เมื่อคลอดลูกแล้ว หลังจากคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ คุณหมอมักจะนัดคุณแม่ให้มาทำการ ตรวจหลังคลอด เพื่อดูว่าร่างกายของคุณแม่กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง
ตรวจหลังคลอด..เจ็บไหม? ต้องตรวจอะไรบ้าง?
ตรวจหลังคลอดสำคัญอย่างไร? ทำไมต้องตรวจ?
ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้ลูกในท้องได้เจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ในสภาวะที่ดีที่สุด ดังนั้นร่ายกายจะมีการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ อวัยวะบางส่วนก็จะขยาย เพื่อรองรับลูกน้อยในครรภ์ และเมื่อคลอดลูกแล้ว ร่างกายก็จะค่อย ๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติ เหมือนตอนก่อนท้อง ดังนั้นการที่คุณหมอนัดตรวจหลังคลอด ก็เพื่อดูว่าร่างกายได้กลับคืนสู่สภาพปกติแล้วหรือยัง และในกรณีที่คุณแม่มีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั้งขณะคลอดหรือหลังคลอดใหม่ ๆ คุณหมอก็จะได้มาตรวจดูว่าโรคแทรกซ้อนนั้นหายแล้วหรือยัง รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรด้วยวิธีการทำหมัน (ในกรณีที่คุณแม่ไม่ต้องการมีลูกอีกคน) เพื่อมิให้คุณแม่ตั้งครรภ์เร็วเกินไป เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยที่เกิดมาแล้วเท่านั้น ยังอาจเป็นอันตรายกับลูกคนต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้คุณหมอยังสามารถแนะนำและตอบปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกายคุณแม่หลังคลอดรวมถึงคำถามเกี่ยวกับลูกน้อยได้อีกด้วย
สำหรับคุณแม่ที่คิดว่าร่างกายของตนเองฟื้นตัวได้เร็ว และไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และสำหรับคุณแม่ที่กลัวการ ตรวจหลังคลอด จนไม่ยอมไป ตรวจหลังคลอด นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังคลอดแล้ว เช่นขนาดมดลูกที่หดตัวลงหลังคลอด เต้านมที่ขยายขึ้นเพื่อรองรับการให้นมบุตร ยังมีสภาวะทางจิตใจที่คุณแม่หลังคลอดต้องเผชิญ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพหลังคลอดจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากและเป็นเรื่องที่คุณแม่ทุกคนไม่ควรละเลย
ดูคลิป ซึมเศร้าหลังคลอด ทำไงดี ที่นี่
ตรวจหลังคลอดเมื่อไหร่?
เมื่อคุณแม่คลอดลูกเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะออกจากโรงพยาบาลหมอจะนัดให้มา ตรวจหลังคลอด อีกครั้ง ในกรณีที่การคลอดผิดปกติ มีปัญหา หรือคุณแม่มีโรคบางอย่าง หมออาจนัดมาตรวจก่อน 4 สัปดาห์ก็ได้ สำหรับคุณแม่ที่คลอดปกติหรือผ่าคลอดถ้าไม่มีปัญหาอะไร หมอก็มักจะนัดมาตรวจใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด (โดยทั่วไปคุณหมอจะนัดมาตรวจเมื่อครบ 6 สัปดาห์ แต่ถ้าคุณแม่มีปัญหาในระหว่างการคลอดหมอจะนัดมาตรวจเร็วกว่านั้น เช่น ในช่วง 4 สัปดาห์หลังคลอด)
อาการหลังคลอด..ที่ควรไปพบแพทย์ทันที
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าหลังคลอด ร่างกายของคุณแม่จะค่อย ๆ กลับสู่สภาพปกติ หรือเรียกกันว่า มดลูกเข้าอู่ นั่นเอง โดยจะกลับสู่สภาพปกติอย่างสมบูรณ์ประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งระหว่างนั้น คุณแม่ก็ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเองด้วย โดยหากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด ตรวจหลังคลออด
- มีอาการปวดศีรษะมาก หนาวสั่น หรือมีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง ซึ่งอาจเป็นเพราะท่อน้ำนมอุดตัน
- มีอาการปวดท้องมาก ปวดท้องบิด โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาหารการกิน
- มีอาการเจ็บหรือแสบขัดในขณะถ่ายปัสสาวะ
- ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น น้ำคาวปลามีสีแดงตลอดภายใน 15 วันหลังคลอด โดยปกติแล้วหลังคลอด 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสด ๆ แต่หลังจากนี้อีก 10-14 วันจะเป็นน้ำปนเลือด มีสีน้ำตาลดำ แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนหมดไปภายใน 4 สัปดาห์ ถ้าพบว่ามีน้ำคาวปลาออกมาเป็นสีผิดปกติหรือยังเป็นเลือดอยู่ก็อาจมาจาก 2 สาเหตุ คือ ยังมีเศษรกค้างอยู่ หรืออาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูก
- มีเลือดออกทางช่องคลอด ภายใน 1 ชั่วโมงชุ่มผ้าอนามัย 1 แผ่น และเลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นก้อน
- มีหนองหรือมีเลือดไหลจากแผลฝีเย็บ หรือแผลฝีเย็บบวมแดงมากขึ้นจนมีอาการปวดถ่วงไปถึงทวารหนัก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ตรวจหลังคลอด..เจ็บไหม? ต้องตรวจอะไรบ้าง?
ตรวจหลังคลอด..เจ็บไหม? คุณหมอจะตรวจอะไรบ้าง?
- ชั่งน้ำหนัก หลังการคลอดประมาณ 6 สัปดาห์น้ำหนักของคุณแม่ควรลดลงประมาณ 8-12 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักเกินกว่าก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ซึ่งหากยังพบว่าคุณแม่ยังน้ำหนักลดน้อยกว่าในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คุณหมอก็จะแนะนำให้คุณแม่ควบคุมอาหารและบริหารร่างกายไปด้วย (อ่านต่อ แม่แชร์วิธี! ลดความอ้วนหลังคลอด 10 กก. ในเวลา 2 เดือน)
- ตรวจวัดความดันโลหิต ความดันโลหิตของคุณแม่ควรอยู่ในระดับปกติ คือ 80/120 มิลลิเมตรปรอท สำหรับคุณแม่มีความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์หรือในขณะคลอด เมื่อกลับมาตรวจหลังคลอด ความดันโลหิตของคุณแม่ควรจะอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้ายังผิดปกติอยู่หมอก็จะได้ให้การดูแลรักษาหรือส่งไปปรึกษาอายุรแพทย์ต่อไป
- ตรวจเต้านม หมอจะตรวจดูว่าเต้านมของคุณแม่นั้นมีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร เช่น มีน้ำนมไหลดีหรือมีนมให้ลูกกินพอหรือไม่ เต้านมมีการอักเสบหรือเปล่า
- ตรวจหน้าท้อง หมอจะตรวจหน้าท้องเพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องและดูว่าผนังหน้าท้องยังหย่อนอยู่หรือไม่ กรณีที่คุณแม่ผ่าคลอดทางหน้าท้อง หมอก็จะตรวจดูว่าแผลหายดีแล้วหรือยัง
- ตรวจภายใน หมอจะตรวจภายในเพื่อดูแผลฝีเย็บ ตรวจดูผนังช่องคลอดว่าแผลที่เย็บเรียบร้อยดีหรือไม่ มีการอักเสบบริเวณช่องคลอดหรือเปล่า ถ้ามีตกขาวมากหมอก็จะตรวจดูว่าความผิดปกตินี้เกิดจากอะไร ตรวจดูว่าปากมดลูกปิดหรือไม่ มีแผลหรือไม่ ซึ่งหลังคลอดอาจจะมีแผลเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่คุณหมอจะตรวจมะเร็งปากมดลูกให้พร้อมกับการตรวจภายในหลังคลอดด้วยเลย นอกจากนี้ก็จะตรวจดูขนาดของมดลูกด้วยว่ากลับสู่สภาพปกติแล้วหรือยัง (คือมีขนาดเล็กลงใกล้เคียงก่อนการตั้งครรภ์) ถ้ายังและมีขนาดโตกว่าปกติมาก หมอจะตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร รวมทั้งตรวจดูตรงตำแหน่งของปีกมดลูกคือ ท่อนำไข่และรังไข่ ว่ามีก้อนเนื้อหรือความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์อาจตรวจไม่พบเพราะมดลูกขยายใหญ่จนกลบเนื้องอก แต่เมื่อมดลูกเป็นปกติแล้วก็จะสามารถตรวจพบได้
- สำหรับแม่ผ่าคลอด คุณหมอจะตรวจดูแผลคลอด โดยปกติแล้วแผลคลอดไม่ว่าจะเป็นคลอดปกติหรือผ่าคลอดก็มักจะหายภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด ส่วนอาการปวดแผลหลังคลอดจะปวดอยู่ประมาณ 3-4 วัน หรืออย่างมากไม่เกิน 1 อาทิตย์ และอาการปวดจะค่อย ๆ ทุเลาลง หากมีอาการปวดคุณแม่สามารถกินยาแก้ปวดได้ (เฉพาะยาพาราเซตามอล) ส่วนแผลผ่าตัดจะติดสนิทภายใน 1 สัปดาห์ ไม่มีการบวมหรือมีเลือดไหลซึมออกมาจากแผล แต่จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าแผลจะหายดี คุณแม่ผ่าคลอดจึงต้องหมั่นดูแลความสะอาดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
- สำหรับแม่คลอดธรรมชาติ คุณหมอจะตรวจมดลูกว่าเข้าอู่หรือยัง เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวขึ้นมาก หลังการคลอดหมอจะตรวจดูว่ามดลูกหดตัวแล้วหรือยัง ซึ่งส่วนใหญ่มดลูกจะเข้าอู่ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เมื่อไปตรวจหมอจะใช้นิ้วสอดเข้าไปภายในช่องคลอด และใช้อีกมือคลำบริเวณหน้าท้อง หากพบว่ามีก้อนที่หน้าท้องแสดงว่ามดลูกเข้าอู่ช้า
- ตรวจอาการผิดปกติ นอกจากการตรวจร่างกายและตรวจภายในหลังคลอดแล้ว หมอจะตรวจโรคที่เป็นในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วยว่าหายเป็นปกติแล้วหรือยัง (เพราะบางโรคจะเป็นเฉพาะตอนตั้งครรภ์ เมื่อหลังคลอดเสร็จร่างกายจะกลับเข้าสู่สภาพปกติ) รวมถึงโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หมอก็จะตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้ให้ด้วยเช่นกัน
- ตรวจภาวะจิตใจ นอกจากร่างกายของคุณแม่หลังคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว คุณแม่มักจะกังวลกับการเลี้ยงลูก ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง เกิดความเครียด จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ คุณหมอก็จะสังเกตอาการและพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติของคุณแม่ ด้วยการถามไถ่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ว่าคุณแม่เลี้ยงลูกอย่างไร มีปัญหาไม่สบายใจตรงไหน มีใครช่วยเลี้ยงหรือไม่ หากคุณแม่มีปัญหา หมอก็จะได้ช่วยหาทางวางแผนแก้ไขต่อไป
สำหรับคุณแม่ที่กลัวว่าการ ตรวจหลังคลอด เจ็บไหม ขอบอกว่าก็เหมือนการตรวจภายในทั่ว ๆ ไปค่ะ และการ ตรวจหลังคลอด นั้น หากเป็นไปได้ ควรไปตรวจที่โรงพยาบาลที่คุณแม่คลอดและฝากครรภ์ เพราะโรงพยาบาลนั้นจะมีประวัติของคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์รวมถึงตลอดการคลอด จะทำให้คุณหมอตรวจได้ง่ายขึ้นค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เต้านมอักเสบ ความทรมานที่คนเป็นแม่ไม่อยากเจอ
แม่ต้องรู้! 9 สัญญาณ บ่งบอกเมื่อ ลูกหิวนม
white dot คืออะไร ความเจ็บปวดที่แม่ให้นมต้องรู้! พร้อมวิธีรักษาแสนง่าย
อยากผอมต้องสูตรนี้! 7 สูตร น้ำผักผลไม้ปั่น สูตรลดน้ำหนัก สำหรับแม่หลังคลอด
ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่