โรคประจำตัว ที่ควรเฝ้าระวัง ขณะตั้งครรภ์ หากเรามีสุขภาพที่ดี ช่วงเวลาตั้งครรภ์คงจะเป็นช่วงเวลาที่ดี และวิเศษสุด แต่ถ้าขณะตั้งครรภ์เรามีโรคประจำตัวขึ้นมาล่ะ ท้องนี้จะมีปัญหาไหม?
โรคประจำตัว ที่ควรเฝ้าระวัง ขณะตั้งครรภ์
รู้จัก โรคสำคัญ … ทำตั้งครรภ์มีปัญหา
ความจริงแล้ว โรคประจำตัว ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และลูกในช่วงตั้งครรภ์นั้นมีค่อนข้างมาก แต่จะขอกล่าวถึงโรคสำคัญที่อันตรายต่อแม่ และพบบ่อย เริ่มจาก โรคประจำตัว ที่อันตรายมากที่สุดก่อน นั่นคือ
โรคหัวใจ
เป็นโรคที่อันตรายมากต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
1. ความพิการแต่กำเนิดของหัวใจ ส่วนใหญ่จะพบว่ามีหัวใจรั่ว เส้นเลือดจากหัวใจห้องซ้ายหรือห้องขวาตีบ ทำให้เลือดที่หัวใจปั๊มได้ไม่ดี ซึ่งในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ปริมาณน้ำหรือเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนทั่วไปถึง 40% อยู่แล้ว ส่งผลทำให้หัวใจต้องปั๊มและสูบฉีดโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจจะทำงานหนักมาก
ซึ่งหากใครรู้ว่าตัวเองป่วย แนะนำให้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ กินยาสม่ำเสมอ หรือหากใครเป็นลิ้นหัวใจรั่ว ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการผ่าตัดได้ เพียงแต่หลังการผ่าตัด และขั้นตอนการดูแลรักษาต้องใช้ยาที่มีผลต่อลูกในครรภ์ หากคุณแม่กำลังรักษาโรคหัวใจและต้องใช้ยา ควรแจ้งสูติแพทย์ ให้รู้พื้นฐานของโรคและยาที่ใช้ แพทย์ก็จะสามารถดูแลคุณแม่และแนะการใช้ยาในแม่ท้องที่ไม่ส่งผลอันตรายต่อลูกน้อยได้ตลอดการตั้งครรภ์
2. โรคหัวใจรูมาติก ซึ่งอาจเกิดจากไม่สบายเป็นหวัดแล้วมีการติดเชื้อไปที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วโดยไม่รู้ตัว รู้สึกแค่เหนื่อยง่าย จึงไม่ได้ไปตรวจหรือรักษา แต่พอตั้งท้องจะรู้ได้ทันทีเพราะเกิดความผิดปกติรุนแรง
กรณีที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจรูมาติกแล้วไม่รู้ตัวจนตั้งครรภ์จะมีปัญหามาก และไม่สามารถปล่อยไปได้ เพราะหากแพทย์รู้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ในขณะที่เป็นโรคหัวใจรูมาติก อาจจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง) ทันที เพราะลิ้นหัวใจที่รั่ว จะทำให้น้ำหรือเลือดไหลไปท่วมหรือสะสมที่อื่นเช่น ปอด จนไปเพิ่มความดันเลือดในช่องปอดให้สูง จะทำให้คุณแม่เสียชีวิตเพราะหัวใจวายได้นั่นเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
โรคเบาหวาน
ปัจจุบันมีคนเป็นเบาหวานเยอะขึ้นมาก เพราะอาหารและพฤติกรรมการกินในปัจจุบัน ซึ่งความจริงแล้วผู้หญิงที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักจะตั้งครรภ์ยาก เพราะระบบธรรมชาติภายในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไข่ไม่ตกหรืออื่นๆ ซึ่งหากไม่รักษา หรือไม่ได้รับอินซูลินก็มักจะไม่ค่อยตั้งท้อง แต่กรณีที่เป็นเบาหวานแล้วท้องขึ้นมา จะมีผลทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยทันทีนั่นคือ
- ผลต่อลูกน้อยในครรภ์ เมื่อเลือดคุณแม่มีน้ำตาลสูง ลูกที่เกิดขึ้นตอนมีน้ำตาลสูงในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก มักจะเป็นโรคหัวใจ หรือมีความเสี่ยงพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ในระหว่างตั้งครรภ์น้ำตาลในร่างกายคุณแม่ที่สะสมไว้เยอะๆ จะทำให้ปอดลูกไม่ค่อยทำงาน หลังคลอดลูกจะหายใจเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงลูกจะตัวใหญ่ คลอดยาก ทำให้ต้องผ่าคลอด หรือบางคนไม่ได้ผ่าคลอด เมื่อลูกตัวใหญ่ เวลาคลอดก็จะฟกช้ำ เพราะถูกบีบถูกดึงออกมา ทำให้ลูกไหปลาร้าหัก หรืออวัยวะอื่นๆ บาดเจ็บได้
- ผลต่อคุณแม่ เมื่อคุณแม่มีน้ำตาลสูง ก็อาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงตามมา มีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ และอื่นๆและเมื่อลูกน้อยที่ได้รับน้ำตาลจากแม่มากๆ ลูกตัวใหญ่ คลอดยาก คุณแม่ก็ต้องผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น ร่างกายบอบช้ำ และอาจจะตกเลือดจนเป็นอันตรายได้
ติดตาม โรคประจำตัวที่ควรเฝ้าระวัง ขณะตั้งครรภ์ คลิกต่อหน้า 2
โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิต เป็นอีกโรคที่พบบ่อยมากขึ้น เนื่องจากคุณแม่มักจะตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก แต่งงานตอนอายุเยอะ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ง่ายตามไปด้วย แต่หากมีความดันโลหิตสูงตอนท้องขึ้นมา จะมีปัญหาตามมามากมาย ได้แก่
- หัวใจทำงานหนัก เพราะต้องปั๊มเลือดแรงขึ้นจากความดันที่สูง ฉะนั้นเมื่อตั้งท้อง เลือดในร่างกายที่เพิ่มขึ้นถึง 4-5 ลิตร จะทำให้หัวใจทำงานหนักมากเกินไปจนหัวใจวายได้
- ไตวาย เนื่องจากความดันที่สูงเรื่อยๆ จะทำให้การทำงานของไตเสีย และยังส่งผลทำให้การขับถ่ายไม่ดี
- เกิดภาวะแท้งง่าย แม้ปัจจุบันจะมียาความดัน แต่แม่ตั้งครรภ์กลุ่มที่มีความดันสูงจะแท้งง่ายกว่าปกติ เพราะว่าความดันสูงจะไปทำให้เส้นเลือดไม่แข็งแรง เลือดที่อยู่ในโพรงมดลูกจะส่งไปหล่อเลี้ยงลูกน้อยที่อยู่ในท้องไม่เพียงพอ จนแท้งได้
- เกิดครรภ์เป็นพิษ เพราะความดันที่สูง จะมีผลอันตรายทั้งต่อแม่และลูก ลูกจะตัวเล็ก แม่มีอาการชัก หรือหมดสติทำให้เลือดและออกซิเจนที่ส่งไปเลี้ยงลูกไม่ดี หรือไม่เพียงพอ จนเป็นอันตรายทั้งต่อลูกและแม่เป็นวงจรกันไป และบางครั้งแม่ที่ความดันสูงจากครรภ์เป็นพิษ ก็จะมีเลือดออกในสมองจนอาจถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย
โรคธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่คนไทยป่วยและเป็นพาหะโรคนี้กันค่อนข้างมาก และหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หลายๆ คนเป็นพาหะของโรค ในขณะที่อีกหลายๆ คนเป็นโรคนี้อยู่โดยไม่รู้ตัว จนกว่าจะได้ตรวจพบ
โรคธาลัสซีเมีย แบ่งออกเป็น 3 ชนิดที่เป็นปัญหา และแสดงความผิดปกติต่างกัน นั่นคือ ธาลัสซีเมียแบบ Alpha ธาลัสซีเมียแบบ Beta และ ธาลัสซีเมียแบบ E
ซึ่งคนที่เป็นพาหะโรคนี้ จะมีเม็ดเลือดที่เล็กและเม็ดเลือดแตกง่าย ทั้งยังเหนื่อยง่าย ออกกำลังกายนิดหน่อยก็เหนื่อย เวลาเจ็บป่วยไม่สบาย ร่างกายก็จะดูทรุดโทรมกว่าคนปกติ ซึ่งคนที่เป็นพาหะเหล่านี้จะส่งต่อสายพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมียต่อไป และหากแต่งงานกับคู่สมรสที่เป็นธาลัสซีเมียสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง ลูกที่เกิดมาก็จะมีอันตรายมาก เช่น
- หากภรรยาเป็นธาลัสซีเมียแบบ Alpha มาเจอแต่งงานกับสามีที่เป็น Alpha เหมือนกัน ลูกที่เกิดมาจะมีสุขภาพแย่ หรืออาจถึงกับเสียชีวิตในครรภ์ได้ เพราะเด็กจะโลหิตจางมากจนเสียชีวิตได้ง่าย
- หากคู่สมรสเป็นธาลัสซีเมียแบบ Beta ทั้งคู่ แม้ลูกน้อยจะยังมีชีวิตอยู่ในครรภ์ได้ แต่ก็จะเป็นเด็กที่มีตับโต ม้ามโตเมื่อคลอดออกมา ตัวเหลือง ตาเหลือง ต้องให้เลือด ใบหน้าไม่มีคิ้ว ไม่มีดั้งจมูก และอายุจะสั้นกว่าปกติ
- แต่หากคู่สมรสเป็นธาลัสซีเมียต่างชนิดกัน เช่น ภรรยาเป็นแบบ Alpha สามีเป็น Beta กรณีนี้ลูกจะไม่ค่อยมีปัญหา หรือเกิดอันตรายรุนแรง เพราะลูกจะติดเชื้อต่างกัน คนละชนิดกัน อยู่ที่ว่าชนิดไหน อาจจะมีสายพันธุ์ต่อจากพ่อหรือแม่ ที่ไม่ได้มีผลอันตรายใดๆ แต่ถ้าเป็นธาลัสซีเมียชนิดเดียวกันแล้วมาแต่งงานกัน ความรุนแรงของโรคนี้ก็จะส่งต่อไปถึงลูกน้อยที่จะเกิดขึ้นมาได้แน่นอน
การที่คู่สามีภรรยาเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหย่าร้างหรือเลิกกัน แต่การที่ทั้งคู่ได้ตรวจก่อนตั้งครรภ์แล้วรู้ตัวเอง หรือแม้กระทั่งภรรยาท้องแล้วมารู้ทีหลังว่าเป็นธาลัสซีเมีย ทุกคนก็ยังมีลูกได้เพียงแต่การที่เรารู้ก่อนว่าคู่สมรสเป็นธาลัสซีเมียชนิดใด จะช่วยในการดูแลและพิจารณาโอกาสของลูกน้อยในท้องว่าจะเป็นธาลัสซีเมียที่รุนแรงหรือไม่
ฉะนั้นหากตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์ หรือมาฝากท้องตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ ก็จะมีประโยชน์ต่อการตรวจวินิจฉัย ทำให้เรารู้ได้ว่าลูกมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการของโรครุนแรงหรือไม่ หากไม่รุนแรงก็จะสามารถดูแลต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา ยกเว้นกรณีที่พบว่าลูกจะมีอาการรุนแรงอันตราย แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยของแม่หรืออื่นๆ ได้
ดังนั้นหากหลายคนกังวลใจว่าเป็นธาลัสซีเมียแล้วจะมีลูกได้ไหม ขอบอกว่ามีลูกได้ เพียงแต่ต้องมาตรวจว่าเป็นชนิดไหน มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ติดตามดูแลกันภายหลังได้อย่างมีคุณภาพนั่นเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม โรคประจำตัวที่ควรเฝ้าระวัง ขณะตั้งครรภ์ คลิกต่อหน้า 3
ซีสต์ หรือเนื้องอกในมดลูก
มีผู้หญิงหลายคนที่เป็นซีสต์สงสัยกันมาก จึงขอนำมาอธิบายให้รู้ว่าโรคนี้ไม่ได้มีผลต่อการตั้งครรภ์เท่าใดนัก ขึ้นอยู่กับเนื้องอกที่เกิดขึ้นของแต่ละคน ซึ่งหากภรรยาเป็นเนื้องอกในมดลูก เราก็ต้องตรวจดูขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก ซึ่งหากไม่มีปัญหาต่อสุขภาพใดๆ บางคนมีซีสต์อยู่ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดออก เพราะไม่รบกวนการตั้งครรภ์ และเนื้องอกนั้นอาจจะฝ่อลงไปเองได้ แต่หากเนื้องอกนั้นรบกวนลูกในครรภ์ หรือเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติอื่นๆ ก็จะต้องผ่าตัดออก
ถุงน้ำในรังไข่
เป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นในรังไข่ซึ่งอยู่ด้านข้างบริเวณปีกมดลูก ไม่ได้อยู่ในมดลูกหรือเกี่ยวกับมดลูกแต่อย่างใด ซึ่งหากใครมีถุงน้ำในรังไข่ขนาดใหญ่กว่า 8 ซม. ควรจะมาปรึกษาแพทย์ว่าจะเอาออกหรือไม่ ในขณะตั้งครรภ์ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่ถุงน้ำนั้นจะถูกบีบและแตกได้ แต่หากมีถุงน้ำในรังไข่ก่อนตั้งครรภ์ และผ่าตัดออกแล้ว ก็จะสามารถตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ สามารถคลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอดได้ เพราะการผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่ไม่ได้ทำตรงมดลูก จึงไม่เกิดแผลที่มดลูก แต่หากเคยผ่าตัดซีสต์ในมดลูกมาแล้ว ก็จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด เพราะมดลูกเคยมีแผลมาก่อน การคลอดธรรมชาติอาจทำให้มดลูกบีบตัวจนแตกหรือเป็นอันตรายรุนแรงได้
สุดท้ายนี้คุณหมอแนะนำว่า แม้คุณแม่จะมีโรคประจำตัวต่างๆ อยู่ ก็ไม่ควรกังวลหรือกลัวว่าจะมีลูกไม่ได้ ขอเพียงทำใจให้สบาย ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี รักษาโรคภัยต่างๆ ของตัวเองมาอย่างดีตลอดเวลา หรือรีบมาฝากครรภ์เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ หากมีปัญหาอะไรให้รีบพบแพทย์เพื่อดูแลรักษา คุณหมอก็จะดูแลทั้งลูกและแม่ระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น การตั้งครรภ์ก็จะไม่มีปัญหาหนักใจ ลูกน้อยก็แข็งแรงสมบูรณ์ได้แน่นอน
ข้อมูลจาก รศ.นพ.รสิก รังสิปราการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ศูนย์สุขภาพผู้หญิง รพ.บำรุงราษฎร์
บทความโดย กองบรรณาธิการ นิตยสาร Amarin Baby & Kids
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ
เนื้องอกกับการตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 17-21
12 สุดยอด ภาพถ่ายนาทีแรกคลอด ชนะการประกวดภาพถ่ายประจำปี 2017
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่