ลูกตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุ 1. เลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน 2. สารบางอย่างที่มีอยู่ในน้ำนมของคุณแม่ 3. ตับของลูกยังทำงานไม่สมบูรณ์ หรือโรคกรรมพันธุ์บางอย่างเกี่ยวกับตับหรือลำไส้ วันนี้เราจะมาพูดถึง ภาวะตัวเหลืองที่เกิดจาก การไม่เข้ากันของหมู่เลือดแม่-ลูก กันค่ะ
ลูกตัวเหลือง เพราะกรุ๊ปเลือด คืออะไร
โดยทั่วไปแล้ว ลูกจะมีกรุ๊ปเลือดใดนั้น ขึ้นอยู่กับกรุ๊ปเลือดของพ่อ-แม่ แต่หากพ่อกับแม่มีกรุ๊ปเลือดต่างกัน แล้วลูกได้กรุ๊ปเลือดของพ่อ ก็มีโอกาสที่จะตัวเหลืองเนื่องจากเลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน ได้ใน 2 กรณี แบ่งเป็น 1. การไม่เข้ากันของหมู่เลือด ABO และ 2. การไม่เข้ากันของหมู่เลือด Rh
การไม่เข้ากันของหมู่เลือด ABO
ความไม่เข้ากันของหมู่เลือดที่พบบ่อยและเป็นอันตราย เช่น แม่กรุ๊ป O แต่ลูกกรุ๊ป A หรือ B เนื่องจากเม็ดเลือดแดงของลูกจะมีแอนติเจน A หรือ B ซึ่งแม่ไม่มี แอนติเจนที่ลูกมีอาจเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายแม่ และกระตุ้นให้แม่สร้างแอนติบอดีต่อเม็ดเลือดแดงของลูก โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นจะผ่านรกไปยังตัวลูกและไปจับกับเม็ดเลือดแดงของลูก และทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถ้าปฏิกิริยารุนแรงมาก ทารกอาจบวม หัวใจวาย และตายในครรภ์ ในกรณีที่คลอดออกมามีชีวิต ลูกจะมีอาการตัวเหลือง ซึ่งถ้าไม่มากจะดีขึ้นและหายได้เอง
แต่ถ้าเป็นมาก สารบิลิรูบินที่ทำให้ตัวเหลืองอาจไปจับที่สมอง จำเป็นต้องรักษาด้วยการถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารบิลิรูบิน ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเกิดความพิการทางสมองได้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะสามารถหายเป็นปกติได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ การไม่เข้ากันของหมู่เลือด Rh คลิกหน้า 2
การไม่เข้ากันของหมู่เลือด Rh
ในกรณีที่ คุณแม่ที่มีกลุ่มเลือด Rh- แต่ลูกในครรภ์มีกลุ่มเลือด Rh+ เหมือนพ่อ อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน หากเลือดของลูกที่เป็น Rh+ เข้าสู่ร่างกายของแม่ ทางรก หรือสายสะดือ จากการเจาะน้ำคร่ำหรือในการคลอด จะทำให้ร่างกายคุณแม่ สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก เนื่องจาก ในร่างกายของแม่ที่มีหมู่เลือด Rh- ไม่รู้จักแอนติเจนในเม็ดเลือดแดง เมื่อได้รับเลือดจากหมู่เลือด Rh+ เข้าไป ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก เพราะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม
สำหรับครรภ์แรก ลูกน้อยอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หรืออาจมีภาวะตัวเหลืองเพียงเล็กน้อย แต่ความรุนแรงจะเกิดเมื่อตั้งครรภ์ที่สอง เนื่องจากภูมิต้านทานที่ร่างกายของแม่สร้างขึ้นมาอีกรอบ จะมากพอที่จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดง ภายในร่างกายของลูกให้แตกตัว ลูกจะมีภาวะซีด โลหิตจาง หัวใจทำงานหนัก เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจทำให้ลูกเกิดภาวะบวมน้ำ ตับ-ม้ามโต หัวใจวาย หรือรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน การรักษา และการป้องกัน คลิกหน้า 3
เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน รักษาอย่างไร
ในกรณีที่ลูกในครรภ์เกิดภาวะบวมน้ำ แสดงว่าลูกขาดเลือดอย่างรุนแรง การรักษาที่คุณหมอจะทำได้คือ การให้เลือดแก่ลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ โดยให้ด้วยการฉีดเข้าทางสายสะดือลูก หรือฉีดเข้าช่องท้องของลูก อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ทำไม่ง่ายเลย และผลการรักษาอาจไม่ดีอย่างที่ต้องการ
หากทารกในครรภ์โตมากพอ คุณหมออาจจะพิจารณาผ่าตัดคลอด เนื่องจากการให้เลือดลูกภายนอกครรภ์ของคุณแม่ สามารถทำได้ง่ายกว่าค่ะ
ในกรณีที่คลอดออกมาแล้วตัวเหลือง คุณหมอจะรักษาโดยการส่องไฟ (phototherapy)
การส่องไฟ เป็นการรักษาภาวะตัวเหลืองในเด็กทารก เนื่องจากแสงสามารถ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของโมเลกุลของบิลิรูบิน ซึ่งปกติละลายน้ำไม่ได้ให้กลับกลายมาเป็นสารที่ละลายน้ำได้ สามารถขับถ่ายสารนี้ได้ทางปัสสาวะและทางอุจจาระโดยออกมาทางน้ำดี หลังจากส่องไฟจะตรวจระดับตัวเหลืองวันละ1-2 ครั้งถ้าระดับบิลิรูบินลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถหยุดส่องไฟได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ภาวะตัวเหลืองเนื่องจากเลือดไม่เข้ากัน ป้องกันได้ไหม
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบการไม่เข้ากันของเลือดแม่และลูกในการตั้งครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะฉีดยาลดการสร้างภูมิต้านทานต่อเลือดของลูกให้เมื่อตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือหลังคลอดภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดของแม่ไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจคลิก!
ลูกตัวเหลือง อันตรายใกล้ตัว!! ที่คุณแม่อาจไม่รู้
ลูกแรกเกิดมีตาขาวสีเหลือง ใช่ตัวเหลืองหรือไม่?
ขอบคุณข้อมูลจาก doctor.or.th, bymomentum.blogspot.com, thainakarin.co.th