คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย! - Amarin Baby & Kids
คนท้องกินยาพาราได้ไหม

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!

event
คนท้องกินยาพาราได้ไหม
คนท้องกินยาพาราได้ไหม

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง !? คนท้องกินยาอะไรไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และถ้าคนท้องไม่สบายต้องทำอย่างไร ตามมาดูคำแนะนำจากคุณหมอนิวัฒน์กันค่ะ

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง?

คนท้อง หรือหญิงตั้งครรภ์ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อภาวะเจ็บไข้ ได้ป่วย มิหนำซ้ำถ้าเป็นโรคในกลุ่มของโรคติดเชื้อ อาการจะรุนแรงกว่าคนปกติที่ไม่ได้ตั้งครรภ์  เช่น การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นอาการปอดบวมได้ง่ายและรุนแรงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มต่ำลงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นเมื่อหญิงตั้งครรภ์ท่านใดพบว่าตัวเองไม่สบาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

วันนี้หมอขอให้ความรู้เกี่ยวกับยาต่างๆ ที่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบว่า … คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาตัวไหนห้ามใช้สำหรับคนท้อง ยาตัวไหนใช้ได้อย่างปลอดภัย และตัวไหนที่จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยทั่วไป ยาที่เราใช้กันในปัจจุบัน สามารถแบ่งแยกตามหลักวิชาการได้ 5 หมู่ คือ A, B, C, D และ X  ดังนี้ (แบ่งตาม Food and Drug Administration of America หรือ FDA)

คนท้องกินยาพาราได้ไหม

กลุ่ม การศึกษา ตัวอย่างยา
A มีการศึกษาแบบควบคุมในมนุษย์ ไม่พบความเสี่ยง วิตามิน บี 6

Folic acid

B ไม่มีการศึกษาแบบควบคุมในมนุษย์

แต่ไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง

Paracetamol

Azithromycin

Amoxicillin

Erythromycin

C ไม่มีการศึกษาแบบควบคุมใน มนุษย์ และสัตว์ทดลอง Ciprofloxacin

corticosteroids

D มีข้อมูลก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ Tetracycline

Doxycycline

X มีการศึกษาแบบควบคุมในมนุษย์และสัตว์ทดลอง

ทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์

Misoprostol

Methotrexate

 

จากคำถาม คนท้องกินยาพาราได้ไหม สรุปง่ายๆ ก็คือ ยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย คือ กลุ่ม A และ B ในกลุ่ม  C แพทย์จะเลือกใช้เมื่อมีความจำเป็นและเปรียบเทียบความเสี่ยงต่อยาและต่อโรคที่เป็นแล้ว เห็นว่าคุ้มค่าต่อการใช้ยา  ส่วนยา ในกลุ่ม D และ X เป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

มาถึงคำถามที่ว่า ยาที่คนท้องห้ามกิน คำตอบก็คือ ยาที่อยู่ในกลุ่ม D และ X ซึ่งยาเหล่านี้ไม่สามารถหาซื้อได้เองตามท้องตลาดทั่วไป  มักจะเป็นยาที่แพทย์สั่งและใช้ในโรคเฉพาะ เช่น ยา Thalidomide  ซึ่งสมัยก่อนใช้ในการรักษาอาการแพ้ท้อง ต่อมาพบว่ายานี้ทำให้เด็กเกิดมาแขนขาพิการผิดรูปได้ ปัจจุบันยานี้จึงถูกยกเลิกการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ยากลุ่มนี้ที่ยังใช้อยู่ในในปัจจุบัน และใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในวัยรุ่น คือ  ยารักษาสิวที่ชื่อ Accutane หรือ Roaccutane หรือ  Isotretinoin  เป็นยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ใบหู และหัวใจทารกในครรภ์ ได้ถึงร้อยละ 50 ถ้าใช้ในช่วงไตรมาสแรก หรือ ช่วง 3 เดือนแรก (12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์) ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่รักษาด้วยยาตัวนี้ หมอแนะนำให้คุมกำเนิดให้ดี ไม่ควรตั้งครรภ์ในช่วงที่ใช้ยานี้อย่างเด็ดขาด ส่วนยาในกลุ่ม D  เช่น ยาปฎิชีวนะ ชื่อ เตตระไซคลิน ( Tetracycline)  ทำให้เกิดฟันสีเหลืองในเด็กอย่างถาวร มักพบเมื่อมีการใช้ยาในอายุครรภ์ประมาณ 5-6  เดือนขี้นไป ซึ่งเป็นระยะการสร้างฟันของตัวอ่อน ปัจจุบัน แทบไม่มีใช้แล้ว

จะเห็นว่าในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์ไม่แนะนำให้กินนยาใดๆ เลย นอกจาก กรดโฟลิก เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเป็นช่วงสร้างอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ สารบางชนิดถ้าได้รับมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ เช่น ธาตุเหล็ก มักจะมีส่วนผสมของวิตามินอีกหลายๆ ชนิด

การได้วิตามินบางชนิดที่มากเกินไป โดยเฉพาะในส่วนวิตามินเอ (A) อาจส่งผลต่อการสร้างอวัยวะ และความพิการของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่มีอาการพะอืดพะอม หรืออาการแพ้ท้อง การรับประทานธาตุเหล็ก หรือ แคลเซียมอาจทำให้อาการแพ้เป็นมากขึ้นก็ได้ จึงควรกินยาเหล่านี้หลังจากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปจะเหมาะสมกว่า

ในช่วงของการตั้งครรภ์ ถ้ามีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ คนท้องกินยาพาราได้ไหม คำตอบก็คือสามารถหายากินเองได้ เพื่อบรรเทาอาการไปก่อน นอกจากถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ อาการดังกล่าว  เช่น  ⇓

คนท้องกินยาพาราได้ไหม ถ้าคนท้องไม่สบายต้องทำอย่างไร?

อาการปวดศีรษะ ถ้าเป็นปวดศีรษะแบบธรรมดาที่เรียกว่า Tension headache  อาการปวดศีรษะจะปวดตึงๆเหมือนเข็มขัดรัดรอบศีรษะ ปวดบริเวณต้นคอหนังศีรษะ อาการปวดศีรษะจะมากเมื่อมีความเครียด เสียงดัง อดนอนสามารถหายากินนเองได้ สำหรับอาการนี้ คนท้องกินยาพาราได้ไหม ซึ่งยาที่หมอแนะนำคือ พาราเซตตามอล (Acetaminophen) เป็นยาในกลุ่ม B ที่สามารถกินได้ โดยมีชื่อการค้า เช่น ซีมอล (Cemol), พานาดอล (Panadol), พาราแคพ (Paracap), ซาร่า (Sara), เทมปร้า (Tempra), ไทลินอล (Tylenol) ยาชนิดนี้กินตามน้ำหนักตัว 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น หนัก 50 กิโลกรัม ก็กินเม็ด 500 มิลลิกรัม ถ้าน้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม ก็ให้กินเม็ด 500 มิลลิกรัม  2 เม็ด (หรือจะหักกิน 1 เม็ดครึ่งก็ได้) กินได้ทุก 4-6 ชั่วโมง วันละไม่ควรเกิน 8 เม็ด (4,000 มิลลิกรัม) ระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ

⇒ แต่ถ้าเป็นอาการปวดศีรษะไมเกรน คนท้องกินยาพาราได้ไหม ซึ่งจะปวดศีรษะแบบตุ้บๆ ตามชีพจร ส่วนมากจะเกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียว แต่ในบางรายก็พบว่าเกิดอาการปวดทั้ง 2 ข้างได้ บริเวณที่ปวดจะเป็นด้านหน้าและด้านข้างของศีรษะ ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก ยาที่ใช้ในการรักษาไมเกรนที่ได้ผลดี คือ คาเฟอร์กอท (Cafergot =  Ergotamine+Caffeine) เป็นยาในกลุ่ม X ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ การใช้ยาในขนาดสูงจะขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปสู่ทารก ทําให้เกิดความผิดปกติระบบลำไส้ สมอง และปราสาทไขสันหลังได้

ดังนั้นถ้าหญิงตั้งครรภ์เป็นไมเกรนแล้วกินยาแก้ปวดในกลุ่ม พาราเซตตามอลแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรมาปรึกษาแพทย์อายุรกรรมระบบประสาท (Neurology Medicine) เพื่อปรับยา  แต่ถ้ามีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ และวัดความดันพบว่าความดันโลหิตสูง (มากกว่า 149/90 มิลลิเมตรปรอท) แสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมักเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ถ้ามีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์มีอาการชักได้ อันตรายทั้งต่อทารกในครรภ์และตัวหญิงตั้งครรภ์เองเป็นอย่างมาก

คนท้องกินยาพาราได้ไหม

หวัด (Common Cold) หมายถึง การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โดยมีอาการ มีน้ำมูกใสๆ ไหล จาม คัดจมูก บางคนครั่นเนื้อครั่นตัว ต่อมาน้ำมูกอาจเปลี่ยนเป็นสีเขียวเนื่องจาก เม็ดเลือดขาว (PMN) หลั่งสารออกมากำจัดเชื้อโรค การมีน้ำมูกสีเขียวหรือเหลืองจีงไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเสมอไป อาจมีอาการไอตามมาทีหลังได้ อาการไข้มักจะไม่สูงมากและเป็นอยู่ไม่เกิน 3 วัน อาการหวัดมักจะหายไปเองใน 3 – 4 วัน หรือไม่เกิน 7 วัน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส  (Rhinovirus) แนะนำให้นอนพักผ่อนให้มากๆ กินน้ำอุ่นเยอะ และให้การรักษาตามอาการที่เป็น เช่น มีไข้ คนท้องกินยาพาราได้ไหม คำตอบก็คือสามารถใช้ยากลุ่ม พาราเซทตามอล ได้ แต่ไม่ควรใช้ ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) โดยเฉพาะในรายที่สงสัยโรคไข้เลือดออก)

  • อาการคัดจมูก มีน้ำมูก ก็ให้ยาลดน้ำมูกในกลุ่มต้านภูมิแพ้ หรือ แอนตี้ฮีสตามิน (Antihistamine) เช่น คลอร์เฟนนิรามีน (Chlorphenniramine : CPM) เป็นยาที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ แต่ทำให้มีอาการง่วงซึม จึงไม่ควรขับรถขณะใช้ยานี้ ยาอม ยาพ่นคอต่างๆ ที่ช่วยลดอาการระคายคอสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
  • ส่วนยาแก้ไอ ถ้ามีอาการไอแบบมีเสมหะ ใช้ยาในกลุ่มอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine: Class B) และ บรอมเฮกซีน (Bromhexine: Class B) ใช้ได้อย่างปลอดภัย
  • ถ้าเป็นไอแห้งๆ ยาในกลุ่ม เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan: Class C) ก็สามารถใช้ได้เช่นกันเนื่องจากที่ผ่านมายังไม่พบรายงานการใช้ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ ยาที่ควรหลีกเลี่ยง คือยาแก้ไอชนิดน้ำดำต่างๆ ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • แต่ถ้าเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หมอจะตรวจดูคอถ้าพบว่า มีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล มีฝ้าสีเทาที่ลิ้น และมักจะคลึงพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้ขากรรไกรโต หรือ ถ้ามีอาการหวัดนานเกิน 2 สัปดาห์ให้สงสัยว่าอาจมีภาวะไซนัสอักเสบ หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย แพทย์มักจะให้การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะที่คนไข้ไม่แพ้ และปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ (ส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่ม B เช่น เพนนิซิลิน)

แต่บางรายอาจมีไข้สูง บางรายมีอาการไข้หนาวสั่น และปวดเมื่อยเนื้อตัว แนะนำไปพบแพทย์เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาการในหญิงตั้งครรภ์อาจรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนปกติทั่วไป หมอจึงแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงอายุครรภ์ ตั้งแต่ 16 สัปดาห์เป็นต้นไป

อาการท้องเสีย คือ อาการที่ถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ 1 ครั้ง ขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง เป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง มีโอกาสที่เมื่อรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด สุกๆ ดิบๆ จะเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป การรักษาถ้าเป็นอาการท้องเสียทั่วไป (Watery Diarrhea) มีอาการถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ยังกินอาหารได้ปกติ แนะนำให้กินน้ำเกลือผงละลายน้ำ (ORS) กินบ่อยๆ แทนน้ำ

แต่ถ้าเป็นท้องเสียจากการติดเชื้อ มักจะมีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด อุจจาระมีกลิ่นเหม็นหรือคาวมาก ปวดบิดท้องเป็นพักๆ บางรายอาจมีไข้ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย ถ้ากินอาหารหรือน้ำไม่ได้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือทดแทนการเสียน้ำจากการถ่ายหลายๆ ครั้ง และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อในทางเดินอาหาร

อาการปวดท้อง จุกแน่นท้อง เป็นอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคกรดไหลย้อน ที่คนท้องมักจะเป็นกันเยอะ เนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทำให้ลำไส้ทำงานช้าลง อาหารจึงค้างอยู่ในทางเดินอาหารนาน ทำให้เกิดอาการอืดแน่นท้องได้บ่อย ร่วมกับฝาปิดหลอดอาหารในคนท้องปิดไม่สนิท ทำให้กรดต่างๆเกิดการไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร คนไข้จะมีอาการจุกแสบลิ้นปี่ (Heart Burn) มีอาการเป็นพักๆ ตามจังหวะการบีบตัวของลำไส้ บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เรอเปรี้ยว ร่วมด้วย ยาในกลุ่มยาเคลือบกระเพาะ เช่น ยาธาตุน้ำขาว (Alum milk) ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอร์สามารถใช้ได้ดี  หรือ กาวิสคอน (Garviscon : ประกอบด้วย โซเดียมอัลจิเนต+โซเดียมไบคาร์บอเนต) ใช้สูตรธรรมดาที่ ไม่ใช่ Dual action (มีแคลเซี่ยม คาร์บอเนต : Class C) ตัวยาโซเดียมอัลจิเนตเมื่อสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นชั้นเจล และลอยตัวอยู่เหนือกรดในกระเพาะ ป้องกันการไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ส่วนโซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นยาลดกรดที่ออกฤทธิ์ได้เร็ว ไม่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดจึงมีความปลอดภัยสูง และสามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ ร่วมกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น การรับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ และลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง รวมทั้งเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่นอนหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มอัดแก๊สอัดลมต่างๆ  รวมถึงอาหารที่มีรสจัดมากๆ เช่น เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด

อาการผื่นคัน ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่คนไข้มาหาแพทย์ การมีผื่นคันส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดผื่นที่เรียกว่า ผื่นฮอร์โมนในคนท้อง Pruritic urticarial papules and plaques of pregnancy (PUPP) สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าเกิดจากผนังท้องขยายมากขึ้น  อาการผื่นนูนแดงขนาดประมาณ 1-2 มม. พบมากบริเวณหน้าท้อง แล้วจึงกระจายไปที่ ต้นขา ก้น หน้าอก และแขน โดยทั่วไปมีอาการคันมาก หายได้เองหลังคลอดภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่มีอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์แต่อย่างใด

การรักษาโดยการใช้ยาคาลาไมน์ หรือยาทาที่เป็น กลุ่มของยาสเตียรอยด์หรืออาจจะเป็นโลชั่นที่ช่วยทำให้ผิวหนังของคุณแม่ชุ่มชื้นขึ้น ส่วนอีกชนิดหนี่งคือ Atopic eruption of pregnancy หรือ ผื่นแพ้ ซึ่งสัมพันธ์กับผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้ พบในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ผื่นพบได้ 2 แบบคือชนิด eczematous เป็นผื่นแดง คัน บริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก และข้อพับแขนขาอีกชนิดหนึ่งคือชนิด papular eruption ซึ่งเป็นตุ่มแดง คัน กระจายทั่ว เป็นบริเวณด้านนอกของแขนขา  การรักษาก็จะเป็นยาในกลุ่มสเตอรอยด์ครีม เช่นกัน นอกจากนี้ยาที่ใช้ภายนอกทั้งหลาย รวมถึงยาที่ใช้ทาลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ไดโคลฟิแนค  Diclofenac Gel  หรือ Balm สำหรับถูนวดสามารถใช้ได้ และเครื่องสำอางที่ใช้ทาตามตัวหรือใบหน้าก็สามารถใช้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอ (มักจะพบในเครื่องสำอางหรือครีมรักษาสิว)

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดปัญหากับทารกในครรภ์ได้  จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด ยกเว้นเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น  หรือเป็นการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ จะปลอดภัยต่อทารกในครรภ์มากที่สุดครับ

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพได้เลย 

วัคซีนสำหรับคนท้อง จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง ?

ทำไมต้องผ่าคลอด ข้อบ่งชี้ที่แม่เลือกคลอดเองตามธรรมชาติไม่ได้!

ตั้งชื่อลูกพร้อมความหมาย 200 ชื่อมงคล ความหมายดี ถูกต้องตามหลักโหรศาสตร์

ผมร่วงหลังคลอด แม่มือใหม่รับได้มั้ย 6 เคล็ดลับป้องกันผมร่วงให้ลูกจำหน้าแม่ได้แบบสวยๆ

ไอเดีย ชื่อลูก 1,000 ชื่อ รวมฮิตชื่อเล่น ชื่อลูกสาว-ลูกชาย หลายภาษา

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up