เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด และเด็กแรกเกิด กับ 17 ข้อควรรู้ก่อน - amarinbabyandkids
เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด

กฎและมารยาทในการเยี่ยมคุณแม่หลังคลอดและทารกแรกเกิด

event
เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด
เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด

เพื่อไม่เป็นการรบกวนคุณแม่หลังคลอดให้เหนื่อยจนเกินไป  หลังจากการคลอดอีกไม่กี่สัปดาห์ คุณแม่ก็จะต้องเลี้ยงลูกเอง และคงรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ กับการเลี้ยงเด็กทารก  รวมไปถึงการต้องต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยม รับขวัญทารกตัวน้อยๆที่เพิ่งเกิด แขกผู้มาเยี่ยมควรต้องรู้ข้อสำคัญที่ควรระวังกันสักนิด เพราะทารกแรกเกิดยังบอบบางอยู่มาก  อาจทำให้เด็กทารกติดเชื้อ หรือไม่สบายจากการสัมผัสของคุณได้

มาดูกันค่ะ ว่าการจะไปเยี่ยมคุณแม่หลังคลอด ควรไปเมื่อไหร่ดี และควรปฏิบัติตัวเช่นไร รวมถึงอะไรบ้างที่คนไปเยี่ยมจำเป็นต้องรู้ในการไปเยี่ยมทารกแรกเกิดและคุณแม่หลังคลอด

เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด

มารยาทการไป เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด

1. ควรไปเยี่ยมคุณแม่หลังคลอดประมาณ 2 วันไปแล้ว นับจากวันคลอด เพราะใน 1-2 วันแรกหลังคลอดนั้นคุณแม่ยังต้องการการพักผ่อนอยู่ค่ะ

2. การเยี่ยมที่โรงพยาบาล ควรเยี่ยมตามเวลาที่ทางโรงพยาบาลกำหนดไว้ และใช้ เวลาเยี่ยมสั้น ๆ นอกจากจะสนิทสนมถูกอกถูกใจกันจริง ๆ และทั้งแม่ทั้งลูกอยู่ในสภาพปกติ มีความสุขดี

3. การซื้อของใช้ของเยี่ยมไม่จำเป็นต้องซื้อเฉพาะของเด็กเท่านั้น คุณแม่หลังคลอดก็อยากได้ของเยี่ยมสำหรับตัวเองเหมือนกัน เช่น ผ้ารัดท้อง โลชั่นลดลายแตกลาย อาหารบำรุงต่าง ๆ เป็นต้น

Must read : 5 เครื่องดื่มบำรุงครรภ์และเครื่องดื่มต้องห้ามสำหรับคนท้อง
Must read : ของใช้ทารกแรกเกิด 11 อย่างที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ

4. ถ้าจะไปเยี่ยมที่บ้านและมีโทรศัพท์ติดต่อกันได้ การนัดแนะล่วงหน้าจะทำให้ผู้ถูกเยี่ยมสบายใจขึ้นหรืออาจมีช่องทางปฏิเสธได้ถ้ายังไม่พร้อม เช่นอาจจะออกตัวว่า “ยังไม่แข็งแรง” หรือ “ลูกกวนมาก เกรงว่าผู้เยี่ยมจะรำคาญ” หรือ “ลูกไม่ใคร่สบายหมอให้ระวังการติดเชื้อ ยังไม่อยากให้พบคนมากๆ” เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะกล้าและมีปฏิภาณมากน้อยแค่ไหน

5. ถ้าแม่กำลังให้นมลูก หรือพยาบาลกำลังทำความสะอาด ฉีดยา หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ คุณผู้เยี่ยมก็ควรจะถอยหลังออกมา หรือรั้งรออยู่แต่ภายนอกก่อน

Must read : ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเต็มที่

6. ถ้าอยากจะแสดงน้ำใจ เพียงแต่ขอดูเด็กก็คงพอ ไม่ต้องจับต้องหรืออุ้มชู (หรือถ้าอยากจะทำจริง ๆ ก็ควรล้างไม้ลางมือเสียก่อน) ถ้าแม้เอาทองหยองติดมือไปสักเส้นสองเส้น และถ้าเด็กหลับจะเอาวางไว้บนเบาะหรือที่นอนก็ได้ไม่ต้องพยายามปลุกปล้ำผูกขอมือข้อเท้าจนเด็กตื่น

เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด

7. ไม่ควรไปอยู่นาน และไม่ควรไปพอดีหรืออยู่จนถึงเวลาอาหาร เพราะจะเป็นภาระแก่เจ้าของบ้านตามคำพังเพย “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” (ยกเว้นในรายที่สนิทสนมกันจริง ๆ)

8. ให้การสนับสนุนในการเลี้ยงลูก แต่ไม่ใช่ให้คำแนะนำ ถ้าคุณอยากแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บอกกล่าว ควรแนะนำหนังสือ หรือการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เรื่องการเลี้ยงลูกให้คุณแม่ได้ศึกษาเองจะดีที่สุดค่ะ

ไม่ควรแนะนำวิธีการเลี้ยงทารกกับคุณแม่มากเกินไป เพราะคุณแม่กำลังอยู่ในช่วงพักฟื้น อาจยังไม่พร้อมจะรับคำแนะนำในการเลี้ยงเด็กทารกในเวลานั้นค่ะ

9. อย่าเพิ่งบอกว่าเด็กหน้าตาเหมือนใคร เพราะเด็กเพิ่งคลอดมาได้แค่ 2 วัน ยิ่งบอกว่าเหมือนคุณพ่อ ยิ่งไม่ต้องบอกนะคะ เพราะตอนท้องคุณแม่บางคนอาจจะแพ้ท้องเกลียดคุณพ่อมาก ๆ เลยก็ได้ใครจะไปรู้

Must read : รวม 10 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้ว่า สืบทอดผ่านยีนของพ่อแม่ได้

10. ไม่ควรสอบถามคำถามต่าง ๆ กับคุณหมอหรือพยาบาลเรื่องสุขภาพของทารกหรือคุณแม่ หรือ สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการคลอด ของคุณแม่ค่ะ

11. อย่าเพิ่งถามถึงเรื่องการเลี้ยงลูกในอนาคต ตอนนี้คุณแม่ยังเหนื่อยๆอยู่ ควรปล่อยให้อนาคต เป็นเรื่องของอนาคตต่อไปค่ะอย่าเพิ่งถามเรื่องการกลับไปทำงาน หรือค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรตอนนี้นะคะ เพราะดูจะเสียมารยาทมากๆเช่นกันค่ะ

Must read : ซึมเศร้าหลังคลอด อาการ ที่แม่หลังคลอดควรรู้ !

12. ไม่ควรไปโดยไม่บอกกล่าว จริงอยู่ที่การเซอร์ไพรส์อาจจะเป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้น แต่อาจไม่เสมอไป ยกตัวอย่างกรณีที่เราต้องการไปเยี่ยมทารกแรกเกิด บางทีเพื่อนหรือญาติของเราที่เพิ่งจะคลอดลูก อาจจะกำลังหลับพักฟื้น หรือให้นมอยู่ก็ได้ ดังนั้นการไปไม่บอกกล่าวเลยนั้นถือว่าเป็นเรื่องไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง หากเราต้องการจะไปก็ควรที่จะนัดวันและเวลาให้แน่นอนจะดีกว่า

Must read : 12 ประโยคที่รับรองว่าคุณแม่ลูกอ่อนทุกคนอยากได้ยิน

 

เยี่ยมคุณแม่หลังคลอด

เทคนิครักษาน้ำใจคนเยี่ยมเบบี๋แรกเกิด

ขณะที่คุณตั้งท้อง เวลาใครต่อใครอยากจับเจ้าตัวเล็ก ทั้งคุณและคนจับต่างสบายใจว่าเจ้าตัวเล็กปลอดภัยเพราะสัมผัสผ่านท้องแม่ พอเขาคลอดแล้วนี่สิ คนมาเยี่ยมก็ยังอยากสัมผัสเจ้าหนูอีก แต่ปัญหาคือคราวนี้เสี่ยงมากขึ้น (และคุณก็อาจห่วงมากขึ้น) เพราะแม้เป็นเพียงเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหวัดหรือเชื้อไวรัสอื่นๆ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสทั่วๆ ไปจากคนที่มาสัมผัสก็ทำให้เกิดอาการรุนแรงในทารกแรกเกิดได้ คุณก็อยากให้ลูกอยู่ห่างจากเชื้อโรค จะบอกแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความรักกันตรงๆ ก็กลัวจะเสียน้ำใจกัน เรามีวิธีมาฝากกันค่ะ

1. อุ้มลูกด้วยกระเป๋าจิงโจ้ (เป้อุ้มเด็ก) หรือใส่ไว้ในเปล คนส่วนใหญ่มักไม่กล้ายื่นมือเข้ามาใกล้หน้าอกของคุณเช่นเดียวกับวางลูกน้อยในเปล ถ้าลูกน้อยกำลังหลับ ควรดึงมุ้งลงมาคลุมเปลไว้ ก็ช่วยให้ใครๆ ไม่กล้ายื่นมือเข้าไปจับได้

Must read : ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้อง มีกี่ท่า?

2. อ้างหมอ แค่บอกคนที่อยากสัมผัสหรือขออุ้มลูกน้อยว่า “ขอโทษจริงๆ นะ แต่หมอบอกว่าช่วงแรกเกิด อยากให้ระมัดระวังให้มากๆ หน่อย” ก็น่าจะเอาอยู่

3. มอบหมายหน้าที่พิทักษ์น้องให้พี่โต คุณอาจไม่สะดวกใจที่จะบอกให้คนอื่นล้างมือก่อนอุ้มเบบี๋แรกเกิด แต่เด็กสามขวบไม่มีปัญหาที่จะพูดประโยคนี้ ผู้ใหญ่ได้ฟังเด็กๆ พูดแบบนี้มักยินดีทำตาม และยังแถมว่าฟังดูน่ารักด้วยซ้ำไป

Must read : เลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกันคุณเองก็ทำได้!

สุดท้ายขอฝากไว้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าใครไม่มาเยี่ยมก็จงอย่าไปคิดน้อยอกน้อยใจ เพราะเขาอาจจะหวังดี ไม่อยากรบกวนก็ได้

อย่างไรก็แล้วแต่เรื่องมารยาทการเยี่ยมทารกแรกเกิดและคุณแม่หลังคลอดนั้น ถือเป็นเรื่องต้องใส่ใจอย่างยิ่ง คุณแม่ๆ สามารถแชร์บทความนี้ เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมได้อ่านก่อน ก็จะช่วยรักษาน้ำใจผู้เยี่ยมได้อีกทางหนึ่งนะคะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.childanddevelopment.com

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up