AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

คลอดก่อนกำหนด อันตราย กว่าที่คิด!!!

คลอดก่อนกำหนด อันตราย กว่าที่คิด ในช่วงวันที่ 17 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันเด็กคลอดก่อนกำหนดโลก เนื่องจากปัญหาการคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาหลักของทั่วโลก ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตหรือมีปัญหาสุขภาพในระยะยาว

คลอดก่อนกำหนด อันตราย กว่าที่คิด!!!

 

 

“ประเทศไทยมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดเฉลี่ยประมาณร้อยละ 12 ของการคลอดทั้งหมด ในปีที่แล้วไทยมีการคลอดประมาณ 7-8 แสนราย และมีถึง 9 หมื่นรายที่คลอดก่อนกำหนด ถือว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก มากกว่าโรคอื่นๆ หากมาดูภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ดาวน์ซินโดรม โอกาสเด็กเป็นแค่ 1 ใน 350 ไม่ถึงร้อยละ 1 เด็กพิการประมาณร้อยละ 3 ครรภ์เป็นพิษร้อยละ 4-5 โรคเบาหวานร้อยละ 6-8 แต่คลอดก่อนกำหนดมากถึงร้อยละ 12 เลยทีเดียว” นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลสมิตเวช สุขุมวิท กล่าวด้วยความเป็นห่วง เพราะมีการรณรงค์ระดับโลก แต่ในไทยยังไม่ค่อยพูดถึงกันมากนัก ทั้งๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของแม่และเด็ก

คลอดตอนไหนจึงเรียกว่า คลอดก่อนกำหนด

โดยปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องมีอายุครรภ์ 37-41 สัปดาห์จึงจะเรียกว่า การคลอดแบบครบกำหนด หรือประมาณ 9 เดือนโดยเฉลี่ย แต่หากมีการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์จะเรียกว่า คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดนั้นมักเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเสียชีวิต พิการ หรือมีโรคประจำตัวได้ และยังส่งผลต่อฐานะเศรษฐกิจครอบครัว เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของเด็กในระยะยาว

สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด

ปัจจัยที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดนั้นมีหลายอย่าง เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี ครรภ์เป็นพิษ โรคประจำตัว การติดเชื้อของทารกในครรภ์ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การตั้งครรภ์แฝด มีภาวะเครียด มีความผิดปกติของมดลูกและปากมดลูก คุณแม่สูบบุหรี่หรือใกล้ชิดคนที่สูบ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน เป็นต้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม คลอดก่อนกำหนด ป้องกันได้จริงหรือ คลิกหน้า 2

 

คลอดก่อนกำหนด ป้องกันได้จริงหรือ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการคลอดก่อนกำหนดที่ได้ผลเลย ทำได้เพียงชะลอการคลอดออกไป 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่การคลอดก่อนกำหนดนั้นสามารถป้องกันได้ ในกรณีที่มีการซักประวัติและทราบว่าคุณแม่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน และภาวะปากมดลูกสั้น

“ถ้าสามารถตรวจได้ว่าใครมีปัจจัยเสี่ยงและป้องกันความเสี่ยงนั้นได้ ก็จะช่วยลดการคลอดก่อนกำหนดได้มาก โรคใดก็ตามหากยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล ก็ควรต้องมีการป้องกันที่ดีเกิดขึ้น การป้องกันที่ดีก็ต้องมากจากการตรวจที่ดี รู้ว่าใครมีปัจจัยเสี่ยงและป้องกันคนในกลุ่มนั้น ด้วยสาเหตุนี้จึงเกิด 3P Concept เพื่อช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดแก่คุณแม่ตั้งครรภ์” นพ.บุญศรี กล่าวก่อนจะอธิบายให้ฟังว่า 3P Concept คืออะไรและช่วยป้องกันได้อย่างไร

รู้หรือไม่

“คุณแม่ที่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน 2 ครั้ง ท้องที่สามมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
ถึงร้อยละ 42 และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ”

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

3P Concept ป้องกันคลอดก่อนกำหนด

การป้องกันคลอดก่อนกำหนดด้วยวิธี 3P Concept มีดังนี้

  1. Prediction คือการตรวจเบื้องต้นว่าคุณแม่ท่านใดมีปัจจัยเสี่ยงบ้างด้วยการซักประวัติ การอัลตร้าซาวนด์เพื่อวัดปากมดลูก และอื่นๆ ดังนั้นยิ่งฝากท้องเร็วเท่าไรก็มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยได้ดีมากขึ้น และสามารถวางแผนขั้นตอนการรักษาล่วงหน้าได้ดีขึ้น
 “การวัดปากมดลูกทำได้ด้วยการอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอด โดยวัดตามความยาว หากปากมดลูก
สั้นกว่า 2.5 เซ็นติเมตร จะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เพราะไม่สามารถรับน้ำหนักเด็กที่เติบโตขึ้นได้ 
โดยส่วนมากจะเริ่มวัดเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ แต่บางกรณีสามารถวัดได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์” 

 ติดตาม วิธีป้องกันการคลอดก่อนกำหนด คลิกหน้า 3

 

  1. Prevention การป้องกันการบีบตัวของมดลูก การคลอดเกิดจากมดลูกบีบตัวและปากมดลูกเปิดก่อนเวลา จึงต้องป้องการการบีบตัว โดยมีขั้นตอนดังนี้

2.1 ให้ยากลุ่ม Progesterone เพื่อลดการบีบตัวของมดลูกก่อน ก็จะช่วยชะลอการคลอดก่อนกำหนดไปได้ แต่หากให้ยากลุ่ม Progesterone แล้วไม่ได้ผล ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการรักษาในข้อที่ 2 ต่อไป

2.2 ใส่ห่วงพยุงปากมดลูก (Cervical Pessary) / การเย็บปากมดลูก หลักการการรักษาในขั้นตอนนี้คือการทำอย่างไรให้ปากมดลูกแข็งแรงพอจะพยุงตัวเด็กได้ สมัยก่อนรักษาด้วยการเย็บปากมดลูก แต่การเย็บปากมดลูกคนไข้ต้องวางยาสลบ หลังผ่าตัดก็ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะคลอด เนื่องจากเมื่อเด็กตัวโตขึ้น ปากมดลูกจะหย่อนลงมาอีก ทำให้รู้สึกเจ็บหน่วงและเดินไม่ไหว แต่การใส่ห่วงพยุงปากมดลูกนั้นสะดวกกว่ามาก อีกทั้งใส่ง่าย ห่วงนี้เมื่อใส่ไปแล้วจะไปรัดปากมดลูกให้บวม พอบวมก็จะเกิดการปิดตัวเองโดยธรรมชาติ เมื่อเด็กโตมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีน้ำหนักกดลงมาอีกก็ตาม ห่วงนี้จะช่วยถ่ายเทน้ำหนัก ทำให้แรงที่กดลงมาไม่ผ่านปากมดลูกโดยตรง นอกจากนี้การใส่ห่วงทำให้มีอาการหน่วงน้อยลง คุณแม่สามารถเดินหรือทำกิจกรรมตามปกติได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแบบถาวร ที่สำคัญจากการรักษาและวิจัยพบว่า ห่วงพยุงปากมดลูกสามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้มากถึง 45 % เลยทีเดียว

 “ห่วงพยุงปากมดลูก (Cervical Pessary) ทำมาจากซิลิโคน จึงนุ่ม ไม่ระคายเคือง มีประสิทธิภาพ
ในการช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้สูง ห่วงพยุงมีหลายขนาด การใช้ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา 
ซึ่งหากใช่ห่วงพยุงแล้วจะใส่ไว้จนกว่าจะคลอดจึงค่อยเอาออก” 
  1. Health Pregnancy Promotion แม้ห่วงพยุงปากมดลูกจะให้ผลดีน่าพอใจ แต่ในบางกรณีก็ยังป้องกันไม่ได้ คนไข้กลุ่มนี้จึงได้รับการรักษาต่อในขั้นตอนนี้ นั่นคือการให้ยาระงับการหดตัวของมดลูกให้ได้ 48 ชั่วโมง โดยยาในกลุ่มสเตียรอยด์นี้จะช่วยขยายปอดให้ทารกหายใจได้ดีขึ้น และป้องกันเลือดออกในลำไส้ จากนั้นจึงให้แมกนีเซียมซัลเฟตต่อ เพื่อป้องกันสมองของทารกในครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 32 สัปดาห์ จากนั้นจึงทำคลอด แล้วจึงส่งต่อให้ทีม NICU ดูแลเด็กต่อไป

นพ.บุญศรีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ส่วนใหญ่คิดว่าเด็กคลอดออกมาแล้วก็จบแค่นั้น แต่จริงๆ ไม่ใช่ เด็กที่คลอดก่อนกำหนดเหล่านี้มักจะตัวเล็กและมีปัญหาสุขภาพ อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงเมื่ออายุมากขึ้น ได้แก่ หนึ่ง อายุสั้นกว่าคนทั่วไป สอง มีโอกาสเป็นโรคในกลุ่มเมตาบอลิกมากกว่า เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ โรคหัวใจ เป็นต้น  ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการติดตามผลไปตลอดชีวิต มีหลายๆ เคสที่เด็กเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ หรือบางคนก็เสียชีวิตขณะหลับ เหล่านี้ล้วนเกิดจากการคลอดก่อนกำหนดทั้งสิ้น

การชะลอการคลอดให้นานที่สุดนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อตัวเด็กมาก การที่เขาอยู่ในท้องคุณแม่นานขึ้นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 7 ในทุกๆ วันเลยทีเดียว ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดนั้นปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวเด็ก แต่ยังส่งผลกระทบต่อพ่อแม่ ครอบครัว และสังคมด้วย”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

บทความโดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin baby & kids

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

สามีแพ้ท้องแทนภรรยา สาเหตุเกิดจากอะไร?

การเร่งคลอด คืออะไร ทำไมถึงต้องเร่งคลอด?

แผลผ่าคลอดอักเสบ ปวด คัน เป็นหนอง ต้องทำอย่างไร?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids