เลือดล้างหน้าเด็ก กับ ประจำเดือน ต่างกันอย่างไร ว่าที่คุณแม่ต้องรู้ ดูให้เป็น หากมีอาการเลือดออกแบบนี้เลือดล้างหน้าเด็ก อาจไม่ใช่ประจำเดือน แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
สำหรับการตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก (ซึ่งหลายคนรู้ตัวช้า) อาจมีเลือดใสๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด คล้ายกับวันแรกหรือวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน (ว่าที่คุณแม่บางคนจึงเข้าใจไปว่า ประจำเดือนไม่ได้ขาด) แต่เลือดนี้จะไหลออกมาเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นสัญญาณบ่งชี้อันตราย …อย่างไรก็ตาม หากรู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว และพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอด ก็ควรไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้มั่นใจอีกครั้งค่ะ ทั้งนี้หากมีเลือดออก อาจเป็นเพราะ…
เลือดล้างหน้าเด็ก สัญญาณเตือนสำคัญของคุณแม่ท้อง
สัญญาณการตั้งครรภ์ = เมื่อตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูก อาจทำให้มีเลือดจำนวนหนึ่งไหลออกมาจากช่องคลอดได้ ในทางการแพทย์เรียกว่า Implantation bleeding หรือที่คนไทยโบราณเราเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” คุณแม่บางท่านหลงเข้าใจว่าเป็นประจำเดือนและคิดว่าตนเองไม่ท้อง วิธีสังเกตก็คือ เลือดนี้จะไหลออกมาเร็วกว่าประจำเดือนปกติเล็กน้อย และมาน้อยกว่า อาจจะมาเพียงวันเดียวแล้วหายไป หากเป็นเช่นนี้ ก็ควรหาซื้ออุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์มาตรวจดูได้แล้ว
สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ = การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้ช่องคลอดอักเสบ หรือติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อพยาธิไตรโคโมนิเอซิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม หรือโรคเริม ทำให้บริเวณปากมดลูกเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ จนมีเลือดไหลออกมาหลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือตรวจภายใน นอกจากนี้ หากมีติ่งเนื้อในช่องคลอด ก็อาจทำให้มีเลือดไหลหลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือตรวจภายในได้เช่นเดียวกัน
สัญญาณอันตราย = หากมีเลือดออกพร้อมอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หรือเป็นตะคริวที่ช่วงท้อง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะแท้งบุตรหรือภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
ทั้งนี้สำหรับ เลือดล้างหน้าเด็ก เป็น อาการที่มีเลือดออกมาจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยแต่ไม่ใช่ประจำเดือน เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้น 10-14 วัน หลังจากการปฏิสนธิ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือน
อ่านต่อ >> “ความแตกต่างระหว่าง เลือดล้างหน้าเด็กกับประจำเดือน” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นประจำเดือนหรือเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก?
ประจำเดือน
หรือ รอบเดือน หรือ ระดู (Menstruation หรือ Period) คือ เลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ที่หลุดลอกออกจากเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง สัมพันธ์กับการตกไข่ ซึ่งการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดประมาณเดือนละครั้ง ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ จึงถูกเรียกว่า ประจำเดือน
ในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือนปกติ (รอบเดือนปกติ จะประมาณ 28 วัน) เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญหนาตัวขึ้นจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) จากรังไข่ ประมาณกึ่งกลางของรอบเดือน (ประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน) จะมีการตกไข่จากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ จากนั้นไข่ที่ผสมแล้ว หรือ ตัวอ่อนจะมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน หลังตกไข่ จะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและต่อมต่างๆในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดจากรังไข่เช่นกัน ซึ่งสร้างมากขึ้นหลังตกไข่ คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนเพื่อเจริญเป็นการตั้งครรภ์
แต่ในรอบเดือนที่ไม่มีการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตโรนจากรังไข่จะลดระดับลง ส่งผลให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก (ประมาณวันที่ 28 ของรอบเดือน) กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ประจำเดือน
เลือดล้างหน้าเด็ก
อาการของเลือดล้างหน้า เกิดมาจากการที่ไข่ซึ่งผ่านการผสมกับสเปิร์มแล้ว เคลื่อนไปยึดเกาะฝังตัวที่ผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกมาทางช่องคลอด โดยเลือดที่ออกมาจะมีลักษณะแตกต่างจากประจำเดือนปกติ คือจะมีลักษณะเป็นสีชมพูออกมาในปริมาณเพียงเล็กน้อย หรืออาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาการเลือดล้างหน้าเด็กอาจไม่เกิดกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกคน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์บางคนอาจไม่เคยมีอาการเลือดล้างหน้าเด็ก หรืออาการที่บ่งบอกว่าตั้งครรภ์เลยก็ได้เป็นได้
ระยะเวลาที่ตัวอ่อนเดินทางจากท่อนำไข่จนมาฝังตัวในโพรงมดลูกใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน เมื่อมีการฝังตัวจะทำให้มีเลือดออกได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์บางคน ซึ่งเกิดขึ้นประมาณวันที่ 21 -22 ของรอบประจำเดือน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนจะครบกำหนดการมีประจำเดือนรอบต่อไป แต่เลือดจะมีปริมาณน้อยกว่าประจำเดือนมาก และสีมักจะจางกว่าเลือดประจำเดือน
ทั้งนี้หากสงสัยว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ การตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ Serum beta hCG (Human chorionic gonadotropin) จะสามารถบอกได้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่
แต่การตรวจปัสสาวะด้วยแถบทดสอบการตั้งครรภ์ อาจพบเป็นแถบสีจางๆ หรือยังไม่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ หากปริมาณฮอร์โมนดังกล่าวในปัสสาวะยังน้อยอยู่ ต้องรออีกประมาณ 1 สัปดาห์แล้วทำการตรวจปัสสาวะซ้ำใหม่อีกครั้ง หรือเมื่อมีอาการของการตั้งครรภ์อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ก็ควรตรวจหาการตั้งครรภ์ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เลือดล้างหน้าเด็ก จึงเป็นเลือดที่ออกทางช่องคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนถึงวันมีรอบเดือนปกติ โดยเลือดจะออกน้อย และมีสีจางกว่าประจำเดือนปกติและหมดไปในเวลาประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเมื่อถึงระยะเวลาจริงที่ควรจะมีประจำเดือนปกติ ก็จะไม่มีประจำเดือนปกติ (ขาดประจำเดือน) แต่การแยกให้ได้ชัดเจนว่า เป็นเลือดล้างหน้าเด็ก หรือเป็นเลือดประจำเดือน ต้องใช้ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยวิธีดังกล่าวในตอนต้น ถ้าผลตรวจพบว่าตั้งครรภ์ เลือดที่ออกคือเลือดล้างหน้าเด็ก แต่ผลตรวจไม่มีการตั้งครรภ์ เลือดที่ออกคือประจำเดือนที่คลาดเคลื่อนตามภาวะปกติของการมีประจำเดือน
อ่านต่อ >> “จะต้องทำอย่างไรเมื่อมีเลือดล้างหน้าเด็กเกิดขึ้น?” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สรุปเลือดล้างหน้าเด็กกับประจำเดือน แตกต่างกันอย่างไร ?
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างประจำเดือนกับเลือดล้างหน้าเด็ก ก็คือ ปริมาณเลือดที่ออกมาจากช่องคลอด และระยะเวลาที่เป็น เลือดล้างหน้าเด็กจะมีปริมาณเลือดออกมาเพียงเล็กน้อยในลักษณะกะปริดกะปรอย โดยกินเวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น มักมีสีแดงจางกว่า อาจมีการปวดท้องประจำเดือนแต่รุนแรงน้อยกว่า ในขณะที่ประจำเดือนที่ปกติจะมีปริมาณเลือดออกมามากกว่า และระยะเวลาในการเป็นจะกินเวลาไม่เกิน 7 วัน
เมื่อเกิดอาการเลือดล้างหน้าเด็กขึ้นแล้วจะต้องทำอย่างไร?
เมื่อเกิดอาการเลือดล้างหน้าเด็ก โดยทั่วไปไม่ต้องทำอะไร เลือดที่ออกจะมีปริมาณน้อยมาก (ไม่เหมือนการแท้งบุตร) ให้นอนพักผ่อนตามปกติ เลือดสามารถหยุดไปเองภายใน 1-2 วัน ต่อจากนั้น สังเกตเรื่องประจำเดือนต่อ หากประจำเดือนไม่มาตามกำหนด ก็ควรตรวจการตั้ง ครรภ์ต่อไป ทั้งนี้เลือดที่ออก ไม่มีผลต่อทารกแต่อย่างไร และไม่มีผลทำให้ทารกพิการ หรือ เสียชีวิตจนแท้งออกมาด้วย
เลือดล้างหน้าเด็ก อันตรายไหม ?
เลือดล้างหน้าเด็ก เป็นอาการที่ไม่อันตราย และมีอาการเพียง 1-2 วันเท่านั้น แต่หากมีเลือดออกติดต่อกันเกินกว่า 2 วัน และมีปริมาณกับสีของเลือดผิดปกติ คือเลือดออกมากหรือเลือดเป็นลิ่ม สีของเลือดมีสีแดงสดแทนที่จะเป็นสีชมพูหรือสีน้ำตาลก็ควรปรึกษาแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในมดลูก หรือเป็นอาการที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ อาทิ การแท้ง หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น
ทั้งนี้อาการเลือดออกทางช่องคลอดอาจเกิดมาจากสาเหตุอื่นได้ด้วยเช่นกัน โดยสาเหตุที่อาจทำให้เกิดเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงตั้งครรภ์ได้แก่
- การมีเพศสัมพันธ์การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง หรือการใช้สิ่งแปลกปลอมสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศขณะที่เพศสัมพันธ์ ก็อาจทำให้ภายในช่องคลอดเกิดการฉีกขาดจนทำให้เลือดออกทางช่องคลอดได้ แต่ถ้าหากเป็นสตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ จะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงจนทำให้ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น และการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้มีเลือดออกมาจากช่องคลอดได้เช่นกัน
- การคุมกำเนิดการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือการใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย สามารถทำให้เลือดออกทางช่องคลอดได้ โดยเฉพาะการใช้ยาคุมกำเนิดที่ไม่สม่ำเสมออาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติได้ด้วย
- การติดเชื้อหรือการอักเสบของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน การติดเชื้อในบริเวณอุ้งเชิงกรานซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอดได้ โดยเฉพาะโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส หนองใน หรือกามโรคอื่น ๆ
- การทำงานที่ผิดปกติของมดลูกและโรคทางระบบสืบพันธ์ เช่น โรคกลุ่มอาการรังไข่ที่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS) ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือรอบเดือนมีความผิดปกติ ก็อาจพบเลือดออกจากช่องคลอดได้
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก ถือเป็นความผิดปกติที่ค่อนข้างอันตรายทั้งกับแม่และเด็ก ซึ่งภาวะนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและมีเลือดออกมามากผิดปกติ ถ้าหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้
- การแท้ง อาการเลือดออกและปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นสัญญาณอันตรายของภาวะแท้งที่ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ทุกคนควรระมัดระวัง และหากเกิดอาการขึ้นควรรีบพบแพทย์ในทันที
อย่างไรก็ตามหากต้องการความมั่นใจว่าเลือดที่ออกจากช่องคลอดนั้นคืออะไรกันแน่ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด หรือหากคิดว่าเป็น เลือดล้างหน้าเด็ก ก็สามารถตรวจเบื้องต้นโดยการใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ ทั้งนี้หากพบสาเหตุเร็วก็สามารถวางแผนการดูแลตัวเองหรือรับการรักษาต่อไป
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 15 สัญญาณ คุณอาจเป็น ‘แม่ท้องคนใหม่’
- สีประจำเดือน บอกสุขภาพ และความผิดปกติของร่างกาย
- ตกขาวแบบไหนอันตราย
- ไขข้อสงสัย! ใส่ผ้าอนามัยนานๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกจริงหรือ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com , haamor.com