คุณแม่หลายๆ คนที่กำลังตั้งครรภ์ อาจมีความกังวลใจในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกน้อยว่า ลูกในท้องโตช้า หรือมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ หรือเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กทารกปกติทั่วไป อะไรคือสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น จะสามารถป้องกัน และแก้ไขได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันค่ะ
ลูกในท้องโตช้า หรือภาวะทารกโตช้าในครรภ์
คือการที่ทารกในครรภ์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เท่าที่ควร ทารกจะมีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อเทียบกับทารกปกติ ทำให้ตัวเล็ก หรือไม่ได้สัดส่วน
ลูกในท้องโตช้า เกิดจากอะไร?
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ พบได้ประมาณ 3-10% โดยมีสาเหตุ ดังนี้
1. สาเหตุจากมารดา
สำหรับสาเหตุนี้นั้นพบว่า การที่ทารกเจริญเติบโตช้านั้นมาจากการที่ คุณแม่เป็นโรคประจำตัวค่ะ ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปเลี้ยงลูกได้ไม่เพียงพอ นอกเหนือจากนี้ ยังเกิดจากการที่คุณแม่ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ขณะตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้ลูกในครรภ์นั้นเกิดความผิดปกติ และรกเสื่อมเร็วได้ค่ะ
2. สาเหตุจากทารก
ในส่วนของทารกเองนั้นพบว่า สาเหตุเกิดมาจากโครโมโซมที่ผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด มีครรภ์แฝด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ทำให้มีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติของหลอดเลือด ทำให้มีการถ่ายเทเลือดระหว่างเด็กผิดปกติ จึงส่งผลให้การเจริญเติบโตนั้นโตได้ไม่เต็มที่ หรือสาเหตุอันเกิดจากการที่ทารกติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อหัดเยอรมัน ก็จะส่งผลทำให้เซลล์ร่างกายของทารกนั้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ทำให้ทารกตัวเล็ก เป็นต้น
3. สาเหตุจากมดลูก รก หรือสายสะดือ
สำหรับสาเหตุอันเกิดจากภายในนั้น ส่งผลทำให้มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก ขนาดโพรงมดลูกจึงแคบผิดปกติ ทารกเจริญเติบโตได้ไม่ดี มีเนื้องอกมดลูกทำให้โพรงมดลูกเกิดบิดเบี้ยว หรือเกิดจากการที่รกเกาะต่ำ รกเสื่อม หรือมีเนื้องอกของรก และสายสะดือพันกัน ผูกกันเป็นปม เป็นต้น
อ่านต่อ “ลูกในท้องโตช้าอันตรายแค่ไหน?” คลิกหน้า 2
ลูกในท้องโตช้า อันตรายแค่ไหน?
คุณแม่หลายๆ คนได้ทราบสาเหตุกันแล้วก็อาจเกิดความกังวลใจว่า ถ้าหากลูกไม่โตแบบนี้แล้ว จะส่งผลทำให้ลูกเสียชีวิตหรือไม่นั้น ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนค่ะว่า การเจริญเติบโตช้าที่ว่านี้อยู่ในระดับใด หากไม่รุนแรงมากและแก้ไขได้ รู้ทัน รู้ไว ก็ไม่ส่งผลเสียถึงขั้นนั้นค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณแม่ทราบอยู่แล้วว่า ตัวเองมีโรคประจำตัว และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีละก็ ลูกน้อยในท้องของคุณแม่ก็สามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ตามปกติค่ะ
แต่ถ้าหากเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่น ทารกมีความพิการตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นโรคทางพันธุกรรมละก็ คงเป็นการยากที่จะทำให้ทารกมาเจริญเติบโตได้อย่างปกติ หรือในกรณีที่ลูกในท้องไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ก็จะส่งผลต่ออวัยวะอื่นด้วยเช่นกัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ ทารกก็ผลิตปัสสาวะได้น้อย ทำให้ปริมาณปัสสาวะที่ขับออกมาเป็นน้ำคร่ำนั้นมีปริมาณน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งหากรุนแรงมากก็อาจจะไม่มีน้ำคร่ำหลงเหลือเลยค่ะ จึงส่งผลทำให้สายสะดือถูกกดทับมากขึ้น
นอกเหนือจากนี้ ในเวลาที่มีการหดรัดตัวของมดลูก ก็ยิ่งส่งผลทำให้ทารกขาดเลือดมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะถูกผ่าคลอดก่อนกำหนดสูงมากเลยละค่ะ เพราะหัวใจทารกนั้นเต้นผิดจังหวะ สำหรับการคลอดในอายุครรภ์ที่อ่อนมากๆ นั้น ระบบต่างๆ ในร่างกายของทารกยังไม่สามารถทำงานได้ดี จึงเสี่ยงต่อภาวะปอดไม่ขยายตัว ไม่สามารถหายใจเองได้ เมื่อคลอดออกมา ก็มีโอกาสเลือดออกในสมอง ลำไส้ขาดเลือด จะส่งผลทำให้ทารกพิการและติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ค่ะ
ลูกในท้องโตช้าสังเกตอย่างไร?
เป็นเรื่องค่อนข้างยากที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะสังเกตได้ว่าลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโตช้าหรือไม่ แต่ก็สามารถสังเกตได้จากขนาดท้องที่ไม่โตขึ้น ยอดของครรภ์ไม่สูงขึ้น หรือน้ำหนักตัวคุณแม่ไม่เพิ่มขึ้น
ลูกในท้องโตช้าควรคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด?
โดยทั่วไปการคลอดธรรมชาติ จะปลอดภัยกับคุณแม่มากกว่าการผ่าคลอด แต่อย่างไรก็ตามต้องดูจากลูกน้อยเป็นหลัก หากไม่มีอะไรผิดปกติก็ควรคลอดแบบธรรมชาติ เพราะเด็กทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย จะคลอดง่าย แต่หากเด็กทารกขาดออกซิเจนเรื้อรัง หรือปริมาณน้ำคร่ำน้อย ควรใช้วิธีผ่าคลอดแบบรีบด่วนเพื่อช่วยชีวิตเด็กทารก
อ่านต่อ “ป้องกันและรับมือลูกในท้องโตช้า” คลิกหน้า 3
ป้องกันและรับมือลูกในท้องโตช้า
หากพูดถึงวิธีป้องกันนั้น ก็สามารถทำได้ค่ะ แต่อาจจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า บางอย่างก็เป็นสาเหตุที่เราเองไม่สามารถควบคุมได้ แต่อย่างไรก็ดี คุณแม่สามารถช่วยป้องกันได้โดย การที่คุณแม่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี และพยายามปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ ยกตัวอย่างเช่น
- รักษา ควบคุม โรคประจำตัว และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รับประทานแต่อาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดการทำงานหนัก
- สังเกตและจดบันทึกจำนวนการดิ้นของทารกในครรภ์ เป็นประจำทุกวัน
- ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อต่างๆ
คุณแม่ที่มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์ หากมีโรคประจำตัว ควรรักษาและควบคุมโรคเหล่านั้น และสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ หากยาที่ใช้ในการรักษาไม่ส่งผลข้างเคียงกับลูกน้อย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มาถึงตอนนี้คุณแม่หลายๆ ท่านก็คงจะเข้าใจและคลายกังวลเรื่อง ลูกในท้องโตช้าไปกันได้บ้างแล้ว หากมีข้อสงสัยหรือมีอาการที่ผิดปกติและไม่มั่นใจละก็ อย่ารอช้านะคะ แนะนำให้คุณแม่ไปพบแพทย์ทันที
ขอบคุณที่มา: หาหมอ
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่แม่ท้องต้องรู้
จริงหรือไม่? คนท้องกินน้ำเย็น แล้วลูกยิ่งดิ้น
เจาะลึก 40 สัปดาห์กับ พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่