AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 สัญญาณ ลูกกลับหัว ที่บอกให้รู้ว่าใกล้คลอดแล้ว!

สัญญาณ ลูกกลับหัว การสังเกตความเปลี่ยนของร่างกายของแม่ท้อง เป็นหนึ่งในเรื่องที่ควรต้องให้ความใส่ใจกันอย่างมาก เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงนั่นหมายถึงทารกในครรภ์อาจมีปัญหา หรือมีพัฒนาการสมบูรณ์ดีเป็นปกติ  ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแม่ท้องที่ควรรู้นั่นคือ สัญญาณ ลูกกลับหัว

 

สัญญาณ ลูกกลับหัว ที่บอกให้รู้ว่าใกล้คลอดแล้ว

โดยกลไลตามธรรมชาติของร่างกายคนท้อง เมื่ออายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป ร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งนั่นคือ ทารกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนตัวและกลับศีรษะเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะใกล้เข้ามาในอีกไปกี่สัปดาห์ที่เหลืออยู่ ซึ่งในคนท้องบางรายทารกในครรภ์อาจจะยังไม่เริ่มกลับศีรษะในสัปดาห์นี้ อาจไปกลับหัวเอาตอนสัปดาห์ที่  36  ก็ได้เช่นกันค่ะ

 

Credit Photo : shutterstock

 

พัฒนาการครรภ์ สัปดาห์ที่ 32 ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายแม่ท้องที่เกิดขึ้น มีดังนี้

ลูกในครรภ์ที่ร่างกายเติบโตขยายใหญ่ไปตามพัฒนาการ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้นได้ไม่แรงเหมือนก่อนหน้านี้ นั่นเพราะว่าพื้นที่ในมดลูกมีน้อยลงจากร่างกายลูกที่ขยายจนเกือบเติมพื้นที่ แต่ถึงอย่างไรคุณแม่ก็ควรต้องนับการดิ้นของลูกอยู่เหมือนเดิม และต้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ตามที่คุณหมอนัดด้วยนะคะ โดยในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์คุณหมออาจจะนัดคุณแม่ถี่มากขึ้นค่ะ

อ่านต่อ >> “7 สัญญาน ลูกกลับหัว ที่แม่ท้องควรรู้” หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

7 สัญญาณ ลูกกลับหัว ที่บอกให้รู้ว่าใกล้คลอดแล้ว!

การเปลี่ยนแปลงภายในครรภ์อย่างหนึ่งที่คุณแม่จะสามารถรู้สึกได้ทั้งจากภายในร่างกาย และภายนอกร่างกายที่ลูกในครรภ์เริ่มส่ง สัญญาณ ลูกกลับหัว บอกให้รู้ว่า “หนูเริ่มกลับหัว ไปรอคลอดแล้วนะแม่!” มีสัญญาณเด่นๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ท้องลดต่ำลง

การที่คุณแม่เริ่มรู้สึกได้ว่าท้องลดต่ำลง นั่นคือ สัญญาณเด่นแรกๆ ที่บอกให้รู้ว่าลูกกลับหัว  หากดูจากภายนอกจะสังเกตเห็นได้ชัดว่าท้องที่แหลมๆ ดันขึ้นด้านบน เมื่อลดต่ำลงระยะห่างระหว่างมดลูกกับหน้าอกของแม่จะเพิ่มมากขึ้น

2. ปัสสาวะบ่อยขึ้น

คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองปวดฉี่และเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นเหมือนกับตอนที่อายุครรภ์น้อยๆ ในช่วง 3 เดือนแรก และอาการนี้กลับมาอีกครั้งตอนที่ลูกอยู่ช่วงกลับหัว เป็นเพราะว่า เมื่อลูกกลับหัวจะไปเพิ่มแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะมากขึ้น จึงทำให้คุณแม่ท้องปวดฉี่บ่อย แนะนำว่าถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะให้ค่อยๆ เดินเข้าห้องน้ำ และไม่ควรอั้นปัสสาวะกันนะคะ

3. หายใจสะดวกมากขึ้น

ต้องบอกว่าแม่ท้องมีเฮ โลกเริ่มกลับมาสว่างสดใสอีกครั้งแล้วค่ะ เพราะการที่ลูกกลับหัวลงจะทำให้คุณแม่รู้สึกตัวเองหายใจได้โล่ง สบายมากขึ้น เนื่องจากการที่ลูกกลับหัวทำให้ไม่มีแรงกดตรงบริเวณปอดนั่นเองค่ะ

4. มีอาการท้องผูก

คุณแม่ท้องที่ไม่มีภาวะท้องผูกขับถ่ายได้เป็นปกติมาตลอด อาจเริ่มรู้สึกว่าเหมือนจะถ่ายไม่ค่อยออกสักเท่าไหร่ (อาการท้องผูกอาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป) การที่ลูกกลับหัวจะไปเพิ่มแรงกดตรงบริเวณกระดูกเชิงกราน รวมทั้งตรงทวารหนัก นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้แม่ท้องถ่ายได้ยากขึ้น แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ ทานผัก ผลไม้ที่มีใยอาหารเพิ่มมากขึ้นกันนะคะ

5. มีอาการปวดหลัง

การที่คุณแม่ท้องปวดหลังจะเห็นได้ชัดในคนท้องที่ไม่ได้ออกกำลังกายในระหว่างตั้งครรภ์ อย่างแม่ท้องที่สามารถว่ายน้ำ หริเล่นโยคะได้ตามที่หมออนุญาต จะสามารถช่วยลดการเกิดอาการปวดหลังได้มาก โดยเฉพาะช่วงที่ลูกกลับหัวลงไปที่อุ้งเชิงกราน จะทำให้เกิดแรงกดขึ้นที่บริเวณหลัง บวกกับร่างกายของทารกที่ขยายใหญ่ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดมากขึ้น จนทำให้แม่ท้องต้องแอ่นหลัง และนั่นจะทำให้มีอาการปวดหลังช่วงล่างมากกว่าปกติได้ค่ะ

6. มีอาการเจ็บท้องเตือน

การเจ็บเตือนก็เป็นหนึ่งในสัญญาณที่เกิดจากลูกกลับหัวค่ะ การเจ็บเตือนสามารถเกิดขึ้นขณะใกล้คลอดจริง หรืออาจเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ก่อนคลอดก็ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการสังเกตว่าเป็นเจ็บท้องเตือน คือ คุณแม่จะมีอาการเจ็บที่ไม่สม่ำเสมอ และไม่คงที่ อาการเจ็บเตือนจะหายไปเมื่อคุณแม่ลุกเดิน หรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกาย

แต่ถ้าเป็นการเจ็บท้องจริง คุณแม่จะรู้สึกเจ็บเป็นระยๆ และจะรู้สึกเจ็บถี่ขึ้นเรื่อยๆ  และถึงแม้คุณแม่จะลุกขึ้นเดิน หรือเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ของร่างกายอาการเจ็บก็ไม่หาย ตำแหน่งที่เจ็บจะเกิดขึ้นจากด้านหลังมาด้านหน้า รวมทั้งรู้สึกเจ็บแต่ละครั้งนานประมาณ 30-70 วินาที

7. ตกขาวเปลี่ยนสี

ตกขาวเปลี่ยนก็เป็นอีกหนึ่งอาการเด่นจาก สัญญาณ ลูกกลับหัว ที่บอกได้ว่าแม่ใกล้คลอดลูกกันแล้ว  สำหรับตกขาวที่เปลี่ยนไปเกิดจากมูกที่ปิดปากมดลูกหลุดออกเมื่อลูกกลับหัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ลักษณะของมูกจะข้น เหนียวขึ้นกว่าปกติ ในคนท้องบางรายอาจพบว่ามีเลือดปนมาในตกขาว  นั่นเพราะปากมดลูกที่บางลงจึงทำให้หลอดเลือดแตกนั่นเองค่ะ

บทความแนะนำ “มูก” แบบไหนใกล้คลอด มี มูกเลือดก่อนคลอด ทำอย่างไร

อ่านต่อ >> “เทคนิคการผ่อนคลายของแม่ใกล้คลอด” หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เทคนิคการผ่อนคลายของแม่ใกล้คลอด คลายกล้ามเนื้อ ลดปวดเมื่อย

 

เทคนิคการผ่อนคลายของแม่ใกล้คลอด

ตลอดช่วงการอุ้มท้องของผู้หญิงทุกคน มักจะต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวลที่เกิดขึ้นต่างๆ และยิ่งเมื่อถึงวันที่ใกล้จะคลอดลูก แม่ท้องส่วนใหญ่มักจะนอนไม่หลับ เป็นผลให้ตื่นเช้าขึ้นมารู้สึกไม่มีพลัง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงอยากแนะนำให้คุณแม่ท้องได้ผ่อนคลายกันบ้าง ลองดูเทคนิคผ่อนคลายร่างกายตอนท้อง เพื่อให้รู้สึกสบายกาย สบายใจกันมากขึ้น ตามนี้ค่ะ

รู้จักคลายกล้ามเนื้อ

การนวดผ่อนคลายสำหรับแม่ท้องอาจมีข้อจำกัดมากกว่าในคนปกติเล็กน้อยคือ ไม่ควรนอนราบ หรือนอนคว่ำ ให้คนมาบีบนวดทั้งตัว เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นกับครรภ์ได้  หากจะนวดเพื่อผ่อนคลาย แนะนำให้นั่งกึ่งนอนลงบนเตียง แล้วให้คนช่วยนวดเบาๆ ให้ตรงบริเวณช่วงน่องขาทั้งสองข้าง การนวดเบาๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยให้เลือดลมไหนเวียนดี ลดอาการเกิดตะคริวได้ด้วยค่ะ

หรือจะนั่งแช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเกลือเล็กน้อยประมาณ 15-20 นาทีก็ช่วยให้คุณแม่ท้องผ่อนคลาย ลดการปวดเมื่อยของฝ่าเท้าสองข้างลงได้ค่ะ

ต้องฝึกการหายใจ

การฝึกการหายใจก่อนคลอดจะเป็นวิธีที่ดีในการนำไปใช้ในขณะคลอดของแม่ท้องที่ดีมากค่ะ การฝึกหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก แล้วตามด้วยหายใจออกช้าๆ ทางปาก(ให้คลายกล้ามเนื้อ)  ไม่ต้องกลั้นหายใจ เพราะจะทำให้รู้สึกตึงเครียดขึ้นได้  แนะนำให้คุณแม่ทำรอบละ 10 ครั้ง ขณะที่อยู่ในห้องคลอดค่ะ

 

ท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณแม่ท้องทุกคนจะได้ประโยชน์จากข้อมูลที่นำเสนอไปนี้กันนะคะ และขอให้การคลอดราบรื่น คุณแม่ปลอดภัย ลูกน้อยแข็งแรงค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

แม่ท้องต้องตรวจอะไรบ้าง? ตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึงการคลอดลูก
Give birth วินาทีประทับใจในการคลอดลูกน้อย
ประสบการณ์จริง เมื่อคุณแม่ท้องเป็นโรคหัวใจ

 

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
รองศาสตร์จารย์ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่.
Dr.Jane MacDougall สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลแอดเดนบรูกส์ ประเทศอังกฤษ. หนังสือคู่มือการตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่.