ลูกตัวเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ร่วมไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กันได้ที่นี่ค่ะ!
คุณพ่อที่มีภรรยาอยู่ในช่วงกำลังตั้งครรภ์ หรือแม้แต่ตัวคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น ก็มักจะมีความต้องการที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การคาดหวังในเพศของลูก การขอให้ลูกมีร่างกายอวัยวะครบ 32 ส่วน น้อยคนนักที่จะกังวลถึงน้ำหนักตัวของทารกแรกเกิดว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ เนื่องจากมีคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า ตอนท้องนั้น ดูแลตัวเองอย่างดี รับประทานอาหารดี ๆ มีประโยชน์เยอะมาก แต่ทำไม ลูกตัวเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดได้ ว่าแต่จะเป็นเพราะอะไรนั้น ทีมงาน Amarin Baby And Kids ได้รวบรวมเอา 5 เหตุผลมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านแล้วละค่ะ พร้อมกับไขข้อข้องใจน้ำหนักตัวทารกแรกเกิดต้องหนักเท่าไรถึงจะอยู่ตามเกณฑ์ … พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ
ลูกตัวเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดเพราะอะไร?
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ ลูกตัวเล็ก ตั้งแต่แรกเกิดนั้น มีด้วยกันทั้งสิ้น 5 สาเหตุใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
1.ลูกคลอดก่อนกำหนด – เด็กที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่นั้น จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 2,500 กรัม ซึ่งแพทย์จะให้การดูแลรักษาเป็นพิเศษด้วยการให้อาหารผ่านทางสายยาง การสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากมีสารอาหารสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและร่างกายให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรง สำหรับสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดนั้นเกิดจาก
- การที่คุณแม่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ หรือได้รับควันบุหรี่จากคนใกล้ชิดเป็นประจำ
- คุณแม่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- น้ำหนักของคุณแม่ขณะกำลังตั้งครรภ์นั้นน้อยจนเกินไป
- ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์
- การติดเชื้อบางในชนิดในช่วงตั้งครรภ์ อันได้แก่ โรคหัดเยอรมัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางเดินปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือติดเชื้อในช่องคลอด เป็นต้น
2.ร่างกายขาดสารอาหาร – คุณแม่บางท่านอาจจะกังวลใจเรื่องหุ่น กลัวว่าหลังคลอดลูกแล้วน้ำหนักไม่ลด จึงเป็นเหตุให้ทำการควบคุมอาหาร ซึ่งหารู้ไม่ว่า พฤติกรรมดังกล่าวนั้นส่งผลเสียให้กับตัวเองและทารกในครรภ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจทำให้ ลูกตัวเล็ก ได้ และอาหารที่คุณแม่ควรรับประทานไม่ให้ขาดนั้นได้แก่
- โปรตีน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง ถ้าลูกได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติ มีมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ปลา นม ไข่ รวมถึงถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น เหมาะสำหรับแม่ท้องทุกไตรมาส เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารหลักสำหรับร่างกายในการสร้างและเพิ่มขนาดเซลล์ สร้างน้ำนม เพิ่มปริมาตรเลือด สร้างน้ำย่อย สร้างภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โปรตีนจึงจำเป็นต่อแม่ท้องและลูกน้อยตั้งแต่แรกปฎิสนธิจนถึงกำหนดคลอด
- คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย และเป็นอาหารที่จำเป็นของสมองของลูก พบในข้าว ขนมปัง ธัญพืช ผลไม้ น้ำตาล และน้ำผลไม้สด เป็นต้น
- กรดโฟลิค การทานอาหารที่มีกรดโฟลิค ในขณะที่ตั้งครรภ์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับทารกในครรภ์ เนื่องจากกรดโฟลิคมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิด อาหารที่มีกรดโฟลิคอยู่สูงมากมาทานได้ก็เช่น ผักที่มีสีเขียว เช่น บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี ฝักถั่ว และเมล็ดถั่ว และผลไม้อย่างส้ม เป็นต้น
- โอเมก้า 3 มีส่วนช่วยให้ระบบประสาทของทารกพัฒนาไปได้ด้วยดี และช่วยป้องกันโรคหัวใจในคุณแม่อีกด้วยปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาแซลมอน ปลาเหล่านี้จะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สูงมาก ๆ แต่การทานไม่ควรที่จะทานมากไปกว่า 2 ส่วนต่อสัปดาห์ เพราะในเนื้อปลาจะมีสารปรอทอยู่ด้วย หากทานมากในปริมาณที่มากไป อาจส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้กรดไขมันโอเมก้า 3 ยังมีในเมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง การทานก็ให้ทานอยู่ที่ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน เท่านี้ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว
- สังกะสี ช่วยด้านการเจริญเติบโตของทารก สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย บำรุงเส้นผมและผิวหนังให้มีสุขภาพแข็งแรง แหล่งที่พบได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ ข้าวซ้อมมือ งา ถั่ว เมล็ดฟักทอง ผักกาด ลูกเกด กล้วยหอมและอะโวคาโด
- แคลเซียม มีบทบาทในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง อีกทั้งยังช่วยให้การทำงานของระบบกล้ามเนื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งที่พบได้แก่ นม เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อยและผักใบเขียวเข้ม
- วิตามินทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น A, B1, C, D และ E ช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกาย และยังช่วยควบคุมระบบประสาท ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมต้านภูมคุ้มกันต่าง ๆ เป็นต้น
3. ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นเรื่องปกติที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากครอบครับใดที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่ตัวเล็กละก็ โอกาสที่ ลูกตัวเล็ก นั้นย่อมเกิดข้ึนได้ ในทางกลับกันหากครอบครัวใดที่มีคุณพ่อคุณแม่ท่านใดท่านหนึ่งตัวใหญ่ โอกาสที่ลูกคลอดออกมาก็ลำตัวใหญ่นั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
4.การมีโรคประจำตัว การที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันหรือโรคหัวใจนั้น โอกาสที่ลูกตัวเล็กตั้งแต่แรกเกิดนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ค่ะ สาเหตุสืบเนื่องมาจากการที่เลือดไหลเวียนไม่ได้ดีเท่าที่ควร หรือร่างกายขาดออกซิเจน เป็นต้น
5.ตั้งครรภ์แฝด หมายถึงการตั้งครรภ์มากกว่า 1 คนนั้น ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวของคุณแม่จริง ๆ ไหนจะต้องมาคำนึงถึงเรื่องน้ำหนักตัวของทารกที่อยู่ในครรภ์ อาหารการกิน การคลอด … ซึ่งการรับประทานอาหารนั้นทารกแต่ละคนจะต่างพากันรับประทานอาหารที่คุณแม่ท่านเข้าไป ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับปริมาณอาหารไม่ทั่วถึง จึงทำให้ ลูกตัวเล็ก เป็นต้น
สำหรับน้ำหนักตัวของทารกแรกเกิดที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์นั้น คือโดยทั่วไปแล้วทารกที่คลอดตามปกตินั้น จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยนประมาณ 2.5-4 กิโลกรัม แต่ถ้าหากน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทารกที่ครบกำหนดหรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด ให้ถือว่าอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (low birth weight) แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ เมื่อเขาเติบโตขึ้นน้ำหนักตัวของเขาก็จะเพิ่มไวกว่าเด็กทั่วไปเช่นกันค่ะ
อ้างอิง: Momjunction
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสใจ:
- 10 ข้อห้ามคนท้อง ที่ต้องระวังขณะตั้งครรภ์
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในสตรีมีครรภ์ เรื่องที่คุณแม่ท้อง ต้องระวัง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่