คุณแม่หลายๆ คนที่กำลังตั้งครรภ์ อาจมีความกังวลใจในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกน้อยว่า ลูกในท้องโตช้า หรือมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ หรือเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กทารกปกติทั่วไป อะไรคือสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น จะสามารถป้องกัน และแก้ไขได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันค่ะ
ลูกในท้องโตช้า หรือภาวะทารกโตช้าในครรภ์
คือการที่ทารกในครรภ์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เท่าที่ควร ทารกจะมีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อเทียบกับทารกปกติ ทำให้ตัวเล็ก หรือไม่ได้สัดส่วน
ลูกในท้องโตช้า เกิดจากอะไร?
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ พบได้ประมาณ 3-10% โดยมีสาเหตุ ดังนี้
1. สาเหตุจากมารดา
สำหรับสาเหตุนี้นั้นพบว่า การที่ทารกเจริญเติบโตช้านั้นมาจากการที่ คุณแม่เป็นโรคประจำตัวค่ะ ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปเลี้ยงลูกได้ไม่เพียงพอ นอกเหนือจากนี้ ยังเกิดจากการที่คุณแม่ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ขณะตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้ลูกในครรภ์นั้นเกิดความผิดปกติ และรกเสื่อมเร็วได้ค่ะ

2. สาเหตุจากทารก
ในส่วนของทารกเองนั้นพบว่า สาเหตุเกิดมาจากโครโมโซมที่ผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด มีครรภ์แฝด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ทำให้มีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติของหลอดเลือด ทำให้มีการถ่ายเทเลือดระหว่างเด็กผิดปกติ จึงส่งผลให้การเจริญเติบโตนั้นโตได้ไม่เต็มที่ หรือสาเหตุอันเกิดจากการที่ทารกติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อหัดเยอรมัน ก็จะส่งผลทำให้เซลล์ร่างกายของทารกนั้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างปกติ ทำให้ทารกตัวเล็ก เป็นต้น
3. สาเหตุจากมดลูก รก หรือสายสะดือ
สำหรับสาเหตุอันเกิดจากภายในนั้น ส่งผลทำให้มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก ขนาดโพรงมดลูกจึงแคบผิดปกติ ทารกเจริญเติบโตได้ไม่ดี มีเนื้องอกมดลูกทำให้โพรงมดลูกเกิดบิดเบี้ยว หรือเกิดจากการที่รกเกาะต่ำ รกเสื่อม หรือมีเนื้องอกของรก และสายสะดือพันกัน ผูกกันเป็นปม เป็นต้น