิรภัยทำงาน มันจะรั้งบริเวณท้องของคุณแม่ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับเด็กในท้อง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อาจจะทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุตัวคุณแม่กระแทกเข้ากับคอนโซลหน้ารถ หรือพนักพิงเบาะหน้าได้ ทำให้เกิดอันตรายได้มากกว่า ทั้งกับตัวลูกน้อยในท้องและคุณแม่ ดังนั้นการคาดเข็มขัดนิรภัย จึงยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่มากๆ แต่อาจจะต้องมีการปรับลักษณะการคาดให้เหมาะสมกับคุณแม่ท้องกว่าเดิม ด้วยวิธีการต่อไปนี้…

√ หลักการคาดเข็มขัดนิรภัยคนท้อง ที่ถูกต้องและปลอดภัย

เริ่มจากท่านั่ง ต้องไม่ปรับพนักพิงให้เอน หรือตั้งชันมากเกินไป ระยะห่างจากเบาะถึงคอนโซลหน้า ต้องไม่ชิดเกินไป แม้จะเป็นคนนั่งก็ต้องปรับท่านั่งให้ใกล้เคียงกับเวลาที่เราขับรถเอง เพื่อให้อยู่ในท่าที่ปลอดภัยที่สุดเนื่องจากการปรับพนักพิงเอน หรือตั้งชันเกินไป อาจทำให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

จากนั้นให้คาดเข็มขัดนิรภัยตามปกติ แต่หลังจากคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว ต้องปรับแต่งสายเข็มขัดนิรภัยให้เหมาะสมและใส่ใจมากกว่าเดิม เข็มขัดนิรภัยที่พาดผ่านหน้าตัก หรือแนวสะโพก ต้องดึงลงมาต่ำกว่าครรภ์ ให้อยู่ในแนวสะโพกพอดี แล้วดึงให้กระชับ อย่าปล่อยให้หลวมจนเกินไป

 

ส่วนเข็มขัดนิรภัยที่พาดผ่านมายังแนวบ่า ให้ผ่านร่องไหล่พอดีแนวเข็มขัดให้พาดผ่านระหว่างกลางออก ถ้าเป็นรถที่สามารถปรับระยะสูง/ต่ำของเข็มขัดนิรภัยได้ ควรปรับให้เหมาะสม ให้เข็มขัดนิรภัยพาดผ่านร่องไหล่ให้พอดี เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เข็มขัดนิรภัยจะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อท่านั่งถูกต้อง ปรับแนวเข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้องอย่างที่กล่าวไว้ ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะได้รับอันตราย เนื่องจากจุดรับแรงของร่างกายเมื่อเข็มขัดนิรภัยรั้งไว้ จะอยู่ที่สะโพกกับร่องไหล่

 

หากยังนึกภาพไม่ออก ตามไปชมคลิป เรื่องบันดาลใจ ตอนที่ 43 การคาดเข็มขัดนิรภัยของคุณแม่ตั้งครรภ์ กันเลยค่ะ

ชมคลิป >> การคาดเข็มขัดนิรภัยของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง ปลอดภัยแน่นอน คลิกหน้า 2


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.motorexpo.co.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การคาดเข็มขัดนิรภัยของคุณแม่ตั้งครรภ์

(ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : SocialMarketingTH)

ข้อควรพิจารณาของแม่ท้องในการนั่งรถยนต์

ทั้งนี้ในการเดินทางโดยใช้รถยนต์ขณะกำลังที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์นั้น ต้องพิจารณาจากช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้

ทั้งนี้ในการเดินทางเพื่อไปทำธุระหรือท่องเที่ยว ไม่เป็นข้อห้ามสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ แต่อาจจำกัดบ้างกรณีที่คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น มีเลือดออก หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องดูแลจากแพทย์ ซึ่งวิธีการเดินทางสามารถเลือกได้ตามต้องการ โดยแต่ละวิธีก็มีข้อแนะนำจำเพาะ ดังนี้

  1. รถยนต์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ โดยเส้นล่างพาดที่หน้าขา เส้นบนคาดตรงกลางระหว่างเต้านมเพื่อลดความเจ็บปวดจากการกด
  2. จักรยานยนต์ ต้องใส่หมวกนิรภัย ระมัดระวังช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการลื่นล้มเช่น ฝนตก
  3. เครื่องบิน โดยทั่วไปสายการบินอนุญาตคุณแม่เดินทางได้จนอายุครรภ์ประมาณ 7 ถึง 8 เดือนบางสายการบินมีกฎที่ต้องใช้ใบรับรองจากแพทย์การผ่านเครื่องเอกซเรย์ที่สนามบินหากคุณแม่แจ้งกับเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานจะมีทางผ่านพิเศษเลี่ยงให้ขณะเครื่องบินอยู่บนอากาศแนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่ง ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้การไหลเวียนโลหิตดี ขยับขาหรือลุกเดินบ้างเพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ พักผ่อนนอนหลับกรณีที่เป็นการเดินทางระยะไกล คุณแม่ควรเตรียมยาแก้แพ้ วิงเวียนติดตัวไว้ หรืออาจรับประทานก่อนเครื่องบินขึ้นเล็กน้อยเพื่อลดอาการวิงเวียน
  4. เรือ ระมัดระวังการลื่นล้ม ตกน้ำและอาการวิงเวียน

Expert Says

ส่วนในเรื่องของการเดินทางโดยใช่รถยนต์แม่ท้องอาจเลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องนั่งและขาดเข็มขัดนิรภัย แล้วถ้ายิ่งเป็นคุณแม่ท้องที่ต้องขับรถไปทำงานเอง เมื่อท้องแก่ใกล้คลอดแล้ว จะสามารถขับรถได้อยู่หรือไม่ Amarin Baby & Kids มีข้อมูลสำหรับเรื่องนี้ มาฝากค่ะ

อ่านต่อ >> แม่ท้องแก่ขับรถเองได้หรือไม่? คลิกหน้า 3

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 


เรื่องโดย : รศ.พญ.ธารางรัตน์ หาญประเสริฐพงษ์ สูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

แม่ท้องแก่ขับรถอันตรายไหม?

อันดับแรก ปรับเบาะที่นั่งให้ถอยไปข้างหลังเพื่อเพิ่มที่พื้นให้มากขึ้นก่อน เท้าจะได้เหยียบคันเร่งและเบรคได้สะดวก แล้วถ้าพวงมาลัยของคุณปรับความสูงได้ ก็ปรับให้พวงมาลัยสูงขึ้นไปอีกนิด จะได้ไม่กดพุงโตๆ ที่ยื่นออกมา

และถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะบอกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถขับรถระยะสั้นๆ ได้จนถึงช่วงใกล้คลอด ถ้าไม่มีภาวะผิดปกติ แต่มีเรื่องหนึ่งต้องใส่ใจคือ ความไม่ประมาท เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น แรงกระแทกอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และเจ้าตัวเล็ก ดังนั้นแม่ท้องจะต้องขับรถอย่างมีสติ, ไม่ขับรถเร็วเกินไป, หลีกเลี่ยงการขับรถในสภาพทัศนะวิสัยไม่ดี, และตรวจดูความพร้อมของยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นยางหรือเบรกอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อยทุกครั้งที่ขึ้นรถ

แม่ท้อง VS การขับรถระยะไกล

การขับรถระยะไกลหรือใช้เวลานานมากกว่า 1 ชั่วโมง อาจทำให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก (ความจริงถึงไม่ได้ขับเอง แต่ต้องนั่งรถนานๆ ก็ทำให้ปวดเมื่อยได้เหมือนกัน) หากคุณจำเป็นต้องขับรถหรือนั่งรถระยะไกล ควรปรึกษาสูติแพทย์เสียก่อน ถ้าคุณหมออนุญาต ก็มาเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการ…

  1. สวมรองเท้าที่ใส่สบายในการขับรถ
  2. เตรียมอาหารและน้ำให้พร้อมถ้าต้องขับรถในช่วงระหว่างมื้ออาหารคุณแม่ไม่ควรทนหิวควรกินอาหารทุกมื้อและเพิ่มอาหารว่างระหว่างมื้อตามสมควร
  3. หาข้อมูลจุดแวะพัก คุณแม่ควรหยุดพัก ออกมาเดินยืดเส้นยืดสายทุก 1-2 ชั่วโมง ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลไว้ก่อนว่า คุณจะแวะพักตรงจุดไหนได้บ้าง จุดไหนจะปลอดภัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ
  4. อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ควรถ่ายปัสสาวะทุก 2 ชั่วโมง พร้อมเตรียมกระดาษชำระสำหรับเข้าห้องน้ำ ช่วงไตรมาสสุดท้ายแม่ท้องจะกลับมาปัสสาวะบ่อยอีกแล้ว คุณอาจจะต้องเข้าห้องน้ำทุกครั้งที่หยุดพักรถ เตรียมกระดาษชำระหรือทิชชู่เปียกติดรถไว้ได้เลย ถึงมาตรฐานห้องน้ำตามปั้มน้ำมันเมืองไทยจะพัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าทุกที่จะมีกระดาษชำระให้เราใช้
  5. เตรียมหมอนอิงสำหรับหนุนหลังหรือหมอนรองคอไว้แก้เมื่อย ถ้าเป็นรถส่วนตัวคุณแม่ควรปรับพนักเก้าอี้อยู่ในลักษณะกึ่งเอนนอน
  6. ฝึกท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อ ถ้าคุณแม่คนไหนไม่ได้บริหารกล้ามเนื้ออยู่เป็นประจำ ก่อนเดินทางก็เป็นเวลาดีที่คุณจะได้ฝึกยืดกล้ามเนื้อต้นคอ, แผ่นหลัง, ต้นขา, น่อง ท่าบริหารจะช่วยแก้ปวดเมื่อยและทำให้คุณรู้สึกสบายตัวขึ้นเมื่อต้องกลับขึ้นไปนั่งหลังพวงมาลัย

อย่างไรก็ดี คุณแม่ท้องทั้งหลายที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนอยู่ตลอดเวลา ในเรื่อของการป้องกันตัวเองระหว่างเดินทางจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่มอง ข้ามไม่ได้ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดขึ้นมา อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียได้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ การคาดเข็มขัดนิรภัยรวมถึงถุงลมนิรภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์และทุกคนในครอบครัวจะต้องดูแลเป็นอันดับแรกๆ ในการเดินทางค่ะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


บทความโดย: จากเรื่อง “ขับรถตอนท้องแก่…ได้ไหม?” นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับที่ 86 เมษายน 2555