มีสารพัด ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนท้อง ที่ทำให้คุณแม่สงสัยและกังวลกันมาก ไม่ว่าจะเรื่องห้ามขึ้นเครื่องบิน ห้ามออกกำลังกาย ตั้งครรภ์เกิน 41 สัปดาห์ได้ หรือห้ามนั่งรถที่ช่วงล่างไม่ดี ซึ่งความเชื่อบางอย่างไม่เป็นความจริง ดังนั้นเราจึงนำ 5 ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ เหล่านี้มาอธิบายกันค่ะ
ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์
ยังมีอีกหลายความเชื่อที่บอกเล่าต่อกันมาซึ่งหลายๆความเชื่อทําเอาคุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนไม่กล้าทําอะไรเพราะกลัวจะเกิดอันตรายกับลูกในท้อง Amarin baby&Kids จึงขอไปสืบเสาะความจริงจากสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาฝากคุณแม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ค่ะ
ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ ไตรมาสแรก 0-13 สัปดาห์
-
ความเชื่อ : คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสนี้ไม่ควรขึ้นเครื่องบิน
ความจริง : คุณแม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ตามปกติเพราะตามกฎการบินผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นได้ถึงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์เพียงแต่หลังอายุครรภ์ 22-24 สัปดาห์ไปแล้วต้องมีใบรับรองแพทย์ด้วยในกรณีนี้ คือ ตั้งครรภ์ลูกคนเดียว หากเป็นตั้งครรภ์แฝดต้องดูเป็นรายๆไป เพราะครรภ์แฝดเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ส่วนที่มีความกังวลว่า การลงจอดแต่ละครั้งจะทําให้เกิดการกระแทก ตรงนี้ไม่มีผลกระทบอะไร เพราะในช่วงไตรมาสนี้ มดลูกยังอยู่ในกระดูกเชิงกรานยังไม่ได้โผล่พ้นออกมาต้องเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกเชิงกรานหักถึงจะไปโดนมดลูกและมีผลกระทบกับลูกตามมา นอกจากความกังวลดังกล่าวแล้ว อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวังคือเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นฮอร์โมนมีมากขึ้น อาจเกิดเส้นเลือดอุดตันและกลัวเจ็บท้องบนเครื่องบินได้
บทความแนะนำ ไขข้อข้องใจ แม่ท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ?
-
ความเชื่อ : แม่ท้องไม่ควรนั่งรถยนต์ที่มีช่วงล่างกระด้างและนั่งมอเตอร์ไซค์
ความจริง : รถยนต์ที่มีช่วงล่างกระด้างขับแล้วกระเทือน หรือมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้มีผลกระทบกับคุณแม่เช่นเดียวกัน แต่ที่ต้องเป็นห่วงคือเรื่องของอุบัติเหตุ ในกรณีที่รถมีแอร์แบ็ก เมื่อมันทํางานอาจเกิดแรงกระแทกที่เป็นอันตรายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ แนะนําให้คุณแม่นั่งด้านหลังจะปลอดภัยที่สุด และควรรัดเข็มขัดนิรภัยด้วยทุกครั้งซึ่งวิธีการรัดเข็มขัดในช่วงไตรมาสแรกนี้ไม่ค่อยน่าห่วง แต่หากคุณแม่อายุครรภ์มากขึ้นไม่ควรรัดเข็มขัดพาดผ่านมดลูก โดยคุณแม่ควรรัดเข็มขัดนริภัยเส้นบนตามปกติ แต่เส้นล่างให้พาดตรงหน้าขาเพราะถ้าพาดผ่านมดลูกเมื่อเกิดการเบรกกะทันหันอาจทําให้เกิดการกระชากของรกและมดลูกได้ สําหรับการโดยสารมอเตอร์ไซค์หากคุณแม่เลี่ยงได้ควรเลี่ยงเพราะมักเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงกว่ารถยนต์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสสอง คลิกต่อหน้า 2
ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ ไตรมาสที่สอง 14-27 สัปดาห์
-
ความเชื่อ : คุณแม่เครียดตลอดขณะตั้งครรภ์ น้อยใจคนรอบข้างจนร้องไห้ บ่อยมาก มีผลให้ลูกในท้อง งอแง เลี้ยงยาก
ความจริง : ที่กล่าวกันว่าความเครียดส่งผลต่อลูกในท้อง ทำให้ลูกเป็นเด็กไม่ร่าเริง งอแง เลี้ยงยากนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะความเครียดของแม่ไม่มีผลทางด้านอารมณ์ของเด็กในท้อง แต่เกี่ยวเนื่องในเรื่องของการเจริญเติบโต เพราะเมื่อแม่เครียดจะกินอาหารได้น้อย ส่งผลทําให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนตามไปด้วยส่วนตัวคุณแม่เองความเครียดจะส่งผลกระทบเต็มๆ เพราะในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่มีอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้าได้ง่ายอยู่แล้วถ้าคุณแม่ไม่ได้ดูแลตัวเองอาการต่างๆ จะเยอะขึ้นจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงได้
สิ่งที่น่ากังวล คือ หลังคลอดฮอร์โมนจะลดลงทันทีอย่างฮวบฮาบ ในคนที่มีภาวะนี้มาก่อนช่วงหลังคลอดอาการจะหนักมากขึ้น มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ด้วยถ้าไม่รักษามีโอกาสเกิดภาวะนี้ถาวรได้ต้องระวังและควรควบคุมอารมณ์ให้ดีเพราะถ้าตอนตั้งครรภ์มีอาการแบบนี้หลังคลอดคุณแม่อาจมีอาการที่แย่ลงจนไม่สามารถเลี้ยงดูลูกน้อยได้ จึงแนะนําให้ปรึกษาแพทย์ เพราะจะมียาทางจิตเวชหลายตัวที่กินแล้วไม่เกิดผลกระทบกับคุณแม่ตั้งครรภ์ และหากเป็นไปได้ควรขอความช่วยเหลือจากครอบครัวเข้ามาดูแลให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพจิตใจ ควรเปิดอกคุยกับสามีตรงๆ แต่ถ้าสุดท้ายไม่สามารถตกลงกันได้ควรจูงมือกันไปพบคุณหมอซึ่งจะอธิบายถึงผลเสียของภาวะดังกล่าวให้คุณพ่อเข้าใจ
การที่คุณแม่เครียดจนรับประทานอาหารไม่ได้ นอกจากลูกจะตัวเล็กไม่แข็งแรงแล้ว อาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูง มดลูกบีบตัวเกิดครรภ์เป็นพิษตามมาในที่สุด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
ความเชื่อ : คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรออกกําลังกาย
ความจริง : หากใครมีภาวะรกเกาะต่ำที่มีเลือดออก ตั้งครรภ์แฝด หรือมีอาการเจ็บท้องก่อนกําหนด กรณีเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการออกกําลังกายแต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติไม่มีอาการใดๆ แทรกซ้อนก็สามารถออกกำลังกายได้โดยก่อนตั้งครรภ์เคยออกกําลังกายแบบไหนพอตั้งครรภ์ก็ทําได้เหมือนเดิม
เพียงแต่อย่าให้มากหรือหักโหมไปกว่าเดิม เนื่องจากเคยมีกรณีคุณแม่วิ่งมาราธอนมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ถึงตอนนี้ตั้งครรภ์อยู่ก็วิ่งได้ปกติ เพียงแค่พอตั้งครรภ์ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณเลือดเยอะขึ้นเอ็นและกล้ามเนื้อเริ่มหย่อน เมื่อออกกำลังกายไปได้สักพักจะรู้ว่าตัวเองสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เหนื่อยเมื่อไหร่ก็หยุด หรือออกกำลังกายลดลง ซึ่งการออกกําลังกาย เช่น ออกกําลังกายในน้ำ วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ โยคะ สามารถทําได้แต่การยกเวทไม่ควรทํา
ติดตาม ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสสาม คลิกต่อหน้า 3
ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์ ไตรมาสที่สาม 28-41 สัปดาห์
-
ความเชื่อ : ถ้า 41 สัปดาห์แล้วน้ำยังไม่เดินก็ควรรอไปก่อนจนกว่าจะถึงเวลา
ความจริง : เมื่อครบกําหนด 41 สัปดาห์ รกจะเริ่มเสื่อม น้ำคร่ำจะเริ่มลดลง นั่นหมายถึง ลูกจะขาดสารอาหาร ในช่วงนี้คุณแม่ต้องนับการดิ้นของลูกทุกวัน หากดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ถ้าการดิ้นเป็นปกติก็อย่าเพิ่งวางใจ พยายามไปพบคุณหมอให้ถี่ขึ้น ทั้งนี้ ปกติหากครบกำหนดคลอดแล้วจะรอให้ได้ไม่เกิน1-2 สัปดาห์ คือ ไม่เกินอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ หากมากกว่านั้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนกับลูกน้อยในครรภ์ได้ทั้งนี้เมื่อน้ำคร่ำลดลงลูกน้อยจะเริ่มถ่ายอุจจาระเมื่อลูกหายใจเข้าไปจะเกิดการสําลักน้ำคร่ำได้ อีกทั้ง เมื่อเด็กอายุครรภ์โตขึ้น โอกาสคลอดเองก็ยากเป็นเงาตามตัวไปด้วย จึงทำให้ต้องผ่าตัดคลอด ส่วนรกเมื่อเริ่มเสื่อมอาหารก็ไปเลี้ยงที่ลูกน้อยลดลงลูกจะขาดอาหารระหว่างนี้ก็จะตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดมากน้อยแค่ไหน บีบตัวดีไหม หากปากมดลูกเปิดดีจะกระตุ้นให้คลอดทางช่องคลอด ซึ่งการคลอดเองดีกว่าการผ่าตัด เพราะลูกน้อยจะผ่านมาทางช่องคลอดทําให้ได้เชื้อแบคทีเรียปอดจะไม่มีน้ำเข้าไปเยอะ แต่ปัญหา คือ หากปล่อยให้ลูกอยู่ในท้องจนเกินกำหนดคลอดไว้นานลูกจะตัวโตและคุณแม่จะไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้
ข้อมูลโดย : รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา หัวหน้าหน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
ทำนายเพศลูก ตำราจีน แม่นหรือไม่? แม่ท้องต้องลอง
สุดเจ๋ง! 15 ไอเดียสำหรับพ่อแม่มือใหม่ใช้เลี้ยงลูก
แชร์ประสบการณ์จากแม่ คลอดลูกก่อนกำหนด เพราะสายรกพันกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่