ถึงแม้ว่าจะมีการยืนยันแล้วว่า คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับประทานยา พาราเซตามอล ได้โดยไม่ส่งผลอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีผลงานวิจัยชี้ชัดแล้วว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกินไปนั้น สามารถส่งผลกระทบกับลูกน้อยในครรภ์ได้จริง
เอลวินด์ สตรอม นักวิจัยชาวนอร์เวย์ จากสถาบันวิจัยสุขภาพในกรุงออสโล กล่าวว่า ตนเองไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ โดยก่อนหน้าก็ได้มีบทความวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังสถาบันอื่นๆ ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้แล้ว
เอลวินด์ ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กราว 113,000 คน พบว่า เด็กที่แม่รับประทานยาพาราเซตามอลตอนตั้งครรภ์นั้น มีพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น มากกว่าเด็กที่แม่ไม่ได้รับประทานยาเลย
พาราเซตามอล ทำลูกสมาธิสั้นได้อย่างไร?
เอลวินด์ กล่าวว่า พาราเซตามอล มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Acetaminophen สามารถส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ได้ หากแม่ตั้งครรภ์ รับประทานยาพาราเซตามอลนานติดต่อกันมากจนเกินไป หรือในช่วงระหว่างตั้งครรภ์นั้นใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนี้มากกว่าปกติ
คริสตินา แชมเบอร์ หนึ่งในผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแคลอฟอร์เนีย ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงอยู่ที่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของเด็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานยาพาราเซตามอลนั้นเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความถี่ และปริมาณการรับประทานยาของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นผลการวิจัยจากการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 29 วัน หรือมากกว่านั้น ถือเป็นการบริโภคยาที่มากเกินไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะทำให้ความเสี่ยงนี้ส่งผลกระทบไปยังลูกในครรภ์
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากตัวยาในพาราเซตามอลนั้นมีสารบางอย่างที่ส่งผลกับเซลล์ประสาท และการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรืออาจเป็นพิษโดยตรงต่อทารกในครรภ์ที่ยังไม่มีความสามารถในการเผาผลาญตัวยาชนิดนี้ได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ ทำให้เซลล์เมมเบรนเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ปกติ
โดยทั่วไปแล้ว การใช้ยาพาราเซตามอลในคนทั่วไป หรือแม้แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ มีข้อห้ามในการใช้ยาที่เหมือนกันคือ ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกิน 5-7 วันหรือเกินขนาดนั่นเอง
อ่านต่อ “พาราเซตามอล แม่ท้องกินแล้วลูกเสี่ยงสมาธิสั้น” คลิกหน้า 2
อีกงานวิจัยโดยจอห์น ทอมป์สัน หัวหน้าทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ในนิวซีแลนด์ ระบุชัดว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลระหว่างตั้งครรภ์เพื่อบรรเทาปวด มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เด็กเกิดมามีความเสี่ยงสมาธิสั้นในภายหลัง
การศึกษาในครั้งนี้ อาศัยการค้นคว้าข้อมูลเด็กทารกในภูมิภาคยุโรปจำนวน 871 คน โดยเปรียบเทียบการใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ยาพาราเซตามอล โดยมีการวัดพฤติกรรมที่เข้าข่ายโรคสมาธิสั้นในเด็กอายุระหว่าง 7-11 ขวบ
ผลที่ได้พบว่า เด็กเกือบครึ่งที่คุณแม่รับประทานยาพาราเซตามอลขณะตั้งครรภ์ มีพฤติกรรมเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น ขณะที่ตัวยาอื่นๆ ไม่มีผลข้างเคียง
ล่าสุด สมาคมเภสัชกรรมแห่งชาติ ได้ให้คำแนะนำในการใช้ยาพาราเซตามอลติดต่อกันเป็นเวลานานในคุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงลูกน้อยที่คลอดออกมามีภาวะสมาธิสั้น และออทิสติก เนื่องจากการศึกษาพบว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลขณะตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีความเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นสูงถึง 30% และมีความเสี่ยงเป็นโรคออทิสติกสูงถึง 20%
Dr. Ilan Matok ผู้เขียนรายงาน จากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเล็ม กล่าวว่า ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาพาราเซตามอล เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิสติก หากใช้ยาเป็นเวลานานระหว่างตั้งครรภ์ โดยเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และลดระดับไอคิวในเด็กที่คุณแม่ใช้ยาขณะตั้งครรภ์
Dr. Shanna Swan จากโรงพยาบาล Mount Sinai New York กล่าวเพิ่มเติมว่า ทารกที่เกิดมามีพัฒนาการในการพูดล่าช้า พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานยาพาราเซตามอลมากกว่า 6 ครั้งระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้มีพัฒนาการที่ล่าช้า โดยเฉพาะการพัฒนาทางระบบประสาทของเด็ก
ดังนั้น หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว เป็นไข้ แนะนำให้พบแพทย์ที่ดูแลครรภ์ก่อน อย่าหาซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะแพทย์จะเป็นผู้แนะนำเองว่า คุณแม่ควรใช้ยามากน้อยเพียงใด หรือว่าไม่ควรใช้เลยในขณะที่ตั้งครรภ์ และหากคุณแม่ไม่อยากรับประทานยาในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น สิ่งแรกที่คุณแม่จะต้องทำเลยก็คือ การดูแลรักษาตัวเองให้ดี
อ่านต่อ “ดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่พึ่งยา พาราเซตามอล” คลิกหน้า 3
ดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่พึ่งยา พาราเซตามอล
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรง แต่อาการเจ็บป่วยนั้นคงเป็นเรื่องที่ห้ามกันได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบนี้ด้วยแล้ว และเพื่อเป็นการป้องกันให้ตัวเองห่างไกลจากโรค คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ปรุงให้สุก และครบทั้ง 5 หมู่นั้น จะช่วยให้คุณแม่ได้รับวิตามิน และแร่ธาตุมากมาย เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายของคุณแม่ และลูกน้อยแข็งแรง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายจะรู้สึกเพลีย การหาเวลางีบในระหว่างวัน รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอในเวลากลางคืน จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ไม่เพลีย และแข็งแรงได้
- ดื่มน้ำบ่อยๆ และทานผักผลไม้ให้เยอะๆ หากคุณแม่รู้สึกว่า ตัวเองกำลังจะเริ่มเป็นหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหวัดธรรมดานั้น เราสามารถเลี่ยงการรับประทานยาได้ด้วยการดื่มน้ำบ่อยๆ พักผ่อนมากๆ และรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีเยอะๆ ก็จะสามารถบรรเทาอาการหวัดให้ดีขึ้นได้
- เช็ดตัวเมื่อเป็นไข้ หากคุณแม่มีไข้ต่ำๆ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ให้คุณแม่หมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ เช็ดย้อนรูขุมขน ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบิดหมาดเช็ดตามใบหน้า ข้อพับ และดื่มน้ำตลอดทั้งวัน จากวันละ 6-8 แก้ว เพิ่มเป็นวันละ 8-10 แก้ว เพื่อระบายความร้อนในร่างกายให้ลดลง และอย่าลืมนอนหลับให้มากๆ
- คัดจมูกทำอย่างไร หากคุณแม่พบว่าตัวเองหายใจไม่สะดวก ให้นอนยกหมอนให้สูงกว่าปกติเล็กน้อย พร้อมกับใช้น้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น แต่หากยังไม่รู้สึกดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจะดีที่สุด
- เจ็บคอ อาการเจ็บคอ อีกหนึ่งอาการทรมานที่ไม่มีใครอยากเป็น โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถรับประทานยาอะไรได้มากนัก แนะนำให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ ประมาณ 5 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือจะจิบน้ำอุ่นๆ ตลอดทั้งวันก็ได้ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้
- พยายามทำใจให้สบาย การทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด จะช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลใจได้ อีกทั้งยังดีกับลูกน้อยในครรภ์ ทำให้อารมณ์ดีตามไปด้วย อย่าลืมหาเพลงเบาๆ ฟัง หรืออ่านหนังสือดีๆ สักเล่มในระหว่างวัน
- ปวดศีรษะ ให้คุณแม่ใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณท้ายทอยประมาณ 15-20 นาที แล้วหลับตาพักนิ่งๆ
- ปวดหลัง ให้คุณแม่อาบน้ำอุ่นจัด ใช้ความร้อนประคบบริเวณที่ปวด วันละ 3-4 ครั้ง นาน 20 นาที
- ท้องเสีย ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำขิงแก่ๆ
- มีอาการคัน ให้ใช้ครีมหรือโลชั่นทาหลังอาบน้ำ และทาระหว่างวันด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ซึ่งอาจช่วยลดอาการคันลงได้บ้าง
เครดิต: Webmd, โพสต์ทูเดย์, NewTV, โรงพยาบาลเปาโล, MedThai
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!
การใช้ยาในคุณแม่ตั้งครรภ์ และให้นมลูกน้อย
“ยาระหว่างตั้งครรภ์” ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
เปิดรายชื่อ 62 ยาที่คนท้องห้ามกิน อันตรายทั้งแม่และลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่