ภาวะครรภ์เป็นพิษ คืออะไร?
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ โดยสามารถพบได้ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งครรภ์แฝด เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว มีการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย และมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์
ภาวะครรภ์เป็นพิษมีอาการอย่างไร?
สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ โดยทั่วไปภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ โดยจะมีรอาการบวมน้ำ อาการบวมตามมือและเท้า ความดันโลหิตสูง ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 1-2 กิโลกรัมทุกสัปดาห์ อาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจมีอาการสั่นหรือสับสน สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว เมื่อยล้า ปวดท้อง หรือหายใจถี่ ๆ
ผลกระทบต่อแม่ท้องและลูกในท้อง
แม่ท้องส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ชัก การทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเลือดออกในสมอง น้ำท่วมปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก ได้แก่ ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกเสียชีวิตในครรภ์
มีวิธีรักษาอย่างไร?
วิธีเดียวที่จะแก้ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ทำการคลอดทารก แพทย์จะต้องประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของแม่กับสภาพของลูกในท้อง ในบางกรณีแพทย์อาจสามารถควบคุมดูแลพฤติกรรมของแม่ก่อน เช่น การเพิ่มปริมาณน้ำโดยลดการบริโภคเกลือ หรือจัดตารางการนอนพักผ่อน และอาจต้องพบแพทย์บ่อยขึ้นเพื่อตรวจสอบความดันโลหิตและระดับโปรตีนในปัสสาวะ
แม่ท้องทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยเฉพาะแม่ท้องที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตามที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น การดูแลตัวเองตอนท้อง รวมถึงการทานอาหารที่เหมาะสม ตลอดการตั้งครรภ์ จะช่วยรักษาน้ำหนักให้ขึ้นตามที่ต้องการ จะสามารถเลี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษได้ไม่มากก็น้อย
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ท้องแข็งใกล้คลอด เป็นแบบไหน? ท้องแข็งแบบไหนอันตราย
อาการ ท้องลด เป็นแบบไหน? ท้องลดตอนกี่สัปดาห์กันนะ
น้ำหนักตัวของแม่ท้อง ต้องแบบนี้!
ขอบคุณข้อมูลจาก : honestdocs.co, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, รายการป๊อกกี้ on the run, IG Pokmindset
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่