อาการท้องแข็งเป็นอาการที่คุ้นเคยสำหรับแม่ ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาการนี้เป็นการส่งสัญญาณว่ามดลูกเตรียมพร้อมสำหรับการบีบตัวเพื่อดันลูกน้อยออกจากท้อง แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับแม่ท้องก็คือ อาการท้องแข็งที่เป็นอยู่นั้นอันตรายหรือไม่ หรือเป็นเพียงอาการ ท้องแข็งใกล้คลอด แบบปกติ ล้อมวงกันเข้ามาค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะมาแยกทีละประเด็นว่าอาการที่คุณแม่เป็นอยู่นั้น คือ ท้องแข็งใกล้คลอด หรือ ท้องแข็งแบบอันตรายกันแน่
ท้องแข็งใกล้คลอด เป็นแบบไหน? ท้องแข็งแบบไหนอันตราย
อาการท้องแข็งคืออะไร?
ท้องแข็ง คือ การหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งการหดตัวนี้ กล้ามเนื้อมดลูกที่ทำหน้าที่หลักคือ กล้ามเนื้อมดลูกส่วนบน เป็นส่วนที่ทำให้เกิดแรงที่ทารกสามารถคลอดออกไปทางช่องคลอดได้ โดยเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกส่วนบน จะหดสั้นเข้าหลังจากการหดรัดตัวในแต่ละครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ความยาวของเซลล์กล้ามเนื้อสั้นลงเรื่อยๆ และมีความหนาเพิ่มขึ้น สำหรับ กล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่าง เมื่อมีการหดรัดตัวในแต่ละครั้ง ความยาวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกจะยาวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมื่อขบวนการคลอดดำเนินไปกล้ามเนื้อส่วนล่างจะมีการบางตัวลง เป็นภาวะปกติที่มดลูกเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
ท้องแข็งใกล้คลอด มีอาการแบบไหน?
อาการ ท้องแข็งใกล้คลอด จะมีอาการเจ็บ ตึง หรือ บีบรัดที่ท้อง โดยจะปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังและท้องช่วงล่าง โดยเริ่มปวดไล่มาตั้งแต่มดลูกไล่ไปยังก้น หรือ อาจจะปวดจากก้นไล่ไปยังมดลูกส่วนบน การปวดจาก ท้องแข็งใกล้คลอด จะมีอาการดังต่อไปนี้
- เมื่อจับบริเวณท้อง จะรู้สึกแข็งตึงไปทั่วทั้งท้อง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งนิ่ม
- อาการปวดจะเป็นจังหวะ หรือเป็นช่วง ๆ เช่น ปวดทุก ๆ 10 นาที และในการปวดแต่ละครั้งจะปวดนานถึงครึ่งนาทีถึง 1 นาที เป็นต้น
- เมื่อมีการเบี่ยงเบนความสนใจโดยการเปลี่ยนท่าทาง หรือ หยุดทำกิจกรรมที่อาจทำให้ท้องแข็ง อาการท้องแข็งก็ยังไม่หาย
- ท้องแข็งใกล้คลอด นี้จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะปวดนานขึ้น และ ถี่ขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการคลอด
- มักพบว่ามีอาการปวดร่วมกับน้ำเดินและมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด
อาการท้องแข็งใกล้คลอด นั้น มักจะมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นพร้อมกับอาการท้องแข็ง
- ท้องเคลื่อนต่ำลง หรือเรียกว่าท้องลด หรือ ท้องลง เป็นเพราะทารกเริ่มมีการเคลื่อนตัวลงมาใกล้บริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น เพื่อเตรียมตัวที่จะคลอด ในระยะนี้แม่ท้องที่จากเดิมหายใจไม่ค่อยสะดวกหรืออึดอัดแน่นท้องบ่อย ๆ ก็จะหายใจได้สะดวกขึ้น เพราะลูกเคลื่อนลงต่ำ ทำให้แรงกดที่กระบังลมลดลง
- ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะลูกเคลื่อนตัวมากดกระเพาะปัสสาวะ
- อาการท้องเสียหรือถ่ายเหลว เพราะร่างกายมีการสร้างสารคล้ายฮอร์โมนที่ชื่อ โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเตรียมพร้อมกับการคลอด ทำให้มดลูกหดตัวและช่วยขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น แต่ก็กระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายมากด้วยเช่นกัน
- ปวดหลัง ปวดอุ้งเชิงกราน ปวดก้นกบ แม่ท้องส่วนใหญ่จะพบอาการปวดนี้ได้ถึง 1 ใน 3 ของแม่ท้องทั้งหมด เนื่องจากหลังอยู่ในลักษณะโค้งเป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อรองรับทารกในครรภ์ และเด็กทารกอาจจะเคลื่อนตัวต่ำลงมา จนทำให้กระดูกอุ้งเชิงกรานต้องรองรับน้ำหนักมากขึ้น และฮอร์โมนที่ร่างกายแม่ท้องสร้างขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จะทำให้เกิดอาการปวดก้นกบ อาการปวดเหล่านี้จากปวดอย่างต่อเนื่องและปวดมากขึ้นจนกว่าจะคลอด
- นอนไม่หลับหรือหลับยาก
- อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ อาการท้องแข็งใกล้คลอด แบบไหนที่ควรไปพบแพทย์โดยด่วน!!
อาการท้องแข็งใกล้คลอดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์โดยด่วน!!
ระยะเวลาในการคลอดของแม่ท้องแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ท้องแรกหรือท้องสอง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อแม่ท้องเริ่มมีอาการท้องแข็งใกล้คลอด และเริ่มท้องแข็งถี่และนานขึ้น อย่าเพิ่งชะล่าใจไปนะคะว่าอีกหลายชั่วโมงถึงจะคลอด รออีกซักหน่อยค่อยไปโรงพยาบาลก็ได้ ซึ่งอาการต่อไปนี้ หากเกิดขึ้นก่อนอาการท้องแข็งจะรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดค่ะ
- มีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด แม้ว่าจะมีหรือไม่มีอาการท้องแข็งก็ตาม
- มีเลือดสด ๆ ออกมาทางช่องคลอด เพราะนี่ไม่ใช่อาการท้องแข็งธรรมดา อาจจะมีรกเกาะต่ำหรือรกขวางทางคลอด จึงต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ที่ไม่เหมือนการเจ็บท้องคลอด
- มีน้ำคร่ำที่เป็นน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอด แสดงว่าถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มตัวของลูกน้อยอยู่นั้นเกิดรั่วหรือแตกแล้ว นั่นหมายถึงจะต้องเตรียมตัวคลอดภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว
แล้วถ้าอาการท้องแข็งที่เป็นอยู่ ไม่ได้มีอาการเหมือนท้องแข็งใกล้คลอดล่ะ? ปกติแล้ว อาการท้องแข็ง จะเกิดขึ้นต่อเมื่อแม่ท้องอยู่ในช่วงที่ใกล้จะคลอดแล้ว โดยจะเริ่มมีอาการท้องแข็งได้ในช่วง 2-3 เดือนก่อนคลอด หรือสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ โดยอาการท้องแข็งแบบนี้เรียกว่า “การเจ็บท้องเตือน” คือจะเกิดอาการท้องแข็งที่ไม่รุนแรงมาก ไม่เป็นอันตราย เมื่อแม่ท้องเปลี่ยนอิริยาบท หรือ พักผ่อนนอนพักอยู่นิ่ง ๆ หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บท้องเตือน เช่น ยกของหนัก มีเพศสัมพันธ์ ดื่มน้ำน้อย เป็นต้น ก็จะทำให้อาการท้องแข็งหายไปได้เอง และอาการท้องแข็งแบบเจ็บท้องเตือน จะไม่เกิดขึ้นบ่อยและถี่ อาการปวดก็จะไม่สม่ำเสมอ อาการท้องแข็งแบบนี้ไม่ได้เป็นอาการที่อันตรายใด ๆ ค่ะ แต่หากเกิดอาการท้องแข็งดังต่อไปนี้ นั่นหมายถึงอาการท้องแข็งที่เป็นอันตรายค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ อาการท้องแข็งแบบไหนอันตราย
อาการท้องแข็งแบบไหนอันตราย
อาการท้องแข็ง อาจไม่ได้หมายถึงว่าถึงเวลาใกล้คลอดเสมอไป อาจหมายถึงมีสิ่งปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับแม่ท้องและลูกในท้อง หรืออาการท้องแข็งนั้น ๆ ทำให้เกิดอันตรายกับแม่ท้องและลูก ซึ่งหากคุณแม่มีอาการต่อไปนี้ นั่นคือสัญญาณอันตรายที่ควรไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
- อาการท้องแข็งที่เกิดก่อนการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 28 ควรปรึกษาแพทย์ถึงอาการที่เป็น เพื่อหาสาเหตุที่ท้องแข็งก่อนกำหนดและหลีกเลี่ยงหรือรักษาอาการ
- ท้องแข็งนานกว่า 70 วินาที โดยอาการท้องแข็งนี้จะปวดรุนแรงจนทำให้แม่ท้องเหนื่อยและรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน สิ่งที่ควรทำระหว่างเดินทางไปพบแพทย์คือ สังเกตความถี่และความรุนแรงของอาการท้องแข็ง เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยต่อไป
- มีเลือดออกมาทางช่องคลอดพร้อมกับอาการท้องแข็งหรือไม่พร้อมก็ตาม เป็นอาการที่ไม่ใช่ภาวะปกติของอาการท้องแข็งธรรมดา เพราะอาจหมายความได้ถึง การติดเชื้อ รกเกาะต่ำ ฯลฯ
- มีน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด โดยไม่มีอาการท้องแข็งหรือมีพร้อมกับอาการท้องแข็ง เพราะนั่นหมายถึงอาการน้ำคร่ำรั่ว หรือ น้ำคร่ำแตก ในกรณีที่น้ำคร่ำรั่ว หากยังไม่ถึงช่วงที่สามารถคลอดได้ และ ยังไม่เกิดการติดเชื้อ แพทย์จำประคองการตั้งครรภ์และคอยเฝ้าระวังการติดเชื้อจนกว่าจะถึงกำหนดคลอด
- ท้องแข็งนานกว่า 5 นาที และเกิดอาการทุก ๆ ชั่วโมง นั่นหมายถึงมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นแล้วค่ะ ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
- อาการท้องแข็งทำให้แม่ท้องปวดมาก หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว เพราะนั่นหมายถึงอาการความดันในเลือดสูงขณะตั้งครรภ์ หรือ น้ำตาลในเลือดต่ำขณะตั้งครรภ์ ได้ ควรที่จะไปพบแพทย์โดยด่วนเช่นกันค่ะ
- ท้องแข็งอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน แต่ทารกไม่สามารถคลอดได้ แสดงว่ากล้ามเนื้อมดลูกส่วนล่างจะบางมากและนำไปสู่ภาวะมดลูกแตกได้
- ท้องแข็งจนลูกดิ้นน้อยลงมาก นั่นหมายถึงเกิดสิ่งผิดปกติกับลูกในท้องค่ะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยด่วน
อาการท้องแข็งดูเหมือนจะน่ากลัวสำหรับแม่ท้องทุกคน แต่ข้อดีของอาการท้องแข็งใกล้คลอดคือ การทำให้แม่ท้องรับรู้ว่าการเจ็บท้องคลอดจะมีความรู้สึกอย่างไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหรือหายใจอย่างไรเมื่อเกิดการเจ็บท้องจริง และยังเป็นสัญญาณให้แม่ท้องได้เตรียมสิ่งของและเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปโรงพยาบาล หรือแม้แต่อาการท้องแข็งแบบอันตรายก็ยังมีข้อดีคือ เป็นอาการที่ร่างกายแสดงออกมาว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่าควรจะรีบไปหาหมอเพื่อทำการรักษาได้ทันเวลาค่ะ
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก
ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เรื่องที่แม่ท้องต้องระวัง !!
คลอดธรรมชาติแบบบล็อคหลัง อีกหนึ่งทางเลือกของคุณแม่
สามีที่ดีต้องรู้! วิธีดูแล ภรรยาใกล้คลอด
ข้อมูลอ้างอิงจาก : medthai, babygaga
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่