ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ มดลูกข้างซ้าย อันตราย - Amarin Baby & Kids
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ มดลูกข้างซ้าย อันตรายหรือเปล่า

account_circle
event
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ

ปวดท้องบอกโรคได้! อาการปวดมดลูกข้างซ้าย ปวดท้องน้อยด้านซ้าย สัญญาณโรคร้ายอะไร

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย อันตรายไหม

อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นของผู้หญิงในแต่ละตำแหน่ง สามารถบ่งบอกถึงอาการของโรคร้ายได้ โดยเฉพาะอาการปวดซ้ำ ๆ ที่จุดเดิม ย่อมส่งสัญญาณความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง เช่นเดียวกับการปวดท้องน้อยด้านซ้าย โดยเฉพาะแม่ท้อง เพราะอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างขณะตั้งครรภ์นั้น เป็นการส่งสัญญาณบอกของร่างกายว่า คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเสี่ยงภาวะการตั้งท้องนอกมดลูก ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวแม่ท้องและทารกในครรภ์

ปวดมดลูกข้างซ้าย จี๊ดๆ บริเวณท้องน้อยด้านซ้าย

อาการปวดท้องข้างซ้ายบ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายใน โดยอาการปวดท้องข้างซ้ายบนหรือปวดบริเวณใต้ซี่โครง อาจเกิดจากโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน ตับอ่อนอักเสบ ปอดบวม หรือม้ามโต แต่สำหรับผู้หญิง คงต้องใส่ใจอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคไต โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ และที่สำคัญสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์คือ ท้องนอกมดลูก โดยสาเหตุที่ทำให้ปวดบริเวณท้องข้างซ้ายล่างเพราะเส้นเอ็นยึดมดลูก มีซีสต์ในรังไข่ และกระเพาะปัสสาวะขยายตัว

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ

ตั้งครรภ์แล้วปวดท้องน้อยด้านซ้าย ท้องนี้อาจกลายเป็นท้องนอกมดลูก

ท้องนอกมดลูกเกิดจากการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้วนอกโพรงมดลูก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ถึง 95% แต่ก็พบได้ที่รังไข่ ปากมดลูก และในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้คุณแม่เสียชีวิตเป็นอันดับที่ 4 เพราะภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกมีความเสี่ยงที่จะแตกเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อแตกแล้วจะทำให้เสียเลือดมากในช่องท้อง ทำให้ตัวคุณแม่ช็อค ส่งผลอันตรายถึงชีวิต

ส่วนสาเหตุ อาจเกิดจากความผิดปกติของท่อนำไข่ทำให้เกิดสภาพการณ์ที่ขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวมิให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วเดินทางเข้าสู่โพรงมดลูกได้ การอักเสบเรื้อรังของท่อนำไข่ และมีอุบัติการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยงท้องนอกมดลูกคือ ผู้หญิงที่มีปีกมดลูกผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ เคยผ่าตัดปีกมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นคนที่มีลูกยาก หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ รวมถึงคนที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อนก็เสี่ยงจะเป็นซ้ำเดิม

อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่พบบ่อย (classic symptoms)

การตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นความเสี่ยงของแม่ท้อง ในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ อาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดร่วมด้วย นอกเหนือจากอาการปวดท้องน้อย อาการหลัก ๆ ของตั้งครรภ์นอกมดลูก แม่จะปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งโดยฉับพลัน ร่วมกับอาการสำคัญของการท้องนอกมดลูก ได้แก่

  • หน้าท้องอืดตึง
  • คลำเจอก้อนที่ท้อง
  • อ่อนเพลีย หน้ามืดเวลาลุกนั่ง
  • ความดันโลหิตต่ำและชีพจรเต้นเร็ว

ในระยะแรกอาจไม่พบอาการใด ๆ ผ่านไปสักพักจะมีอาการเจ็บที่ท้องหรือท้องน้อย ปวดแบบบีบรัดเป็นช่วง ๆ อาจปวดข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง บางคนเป็น ๆ หาย ๆ บางคนปวดตลอดเวลา หากเลือดออกในช่องท้องมาก ๆ จะทำให้ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ เพราะระคายเคืองต่อกระบังลม ถ้ามีอาการคล้ายจะเป็นลมมักเกิดขึ้นหลังจากมีการแตกของท่อนำไข่

ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ

วิธีรักษาท้องนอกมดลูก

  1. การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ประกอบด้วยการเฝ้าระวังดูอาการ (expectant management) และการให้ยา (Methotrexate) ทั้งการให้กินยา หรือฉีดเข้ากล้าม เข้าเส้นเลือด และฉีดเข้าจุดที่ตั้งครรภ์นอกมดลูกโดยตรง
  2. การผ่าตัดแบบประคับประคอง (conservative surgery) ช่วยเก็บรักษาท่อนำไข่ส่วนที่ดีไว้ เป็นการตัดท่อนำไข่ส่วนที่ท้องนอกมดลูกออก ภายหลังจากแผลหายแล้วสามารถนำกลับมาต่อใหม่ได้ ในผู้ป่วยบางกลุ่ม
  3. การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแบบ salpingectomy จะตัดท่อนำไข่ข้างที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องแบบ salpingostomy คือการผ่าตัดนำชิ้นส่วนการตั้งครรภ์นอกมดลูกออกโดยทิ้งท่อนำไข่ข้างดังกล่าวไว้

 

สำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ บริเวณเดิม ควรไปตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยการปวดท้องตำแหน่งต่าง ๆ บ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย สำหรับการปวดท้อง 8 ตำแหน่ง สามารถบ่งบอกโรคได้ ดังนี้

  1. ปวดใต้ลิ้นปี่ อวัยวะสำคัญ : กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ มักเกิดตอนหิว หรืออิ่ม สำหรับโรคที่ต้องระวัง ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรง และคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ
  2. ปวดชายโครงซ้าย อวัยวะสำคัญ : ม้าม ตับอ่อน โรคที่ต้องระวัง นิ่วในไตซ้ายหรือกรวยไตซ้ายอักเสบ อาจรุนแรงถึงขั้นม้ามแตกได้
  3. ปวดชายโครงขวา อวัยวะสำคัญ : ตับ ถุงน้ำดี โรคที่ต้องระวัง โรคตับอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี อาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้คือ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองฃ
  4. ปวดรอบสะดือ อวัยวะสำคัญ : ลำไส้เล็ก อาการปวดจะคล้ายกับมีลมที่ท้อง ท้องเดิน โรคที่ต้องระวัง ลำไส้อักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบ หากปวดรุนแรงจนทนไม่ได้ต้องรีบไปหาหมอ
  5. ปวดปั้นเอวขวาและซ้าย อวัยวะสำคัญ : ท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ มีอาการปวดเอวด้านหลัง แสบเวลาปัสสาวะ มีไข้ เพียงเคาะเบา ๆ ที่เอวด้านหลังก็จะเจ็บมาก
  6. ปวดเหนือหัวหน่าว อวัยวะสำคัญ : กระเพาะปัสสาวะ มดลูก หากปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย โรคที่ต้องระวังคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่หากปวดเกร็งช่วงมีรอบเดือน ปวดเรื้อรัง หรือคลำพบก้อน โรคที่ต้องระวังคือ มดลูกอักเสบ หรือเนื้องอกมดลูก
  7. ปวดท้องน้อยซ้าย อวัยวะสำคัญ : ท่อไต ปีกมดลูกด้านซ้าย อาการสำคัญคือการปวดเกร็ง ปวดร้าวมาที่ต้นขา โรคที่ต้องระวังคือ นิ่วในท่อไต หากมีตกขาว เป็นไข้ หนาวสั่น พร้อม ๆ กับการปวด โรคที่ต้องระวังคือ ปีกมดลูกอักเสบ
  8. ปวดท้องน้อยขวา อวัยวะสำคัญ : ไส้ติ่ง ท่อไต ปีกมดลูกด้านขวา สังเกตอาการปวดเกร็งเป็นระยะ ปวดร้าวมาที่ต้นขา เป็นสัญญาณของกรวยไตผิดปกติ แต่ถ้าปวดเสียด กดแล้วเจ็บ โรคที่ต้องระวังคือ ไส้ติ่งอักเสบ หากมีไข้ร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของปีกมดลูกอักเสบ ถ้าคลำแล้วเจอก้อนเนื้อ โรคที่ต้องระวังคือ ก้อนไส้ติ่งหรือรังไข่ผิดปกติ
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ
ปวดท้อง สัญญาณบอกโรค

ผู้หญิงปวดท้องน้อย เป็นโรคอะไรได้บ้าง

สำหรับผู้หญิงมักจะปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) ได้บ่อย ๆ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณของร่างกาย เราจึงขอเจาะลึกอาการปวดท้องน้อยของผู้หญิง โดยการปวดท้องน้อย แบ่งออกเป็นการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรังและการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน โดยนพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก รพ.วิภาวดี อธิบายว่า อาการปวดท้องน้อย มักจะปวดภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่

  • อวัยวะสืบพันธุ์ ประกอบด้วย ช่องคลอด มดลูก รังไข่ และท่อรังไข่
  • ทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต
  • ลำไส้ใหญ่
  • สำไส้เล็ก

การปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน มักเกิดจากการอักเสบ เช่น มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ หรือ ไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าเป็นการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจเกิดจากเนื้องอกมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่

หากมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ หรือปวดมดลูกข้างซ้าย ในขณะตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลงได้ หากพบ 3 อาการอันตราย ปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด และหรือมีภาวะขาดประจำเดือน ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างละเอียด

อ้างอิงข้อมูล : sikarin, med.cmu, rtcog, phyathai และ chiangmainews

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

คลอดลูกแม่เสียชีวิต สาเหตุแม่เสียชีวิตหลังคลอด

คลอดลูกตาย การเสียชีวิตของทารกแรกเกิดหลังคลอด

ตกเลือด ขณะตั้งครรภ์! อีกหนึ่งภาวะอันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up