AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ครรภ์เป็นพิษ ภัยใกล้ตัว! อันตรายต่อคุณแม่และลูกในท้อง

ครรภ์เป็นพิษ คือการที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวหรือโปรตีนออกมาในปัสสาวะและมักมีอาการบวมที่มือ หน้า ขา และเท้า บางคนอาจมีอาการมึนปวดศีรษะ ซึ่งภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคุณแม่ท้องในลำดับต้นๆ อีกทั้งยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย

และเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ก็ทำเอาหลายคนรู้สึกตกใจและเป็นห่วงอย่างมาก หลังทราบข่าวว่าคุณแม่ฝ้าย อริญรดา ภรรยาของนักแสดงและผู้กำกับคนเก่ง หนุ่ม อรรถพร เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ จนต้องแอดมิทนอนโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้คุณพ่อหนุ่ม อรรถพร ต้องรีบพักกองถ่ายละครเพื่อมาดูแลภรรยาและลูกน้อยอย่างเต็มที่

แต่หลังจากที่เครียดหนักกันมา ในวันที่ 2 พ.ย. คุณแม่ฝ้าย-อริญรดา ก็ได้ให้กำเนิดทายาทคนที่สองอย่างปลอดภัยแล้ว โดยคุณพ่อหนุ่ม-อรรถพร ได้โพสต์อาการดีใจ ผ่านไอจี ซึ่งเป็นภาพ ภรรยาสาวให้กำเนิดทายาทคนที่สองแล้ว เป็นลูกชายอีกคน พร้อมข้อความว่า

“Hi Adam welcome to Tmk. Family .. หน้ามามี้ชัดๆ” โดยมีทั้งเพื่อนในวงการบันเทิง และแฟนคลับเข้ามาแสดงความยินดีจำนวนมาก

ทั้งนี้ คุณพ่อ‘หนุ่ม’ อรรถพร พร้อมภรรยา คุณแม่ฝ้าย-อริญรดา ธีมากร ได้ออกมาเปิดใจหลังคลอดลูกชายคนที่ 2 โดยมีชื่อว่า “น้องอดัม-ธนพิสิฐ” หลังจากมีอาการเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

โดย คุณแม่ฝ้าย เผยว่า “คลอดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาค่ะ ตอนนี้ถือว่าอาการดีขึ้นจากที่เคยได้แอดมิดบ่อยๆ ตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะ ถ้าถามว่าแอบกลัวไหม กลัวตั้งแต่วันที่โดนแอดมิดค่ะ อยู่ดีๆ ความดันก็ขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ผ่านมาเราก็ทำทุกอย่างปกติเพียงแค่ตัวบวมขึ้น แต่มันก็คือเรื่องปกติของคนท้องอยู่แล้ว เลยไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่อันตรายหรืออะไร แต่พอเดินทางมาถึงโรงพยาบาลคุณหมอก็สั่งให้แอดมิดเลย ยอมรับค่ะว่าตอนนั้นตกใจมาก เพราะตั้งใจแค่มาหาคุณหมอปกติ แต่คุณหมอกลับบอกว่าไม่ให้กลับบ้านแล้ว เนื่องจากว่าสถานการณ์ตอนนั้นอันตรายมากลูกอาจจะไม่ได้อยู่กับเราอีกและแม่ก็อาจจะเสียชีวิตเลยก็ได้ เพราะอาการที่เกิดขึ้นตอนนั้นมันอาจทำให้เส้นสมองแตกได้ด้วย”

“ตอนแรกที่คุณหมอสันนิษฐานก็คาดว่าน่าจะเป็นอาการของครรภ์เป็นพิษ เพราะตอนท้องอันดา (ลูกชายคนแรก) ก็เป็นมาแล้ว และพอมาท้องนี้มันก็เลยเกิดขึ้นซ้ำ เพียงแต่มีความดันเพิ่มขึ้น แต่ก็โชคดีค่ะที่เราอยู่ในความดูแลของคุณหมอมาตั้งแต่แรก จนมาถึงช่วง 8 เดือน ความดันขึ้นสูงมาก แต่มันไม่มีอาการมึนหัวหรืออาการใดๆ เลยนะคะ แค่คุณหมอบอกว่ามันอันตรายอาจทำให้ช็อกได้เลยต้องให้แอดมิดก่อน”

ทั้งนี้เมื่อถามถึงสุขภาพร่างกายของน้องอดัม ที่เพิ่งคลอด แม่ฝ้าย ก็กล่าวว่า “น้องสุขภาพแข็งแรงดีค่ะ คุณพยาบาลบอกว่าก่อนหน้านี้น้องสำลักเลือดในครรภ์เยอะ ภาวะตอนที่ตั้งครรภ์ฝ้ายทานยา เบบี้ แอสไพลินเยอะ เพราะฝ้ายต้องกินเพื่อขยายหลอดเลือด เพื่อให้เลือดไหลเลี้ยงลงไปสู่ตัวเด็กแล้วทำให้เด็กเติบโต”

ด้านคุณพ่อหนุ่ม กล่าวเสริมว่า “อันตรายของตัวยานี้มันคอยสลายลิ่มเลือด เมื่อได้กินเข้าไปแล้ว แล้วเรามีแผลหรือปล่อยให้เลือดไหล เลือดมันก็จะไหลไม่หยุด ถ้าหากใครคิดจะกินต้องระวังนะครับ แต่ถ้าถามถึงอนาคตมันก็จะไม่ได้ส่งผลอะไรถึงตัวน้อง เพราะเท่าที่คุยกับคุณหมอมันจะมีแค่จังหวะช่วงแรกที่เขาต้องปรับตัว แต่ก็ถือว่าตอนนี้มันผ่านไปได้ด้วยดีแล้วครับ”

อย่างไรก็ตามทางทีมงาน Amarin Baby & Kids ก็ขอให้น้องอดัม มีร่างกายแข็งแรงและขอให้คุณแม่ฝ้ายหายป่วยโดยเร็ววัน สุขภาพแข็งแรงนะคะ

อ่านต่อ >> “ภาวะครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่คุณแม่และคุณพ่อต้องรู้!” คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร?

ภาวะ ครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia) หมายถึง ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตร (มม.) ปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวในปัสสาวะในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ และภายหลังคลอดภาวะครรภ์เป็นพิษจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดจากความบกพร่องของรกทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงเลือดและสารอาหารไปยังลูกในครรภ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของลูกในครรภ์ได้

สาเหตุของ ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร?

สาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ สันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วน มีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์หดตัว

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษคือใคร?

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์แรกหรือตั้งครรภ์แรกกับคู่สมรสใหม่
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  3. ระยะห่างของการตั้งครรภ์ ห่างจากครรภ์ก่อนมากกว่า 10 ปี
  4. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน
  5. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีญาติพี่น้องสายตรง (มารดา และ/หรือ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
  6. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงโรคไต / โรคไตเรื้อรัง / โรคลูปัส / โรคเอสแอลอี
  7. ครรภ์แฝด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ลักษณะอาการของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

1. มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

2. ตรวจพบโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ

3. น้ำหนักเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว

4. มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้าและเท้า

5. ปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

6. มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้

7. จุกแน่นหน้าอก หรือบริเวณลิ้นปี่

8. หากอาการรุนแรงอาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมองได้

ภาวะแทรกซ้อนของ ครรภ์เป็นพิษ  ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากครรภ์เป็นพิษ คือ

ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา

ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์

อ่านต่อ >> สัญญาณอันตรายของครรภ์เป็นพิษ ที่ควรรีบพบแพทย์” คลิกหน้า 3

สัญญาณอันตรายของ ครรภ์เป็นพิษ ที่ควรรีบพบแพทย์

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมักไม่ค่อยรู้ตัว แต่เมื่อโรครุนแรงขึ้นจะปรากฏอาการให้ทราบว่ามหันตภัยร้ายอยู่ใกล้ตัวเสียแล้ว ดังอาการต่อไปนี้

ครรภ์เป็นพิษ รักษาอย่างไร?

การรักษาของแพทย์จะขึ้นกับระดับความรุนแรง คุณแม่ควรสังเกตการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ วัดความดันโลหิตสม่ำเสมอและแนะนำการสังเกต สัญญาณอันตรายที่ต้องรีบพบแพทย์ เช่นอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัวและจุกแน่นลิ้นปี่ เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถรอจนครบกำหนดคลอด และสามารถคลอดได้ทางช่องคลอดในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้นอนพักที่โรงพยาบาล ให้ยาลดความดันโลหิต อาจให้ยาป้องกันชัก ตรวจอัลตราซาวด์เป็นระยะ ถ้ารุนแรงมากและมีข้อบ่งชี้อาจจำเป็นต้องให้คลอดในขณะที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด เพื่อรักษาชีวิตของมารดาไว้ ซึ่งอาจกระตุ้นให้คลอดทางช่องคลอดหรือการผ่าตัดคลอด

วิธีดูแลคุณแม่ที่ป่วยครรภ์เป็นพิษหลังคลอด

ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชักต่อจนครบ 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/110  มิลลิเมตรปรอท อาจจำเป็นต้องได้ รับยาลดความดันโลหิต และอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ ทุก 1-2 วัน อย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นอาจวัดความดันโลหิตทุกสัปดาห์ จนอย่างน้อยประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังคลอด หรือจนกว่าจะหยุดยาลดความดันโลหิต หรือตามแพทย์ที่รักษาดูแลแนะนำ

คุณแม่สามารถให้นมทารกได้ปกติ โดยยาป้องกันการชัก ไม่มีผลต่อทารกที่ได้รับนมมารดา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา

โดยทั่วไปอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นหลังคลอด โดยหากเกิน 12 สัปดาห์หลังคลอดแล้วยังคงมีความดันโลหิตสูง อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดเรื้อรัง ควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัด เพื่อทำการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังภาวะครรภ์เป็นพิษในครรภ์ต่อไป โดยควรฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่รู่ว่าตั้งครรภ์ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ข้อห้ามสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ ครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้

1. งดทำงานหนัก งดเดินชอปปิ้ง ให้พักผ่อนมาก ๆ

2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

3. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นกับภาวะ ครรภ์เป็นพิษ เป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ต้องคอยสังเกตตนเอง แต่จะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าได้ความร่วมมือจากคุณพ่อ ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเป็นกำลังใจสำคัญสำหรับคุณแม่ เพื่อสร้าง “ครอบครัวที่อบอุ่นมีลูกน้อยที่น่ารักแข็งแรง” นะคะ


ข้อมูลอ้างอิงจาก : haamor.com , siamhealth.net , 2jfk.com

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก: https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_84491

ขอบคุณภาพจาก : อินสตาแกรม @fai_arinrada_, @noom_attaporn