AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

จริงหรือไม่? 8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพแม่และลูก

“ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์” ที่ถ่ายทอดกันมาปากต่อปากจากคนโบราณนั้น ล้วนมุ่งหวังให้ทั้งแม่ท้องและลูกน้อยสุขภาพดี แต่ ความเชื่อคนท้อง หลายๆ อย่าง เมื่อใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ กลับมีคำอธิบายที่ต่างไป เราได้พูดคุยกับคุณหมอณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ มีข้อมูลน่ารู้มาฝากคุณแม่กันค่ะ

8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพของแม่และลูกน้อย

  1. จริงหรือ? “ถ้าไม่อยากให้ลูกคลอดมา มีไขเต็มตัว แม่ท้องต้องไม่กินไข่ หรืออาหารที่มีไขมันมาก แต่ให้กินน้ำมะพร้าวจะได้ล้างไข”

ไม่จริงค่ะ อาหารที่มีไขมัน ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดไขที่ตัวทารกแรกคลอดแต่อย่างใด ส่วนไขที่ห่อหุ้มตัวทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้ทารกคลอดง่าย จึงไม่จำเป็นต้องกินน้ำมะพร้าวเพื่อล้างไข

ไขที่ห่อหุ้มตัวทารกในครรภ์ (vernix) นั้นเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไขนี้คือชั้นผิวหนังของทารกที่หลุดออกมาเมื่อทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์เพียงพอ ในกรณีที่คุณแม่เจาะน้ำคร่ำแล้วเจอไข ยังเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแสดงว่าทารกนั้นจะคลอดตามกำหนด ในขณะที่ทารกคลอดก่อนกำหนดจะไม่มีไขห่อหุ้มร่างกายค่ะ

ไขที่ห่อหุ้มร่างกายทารกจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่า เด็กสมบูรณ์พอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก และเมื่อคลอดแล้วก็เช็ดทำความสะอาดได้หมด ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำมะพร้าวให้ลดการเกิดไขหรืองดอาหารที่มีโปรตีนอย่างไข่หรืออาหารที่มีไขมันอย่างที่ว่ามาค่ะ

(บทความแนะนำ ไขทารก มีประโยชน์กับลูกหรือไม่ ทำไมต้องกำจัด?)

เครดิตภาพ : http://diseasespictures.com/c-section-scar/
  1. จริงหรือ? “อย่ากินไข่ และข้าวเหนียว จะทำให้แผลผ่าคลอดเป็นหนองและหายช้า”

ไม่จริงค่ะ ไข่เป็นแหล่งของโปรตีน ส่วนข้าวเหนียวก็ให้คาร์โบไฮเดรต ซึ่งต่างก็มีคุณค่าทางอาหาร ช่วยสมานแผล และทำให้ร่างกายคุณแม่มีภาวะทางโภชนาการปกติ เพียงแต่ควรกินอาหารอย่างระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้อ้วนเกินไป

ส่วนการที่แผลผ่าคลอดจะเป็นหนอง ติดเชื้อหรือไม่นั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ แม่ท้องเป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย คุณแม่ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักมากอยู่แล้ว มีโอกาสที่แผลจะหายช้า เป็นต้น

(บทความแนะนำ กินไข่ ลดน้ำหนัก อย่างไรให้แม่ลดอ้วน?)

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ >> 8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพของแม่และลูกน้อย คลิกหน้า 2

  1. จริงหรือ? “อัลตราซาวนด์บ่อยไม่ดีกับลูกน้อย”

ไม่จริงค่ะ ยังไม่มีรายงานใดๆ เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากการทำอัลตราซาวนด์

การอัลตราซาวนด์เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในท้อง และสะท้อนให้เกิดเป็นภาพทารก เพื่อตรวจดูอายุครรภ์และติดตามการเจริญเติบโตของทารกว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่

แม้ยังไม่มีรายงานใดๆ เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากการทำอัลตราซาวนด์ แต่คุณหมอก็แนะนำให้ทำเท่าที่จำเป็น และในหลายๆ กรณีก็จำเป็นต้องอัลตราซาวนด์บ่อย เช่น ทารกในครรภ์ตัวเล็กมาก อาจต้องอัลตราซาวนด์ทุกสัปดาห์ เพื่อดูการไหลเวียนของเลือด

นอกจากนี้การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ได้พัฒนาจากการเห็นภาพทารกในครรภ์แบบ 2 มิติ มาเป็น 4 มิติในปัจจุบัน ทำให้เห็นหน้าตาและความเคลื่อนไหวของทารก ช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าลูกน้อยสมบูรณ์แข็งแรงดี

(บทความแนะนำ ค่าใช้จ่ายอัลตร้าซาวด์สี่มิติ 20 โรงพยาบาลดังในกรุงเทพ)

เครดิตภาพ : http://motherhow.com/sex-during-pregnancy/
  1. จริงหรือ? “มีเซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายถึงตัวเล็กในท้อง!”

ไม่จริงค่ะ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ถือเป็นข้อห้ามของคุณแม่ท้อง สามารถมีได้ตามปกติ

ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณหน้าท้อง และเป็นข้อยกเว้นในรายที่มีภาวะความเสี่ยง เช่น เคยมีภาวะเจ็บท้องคลอดก่อนอยู่แล้วหรือรกเกาะต่ำ เพราะจะส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูกและกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องคลอดค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ >> 8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพของแม่และลูกน้อย คลิกหน้า 3

  1. จริงหรือ? “อย่านอนหงาย รกจะติดหลัง คลอดยาก”

ไม่จริงค่ะ การนอนหงายไม่ทำให้รกติดหลัง และท่านอนไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรกแต่อย่างใด และไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็คลอดได้ปกติ ไม่เกี่ยวกับท่านอนของแม่ท้อง

การอัลตราซาวนด์จะทำให้รู้ตำแหน่งของรกว่าอยู่ส่วนไหน ยกเว้นกรณี รกเกาะต่ำ ซึ่งจะค่อนมาใกล้ปากมดลูกถือเป็นภาวะเสี่ยง ถ้าตรวจพบว่ารกเกาะต่ำ คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่นอนพักผ่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

เพียงแต่การนอนหงายเมื่อครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจไปกดทับเส้นเลือดดำทำให้เลือดเวียนกลับมาเลี้ยงหัวใจน้อยลง เลือดที่จะส่งกลับไปเลี้ยงมดลูกก็น้อยลงไปด้วย จึงแนะนำให้คุณแม่ควรนอนตะแคงซ้ายหรือขวาในไตรมาสสามดีกว่าค่ะ

  1. จริงหรือ? “ใกล้คลอดแล้ว น้ำนมไม่ไหล แสดงว่าฉันต้องเป็นแม่น้ำนมน้อย ชัวร์!”

ไม่จริงค่ะ ไม่เกี่ยวกันเลย นมแม่มาจากฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin) ในร่างกายของแม่ทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์สร้างน้ำนม ส่วนการไหลของน้ำนม ต้องอาศัยฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) เป็นตัวกระตุ้นให้เต้านมหลั่งน้ำนม ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้ในคุณแม่แต่ละคนก็มีการหลั่งช้าเร็วแตกต่างกันไป บางคนมีน้ำนมไหลตอนใกล้คลอด ขณะที่บางคนเริ่มมีน้ำนมไหลหลังคลอดออกมาแล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรเข้าใจคือ ยิ่งลูกน้อยดูดนมมากเท่าไหร่ ฮอร์โมนออกซิโตซินจะยิ่งกระตุ้นให้การไหลของน้ำนมดีขึ้นมากเท่านั้นค่ะ

(บทความแนะนำ กลไกการหลั่งน้ำนมที่แม่มือใหม่ควรรู้!)

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ >> 8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพของแม่และลูกน้อย คลิกหน้า 4

  1. จริงหรือ? “ทำหมันแล้วเซ็กส์เสื่อม!”

ไม่จริงค่ะ การวางแผนครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ แต่หลังคลอดคุณแม่หลายคนยังกังวลเกี่ยวกับการคุมกำเนิด กรณีทำหมัน คุณหมออธิบายว่า การทำหมันแบบถาวร คือ การตัดส่วนหนึ่งของท่อนำไข่ไปเพียงเล็กน้อย ไม่กระทบกับส่วนอื่นๆ จึงไม่มีผลทำให้สุขภาพแย่ลง แต่มีข้อดีที่ไม่ต้องกินฮอร์โมน ถือเป็นวิธีที่สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โอกาสท้องหลังทำหมันก็ต่ำ

กรณีกินหรือฉีดฮอร์โมนคุมกำเนิด หลายคนเข้าใจผิดว่าหลังฉีดยาแล้ว ประจำเดือนไม่มา ทำให้มดลูกแห้งนั้น คุณหมอขยายความว่า ยาคุมกำเนิดไม่ว่าชนิดใดทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ไข่ไม่ตกจึงไม่มีประจำเดือน เมื่อใดหยุดยา รอให้ร่างกายปรับตัว ประจำเดือนจะมาปกติ ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่ได้ทำให้มดลูกแห้ง การกินยาคุมต่างจากยาฉีดตรงที่ยากิน คุณแม่มีโอกาสลืมได้ ส่วนการฉีดยาคุมกำเนิดจะคุมได้เป็นระยะยาวกว่า คือ 3 เดือนหรือ 6 เดือน เป็นตัวเลือกที่สะดวกขึ้นค่ะ”

  1. จริงหรือ? “หลังคลอดอย่าเดินมาก หรืออย่าขึ้นลงบันไดมากๆ แผลจะปริ กระเทือนมดลูก!”

ไม่จริงค่ะ หลังคลอดแม่ท้องยิ่งขยับ สุขภาพยิ่งดี

การคลอดไม่ได้เป็นภาวะการเจ็บป่วย หลังคลอดจึงแนะนำให้คุณแม่เคลื่อนไหวขยับตัวไปมา ใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเวียน ช่วยสมานแผลอวัยวะภายใน หากคลอดเอง การสมานแผลจะเร็วขึ้น แผลภายในจะหายเร็วกว่าแผลข้างนอก ส่วนการผ่าท้องคลอดมักให้คุณแม่นอนพักหลังคลอด 1 – 2 วัน จากนั้นคุณหมอสนับสนุนให้คุณแม่หลังคลอดเดิน ขึ้นลงบันไดทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะคุณแม่ที่ผ่าคลอด การเดินจะช่วยให้พังผืดเกิดน้อยลงอีกด้วยค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

เตือนจากแม่ถึงแม่!! ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่ท้องโด๊ปอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป

12 เรื่องจริง! เกี่ยวกับทารกและการตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ท้องเองก็อาจไม่เคยรู้มาก่อน!!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

เรียบเรียงโดย : ทีมงานเว็บไซต์ Amarin Baby & Kids

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids