เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป แม่ท้องทุกคนก็จะเริ่มคิดถึงการคลอดกันแล้ว ในแม่ท้องบางคน ลูกก็ส่งสัญญาณการคลอดมาให้แม่เตรียมตัวได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 36 แต่สำหรับแม่ท้องบางคน ที่ไม่มีวี่แววว่าจะเจ็บท้องคลอดเลยก็จะเริ่มกังวลกันแล้ว ว่าทำไมยังไม่คลอดซักที ถ้าท้องเกิน 40 สัปดาห์แล้วลูกจะเป็นอย่างไร? ทีมงาน Amarin Baby & Kids มี วิธีเร่งคลอด มาบอกค่ะ
วิธีเร่งคลอด มีกี่แบบ? จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเร่ง
การเร่งคลอดคืออะไร?
การเร่งคลอด การชักนำการคลอด หรือ การกระตุ้นคลอด (Induction of labor) คือ การทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดโดยการอาศัยเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ในขณะที่คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไปโดยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ว่าไม่สามารถรอการคลอดโดยธรรมชาติได้ ซึ่งการเร่งคลอดในข้อบ่งชี้นี้เพื่อเป็นการช่วยชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์ สำหรับบางกรณี การเร่งคลอด หมายถึง การยุติการตั้งครรภ์เพราะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าส่งผลดีกับคุณแม่มากกว่า
ทำไมต้องเร่งคลอด?
สาเหตุที่ต้องเร่งคลอด ในทางการแพทย์นั้น เป็นเพราะความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์ ซึ่งหากอยู่ในครรภ์ต่อไป อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยมีสาเหตุจากภาวะต่อไปนี้
สาเหตุการเร่งคลอดที่เกิดจากแม่ท้อง
- แม่ท้องที่มีความดันโลหิตสูง (Gestational hypertension) หรือ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia, Eclampsia) เป็นภาวะที่ทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายหดรัดตัว ทำให้ปริมาณของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงจึงลดน้อยลง ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ เพราะเนื้อเยื่อรกบางส่วนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
- แม่ท้องที่เป็นเบาหวานหรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- แม่ท้องตกเลือดก่อนคลอด
- แม่ท้องตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ (Postterm pregnancy) เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมจนไม่สามารถนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อีกต่อไป จึงอาจทำให้ขาดออกซิเจนและอาหารได้
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes) หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งท้องไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้
- คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ (Chorioamnionitis)
สาเหตุการเร่งคลอดที่เกิดจากทารกในครรภ์
- ภาวะที่การทำงานของรกผิดปกติ (รกลอกตัวก่อนกำหนด รกพันกันจนปิดกั้นอ๊อกซิเจนที่ควรจะเข้าสู่ทารก เป็นต้น)
- ภาวะที่การเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ (Severe fetal growth restriction) เด็กในท้องโตช้า หรือ น้ำหนักน้อย เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือสภาพมดลูกไม่สมบูรณ์, คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีเหล่านี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงข้างนอกจะปลอดภัยกว่า
- ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)
- การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรือเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่และทารก
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Fetal death) หากปล่อยให้ทารกที่เสียชีวิตแล้วยังอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมาเองนานเกินไป จะทำให้คุณแม่เกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัวได้ เพราะอาจมีส่วนเสื่อมสลายของลูกหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้
สาเหตุอื่น ๆ (ควรปรึกษาแพทย์ถึงความพร้อมของทารกในครรภ์ก่อนวางแผนการเร่งคลอด)
- ความสะดวกในการเดินทางมาคลอด เป็นเพราะคุณแม่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เพราะถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาลคาดว่าอาจจะไม่ทัน ทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้
- ฤกษ์งามยามดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีเร่งคลอด โดยแพทย์และแบบธรรมชาติ
กรณีใดบ้างที่แพทย์จะไม่เร่งคลอด?
- ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง ยังไม่พร้อมที่จะออกจากท้องแม่
- ทารกอยู่ในท่าที่ไม่สามารถเร่งคลอดได้ (ยังไม่กลับหัว) เช่น ทารกท่าก้น หรือท่าขวาง หากคลอดในท่าก้นหรือท่าขวาง จะเป็นอันตรายกับทั้งแม่และลูกได้
- มีรกเกาะต่ำ (Placenta previa) เพราะรกจะไปกีดขวางการคลอดได้
- มีภาวะสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกและติดกับถุงน้ำคร่ำ (Vasa previa)
- มีภาวะสายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse)
- คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป คุณหมอจะไม่เร่งคลอดให้ เนื่องจากจะคลอดได้ยากและอาจทำให้ทารกบอบช้ำจากการเร่งคลอดได้
- คุณแม่ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรง ปากมดลูกขยายตัว และอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้
- คุณแม่เคยผ่าตัดคลอดในท้องแรกมาก่อน เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรงและกล้ามเนื้อบริเวณแผลเป็นไม่แข็งแรงมากพอ ซึ่งอาจจะทำให้แผลปริหรือแตกได้
- คุณแม่ที่เคยผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกจะทำให้มดลูกบาง ถ้าเร่งคลอดก็อาจทำให้แผลฉีกขาดได้
4 วิธีเร่งคลอด โดยแพทย์
สิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกว่าลูกจะคลอดออกมาหรือยังคือปากมดลูกค่ะ แพทย์จะวินิจฉัยความเป็นไปได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการเร่งคลอดหรือไม่ โดยการตรวจความพร้อมของปากมดลูก ว่ามีความนุ่มหรือไม่ หากปากมดลูกยังแข็งอยู่ การเร่งคลอดมักจะจบด้วยการผ่าตัดคลอดแทน มาดูกันค่ะว่าแพทย์จะใช้ วิธีเร่งคลอด แบบใดได้บ้าง
- เจาะถุงน้ำคร่ำ (Amniotomy) แพทย์จะใช้วิธีนี้ ในกรณีที่ปากมดลูกขยายมากเพียงพอและเปิดได้ 3 เซนติเมตรแล้ว แต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น เพราะเมื่อถุงน้ำแตกแล้ว ศีรษะของทารกจะเลื่อนตัวต่ำลงมามากขึ้นและไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด และยังไปกระตุ้นให้สารเคมีพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น จึงช่วยให้มดลูกเกิดการหดตัว
- การกวาดปากมดลูก (Membrane sweeping) เป็น วิธีเร่งคลอด ที่ทำได้ง่าย ปลอดภัย และได้ผลดี แพทย์จะใช้นิ้วกวาดปากมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอด การใช้วิธีนี้สามารถช่วยลดการตั้งครรภ์เกินกำหนด ลดการใช้ยาเร่งคลอด โดยไม่เพิ่มการติดเชื้อทั้งในคุณแม่และทารก และไม่เพิ่มโอกาสการผ่าคลอดแต่อย่างใด
- ยาเร่งคลอด (ฮอร์โมนออกซีโตซิน – Oxytocin) เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ทำให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ ไม่เนิ่นนาน ยานี้ช่วยเร่งให้เจ็บครรภ์ได้เร็วและทำให้การคลอดสิ้นสุดได้เร็ว แต่การใช้ยาเร่งคลอดจะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องมากกว่าการคลอดตามธรรมดา เพราะยานี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น ในการให้ยาเร่งคลอดนี้ เมื่อให้แล้วจะมีคนคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยตรวจดูว่ามดลูกหดรัดตัวเร็วเกินไปหรือแรงมากไปหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กในท้องขาดออกซิเจนได้ หมอก็จะได้ปรับน้ำเกลือให้เข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ
- ใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ยาที่ใช้มีทั้งรูปแบบของเจลและแบบที่เป็นยาเหน็บช่องคลอดโดยสอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มลงและเปิดขยาย รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูกดีขึ้น แต่การใช้ยานี้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาจะทำให้มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรงได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีเร่งคลอด แบบธรรมชาติ และ เมื่อเร่งคลอดแล้ว อีกนานไหมกว่าจะคลอด
เมื่อเร่งคลอดแล้ว อีกนานไหมกว่าจะคลอด
ไม่สามารถระบุเป็นเวลาที่แน่นอนได้ว่าจะได้คลอดอีกภายในกี่ชั่วโมง เพราะปัจจัยและสรีระทางร่างกายของแม่ท้องแต่ละคนแตกต่างกัน ในแม่ท้องบางคนปากมดลูกบาง ก็อาจจะทำให้การเร่งคลอดประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว แต่ในแม่ท้องบางคนที่ปากมดลูกเปิดได้ช้า ก็จะมีอัตราความประสบความสำเร็จในการเร่งคลอดต่ำ โดยปกติแล้วหลังจากเร่งคลอดแล้ว แม่ท้องควรจะมีการเจ็บครรภ์คลอดภายใน 24-48 ชั่วโมง หากนานกว่านั้น แพทย์อาจะพิจารณาให้ผ่าตัดคลอด
วิธีเร่งคลอด แบบธรรมชาติ
สำหรับคุณแม่ที่ไม่ต้องการใช้ยาเร่งคลอด หรือให้คุณหมอเร่งคลอด เรามีวิธีธรรมชาติที่จะช่วยให้คุณแม่เจ็บครรภ์คลอดได้เร็วขึ้นค่ะ เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมีใด ๆ และที่สำคัญไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยค่ะ
- การเดิน นอกจากเป็นการออกกำลังกายที่ดีแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดได้เร็วขึ้น เพราะการเดินจะเป็นการทำให้ตำแหน่งของทารกเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ในตำแหน่งการคลอดได้ ไม่จำเป็นต้องเดินเร็ว ๆ อย่างเอาเป็นเอาตายนะคะ เดินช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็เพียงพอแล้วค่ะ หรือคุณแม่อาจจะไปเดินช้อปปิ้งของลูกในงาน Amarin Baby & Kids Fair เพื่อเร่งคลอดและเตรียมของลูกไปในตัวก็ได้นะคะ
- การเล่นลูกบอล นั่งบนลูกบอลขนาดใหญ่แล้วโยกตัวไปมาเบา ๆ จะทำให้ทารกในท้องเคลื่อนตัวลงมาสู่ช่องเชิงกรานได้เร็วขึ้น และนอกจากจะช่วยให้คลอดได้เร็วขึ้น ยังช่วยคุณแม่ในการยืดคลายกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
- การมีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องอันตรา การมีเพศสัมพันธ์อย่างนุ่มนวลในท่าที่ปลอดภัยจะช่วยให้กล้ามเนื้อช่องคลอดเกิดการหดรัดตัวได้ดีขึ้น แถมยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขี้นอีกด้วยค่ะ
- การกระตุ้นบริเวณเต้านมรวมทั้งหัวนม (Breast stimulation) โดยการนวดคลึงหรือดูดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินทำให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น โดยให้คุณแม่ใช้ฝ่ามือนวดบริเวณลานนมอย่างอ่อนโยนครั้งละ 15-20 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง วันละหลาย ๆ ครั้ง จากการศึกษาพบว่าวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดได้ และปากมดลูกมีความพร้อมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเร่งคลอด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งคลอดโดยแพทย์หรือวิธีธรรมชาติ ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อนว่าวิธีการเหล่านั้นไม่ส่งผลกระทบกับคุณแม่และเด็กในครรภ์ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการเร่งคลอดคือความปลอดภัยของแม่และลูกในท้อง และควรคิดอยู่เสมอว่าการคลอดนั้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อลูกพร้อมที่จะออกมาเจริญเติบโตนอกท้องของแม่ การเร่งคลอดโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลให้ทารกมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกด้วย
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่
เตรียมตัวก่อนคลอด โค้งสุดท้ายก่อนลูกเกิดให้พร้อมแบบคุณแม่มือโปร !!
แม่ท้อง เลยกำหนดคลอด ทำทารกเสียชีวิตได้อย่างไร?
คุณแม่พาชม “ห้องคลอด” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ขอบคุณที่มาจาก : medthai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่