ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะเงียบคร่าชีวิตแม่! … อย่าลืมสังเกตตัวเองให้ดี และต้องรู้จักวิธีเอาชนะมันให้ได้!
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด … ภาวะที่คนไม่เคยเป็นไม่มีวันเข้าใจ และชอบที่จะพากันต่อว่าต่อขานว่า “ทำตัวเป็นนางเอกเจ้าน้ำตา สำออย และเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง” แต่ใครเลยจะรู้ว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมันห้ามกันไม่ได้! ซึ่งเป็นภาวะที่คนรอบข้างต้องคอยช่วยสังเกต ให้การดูแล และคอยเยียวยารักษา ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเพราะมองว่ามันคือเรื่องไร้สาระ … ซึ่งกว่าจะรู้ว่าภาวะนี้ร้ายแรงและน่ากลัวเพียงใด ก็เกิดการสูญเสียก่อนแล้ว!
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านคะ … หลาย ๆ ท่านคงจะพอจะทราบกันมาบ้างแล้วว่า ภาว ะซึมเศร้าหลังคลอด นี้คืออะไร แต่สำหรับใครหลาย ๆ คนที่ไม่ทราบ และไม่เคยเป็น รวมถึงคุณสามีทั้งหลายที่ชอบตำหนิคุณภรรยาว่าสำออยบ้างละ เรียกร้องความสนใจบ้างละ … จงฟังให้ดี!! เพราะคุณคงไม่อยากที่จะต้องเสียใจไปตลอดชีวิตด้วยความเข้าใจที่ผิด ๆ ของคุณแน่!!
วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids รู้สึกเศร้าใจอีกครั้งหลังทราบข่าวการจากไปของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายภายหลังจากที่คลอดลูกได้เพียงแค่ 4 เดือน ด้วยปัญหาความเครียดที่รุมเร้า ประกอบกับภาวะซึมเศร้า ทำให้คุณแม่ท่านนี้ต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด … และนี่ไม่ใช่เคสแรก หรือเคสที่สอง ที่สาม ที่เกิดขึ้น และยังคงมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ หากคนรอบข้างยังไม่ให้ความสำคัญ
เชื่อไหมคะว่า ทีมงานเองพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นลำดับต้น ๆ แต่ก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่บางท่านยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรเนื่องจากคิดว่ามันคือเรื่องไกลตัว แต่หารู้ไม่ว่า พฤติกรรมบางอย่างที่คุณกำลังแสดงออกอยู่นั้น ก็ถือเป็นสัญญาณบอกแล้วละค่ะว่า คุณก็กำลังเป็นหนึ่งในบุคคลที่กำลังมีความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทราบหรือไม่คะว่า ร้อยละ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ของคุณแม่นั้น มีอาการซึมเศร้าปานกลางซึ่งอาการที่แสดงออกนั้นก็ได้แก่
- เหนื่อยง่าย
- เบื่ออาหาร
- นอนไม่หลับ
- นอนทั้งวัน เป็นต้น
ส่วน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่เราเรียกกันว่า Maternity Blues นั้นเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดนั่นคือ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์!! ซึ่งอาการนั้นจะเริ่มต้นจาก อาการซึมเศร้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน และมักจะปรากฎให้เห็นในช่วง 2-5 วันหลังคลอด โดยคุณแม่บางท่านก็มีภาวะดังกล่าวในช่วงเวลาแค่ 2-5 วันหลังคลอด แต่สำหรับบางท่านเป็นนานเป็นเดือนก็มีเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาหรือรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที พอเป็นนานเข้าอาการดังกล่าวก็ทรุดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นสาเหตุของการจบชีวิตตัวเองในที่สุด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไรได้บ้าง?
- เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเคยมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตที่ทำให้กลายเป็นแผลเป็นที่อยู่ภายในจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น เคยถูกกระทำทารุณ หรือการหย่าร้าง
- ครอบครัวมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางด้านการเงิน และปัญหาทางด้านชู้สาว
- เครียดที่ไม่สามารถให้นมบุตร น้ำนมไม่ไหล หรือมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเป็นคุณแม่ที่ดีได้ เป็นต้น
ซึ่งสาเหตุแต่ละข้อที่กล่าวมานั้น ถือเป็นสาเหตุที่ถูกจัดได้ว่าเป็นเรื่องที่ไวต่อความรู้สึก หากไม่รู้จักวิธีการรักษาให้ตรงจุด ก็ยากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ และในวันนี้ทีมงานจะขอนำเสนอ 5 วิธีเอาชนะ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านกันค่ะ จะมีอะไรบ้างนั้นเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่านะคะ
วิธีการเอาชนะ
- หาคนพูดคุยและรับฟัง – การที่เราจะสามารถเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้นั้นก็คือ การหาคนที่จะมาคอยพูดคุยและรับฟังความรู้สึกของเราได้ ซึ่งคนที่เหมาะสมที่สุดก็คือ คนใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น สามี และถ้าหากสามีรับฟังแล้ว และก็ยังไม่เข้าใจ ให้คุณแม่หันกลับไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องหรือแม้แต่เพื่อนสนิทค่ะ เปิดใจให้เขาได้รับฟัง และคนที่รับฟัง ก็ควรที่จะเข้าใจด้วยว่า ในบางครั้งการที่คุณภรรยา หรือแม้แต่เพื่อนของคุณมาพูดคุยมาระบายกับคุณนั้น บางทีเขาก็ไม่ได้ต้องการรับฟังความคิดเห็นอะไร เพียงแต่อยากหาใครสักคนรับฟัง คนที่เขาสามารถพูดคุยได้อย่างสบายใจนั่นเอง
- รับประทานแต่อาหารที่ดีและมีประโยชน์ – โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักและผลไม้สด รวมทั้งน้ำผลไม้คั้นสดนั้นเป็นแหล่งของวิตามินที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นและช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอาหารจำพวกขนมหวานหรือของกินจุบจิบนั้นควรหลีกเลี่ยง แล้วหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์บ่อย ๆ ในปริมาณน้อย และยังไม่ต้องคิดอดอาหารหรือลดน้ำหนักในตอนนี้นะคะ เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้ แล้วลูกจะเอาสารอาหารที่ไหนไปบำรุงสมองและช่วยพัฒนาร่างกายของลูก ๆ ละคะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงกลางวันให้คุณแม่ควรพยายามงีบหลับบ้าง และหาคนช่วยดูแลลูกในตอนกลางคืน เพื่อที่จะได้มีเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น เพราะร่างกายที่อ่อนเพลียนั้นจะทำให้อาการซึมเศร้าที่เป็นอยู่เลวร้ายลง คุณแม่ต้องระวังอย่าทำอะไรเกินกำลังตนเอง อย่าฝืนทำในสิ่งที่ทำไม่ไหว เมื่อเหนื่อยนักก็ควรเอนหลังนั่งหรือนอนสบาย ๆ ยกขาสูง ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ฟังเพลงโปรด อ่านหนังสือสักเล่ม ก็จะช่วยให้สดชื่นขึ้นได้
- ดูแลและเอาใจใส่ตัวเอง คุณแม่อย่าเป็นกังวลในสิ่งที่ไม่ควรกังวล ถ้าบ้านจะสกปรกหรือรกไปบ้างก็ให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่าทำให้ตัวเองต้องเครียดไปเสียทุกเรื่อง และควรคิดถึงตนเองในแง่ดีและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ ส่วนคุณพ่อก็อย่าเพิ่งเรียกร้องหรือคาดหวังว่าบ้านจะต้องสะอาด กลับมาแล้วอาหารจะต้องพร้อมเหมือนเช่นตอนที่ยังไม่มีลูก เพราะจะยิ่งทำให้คุณแม่วิตกกังวลและว้าวุ่นกับงานบ้านจนเกินไป
- ออกกำลังกายเบา ๆ พยายามอย่ามัวแต่อุดอู้อยู่แต่ในบ้านและหมกมุ่นอยู่กับการเลี้ยงลูกมากจนเกินไป ควรปลีกเวลาออกไปเดินเล่นกับลูกหรือออกกำลังกายเบา ๆ บ้าง หรือจะเล่นโยคะ ก็สามารถทำได้เช่นกัน การออกกำลังกายจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และสดชื่นขึ้น
ภาวะซึมเศร้าภาวะที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่หากเป็นแล้วก็สามารถผ่านพ้นไปได้ ตราบใดที่ตัวคุณเองและคนรอบข้างเข้าใจ
อ้างอิงข้อมูล: MedThai
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่