แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ อันตรายกว่าที่คิด เพราะการตั้งครรภ์มีผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น มีการเพิ่มของเม็ดเลือดแดง และน้ำเหลือง ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดมากขึ้นร้อยละ 30-50 หรือ ประมาณ 1.8 ลิตรต่อนาที ความดันโลหิตสูงมากขึ้น โดยมีความความดันโลหิตค่าบนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-25 ความดันโลหิตค่าล่างเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 70-80 ของแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจ มักเป็นมาแต่กำเนิด
แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ อันตรายกว่าที่คิด
ซึ่งคุณแม่ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ร้อยละ 20 เสียชีวิตจากโรคหัวใจแต่กำเนิด อีกร้อยละ 80 เสียชีวิตจากโรคหัวใจที่เกิดภายหลัง หรือ ตรวจพบขณะตั้งครรภ์ โดยอันดับหนึ่งมีอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ แม้คลอดไปนานแล้ว 2 สัปดาห์ ส่วนอันดับสอง เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอื่นๆได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction) หลอดเลือดในสมองแตก หรือตีบจากโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้แล้ว โรคหัวใจอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของการขาดวิตามิน หรือ ติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 หากแม่คนไหนเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด เช่นเดียวกัน
ไล่เรียงจากที่กล่าวมาแล้ว แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ ยังมีผลต่อการตั้งครรภ์ อีกมากมาย ดังนี้
- เพิ่มการคลอดก่อนกำหนด
- เพิ่มการเกิดครรภ์เป็นพิษ
- เพิ่มโอกาสเกิดทารกน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม
- เพิ่มโอกาสทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
- เพิ่มการตกเลือดหลังคลอด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สำหรับโรคหัวใจทุกโรคมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ การคลอด และระยะหลังคลอด และโรคหัวใจต่อไปนี้ มีอัตราตายในแม่น้อยกว่าร้อยละ 1
- โรคหัวใจชนิดผนังห้องหัวใจรั่ว ที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อย เมื่อทำงานตามปกติ หรือ หอบเหนื่อยบ้างเมื่อทำงานมากกว่าปกติ เช่น เพียงแค่ขึ้นบันไดสองชั้น ก็เหนื่อยมากแล้ว ทางการแพทย์เรียกว่าอยู่ใน NYHA (New York Heart Association) Function Class 1-2
- โรคหัวใจชนิด Patent Ductus Arteriosus (มีรูรั่ว หรือทางเชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ติก กับหลอดเลือดแดง พูลโนมารี่)
- โรคลิ้นหัวใจชนิด Pulmonary หรือ Tricuspid
ติดตาม อาการบ่งชี้ เป็นโรคหัวใจ ขณะตั้งครรภ์ คลิกต่อหน้า 2
อาการบ่งชี้ แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนยังไม่รู้เลยว่า ตัวเองกำลังเป็นโรคหัวใจอยู่ อาการแบบไหนบ่งชี้ได้ว่าคุณกำลังเป็นโรคหัวใจ
- เจ็บแน่นหน้าอก
- เหนื่อยง่าย
- หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
- ใจสั่น
- ไอมีเสลดสีชมพู หรือ ไอเป็นเลือด
- นอนราบไม่ได้ เพราะแน่นหน้าอก ต้องนอนหัวพิงหมอนสูง
- กลางคืนต้องลุกมานั่ง เพราะแน่นหน้าอก หรือหายใจหอบเหนื่อย
- รู้สึกหัวใจเต้นแรง หรือ เต้นไม่เป็นจังหวะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คำแนะนำเมื่อ แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ
ต้องบอกก่อนว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานของหัวใจในคนตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหัวใจ มีอาการหนักมากขึ้น จนเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ จึงควรหลีกเลี่ยง
- ความเครียด
- พักผ่อนไม่เพียงพอ (คุณแม่ที่ตั้งครรภ์และเป็นโรคหัวใจ ควรได้พักผ่อนนอนหลับช่วงบ่ายอย่างน้อย 30 นาที – 1 ชั่วโมง และนอนหลับสนิทตอนกลางคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง)
- การทำงานหนัก
- การยืนนานๆ (คุณแม่คนไหนต้องทำงานด้วยการยืนนานๆ ติดต่อกันเป็นชั่วโมง อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันทำให้อาการของโรคหัวใจแย่ลง)
- อากาศร้อนชื้น ทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดหัวใจวายได้
- มีการอักเสบติดเชื้อในร่างกาย เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดหัวใจวายได้เช่นกัน
ติดตาม อาการแบบนี้ ควรยุติตั้งครรภ์ คลิกต่อหน้า 3
หากมีอาการ หรือ โรคหัวใจต่อไปนี้ ควรยุติการตั้งครรภ์
- โรคหัวใจที่ทำให้ความดันในปอดสูง (Pulmonary Hypertension) เช่น Eisenmenger’s Syndrome มีโอกาสเสียชีวิตทั้งแม่และลูกถึงร้อยละ 50
- โรคหัวใจที่ทำให้ปลายมือ และปลายเท้ามีสีเขียว (Cyanotic Congenital Heart Disease) ทารกในครรภ์จะมีโอกาสรอดชีวิตไม่ถึงครึ่ง ส่วนแม่ ร้อยละ 90 เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจอย่างรุนแรง
- เป็นโรคหัวใจในระดับที่รู้สึกเหนื่อย ใจเต้นแรง อ่อนเพลีย แม้ทำงานธรรมดา หรือ พัก ก็รู้สึกเหนื่อยหอบ ใจเต้นแรง ทางการแพทย์เรียกว่าอยู่ใน NYHA (New York Heart Association) Function Class 3-4
- มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะรุนแรงจนต้องรักษา
- ก่อนตั้งครรภ์เคยเกิดหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมองแตก หรือ อุดตัน
- หากแพทย์แนะนำว่าเป็นครรภ์เสี่ยงสูง ที่จะเกิดอันตรายต่อทั้งแม่และลูก
ส่วนแม่ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ ต่อไปนี้ ถือเป็นครรภ์เสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายต่อทั้งแม่และลูก มีโอกาสที่แม่เสียชีวิตร้อยละ 5-50
1. ลิ้นหัวใจหลอดเลือดแดงเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) ไม่ว่าจะมีอาการ หรือไม่มีอาการหอบเหนื่อยก็ตาม
2. ลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ (Mitral Stenosis) มีอาการหอบเหนื่อยเมื่อเดินขึ้นบันไดสองชั้น หรือ หอบเหนื่อยเมื่อทำกิจกรรมตามปกติ (นั่ง ยืน หรือเดิน) หอบเหนื่อยเมื่อพักผ่อน
3. ลื้นหลอดเลือดเอออร์ติกรั่ว (Aortic Regurgitation) และลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral Regurgitation) มีอาการหอบเหนื่อยเมื่อทำกิจกรรมตามปกติ (นั่ง ยืน หรือเดิน) หอบเหนื่อยเมื่อพักผ่อน
4. โรคลิ้นหลอดเลือดเอออร์ติก และไมตรัล ไม่ว่าตีบตัน หรือรั่ว หากร่วมกับการทำงานของหัวใจซีกซ้ายด้านล่าง ซึ่งมีหน้าที่ปั๊มเลือดไปเลี้ยงร่างกาย จะลดลงกว่าร้อยละ 40 หรือความดันปอดสูงมากกว่าร้อยละ 75 ของความดันโลหิตค่าบน
5. กลุ่มโรคมาร์แฟน (Marfan Syndrome) กลุ่มโรคนี้เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม มีความผิดปกติของหัวใจ หลอดเลือดกระดูก เอ็น ลักษณะแขนขายาว ข้อต่างๆเช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อขา สามารถพับงอได้มากกว่าคนปกติ สายตาสั้น มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น กระดูกสันหลังคด ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงโป่งพอง
6. ใส่ลิ้นหัวใจเทียม และต้องรับยาละลายลิ่มเลือดตลอด
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
3 โรคที่แม่ป่วย ต้องระวัง อยู่กับลูกอย่างไรไม่ให้ลูกติดเชื้อ
ผลวิจัยเผย! “นมแม่” สามารถสกัดกั้นเชื้อโรคได้จริง!
เสี่ยงขั้นสุดเมื่อ เป็นโรคธาลัสซีเมีย ขณะตั้งครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่