ท้องหรือไม่ท้อง วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ ดูยังไง? - Amarin Baby & Kids
วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่

ท้องหรือไม่ท้อง วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ ดูยังไง? พร้อมวิธีใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์

event
วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่
วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่

มีว่าที่คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่อาจไม่รู้ตัวว่า “กำลังตั้งครรภ์” จนไม่ทันได้ดูแลใส่ใจตัวเองตั้งแต่เริ่มท้อง และอาจทำให้เกิดภาวะแท้งลูก เมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีอาการแปลก ๆ หรือยังไม่แน่ใจว่าท้อง วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ ลองดูจากวิธีเหล่านี้กันค่ะ

สัญญาณเตือนว่ากำลังตั้งท้อง

ท้องหรือไม่ท้อง วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ ดูยังไง?

เมื่อภายในร่างกายมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ว่าที่คุณแม่อาจจะสังเกตอาการบางอย่างที่ร่างกายส่งสัญญาณออกมาตั้งแต่ภายในสัปดาห์แรกให้รู้ตัวได้ว่าอาจมีการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามร่างกายของผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมีอาการคนท้องเกิดขึ้นแทบทุกอย่าง แต่บางคนอาจไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย หรือมีบางอาการ ถ้าหากกำลังคิดว่าตัวเองตั้งครรภ์หรือไม่ ลองเช็กดูกันค่ะ

1.สังเกตดูจากประจำเดือน

ถ้าหากประจำเดือนที่เคยมาทุกรอบเดือนไม่มาตามปกติเกิน 1 สัปดาห์ หรือขาดหายไปนานเกินกว่า 10 วัน นั่นอาจเป็นสัญญาณได้ว่าท้องแล้วก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามประจำเดือนไม่มาก็อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นได้ เช่น ความเครียด การกินยาคุมชนิดที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว โรคบางอย่างที่มีผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป เป็นต้น หรือบางคนอาจจะตั้งครรภ์จริงแต่มีเลือดออกมาเล็กน้อยในช่วงที่ประจำเดือนควรจะมา และเป็นตะคริวร่วม จึงอาจทำให้คิดว่าเป็นเลือดประจำเดือนปกติ และไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

2.สังเกตดูจากร่างกาย

ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงระยะแรกจะมีอาการผิดปกติบางอย่างที่แสดงออกมาจนรู้สึกได้ เช่น

  • รู้สึกไม่สบายหรือกำลังป่วย ในช่วงสัปดาห์แรกของการเริ่มตั้งครรภ์ คุณอาจจะรู้สึกร่างกาย เมื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย มีแรงน้อยลง และเหนื่อยง่ายมากขึ้นกว่าปกติแม้ว่ากิจกรรมที่เคยทำเป็นปกติก่อนหน้าที่ไม่เคยทำให้รู้สึกเหนื่อยหรือตัวเองอ่อนแอง่ายแบบนี้มาก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากระดับโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น และร่างกายมีการสูบฉีดเลือดที่มากกว่าปกติเพื่อหล่อเลี้ยงสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ และอาการนี้จะค่อย ๆ หายและรู้สึกดีขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง
  • หน้าอกขยายใหญ่ขึ้นหรือมีคัดเต้านม เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ จะทำให้คุณสังเกตเห็นว่าหน้าอกตัวเองขยายใหญ่ขึ้น หนักขึ้นเล็กน้อย และรู้สึกเจ็บตึงบริเวณเต้านมและหัวนม รู้สึกเสียวได้ง่ายไวเมื่อสัมผัส รวมทั้งสังเกตเห็นเส้นเลือดที่ปรากฏขึ้นบริเวณหัวนมและเต้านม หรือหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น
  • มีตกขาวมากกว่าปกติ ตกขาวที่ออกมามีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม ไม่มีอาการระคายเคืองหรืออาการรุนแรงใด ๆ ก็ถือว่าเป็นสภาวะปกติของคนกำลังตั้งครรภ์
  • มีอาการท้องผูก รู้สึกถ่ายยากไม่สบายท้องเหมือนเดิม
  • ฉี่บ่อยขึ้น คุณอาจจะสังเกตว่าตัวเองลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำปัสสาวะในตอนกลางคืนบ่อยขึ้น ซึ่งอาการนี้จะเกิดในช่วง ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ หรือในช่วง 3 เดือนแรก
  • วิงเวียนศีรษะ อีกหนึ่งสัญญาณที่สังเกตได้ว่ากำลังท้องอ่อน ๆ ในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ คืออาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกายและการปรับตัวตามธรรมชาติของร่างกายขณะตั้งครรภ์นั่นเอง
  • มีรอยเลือดเป็นดวง ๆ ซึมออกที่บริเวณช่องคลอดนั่นอาจจะไม่ใช่เลือดประจำเดือน ที่มักจะเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หรือ11-12 วันหลังการปฏิสนธิ เนื่องจากร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิสนธิภายในมดลูก กระบวนการของไข่ที่เพิ่งได้รับการปฏิสนธิใหม่ ๆ จะฝังตัวเข้าไปในผนังมดลูก จึงส่งผลให้ร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์มีเลือดสีแดงที่สีจางกว่าประจำเดือน ปริมาณไม่มากไหลออกมาจากช่องคลอดได้ และเลือดนี้จะหยุดไหลไปเองภายใน 1-2 วัน
  • อาการปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ คุณอาจจะรู้สึกปวดเกร็งท้องคล้ายกับเวลาที่มีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม แม่ท้องควรสังเกตอาการ ถ้ารู้สึกปวดมากหรือสังเกตว่าปวดข้างใดข้างหนึ่งในร่างกายเป็นพิเศษ หรือมีเลือดไหลไม่หยุดและมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนได้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะเลือดที่ไหลออกมานั้นจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ และเกิดการแท้งได้

3.สังเกตจากอาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องมักจะเริ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยอาการหลักของการแพ้ท้องคือ รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นตอนตื่นนอนตอนเช้าหรือเป็นหนักตอนที่ท้องว่าง โดยมักเกิดจาก

รู้ได้ไงว่าท้อง

  • เหม็นกลิ่นขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ อาการที่จมูกไวต่อกลิ่นเป็นพิเศษมักจะเกิดขึ้นได้กับคนท้อง ถ้าหากสังเกตว่าจู่ ๆ ตัวเองก็ไม่ชอบกลิ่นอะไรบางอย่างขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน เช่น กลิ่นน้ำหอมที่ใช้เป็นประจำอาหาร กลิ่นตัวสามี เป็นต้น แล้วชวนทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้
  • รู้สึกอยากอาหารเป็นพิเศษ มีความต้องการอาหารบางอย่างโดยไม่มีสาเหตุ ของที่ไม่เคยชอบกินก็อยากกิน หรืออยากกินอาหารแปลก ๆ โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงอยากกิน เช่นเดียวกับแม่ท้องบางคนที่รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลยก็มี ซึ่งความรู้สึกอยากอาหารที่เกิดจากการตั้งครรภ์นั้นมักจะรุนแรงกว่าความกินในช่วงปกติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น

4.สังเกตอารมณ์

ฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์นั้นส่งผลกระทบต่ออารมณ์คนท้องได้มากมายเช่นเดียวกับอารมณ์ที่คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิด อ่อนไหวง่ายมากเป็นพิเศษในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งอาการนี้อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วง 2-3 สัปดาห์ และอารมณ์จะกลับเข้าสู้ภาวะปกติเมื่อผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว

5.สังเกตว่าหิวเก่งขึ้น

ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณกำลังตั้งครรภ์ที่จะสังเกตได้ว่าตัวเองรู้สึกหิวอีกทั้ง ๆ ที่รับประทานอาหารผ่านไปแล้ว แต่ถ้าหากตามใจปากมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นและสุขภาพในขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์ที่รู้สึกว่าตัวเองหิวเก่ง คุณแม่ท้องอาจจะแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อ ทั้งมื้อหลักที่ประกอบไปด้วยสารอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลตหรือกรดโฟลิก เช่น ผักใบเขียวต่าง ๆ โปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียม เป็นต้น และมื้อว่างที่อาจจะเป็นผลไม้ โยเกิร์ต ธัญพืชอบแห้ง ฯลฯ ในปริมาณที่พอดี และดื่มน้ำเพื่อช่วยให้คลายหิวได้โดยเฉพาะในช่วงดึก

ท้องหรือไม่ท้องลองตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์

หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ ทั้งนี้อาการที่เกิดขึ้นกับแม่ท้องแต่ละคนจะแตกต่างกันไปด้วย ว่าที่คุณแม่อาจจะเช็กเพื่อความชัวร์ได้ด้วยตนเองจาก ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่จำหน่ายอยู่ในร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป วิธีนี้จะเป็นการตรวจหาฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin หรือ HCG ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นมาเฉพาะในผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่หลั่งออกมาจากรกหลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 8-12 สัปดาห์หลังการมีเพศสัมพันธ์ วิธีนี้จะมีความแม่นยำมากถึง 90% ที่จะรู้ได้แน่ชัดขึ้นกว่าเดิมว่าท้องหรือไม่ท้อง โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1.แบบแถบจุ่ม ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์และถ้วยตวง วิธีตรวจคือเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์

2.แบบปัสสาวะผ่าน วิธีนี้ใช้เพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น ตรวจโดยถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที

3.แบบหยดหรือแบบตลับ ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการตรวจ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วอ่านผลการตรวจ

คำแนะนำในการใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง

  • การใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ควรรออย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์นับจากมีเพศสัมพันธ์หรือหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7 วัน
  • ก่อนใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ควรอ่านขั้นตอนการใช้อย่างละเอียดข้างกล่องและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อผลทดสอบที่ถูกต้องแม่นยำ และเมื่อเปิดใช้ชุดอุปกรณ์แล้วควรรีบตรวจภายใน 1 ชั่วโมงทันที เพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจลดลง
  • ควรเก็บปัสสาวะในช่วงเช้าเพื่อใช้กับชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์แม่นยำกว่า เนื่องจากระดับฮอร์โมน HCG จะสูงในช่วงเวลานี้ หรือก่อนรับประทานอาหารเพราะจะไม่มีสารเจือปนในปัสสาวะที่อาจจะส่งผลให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนทำการตรวจครรภ์ เนื่องจากะทำให้ระดับฮอร์โทน HCGในปัสสาวะลดลง หลังจุ่มแท่งทดสอบลงไปในปัสสาวะ
  • เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่า ควรทำการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเว้นระยะทดสอบประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากปริมาณฮอร์โมน HCG จะมีระดับที่แตกต่างกัน

วิธีใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์

การอ่านค่าผลตรวจ

โดยปกติแล้วค่าผลการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองจะขึ้นมาภายใน 5 นาที ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไปเพราะอาจจะไม่มีขีดใดขึ้นมาเลย ซึ่งบนหน้าแสดงผลการตรวจจะมีตัวอักษร 2 ตัวคือ C (Control Line) และ T (Test Line) สามารถอ่านค่าได้ ดังนี้

  • ถ้าขึ้น 1 ขีดที่ขีด C เพียงอย่างเดียวแสดงว่าได้ผลลบ คือ ไม่มีการตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์แล้วแต่ยังตรวจไม่พบ หรือทำทดสอบที่เร็วเกินไป
  • ถ้าขึ้น 2 ขีดขีด C และ T แสดงว่าได้ผลบวก คือ มีการตั้งครรภ์ ในกรณีขึ้นที่ขีด T จาง ๆ ควรรออีก 2-3 วันเพื่อตรวจใหม่อีกครั้ง
  • ถ้าไม่มีขีดใดขึ้นเลยแสดงว่าที่ตรวจครรภ์เสีย หมดอายุ หรือเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ ควรตรวจใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามแม้วิธีการตรวจครรภ์นี้จะเป็นที่นิยมใช้ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่สามารถให้ผลได้ 100 % การกินยาบางชนิดก็อาจจะแสดงผลบวกได้แม้ว่าไม่มีการตั้งครรภ์ ดังนั้นนอกจากสังเกตอาการที่เริ่มตั้งครรภ์และตรวจครรภ์ด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว หากผลปรากฏมาว่าตั้งท้องหรือยังไม่แน่ใจในอาการ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อสามารถเช็กการตั้งครรภ์ที่แม่นยำมากขึ้นและฝากครรภ์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องนะคะ.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.th.wikihow.comwww.bestreview.asiawww.petcharavejhospital.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วัคซีนสำหรับคนท้อง จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง ?

อาการคนท้อง เริ่มเมื่อไหร่? อาการไหนแปลว่า ท้องชัวร์!!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up