คนท้องปวดก้นกบ เป็นอาการที่พบได้ในแม่ท้องแก่ ทำให้นั่งนาน ๆ ก็ไม่ได้ นอนหงายก็ปวด สร้างความอึดอัดกับแม่ท้องเป็นอย่างมาก และยังสร้างความกังวลว่าการปวดก้นกบมาก ๆ เป็นสัญญาณผิดปกติหรือไม่ ไปหาคำตอบกันค่ะ
ก้นกบอยู่ที่ไหน?
ก้นกบ คือ กระดูกส่วนปลายที่ต่อจากกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 5 ลงมา หรือกระดูกที่อยู่เหนือร่องก้น (วิธีหาง่าย ๆ คือ ให้นั่งหลังตรงแล้วใช้มือคลำจากร่องก้นขึ้นไป จนถึงด้านบนของร่องก้น จะเจอกระดูกแข็ง ๆ อยู่ ตรงนั้นแหละค่ะ คือกระดูกก้นกบ กระดูกก้นกบทำหน้าที่รับน้ำหนักและกระจายแรงขณะที่แม่ท้องนั่งนั่นเอง
สาเหตุ คนท้องปวดก้นกบ พร้อมท่าบริหารสะโพกให้แข็งแรง
สาเหตุ คนท้องปวดก้นกบ มาจากอะไร?
อาการปวดก้นกบเกิดจากผล ของฮอร์โมนรีแล็กซิน (Relaxin Hormone) ที่ถูกผลิตขึ้นในขณะตั้งครรภ์ และฮอร์โมนนี้ ยังทำให้เอ็นและข้อต่ออุ้งเชิงกรานเกิดการนิ่มตัว พร้อมที่จะยืดขยายได้เมื่อทารกคลอดผ่าน ถ้าข้อต่อยืดขยายหรือเคลื่อนไหวมากเกินไปก็ทำให้ปวดได้ ดังนั้น กล้ามเนื้อสะโพกต้องแข็งแรงมากพอที่จะกระชับข้อต่อให้มั่นคง การนอนหงายเมื่อทารกโตแล้ว น้ำหนักครรภ์จะกดให้อุ้งเชิงกรานแบะออกจากกระดูกก้นกบ ทำให้ปวดได้
คนท้องปวดก้นกบ อันตรายหรือไม่
จากสาเหตุที่ คนท้องปวดก้นกบ นั้นมาจากการนิ่มตัวของข้อต่อเพื่อเตรียมพร้อมการคลอด และน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์ การที่แม่ท้องปวดก้นกบนั้นจึงไม่เป็นอันตรายใด ๆ ทั้งกับเด็กในท้องและคุณแม่ เพียงแต่จะสร้างความรำคาญและอึดอัดในช่วงเวลาท้องแก่เท่านั้น เมื่อคลอดแล้ว อาการปวดก้นกบก็จะหายไปได้เอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
11 เคล็ดลับในการบรรเทาอาการปวดก้นกบที่ได้ผลและไม่กระทบลูกในท้อง
- นั่งอย่างถูกวิธี การนั่งผิดวิธีเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ คนท้องปวดก้นกบ ได้ วิธีการนั่งที่ถูกต้องคือ นั่งตัวตรง หลังงอเล็กน้อย เท้าทั้งสองข้างวางติดกับพื้น คอตั้งตรง หากนั่งแล้วยังรู้สึกไม่สบายตัว สามารถนั่งไขว่ห้างได้บ้างเป็นบางครั้ง หรือ นั่งพิงโดยทิ้งน้ำหนักไปที่เอว
- นอนให้ถูกท่า นอนตะแคงแทนการนอนหงาย เพราะการนอนหงายจะยิ่งทำให้ปวดก้นกบ ท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับคนท้องคือการนอนตะแคงด้านซ้าย เพราะนอกจากจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บก้นกบแล้ว ยังไม่เป็นการกดทับรกอีกด้วย หาหมอนข้างมาคั่นระหว่างเข่าก็จะช่วยให้แม่ท้องนอนได้สบายยิ่งขึ้น
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่ได้สบาย การใส่กางเกงที่แน่นจนเกินไป ยิ่งจะทำให้ปวดก้นกบมากขึ้น เพราะกางเกงที่รัดแน่นจะไปกดทับกระดูกก้นกบ
- ไม่นั่งบนพื้นแข็ง หากจำเป็นต้องนั่งที่พื้น แนะนำให้นั่งบนหมอนรองนั่งแทน
- ผ้าคาดพยุงท้องช่วยได้ ใช้ผ้าคาดพยุงท้องในช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย เพื่อช่วยรองรับการแบกน้ำหนักของลูกในท้อง และลดการกดทับของหลังในช่วงล่าง
- เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ อย่านั่งหรือยืนเป็นเวลานาน และไม่ควรก้มเก็บของที่ตกอยู่บนพื้น ให้ค่อย ๆ นั่งยอง ๆ แล้วเก็บของแทน (หรือให้สามีเก็บให้จะดีกว่านะคะ)
- ประคบร้อน ใช้ถุงน้ำร้อน หรือ ผ้าอุ่น ประกบบริเวณที่ปวด ครั้งละประมาณ 20 นาที 4 ครั้งต่อวัน จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อต่อได้
- ใส่รองเท้าที่เดินได้สบาย ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงในช่วงตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้อาการปวดก้นกบรุนแรงมากขึ้น
- อาการท้องผูกทำให้เกิดอาการปวดก้นกบได้ ทานผักผลไม้ที่มีเส้นใยสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดอาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ได้ (อ่าน ผัก 8 ชนิดที่ช่วยแก้อาการท้องผูกได้ที่นี่)
- เลี่ยงการเปลี่ยนท่าอย่างกระทันหัน การนั่งเร็ว ๆ ในขณะที่ยืนอยู่ หรือ ลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็ว จะทำให้ปวดก้นกบได้ ควรลุกและนั่งให้ช้าลงบ้าง
- ให้สามีช่วยนวดให้เบา ๆ นอกจากจะช่วยลดอาการปวดก้นกบได้แล้วยังช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้อีกด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ท่าบริหารสะโพกให้แข็งแรง ลดอาการปวดก้นกบได้
ท่าบริหารสะโพกให้แข็งแรง ลดอาการปวดก้นกบได้
ท่าที่ 1 ยกก้น
วิธีบริหาร
- นอนหงาย
- ชันเข่าทั้ง 2 ข้าง วางแขนไว้ข้างลำตัว
- ค่อยๆ เกร็งกล้ามเนื้อสะโพกยกให้ลอยสูงขึ้นค้างไว้ นับ 1-5 แล้วค่อยๆ วางลง
ทำชุดละ 5 ครั้ง ทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 ครั้ง การที่ให้ทำเพียงชุดละ 5 ครั้ง เพราะการนอนหงาย นอกจากจะแบะข้อต่อกระดูกก้นกบ น้ำหนักครรภ์ยังกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ที่รับเลือดจากส่วนล่างของลำตัวส่งกลับมายังหัวใจอีกด้วย ถ้าปล่อยให้กดนานๆ จะเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้ (การนอนตะแคงขวาก็มีผลกดหลอดเลือดเช่นกัน) ส่วนมากที่มีอาการปวดก้นกบ มักจะไม่สามารถยกก้นขึ้นจากพื้นได้ แสดงถึงความอ่อนแอของกล้ามเนื้อสะโพกให้บริหารในท่าที่ 2 ก่อน
ท่าที่ 2 เกร็งสะโพก ยกขา
วิธีบริหาร
- คุกเข่าบนเบาะข้างเตียงหรือเก้าอี้
- เกร็งสะโพกยกขาเหยียดตรง ค้างไว้ นับ 1-5 แล้วค่อยๆ วางลง
- ทำสลับข้างกัน
ข้อควรระวัง ขณะยกขาจะต้องไม่ให้สะโพกบิด มิฉะนั้นจะเกิดอาการปวดที่ข้อต่ออื่นๆ เช่น ข้อต่อสะโพก และบั้นเอว ควรมีเบาะรองใต้เข่าจะช่วยลดแรงกดที่เข่า ป้องกันการปวดเข่า การอยู่ในท่าคุกเข่าข้างเตียงหรือเก้าอี้เช่นนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ในการบริหารกล้ามเนื้อสะโพก ยังเป็นการถ่ายน้ำหนักของครรภ์จาก อุ้งเชิงกรานลงมาที่หน้าท้อง ข้อสำคัญ อีกประการคือ จะต้องคอยแขม่วท้องไม่ให้หลังแอ่นย้อยมาก มิฉะนั้นจะปวดหลังได้ การแขม่วท้องวิธีนี้จะต้องแขม่ว ยกครรภ์ขึ้น เท่ากับเป็นการออกกำลัง ต้านกับน้ำหนักของครรภ์ จะได้ความแข็งแรงเพิ่มมากกว่าการนั่ง นอน หรือ ยืนแขม่วท้องธรรมดา จึงควรบริหารควบคู่ไปกับการบริหารข้อสะโพก
อย่างที่กล่าวไว้ว่าอาการปวดก้นกบจะสามารถหายไปได้เองเมื่อคลอด สำหรับแม่ท้องที่มีอาการปวดไม่มาก สามารถใช้วิธีที่ทีมงาน Amarin Baby & Kids แนะนำไปข้างต้น แต่สำหรับแม่ท้องที่มีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
อ่านบทความดี ๆ ได้ที่นี่
คนท้อง ท้องอืด รับมือได้ไม่ยากอย่างที่คิด
10 อาหารที่คนท้องควรกิน พร้อมเมนูอร่อยสำหรับแม่และลูก
ปวดหลัง อาการยอดฮิตที่แม่ท้องต้องรับมือ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจาก : หมอชาวบ้าน, mom junction
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่