AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมขณะตั้งครรภ์ ความลับที่แม่ท้องควรรู้

รู้ไหมว่า หน้าอกของคุณแม่ ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ความสวยความงามเท่านั้น แต่ยังมีความลับบางอย่างที่แม่ท้องควรรู้เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงของเต้านมขณะตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมขณะตั้งครรภ์

เต้านมแม่ท้องไตรมาสที่ 1

การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยให้ท่อน้ำนมยาวขึ้นและแตกแขนงออกไป ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะช่วยกระตุ้นให้ถุงน้ำนมเจริญเติบโต (โดยถุงน้ำนมมีลักษณะคล้ายกับพวงองุ่น) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นแหล่งผลิตน้ำนมนั่นเอง อีกทั้งมีการสร้างเนื้อเยื่อไขมันขึ้นมาปกคลุมรอบๆ ท่อน้ำนมและถุงน้ำนม และมีเลือดมาหล่อเลี้ยงที่บริเวณหน้าอกเพิ่มขึ้นด้วย

หัวนมจะแข็งขึ้นและอ่อนไหวมากขึ้น สีของวงปานนมจะเข้มและคล้ำ โดยสีเข้มๆ นี้จะช่วยให้ลูกน้อยจอมหิวของเราสามารถมองเห็นและระบุตำแหน่งได้ ส่วนต่อมไขมันบริเวณวงปานนม (มีหน้าที่หลั่งสารต้านเชื้อแบคทีเรีย) จะปรากฏเป็นตุ่มเล็กๆ ชัดเจนขึ้น รวมไปถึงเส้นเลือดดำด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นหน้าอกของเราจะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และยังคงรู้สึกเจ็บ คัด ตึง อย่างต่อเนื่อง

ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเสื้อในแล้ว เพราะเมื่อหน้าอกของเราขยายใหญ่ขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น (เฉลี่ยข้างละประมาณ 5.4 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์) คุณแม่ต้องเลือกเสื้อในที่มีขนาดเหมาะสม รองรับการขยายตัวของหน้าอกเสมอๆ ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อเสื้อในที่ใหญ่เกินจนหลวมและเล็กเกินจนคับ จนไปจำกัดการสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตน้ำนม ถึงแม้ราคาเสื้อในสำหรับแม่ท้องจะแพงไปสักหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่น้อย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม การเปลี่ยนแปลงของเต้านมแม่ท้องไตรมาสสอง คลิกหน้า 2

เต้านมแม่ท้องไตรมาสที่ 2

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ชัดเจนกว่าเดิม ท่อน้ำนมและถุงน้ำนมยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการขยายของเต้านม ฮอร์โมนคู่หูยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคอยควบคุมฮอร์โมนโปรแล็กติน ที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่ทำให้เซลล์ในถุงน้ำนมรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเมื่อไร (โดยน้ำนมนี้สังเคราะห์มาจากเลือดของคุณแม่) เซลล์ที่กล่าวมานี้คือ เซลล์ต่อมน้ำนม ซึ่งจะไม่ผลิตน้ำนมจนกว่าจะมีการคลอด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจบไตรมาสที่ 2 จะมีนมน้ำเหลือง ที่อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และภูมิต้านทาน ผลิตเตรียมไว้สำหรับเป็นอาหารมื้อแรกให้ลูกน้อย

วงปานนมมีสีเข้มมากขึ้น ตุ่มไขมันรอบลานหัวนมก็เห็นชัดขึ้น ขนาดหน้าอกใหญ่ขึ้น และมองเห็นเส้นเลือดดำชัดขึ้นอีก การเพิ่มระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เกิดขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ทำให้หัวนมอ่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งเมื่อหน้าอกมีการขยาย จะทำให้ผิวแตกลายได้ นอกจากนี้จะเริ่มมีการไหลของนมน้ำเหลืองออกมา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

หากมีการไหลของนมน้ำเหลือง ควรหลีกเลี่ยงการถูหรือล้างหัวนมด้วยสบู่ เพราะจะทำให้หัวนมคุณแม่แห้งและระคายเคือง คุณแม่ควรล้างหัวนมเบาๆ ด้วยน้ำอุ่น จากนั้นซับหรือเป่าให้แห้งก็พอ

เมื่อเสื้อในของคุณแม่เริ่มคับ ให้รีบเปลี่ยนขนาดทันที เพื่อรักษารูปทรงเต้านมที่ดีในอนาคต เพราะโดยธรรมชาติ เมื่อเส้นเอ็นที่พยุงเต้านมยืดขยายออกไปแล้ว จะไม่สามารถหดกลับมาได้เหมือนเดิม ดังนั้นการมีเสื้อชั้นในที่ดีและเหมาะสมจะช่วยพยุงเต้านมและลดแรงโน้มถ่วงได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม การเปลี่ยนแปลงของเต้านมแม่ท้องไตรมาสสาม คลิกหน้า 3

เต้านมแม่ท้องไตรมาสที่ 3

โครงสร้างการผลิตน้ำนมและระบบลำเลียงยังคงสร้างอย่างต่อเนื่อง เมื่อสิ้นสุดการตั้งครรภ์ เต้านมแต่ละข้างจะมีกลุ่มท่อน้ำนมและถุงน้ำนมประมาณ 15-20 พู ประกอบด้วยกลุ่มถุงน้ำนมกลุ่มใหญ่ ซึ่งในแต่ละพูนั้นยังมีกลุ่มถุงน้ำนมอยู่ภายในอีก 20-40 พู และท่อน้ำนมขนาดเล็กๆอีก 10-100 ท่อ โดยกลุ่มถุงน้ำนมทั้งหมดนี้จะอยู่บริเวณปลายท่อน้ำนมที่ทอดยาวไปจนถึงหัวนมด้านนอก

ด้วยเหตุนี้ เต้านมของเราจึงมีศักยภาพพอ สามารถผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยของเราได้ หากไม่มีการกระตุ้นด้วยการดูดจากทารกหรือการปั๊มน้ำนม น้ำนมของคุณแม่ก็จะถูกเก็บไว้ข้างใน

เต้านมขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น สัญาณและอาการต่างๆที่เคยเกิดขึ้น จะยิ่งเห็นได้ชัดมากกว่าเดิม อ่อนไหวกว่าเดิม นมน้ำเหลืองก็มีแนวโน้มว่าจะไหลมากขึ้นกว่าเดิม

หากคุณแม่คิดว่าจะให้ลูกดูดนมจากอก อย่าลืมฝึกและตรวจดูว่าหัวนมยื่นออกมาพอให้ทารกดูดได้ วิธีการคือ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วมือที่เหลือจับวงปานนมด้านบนและล่าง (12 นาฬิกาและ 6 นาฬิกา) จากนั้นกดลงบนหน้าอกเบาๆ (ห้ามบีบนิ้วโป้งและนิ้วอื่นๆ พร้อมกัน เพราะจะทำให้หัวนมหดกลับได้) หากคุณแม่เกิดปัญหาหัวนมหดหลับเข้าไปข้างใน ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะมีวิธีนวดหัวนมให้กลับมาปกติได้

ในไตรมาสนี้ คุณแม่ไม่ควรพลาดหาคลาสฝึกให้นมลูก ตามโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์อย่างมากทีเดียว เพิ่มเติม หากคุณแม่มีนมน้ำเหลืองไหลออกมามากจนทำให้เกิดอุปสรรค ลองมองหาแผ่นซับน้ำนมที่สามารถถอดซักได้มาใช้ก็สะดวกไม่น้อย

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

6 สุดยอด สมุนไพรเพิ่มน้ำนมแม่ (ไทย จีน ฝรั่ง) ครบสูตร

เคล็ดลับ! เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไรให้สำเร็จ

เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ให้ลูกมีกินได้นานเป็นปี

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids