คลอดลูก แบบธรรมชาติ ผ่าคลอด หรือคลอดในน้ำ- Amarin Baby & Kids
คลอดลูก

3 วิธี คลอดลูก คลอดแบบธรรมชาติ แบบผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ คลอดแบบไหนดี?

event
คลอดลูก
คลอดลูก

นอกจากการดูแลครรภ์ตลอด 9 เดือนแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่ต้องวางแผนไว้ก่อนคลอดคือการ คลอดลูก ที่มีหลายวิธีให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นการคลอดแบบธรรมชาติ การผ่าคลอด หรือการคลอดในน้ำ ซึ่งการคลอดลูกแต่ละวิธีต่างก็มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่ต่างกันออกไป รวมถึงการคลอดแบบไหนที่ควรพิจารณาเป็นหลัก เพื่อให้เหมาะสมต่อสุขภาพร่างกายและความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยที่สุด มาดูวิธีการคลอดในแต่ละแบบเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับแม่ ๆ กันค่ะ

3 วิธี คลอดลูก คลอดแบบธรรมชาติ แบบผ่าคลอด หรือคลอดลูกในน้ำ
คลอดแบบไหนดี?

คลอดลูกธรรมชาติ

1.วิธีคลอดแบบธรรมชาติ

การคลอดลูกเองแบบธรรมชาติ เป็นการคลอดแบบปกติที่คุณแม่จะเบ่งคลอดลูกออกมาจากทางช่องคลอด แม้คุณแม่รู้ว่าจะได้รับความเจ็บปวดจากการคลอดลูกด้วยตนเอง แต่ก็เป็นวิธีส่วนใหญ่ที่คุณแม่ท้องมักเลือกคลอดลูกด้วยวิธีนี้ เพราะนับเป็นวิธีคลอดลูกที่ง่ายที่สุดและมีความปลอดภัยมากที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วย โดยวิธีการคลอดธรรมชาตินี้เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ทั้งนี้ในช่วงใกล้คลอดคุณหมอจะทำการตรวจเช็กครรภ์เพื่อให้แน่ใจว่าทารกอยู่ในท่าเอาศรีษะกลับลงเข้าสู่เชิงกรานหรือไม่

ข้อดีของการคลอดแบบธรรมชาติ คือ

  • คุณแม่สามารถควบคุมการคลอดด้วยตัวเองและเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ทำให้รู้สึกตัวและตื่นตัวตลอดเวลาขณะเบ่งคลอด และมีส่วนร่วมในการกระบวนการคลอดพร้อมกับคุณหมอและพยาบาล ทำให้เกิดความภูมิใจของคนเป็นแม่ที่เบ่งคลอดลูกได้สำเร็จ
  • โอกาสเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงจากการทำคลอดธรรมชาติต่อแม่และทารกได้น้อย
  • หลังคลอดแล้วจะฟื้นตัวเร็ว ทันทีที่คุณแม่คลอดธรรมชาติสำเร็จแม้จะต้องเผชิญกับอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือนหลังคลอด รู้สึกอ่อนเพลีย รวมถึงอาการหนาวสั่น แต่อาการปวดเนื่องจากมดลูกบีบตัวจะค่อย ๆ หายไป และแผลจะหายเร็วกว่าการผ่าคลอด อาจมีรอยแผลนิดเดียวหรืออาจจะไม่มีรอยแผลเลยก็เป็นได้
  • การคลอดแบบธรรมชาติจะช่วยให้น้ำนมแม่มาเร็วกว่าปกติ เนื่องจากมีการให้ทารกได้ดูดนมแม่หลังคลอดได้เร็ว
  • การคลอดธรรมชาตินั้นจะมีราคาถูกกว่าการผ่าคลอด

หากคุณแม่ตัดสินใจว่าจะเลือกคลอดลูกแบบธรรมชาติ คุณแม่ควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ตามคำแนะนำจากคุณหมอที่ไปฝากครรภ์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งคุณหมอจะทำการตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณแม่จะสามารถคลอดแบบธรรมชาติได้โดยไม่เกิดอันตรายต่อแม่และลูกในท้อง เนื่องจากการเบ่งคลอดนั้นคุณแม่จะมีความรู้สึกเจ็บและต้องใช้ความอดทนในการคลอดอย่างมาก โดยเฉพาะหากทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ในขณะที่คุณแม่มีร่างกายที่ขนาดตัวเล็ก  ซึ่งสูติแพทย์อาจจะมีการใช้ยาแก้ปวดทางเส้นเลือดหรือให้ยาชาเข้าทางไขสันหลังเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะคลอด หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คุณแม่ในการคลอดด้วย เช่น การติดเครื่องอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ หรือการเย็บแผลตัดขยายปากช่องคลอด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณแม่จะเลือกวิธีคลอดลูกเองและมีความมั่นใจในการคลอดธรรมชาติเพียงใด แต่เมื่อถึงกำหนดใกล้คลอดที่อาจมีเหตุจำเป็นทำให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดเองได้ เช่น กรณีที่ทารกไม่อยู่ในท่าเอาหัวลง ทารกขนาดตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดทางช่องคลอดได้ หรือเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ ฯลฯ คุณหมอจะพิจารณาถึงทางเลือกอื่น เช่น การผ่าคลอดแทนเพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารก ดังนั้นคุณแม่ควรวางแผนการคลอดลูกด้วยวิธีอื่นไว้เป็นทางเลือกในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อผลลัพธ์การคลอดที่ดี

การผ่าคลอดลูก

2.วิธีคลอดแบบการผ่าคลอด

การผ่าคลอด คือการผ่าตัดเพื่อนำตัวทารกออกทางหน้าท้อง ซึ่งในปัจจุบันวิธีการผ่าคลอดลูกมีความปลอดภัยสูงมาก ด้วยความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสำหรับแม่ ๆ เป็นอย่างมาก และเป็นเหตุให้สถานการณ์การผ่าตัดคลอดในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ข้อดีในการผ่าคลอด อาทิเช่น

  • การทำคลอดวิธีนี้มีความสะดวกและรวดเร็ว โดยการผ่าตัดคลอดอาจใช้เวลาแค่ประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ทำให้คุณแม่ไม่ต้องรอคลอดนาน เพราะการผ่าคลอดไม่ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเหมือนการคลอดธรรมชาติ
  • สามารถกำหนดเวลาได้ชัดเจนกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ คุณแม่สามารถกำหนดฤกษ์คลอดในวันและเวลาที่จะคลอดได้ แต่ในขณะเดียวกันต้องดูความพร้อมและความแข็งแรงของทารกในครรภ์ด้วย โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการคลอดคือตั้งแต่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ลดอาการเจ็บปวดขณะคลอด เนื่องจากการผ่าคลอดไม่ต้องออกแรงเบ่ง โดยแพทย์จะทำการบล็อกหลังหรือดมยาสลบ ซึ่งจะทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บในขณะผ่าคลอด
  • ช่วยลดการยืดหย่อนของเชิงกราน ซึ่งในการคลอดธรรมชาตินั้นคุณแม่ต้องใช้แรงเบ่งคลอดลูกทำให้ส่งผลต่อการยืดของกระบังลมของเชิงกรานหรือเส้นเอ็นยึดได้ แต่การผ่าคลอดไม่ต้องออกแรงเบ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ได้
  • ช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์รวดเร็วยิ่งขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์หรืออาการอื่น ๆ

(ข้อมูลจาก : www.paolohospital.com)

โดยปกติแล้วแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่คลอดลูกแบบธรรมชาติ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ส่งเสริมให้เกิดการคลอดเองตามธรรมชาติก่อน เพราะวิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้เสียเลือดน้อย คุณแม่ฟื้นตัวไว กลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว และสามารถพบหน้าสัมผัสตัวทารก รวมถึงมีโอกาสให้ทารกกินนมแม่หลังคลอดได้เร็ว ฉะนั้นวิธีการการผ่าตัดคลอดลูกทางหน้าท้องนั้น จะเป็นทางเลือกที่สูติแพทย์แนะนำว่าควรผ่าตัดเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น หรือเมื่อคุณแม่และทารกในครรภ์อาจมีความเสี่ยงถ้าคลอดแบบธรรมชาติ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

การผ่าคลอดแบบวางแผนมาก่อน

แพทย์จะกำหนดวันผ่าคลอดล่วงหน้า โดยประเมินความเสี่ยงที่คุณแม่ไม่สามารถคลอดลูกเองได้ และเหตุจำเป็นจากลักษณะอาการผิดปกติของทารกในครรภ์ที่พบพบจากการอัลตร้าซาวด์และการตรวจอื่น ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ อาทิเช่น

  • คุณแม่มีความเสี่ยงสูง เช่น มดลูกบีบตัวรุนแรง หรือมดลูกลอกตัวเร็ว หรือป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกระหว่างคลอด เช่น เชื้อไวรัส HIV โรคตับอักเสบ หรือโรคเริมที่อวัยวะเพศ
  • แม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว สุขภาพไม่ดี ไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติ หรือแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก
  • ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นเหตุต้องมีการผ่าคลอดออกมาโดยเร็ว
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ เช่น เอาส่วนเท้าออกมา นอนขวางหันด้านข้างออกจนเด็กไม่สามารถหมุนตัวกลับเองได้ หรือทารกไม่กลับศีรษะสู่เชิงกรานตามกำหนดคลอด ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้
  • คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด 3 คนขึ้นไป หรือคุณแม่เคยท้องและคลอดแฝดสองมาก่อนก็จำเป็นจะต้องผ่าคลอด
  • คุณแม่ที่เคยผ่าคลอดครั้งแรกหรือเคยผ่าตัดมดลูกมาก่อน

การผ่าคลอดแบบฉุกเฉิน

กรณีผ่าคลอดแบบฉุกเฉินคือ การเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์กะทันหัน จำเป็นต้องรีบผ่าอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกเป็นสำคัญ โดยข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน อาทิเช่น

  • เกิดความผิดปกติระหว่างการคลอดลูกเอง ทารกในครรภ์อาการไม่ดี ทำให้จำเป็นต้องผ่าคลอดฉุกเฉิน
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างทำคลอดธรรมชาติ หรือคุณแม่มีภาวะวิกฤตในระหว่างคลอด เช่น ความดันโลหิตสูงมาก มีอาการอ่อนเพลียมาก มีอาการเกร็งชัก หรือความผิดปกติอื่น ๆ ไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้สำเร็จ
  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น สายสะดือย้อย รกพันคอของทารก หรือมดลูกแตก จำเป็นต้องผ่าคลอดเร่งด่วน
  • ทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายคุณแม่และลูกน้อย
  • มีแนวโน้มจะคลอดเองตามธรรมชาติไม่สำเร็จ ใช้ระยะเวลาเบ่งคลอดนานเกินไป
  • การใช้ยาเร่งคลอดผิดพลาด

โดยการผ่าคลอดมักจะใช้วิธี การบล็อกหลังหรือการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง มีผลทำให้ชาในส่วนล่าง แต่คุณแม่จะมีสติรับรู้อยู่ตลอดเวลาระหว่างทำคลอด โดยไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดในขณะผ่าคลอด และยังสามารถได้ยินเสียงของทารกพร้อมกับสัมผัสลูกน้อยได้ในทันทีหลังคลอด และในบางกรณีวิสัญญีแพทย์และสูติแพทย์อาจเลือกใช้การดมยาสลบในขณะผ่าคลอด โดยจะประเมินตามความเสี่ยง เพราะคุณแม่บางรายอาจมีการแพ้ยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายระหว่างการทำคลอด ซึ่งแพทย์จะถือความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยเป็นสำคัญ ซึ่งวิธีนี้คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการผ่าตัดเนื่องจากจะหลับไปโดยไม่รู้ตัว และจะไม่เห็นหน้าลูกน้อย หลังคลอดในทันที

การผ่าตัดคลอดนั้น คุณแม่จะต้องเสียเลือดมากกว่าการคลอดตามปกติประมาณ 2 เท่า และหลังจากผ่าคลอดแล้วคุณแม่จะมีอาการเจ็บแผลผ่าคลอดมากในช่วงแรกและใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าการคลอดลูกเอง บางคนอาจเจ็บแผลนานเป็นเดือน จึงต้องดูแลแผลบริเวณที่ผ่าตัดหลังคลอดให้ดี เพราะอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคลอดธรรมชาติ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่กำลังวางแผนจะคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าคลอด ควรปรึกษาคุณพ่อและคุณหมอที่ดูแลที่จะช่วยให้คุณแม่ไม่เกิดความกังวลใด ๆ รวมทั้งพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดที่ค่อนข้างสูงกว่าการคลอดแบบธรรมชาติด้วย

คลอดลูกในน้ํา

3.วิธีการคลอดลูกในน้ำ

การคลอดลูกในน้ำเป็นการคลอดธรรมชาติในอ่างน้ำอุ่น ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ แม้ว่าการคลอดลูกในน้ำยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยเท่าไหร่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการคลอดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการคลอดด้วยวิธีปกติ แต่ก็มีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ชั้นนำที่เริ่มมีบริการคลอดลูกในน้ำให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ให้ความสนใจสำหรับการทำคลอดในน้ำเป็นทางเลือก ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพครร์ที่สมบูรณ์แข็งแรงครบถ้วน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ในขณะตั้งครรภ์ ประกอบกับความพร้อมและมั่นใจที่จะคลอดเองได้โดยไม่ต้องฉีดยาแก้ปวดหรือยาชา

ข้อดีของการคลอดลูกในน้ำ อาทิเช่น

  • การคลอดด้วยวิธีนี้จะช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ รู้สึกเบาตัวและคล่องตัวขึ้น ส่งผลดีต่อการคลอดลูก
  • การแช่ในน้ำอุ่นช่วยให้ฮอร์โมนเอนโดนฟินในร่างกายหลั่งออกมาช่วยลดความเจ็บปวดในขณะคลอด ส่งผลให้คุณแม่คลอดลูกได้เร็วและง่ายขึ้น
  • น้ำอุ่นจะช่วยในเรื่องกระบวนการไหลเวียนของเลือดในมดลูก ช่วยให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่เกร็งตัวจากความเครียดหรือความกดดันคลายตัว ลดภาวะความตึงเครียด
  • อาจช่วยลดโอกาสการเกิดแผลฉีกขาดรุนแรงของปากมดลูก

ขั้นตอนการคลอดลูกในน้ำได้อย่างปลอดภัยหากอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ที่มีความชำนาญอย่างใกล้ชิด โดยคุณแม่จะคลอดลูกในอ่างน้ำอุ่นที่มีการควบคุมอุณหภูมิไว้ประมาณ 35-37 องศาเซลเซียส รวมถึงการสร้างบรรยากาศในห้องคลอดด้วยการเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ ใช้กลิ่นอโรมา เพื่อช่วยให้คุณแม่เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความตื่นเต้น คลายกังวลจากการปวดคลอดและความเจ็บปวดระหว่างการเบ่งคลอดลงได้ เนื่องจากการการคลอดวิธีนี้จะไม่ใช้ยาเร่งคลอดและไม่ใช้เครื่องมือใดๆ ช่วยในการคลอด โดยจะเริ่มรอให้คุณแม่เจ็บท้องคลอด คุณแม่บางคนอาจต้องทนเจ็บท้องนานหลายชั่วโมง จนกว่าปากมดลูกจะเปิด เมื่อทารกคลอดออกมาในน้ำ น้ำอุ่นจะช่วยรับแรงกระแทกที่อาจทำอันตรายแก่ทารกได้ รวมทั้งอุณหภูมิน้ำที่มีความใกล้เคียงกับตอนที่อยู่ในครรภ์แม่ ก็จะช่วยลดความเครียดของทารกและทำให้ลูกน้อยปรับตัวได้ดีเมื่อออกจากครรภ์

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับผลดีของการคลอดลูกในน้ำ แต่การคลอดวิธีนี้อาจมีข้อจำกัดที่ไม่ควรมองข้าม เช่น

  • การคลอดในน้ำอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากน้ำและอ่างน้ำไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม
  • การควบคุมอุณหภูมิของน้ำ หากอุณหภูมิไม่เหมาะสมต่อสภาวะแรกเกิดของทารก อาจทำให้อุณหภูมิของลูกสูงหรือต่ำเกินไป และอาจเกิดภาวะที่เป็นอันตรายตามมา
  • หากสายสะดือทารกสั้นอาจเกิดการฉีกขาดและอาจทำให้เกิดการเสียเลือดในปริมาณมาก แต่ในกรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
  • การคลอดลูกด้วยวิธีนี้ไม่เหมาะกับคุณแม่ที่เป็นโรคติดต่อ โรคติดเชื้อ เช่น เริม งูสวัดที่ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ เนื่องจากเชื้อจะสามารถกระจายได้ง่ายในน้ำทำให้เป็นอันตรายกับทารก และภาวะอื่น ๆ ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ เช่น น้ำคร่ำน้อย สายสะดือพันคอทารก ความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์ลูกแฝด มีประวัติคลอดยาก หรือมีอาการเจ็บท้องต้องคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 สัปดาห์หรือมากกว่า เป็นต้น รวมไปถึงทารกที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ขนาดตัวใหญ่ หรือไม่อยู่ในท่าคลอดปกติ ก็ควรหลีกเลี่ยงวิธีการคลอดในน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อตัวแม่และทารกได้

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่กำลังชั่งใจและให้ความสนใจใช้วิธีคลอดในน้ำ ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากสูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากท้องเพื่อความเข้าใจและความปลอดภัยของสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยเป็นสำคัญ

บทความแนะนำ : คลอดลูกในน้ำเป็นอย่างไร มีข้อดีหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง?

จะเห็นได้ว่าวิธีการคลอดลูกในแต่ละแบบนั้นมีข้อที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณแม่สามารถหาข้อมูลและวางแผนไว้ก่อนคลอดลูก รวมไปถึงการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงกำหนดคลอด และได้มีการตรวจสุขภาพของคุณแม่และสุขภาพครรภ์กับคุณหมอที่ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หากคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคลอดก็สามารถพูดคุยกับสูติแพทย์ได้ทันที ซึ่งทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มท้องนั้นล้วนเป็นกระบวนการสำคัญที่คุณแม่ควรเอาใจใส่ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการคลอดลูกน้อยให้ออกมามีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.central.co.thwww.pobpad.comwww.huggies.co.th

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก:

หมอสูติฯตอบ! คลอดลูก “แบบผ่ากับคลอดเอง” อะไรดีกว่ากัน?

คลอดลูกแล้วท้องไม่ยุบ อีกนานแค่ไหนถึงจะเหมือนเดิม

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up