AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการลูกจะเป็นอย่างไร อันตรายไหม

ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย

ปัญหาน่าหนักใจ เด็กไทยคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นทุกปี ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย อันตรายมากไหม พัฒนาการลูกจะเป็นอย่างไร

ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย ลูกจะมีปัญหาไหม

เด็กเกิดก่อนกำหนดเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอย่างยิ่งในเมืองไทย ทั้งยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า อัตราเด็กเกิดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น โดยทารกที่คลอดก่อนกำหนด อวัยวะของทารกจะพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ต้องอาศัยทั้งแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนดมีชีวิตรอดและมีความพิการหลงเหลือน้อยที่สุด

เนื่องในวันที่ 17 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนด ทางกรมการแพทย์จึงออกมาเน้นย้ำถึงปัญหาทารกคลอดก่อนกำหนด โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า กรมการแพทย์ให้ความสําคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กทารกแรกเกิดทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นทารกกลุ่มเสี่ยงและเป็นสาเหตุของการตายในทารกแรกเกิด แม้ว่าปัจจุบันยังมีข้อจํากัดด้านทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่น หอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิดมีไม่เพียงพอ และอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่เท่านั้น จำนวนบุคลากรที่ต้องมีความชำนาญการและทักษะเฉพาะในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด ทั้งในส่วนของกุมารแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทารกวิกฤตที่ต้องดูแล ส่งผลต่อคุณภาพการดูแลรักษาทารกหรือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการส่งต่อ ทําให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานขึ้น รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลโดยรวมของครอบครัวและของประเทศสูงขึ้น

“เพื่อให้การดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤตนั้น เกิดความปลอดภัยสูงสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาทารกแรกเกิด เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในการดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤตให้มีคุณภาพ พัฒนาระบบการส่งต่อที่ได้ประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง รวมทั้งวางแผนจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้เพียงพอ ได้มาตรฐานบริการ แนวทางการแก้ปัญหาจะสามารถช่วยพัฒนาระบบการบริหารจัดการในการให้บริการ และพบว่าอัตราการตายทารกแรกเกิดค่อย ๆ ลดลงทุกปี” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

แม่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวทารกน้อย เสี่ยงอันตราย

สาเหตุของทารกคลอดก่อนกำหนด

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดก่อนกำหนดเกิดได้ทั้งจากมารดาหรือแม่ของเด็ก รก และตัวทารกในครรภ์ ดังนี้

ปัจจัยจากแม่ ได้แก่

ปัจจัยของทารกในครรภ์

ทารกคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย

ความเสี่ยงของทารกคลอดก่อนกำหนด

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดคือทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จึงมีน้ำหนักตัวน้อยตอนแรกคลอด จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่แรกเกิด เนื่องด้วยอวัยวะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวสู่โลกภายนอกมากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด ยิ่งทารกมีระยะการตั้งครรภ์ที่น้อย หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ก็จะยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้นได้

ปัญหาที่พบได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด

  1. ตัวเย็นง่าย ทารกที่เกิดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็กจึงทำให้ตัวเย็นได้ง่าย ต้องควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย จึงจำเป็นต้องใช้ตู้อบในทารกคลอดก่อนกำหนด
  2. ปัญหาการหายใจ ทารกที่เกิดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่
  3. น้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกตัวเย็นง่ายต้องดึงเอาสารสะสมที่เก็บไว้เป็นพลังงานมาสร้างอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับ 37 องศาเซลเซียส จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้
  4. ทารกเกิดก่อนกำหนดติดเชื้อง่าย ภูมิคุ้มกันของทารกจะได้ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ทำให้ติดเชื้อง่ายกว่า 4 เท่า หากเทียบกับทารกปกติ
  5. ทารกตัวเหลือง การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ทำให้อาการตัวเหลืองนั้นนานกว่าทารกปกติ
  6. ดูดกลืนได้ไม่ดี ทารกที่เกิดก่อนกำหนด การดูดกลืนและการหายใจจะไม่ค่อยดี จึงสำลักนมได้บ่อย
  7. น้ำคั่งในสมอง ทารกอาจเกิดน้ำคั่งในสมอง แต่จะหายเองได้ มีทารกบางกลุ่มที่โตขึ้นเรื่อย ๆ หัวจะดูโตกว่าคนอื่นนิดหน่อย เพราะถุงน้ำในสมองจะใหญ่กว่า แต่ไม่มีปัญหาด้านพัฒนาการ
  8. ลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน อาจเน่าขึ้นมาโดยไม่มีทางป้องกัน และเกิดได้โดยไม่ทราบสาเหตุ แสดงอาการได้หลายประเภท เช่น ลำไส้ขาดเลือดชั่วคราว ลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ และลำไส้ทะลุ

วิธีดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด

การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวน้อย ควรให้นมแม่อย่างต่อเนื่อง โดยทีมแพทย์และพยาบาลจะเริ่มให้นมแม่ทันทีที่ทารกมีอาการคงที่ ข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานโรค ลดการติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะลำไส้อักเสบรุนแรง รวมถึงลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลอีกด้วย นอกจากนี้ ดวงตา จอประสาทตาและสมองของทารกเกิดก่อนกำหนดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงต้องได้รับการตรวจประเมินพัฒนาการและจอประสาทตาเป็นระยะโดยกุมารแพทย์และจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

 

สังเกตอาการ 4 สัญญาณเสี่ยงคลอดก่อนกําหนด

สำหรับอาการที่คนท้องเสี่ยงคลอดก่อนกําหนด ต้องคอยสังเกตสัญญาณอันตรายเหล่านี้

  1. ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดได้จากภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งจะกระตุ้นให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
  2. น้ำเดิน มีน้ำใส ๆ ออกมาจากช่องคลอด ส่งสัญญาณว่าใกล้คลอด
  3. มดลูกบีบตัวถี่ ๆ หากพบการบีบของมดลูกถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ควรรีบมาพบแพทย์
  4. มูกเลือดออกมาจากช่องคลอด มูกที่อุดปากช่องคลอดเกิดไหลออกมา มีแนวโน้มว่า ปากมดลูกกำลังจะเปิด

วิธีป้องกันคลอดก่อนกําหนด

การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ดีที่สุด แม่ท้องควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ พร้อมปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้แม่ท้องและทารกในครรภ์ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน หลีกเลี่ยงการกินอาหารหมักดอง เลือกกินอาหารปรุงสุก สะอาด เน้นผักและผลไม้ ให้มีความหลากหลายในแต่ละมื้อ
  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเลือกดื่มน้ำเปล่า 1.5-2 ลิตรต่อวัน แต่ไม่จำเป็นต้องดื่มนมวัวหรือดื่มนมถั่วเหลืองให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกแพ้นมวัวหรือแพ้นมถั่วเหลือง จากการบำรุงครรภ์ที่มากเกินพอดี
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ และนอนหลับให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือนอนพักเป็นช่วง ๆ ให้ร่างกายได้พักผ่อนบ่อย ๆ
  4. แม่ท้องไม่ควรเครียด ลองอ่านหนังสือเล่มโปรด พักผ่อนด้วยดนตรีเพราะ ๆ หรือทำกิจกรรมยามว่าง จะช่วยให้แม่ท้องผ่อนคลายและลดความเครียดลงได้
  5. ไม่ควรทำงานหนัก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการออกกำลังกายที่หักโหม ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  6. การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ต้องปรึกษาแพทย์ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะแม่ที่มีภาวะเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด
  7. เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ ดูแลสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น ถ้าทำได้ควรดูแลร่างกายตั้งแต่ช่วงวางแผนการมีบุตร

หากคุณแม่วางแผนตั้งครรภ์ ควรรักษาอาการติดเชื้อ หรืออาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้นเสียก่อน โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมโรคประจำตัว ที่สำคัญ ต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง หมั่นสังเกตร่างกาย หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาล

อ้างอิงข้อมูล : vibhavadi.com, samitivejhospitals, phyathai และ dms.go.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

แม่ท้อง แพ้อาหารทะเล ส่งผลต่อลูกยังไงมาหาคำตอบกัน

เชื้อ CMV คืออะไร ไวรัสที่คนท้องติดเชื้อได้ มีผลต่อทารกแรกเกิด

ภาวะแท้งจากติ่งเนื้อที่ปากมดลูก อันตรายที่แม่ท้องห้ามประมาท