ชวนคุณพ่อ คุณแม่ มาทำความรู้จักการนับ วันตกไข่ เพื่อให้มีลูกน้อยได้เองตามธรรมชาติ และสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่ใช้วิธีธรรมชาติตามปกติแล้วก็ยังไม่มีลูก การนับวันตกไข่ที่ถูกต้องอาจจะช่วยให้มีลูกได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยให้มีลูกก็ได้ค่ะ
วันตกไข่ ใช้วิธีธรรมชาติ
หากคุณพ่อ คุณแม่ได้ไปตรวจร่างกาย และปรึกษาคุณหมอแล้ว พบว่า มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีทั้งสองคน คุณหมออาจแนะนำให้ใช้วิธีธรรมชาติในการมีลูกก่อนที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย คือ มีเพศสัมพันธ์กันตามปกติ และใช้วิธีการนับวันตกไข่
เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกยาก คือมีการทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ สังเกตได้จากการที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รอบเดือนไม่แน่นอน บอกล่วงหน้าไม่ได้ ดังนั้น เราจะต้องมาดูวิธีการคำนวณวันตกไข่กันก่อนค่ะ
วิธีคำนวณวันไข่ตก
รอบเดือนของผู้หญิง จะมีระยะเวลาประมาณ 23-35 วัน (แต่ละคนจะไม่เท่ากัน) ส่วนระยะเวลาที่ไข่ตกจะมีระยะเวลาประมาณ 14 วัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ประจำเดือนมา เราควรจดบันทึกไว้ทุกครั้ง
- ให้นับย้อนไป วันแรกที่มีประจำเดือน เดือนล่าสุด ถึง วันแรกที่มีประจำเดือน เดือนที่แล้ว เช่น เดือนล่าสุดคือ วันที่ 2 ม.ค. เดือนที่แล้วคือ 4 ธ.ค. นับแล้วคุณแม่คนนี้มีความยาวรอบเดือน 30 วัน
- หาวันไข่ตกโดยนำ ความยาวรอบเดือน – ระยะเวลาที่ไข่ตก เช่น 30 วัน – 14 วัน = 16 สรุปคือวันที่ไข่ตกของคุณแม่คนนี้คือวันที่ 16 ของความยาวรอบเดือน
- วันที่ไข่ตกของเดือนนี้คือวันที่เท่าไร โดยนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน เดือนล่าสุด เช่น เดือนล่าสุดคือ วันที่ 2 ม.ค. นับไป 16 วัน คุณแม่คนนี้ก็จะไข่ตกวันที่ 17 ม.ค
- เมื่อรู้วันไข่ตกแล้ว คุณแม่ ก็เตรียมสะกิดคุณพ่อได้เลย โดยกุ๊กกิ๊กกันได้ก่อนวันไข่ตกจริง 3-5 วัน และหลังวันไข่ตกอีก 3-5 วันเพื่อเปิดโอกาสให้ไข่และสเปิร์มได้มาเจอกันมากที่สุด
ปฏิบัติภารกิจ ในช่วงวันตกไข่ให้ถูกต้อง
เมื่อคุณแม่รู้แล้วว่าความยาวรอบเดือนของตัวเองมีกี่วัน การนับวันตกไข่ที่ถูกต้องคือ นำตัวเลขรอบเดือนนั้นมาลบ 14 จะได้วันที่ตกไข่ นั่นคือ หากมีรอบเดือน 32 วัน คุณแม่จะมีวันตกไข่ในช่วงวันที่ 18 ดังนั้น เมื่อถึงช่วงวันที่ 18-19-20 ของความยาวรอบเดือนก็ควรมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจไม่จำเป็นต้องร่วมรักกันทุกวัน เว้นวันกันก็ได้ วิธีนี้จึงเหมาะสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์กันทั้งสองคน เนื่องจากอสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์ (หลังมีเพศสัมพันธ์) จะสามารถอยู่ในร่างกายคุณแม่ได้นานประมาณ 3 วัน บางคนอยู่ได้นานเกือบ 5 วัน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
** การใช้วิธีธรรมชาติ ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันตกไข่ เหมาะสำหรับว่าที่คุณแม่ที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอเท่านั้น แต่ถ้าไม่ คุณแม่อาจมีปัญหาในการตกไข่ ทำให้มีลูกด้วยวิธีนี้ค่อนข้างยาก ***
อ่าน “การใช้ชุดตรวจการตกไข่” คลิกหน้า 2
การใช้ชุดตรวจการตกไข่
ในปัจจุบันมีชุดตรวจคาดคะเนระยะการตกไข่ ซึ่งใช้กันมากในคุณแม่ที่ต้องการมีลูก และกำหนดช่วงเวลาในการมีเพศสัมพันธ์ ด้วยการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ในปัสสาวะ ซึ่งโดยปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย จนเมื่อถึงระยะก่อนเวลาตกไข่ ฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และตกไข่ภายในเวลา 24 – 48 ชั่วโมง ถ้าหากคุณแม่มีเพศสัมพันธ์ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงนี้หลังจากตรวจพบฮอร์โมน LH คุณแม่ก็จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น
วืธีการใช้ชุดทดสอบระยะตกไข่จะคล้ายๆ กับการทดสอบการตั้งครรภ์ แต่จะใช้ปัสสาวะตอนบ่ายในการตรวจ คือประมาณ บ่าย 2 ไม่ใช่ตอนเช้าเหมือนการตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมน LH จะสูงขึ้นในช่วงบ่ายไปจนถึง 2 ทุ่ม ทำการเก็บปัสสาวะเวลาเดียวกันทุกวัน ควรงดการรับประทานของเหลวก่อนการทดสอบ 2 ชั่วโมง เพราะปัสสาวะที่เข้มข้นจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากที่สุด เมื่อตรวจแล้วขีดที่ 2 จะต้องเข้มเท่าขีดแรกจึงจะหมายความว่าถึงวันตกไข่แล้ว
อ่าน “แอพพลิเคชั่นนับวันตกไข่” คลิกหน้า 3
แอพพลิเคชั่นนับวันตกไข่
แอพพลิชั่นนับวันตกไข่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณแม่ยุคไอที ช่วยในการเตือนความจำ แจ้งเตือนวันตกไข่ บันทึกข้อมูลสุขภาพ และอารมณ์ของคุณแม่
สำหรับแอพพลิเคชั่นตัวนี้มีชื่อว่า App ไดอารี่หญิงๆ (App บันทึกตกไข่ ประจำเดือน อุณหภูมิ อารมณ์ของผู้หญิง) เป็นไดอารี่น่ารักๆ สำหรับผู้หญิงที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคนไทย มีจุดประสงค์ในการช่วยทำการแจ้งเตือน และติดตามสถานะการตกไข่และประจำเดือน โดยแอพฯ ตัวนี้สามารถใช้บันทึกอาการ อารมณ์ของผู้หญิง รวมไปถึงอุณหภูมิร่างกาย และน้ำหนักในแต่ละวัน รวมทั้ง บันทึกข้อความและไดอารี่ต่างๆ ประจำวัน โดยภายในแอพฯ มีสีสันสดใส น่ารักๆ สีชมพู เหมาะสำหรับผู้หญิงเป็นอย่างดี มีเมนูหลัก ทั้งหมด 5 เมนู ไม่ว่าจะเป็น เมนูบันทึกอาการ เมนูบันทึกอารมณ์ บันทึกอุณหภูมิ น้ำหนัก และจดบันทึกโน๊ตต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บบันทึกเอาไว้เป็นประวัติของคุณแม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์มากๆ สำหรับการใช้วิเคราะห์อาการเพื่อรักษา ในกรณีต้องไปพบแพทย์
ดาวน์โหลดฟรี ไดอารี่หญิงๆ (สำหรับทั้ง iPhone และ iPad) คลิก!
ข้อมูลอ้างอิง: นพ.สันธา ศรีสุภาพ หัวหน้าหัวหน้าหน่วยผู้มีบุตรยากโรงพยาบาลราชวิถี, MedThai
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!
นับวันตกไข่ ให้ดีถ้าอยากมีลูกในวัย 30+
ทำไงให้ท้อง? 12 ทางลัด ที่คนอยากมีลูกไม่ควรพลาด
อยากมีลูก ต้องอ่าน! 7 ข้อแพทย์แผนจีน ช่วยให้มีลูกสมใจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่