เป้ย ปานวาด ได้โพสต์คลิปวิดีโอ “ปั๊มนมเป็นเลือด”ลงในอินสตาแกรมส่วนตัว เผยให้เห็นถึงนมแม่ที่เพิ่งปั้มออกมามีสีแดงเหมือนเลือด จนทำเอาบรรดาแฟน ๆ ช็อกไปตาม ๆ กัน
น่ากลัวมากแม่! เป้ย ปานวาด ปั๊มนมเป็นเลือด
เมื่อคุณแม่ลูกสอง เป้ย ปานวาด บุญยรัตกลิน ได้โพสต์คลิปวิดีโอและภาพขวดนมที่เพิ่งปั๊มนมเสร็จใหม่ ๆ แต่ภายในขวดกลับเป็นน้ำนมสีแดงเข้มแทนที่จะเป็นสีขาว แถมยังมีภาพก้อนเลือดกองอยู่ข้าง ๆ โดยในโพสต์ดังกล่าวสาวเป้ยได้ระบุข้อความบรรยายเอาไว้ด้วยว่า #มนุษย์แม่ #ทำไมมีเลือดก้อน ๆ ออกมา ทำให้ชาวเน็ตที่เห็นภาพดังกล่าวต่างตกอกตกใจกันใหญ่เพราะสีของน้ำนมค่อนไปทางสีแดงเข้ม ทำให้มีแฟน ๆ จำนวนมาก รวมถึงเพื่อน ๆ ในวงการบันเทิงได้เข้ามาแสดงความห่วงใย พร้อมทั้งแนะนำให้แม่เป้ยรีบไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ
ซึ่งในภายหลัง แม่เป้ยก็ได้เปิดเผยกับทีมวันบันเทิงในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
“ปกติปั๊มแล้วเป็นแบบนี้ตอนเกิดน้องปาลินใหม่ ๆ แต่พยาบาลบอกว่า เป็นเส้นเลือดฝอยแตก แต่ยังไม่เคยเป็นลิ่มเลือดแบบนี้ ก็งงเหมือนกันที่ออกมาเป็นแบบนี้ ตอนนั้นที่ปั๊มนมเป้ยใส่ผ้าคลุมแล้วก็ปั๊มไป ทำโน่นทำนี่ไป ไม่ได้มอง ผ่านไป 15 นาที เราก็ไม่รู้ว่าตอนปั๊มมันออกมาเป็นเลือดเลย หรือจับตัวออกมาเป็นเลือดข้างนอก พอเราเห็นเลือดเราก็หยุดปั๊ม คือเราก็เข้าใจว่าเป็นเส้นเลือดฝอยแตกเหมือนที่เคยเป็น แต่ก็เห็นอะไรเป็นก้อน ๆ แต่พอเอาช้อนตักดูมันเป็นลิ่มขึ้นมาเลย ก็ส่งให้คุณหมอประจำดู แล้วหมอยังไม่ตอบ เราก็เลยโพสต์ว่าเกิดอะไรขึ้น คือก็คุยกับหมอแต่ยังไม่ได้ไปหาหมอ แต่ตอนนี้ยังไม่มีรถไปหาหมอ เพราะรถไปส่งคุณป๊อบประชุม อีกคันก็ไปส่งน้องโปรดเรียนพิเศษ แต่ก็จะรอปั๊มรอบต่อไป ถ้าเราปั๊มด้วยแรงดูดที่เบาลงมันจะเป็นอย่างไร หมอก็บอกว่าเลือดพวกนี้เวลาอยู่ข้างนอกมันก็จะจับตัวเป็นก้อนเหมือนเลือดหมู แต่หมออีกคนบอกว่าไม่ค่อยโอเค”
เมื่อถามว่าตอนที่ปั๊มอยู่มีอาการเจ็บหรือไม่ เป้ย เล่าต่อว่า ตอนปั๊มนมมันเจ็บตลอดเวลา เหมือนคนมาหยิก เราก็ไม่คิดอะไรเพราะมันเจ็บตลอดเวลา ไม่ได้รู้สึกว่าเจ็บมาก ก็เหมือนเราปั๊มนมทั่วไป ตอนนี้เข้ากูเกิลไปอ่านข้อมูล ก็ยิ่งอ่านยิ่งนอยด์ ครั้งที่เคยปั๊มแล้วออกมาเป็นเลือดนั้นก็คือ เราเห็นออกมาเป็นเลือดก็หยุด แต่ครั้งนี้ระหว่างที่ปั๊ม 15 นาทีมันไม่เห็นว่าออกมาเป็นอย่างไร พอเห็นเลือดก็ตกใจเลย มันข้นมาก มีเลือดทั้งหมด เป็นน้ำนมแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ครั้งที่เคยปั๊มแล้วเส้นเลือดฝอยนั้นคือ ปาลินเพิ่งเกิด ตอนน้องโปรดก็เคยเป็นครั้งเดียว แต่จางมาก ๆ ครั้งนั้นนมกินได้ แต่ครั้งนี้เป็นเยอะ ก็เป็นไม่บ่อยนะ ตอนนี้ปาลิน 11 เดือนแล้ว เป้ยจะปั๊มถอยมาแค่ 3 เวลา ครั้งนี้เป็นตอน 8 โมงเช้า แต่พอจะปั๊มรอบบ่ายคุณหมอให้พักก่อน แต่เดี๋ยวคงต้องปั๊มให้เบอร์อ่อนลงมา แต่ปกติจะปั๊มใช้เบอร์แรงสุด ยังไงพรุ่งนี้ก็ต้องไปหาหมอเพื่อเช็คดูอีกทีค่ะ
จากข่าวนี้ อาจทำให้แม่หลาย ๆ คนตกใจและมีมุมมองที่ไม่ดีเกี่ยวกับการให้นมแม่ และการปั๊มนมแม่ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำข้อมูลจากคุณหมอพิมลพรรณ ต่างวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้กล่าวถึงกรณีที่คุณเป้ย ปั๊มนมเป็นเลือด มาฝากกันค่ะ
อ่านต่อ หมอแจง เป้ย ปานวาด ปั๊มนมเป็นเลือด อาจปั๊มแรงเกินไป แนะให้ไปตรวจ
หมอแจง เป้ย ปานวาด ปั๊มนมเป็นเลือด อาจปั๊มแรงเกินไป แนะให้ไปตรวจ
เนื่องจากข่าวดังกล่าว ทำให้หลาย ๆ คนตกใจว่าการปั๊มนมออกมาเป็นเลือดเช่นนี้อันตรายหรือไม่ พญ.พิมลพรรณ ต่างวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สาเหตุที่นมแม่มีเลือดปน อาจจะมาจากการปั๊มน้ำนมแรงเกินไป หรือ เกิดบาดแผลที่บริเวณหัวนม หรือ อาจเกิดจากเนื้องอกที่เต้านม หรือ หัวนมก็เป็นได้ จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจ นอกจากนี้ ไม่ควรนำนมที่มีเลือดผสมอยู่มาให้เด็กดื่ม เนื่องจากอาจได้รับเชื้อโรคบางชนิดที่ติดต่อถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ผ่านน้ำนมได้ เพราะสังเกตเห็นว่า ปริมาณเลือดที่ออกมาที่จำนวนมาก ขณะเดียวกันลิ่มที่เห็นว่ามีก้อนขนาดใหญ่ ก็เป็นไปได้ว่า มีนมผสมเช่นกัน
พญ.พิมลพรรณ กล่าวว่า ไม่อยากให้คนตกใจกับการเลือดออกขณะปั๊มนมให้ลูกจนไม่อยากให้ลูกดื่มนมแม่ เพราะกลัวเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ยืนยันว่าการเลือดออก ไม่ได้เกิดกับทุกคน กรณีเช่นนี้เกิดได้อาจปั๊มนมแรงก็เป็นได้ ทางที่ดีระหว่างนี้ หากเต้านมข้างหนึ่งมีปัญหาปั๊มนมแม่แล้วมีเลือดปนออก ก็สามารถปั๊มนมอีกข้างหนึ่งแทนไปก่อน เพื่อให้ได้น้ำนมสีขาวให้เด็กดื่ม
วิธีทำให้เลือดหยุดไหลและวิธีป้องกันเมื่อ ปั๊มนมเป็นเลือด
ควรงดปั๊มนม แต่ให้ลูกดูดได้ และใช้วิธีบีบเต้าด้วยมือแทนการปั๊ม ประมาณ 2-3 มื้อ หรือ ยังปั๊มต่อได้ แต่ลดความแรงลง ซึ่งถ้านมออกไม่หมด ให้ใช้มือบีบต่อให้เกลี้ยงเต้าร่วมกับการกระตุ้นจี๊ด
ส่วนแผลที่หัวนม ทายา oral T paste ได้บาง ๆ และควรทาน้ำนมเคลือบหลังใช้งานทุกครั้ง จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น และควรปรึกษาคลินิคนมแม่ถึงสาเหตุที่ทำให้หัวนมแตกว่าเกิดจากเหตุใด เช่น ท่าอุ้มท่างับหัวนมไม่ถูกต้อง มีพังผืดใต้ลิ้น ใช้แรงปั๊มมากเกินไป เป็นต้น
ทั้งนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเอาใจช่วยให้แม่เป้ยพบสาเหตุพร้อมทั้งวิธีแก้โดยเร็วนะคะ
อ่านต่อ
เลือดปนในน้ำนมแม่ ปลอดภัยสำหรับลูกน้อยหรือไม่ ?
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
รู้ยัง! นมแม่แยกชั้น แบบนี้ลูกกินได้
นมแม่เหม็นหืนทำยังไงดี และมีวิธีเก็บรักษาอย่างไรบ้าง?
เรื่องเล่าน่าเศร้า…เมื่อเต้านมฉันอักเสบ
ขอบคุณข้อมูลจาก : Instagram ppanward, Instagram onebunterng, MGR Online